คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
สัญญาเป็นหนังสือ

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 6 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8891/2543 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาชดใช้ราชการ: การมีสัญญาเป็นหนังสือเป็นสาระสำคัญ
ตามระเบียบการลาศึกษาต่อของโจทก์แสดงให้เห็นว่าต้องมีการทำสัญญาเป็นหนังสือระบุเงื่อนไขในการรับราชการชดเชย เมื่อโจทก์และจำเลยที่ 1 มิได้มีการทำสัญญาเป็นหนังสือระบุเงื่อนไขให้จำเลยที่ 1 รับราชการชดเชยเป็นสองเท่าไว้ จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับราชการชดเชยเป็นสองเท่าตามที่กำหนดไว้ในระเบียบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1060/2543 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาเช่าซื้อต้องทำเป็นหนังสือ การมีส่วนได้เสียในประกันภัย และข้อจำกัดการนำสืบพยาน
สัญญาเช่าซื้อต้องทำเป็นหนังสือ มิฉะนั้นตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 572 ดังนั้น คู่ความจะขอสืบพยานบุคคลแทนเอกสารหรือนำสืบพยานบุคคลแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อความในเอกสารสัญญาเช่าซื้อมิได้ เว้นแต่จะเข้าข้อยกเว้นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94 วรรคสอง คดีนี้โจทก์ได้นำสืบโดยส่งต้นฉบับสัญญาเช่าซื้อเป็นพยาน จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การรับว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์บรรทุกจากโจทก์จริง ส่วนจำเลยร่วมถูกเรียกเข้ามาในคดีโดยมิได้ต่อสู้ว่าเอกสารสัญญาเช่าซื้อปลอม ไม่สมบูรณ์ฯ?แต่ประการใด จำเลยร่วมจะอ้างคำเบิกความของ พ. กรรมการผู้มีอำนาจของจำเลยที่ 1 หรือพยานบุคคลอื่นมาหักล้างเปลี่ยนแปลงแก้ไขสัญญาเช่าซื้อซึ่งระบุว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้เช่าซื้อมิได้ ต้องห้ามตามบทบัญญัติกฎหมายดังกล่าว
จำเลยที่ 1 เป็นผู้เช่าซื้อรถยนต์บรรทุก จำเลยที่ 1 ย่อมมีสิทธินำรถยนต์ที่เช่าซื้อไปใช้ประโยชน์และมีสิทธิที่จะได้กรรมสิทธิ์เมื่อจำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อครบ ตลอดจนต้องรับผิดชำระค่าเช่าซื้อ ความสูญหายหรือบุบสลายอันเกิดแก่รถยนต์ที่เช่าซื้อ จำเลยที่ 1 จึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียในวัตถุที่เอาประกันภัย ถึงแม้จะให้ผู้อื่นนำรถยนต์ไปใช้ หรือชำระค่าเช่าซื้อ เบี้ยประกันแทน ก็หาทำให้เสียสิทธิหรือหลุดพ้นจากความรับผิดตามสัญญาไม่ จำเลยร่วมต้องผูกพันตามกรมธรรม์ประกันภัยที่ทำไว้กับจำเลยที่ 1 และต้องรับผิดต่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5343/2542 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาซื้อขายข้าวมีผลผูกพัน แม้ไม่มีสัญญาเป็นหนังสือ หากเจตนาของคู่สัญญาไม่ได้กำหนดไว้ และการกระทำแสดงเจตนาชัดเจน
จำเลยมีคำเสนอขายข้าวสาร จำนวน 20,000 เมตริกตัน ส่งมอบเดือนตุลาคม - ธันวาคม 2537 ไปยังโจทก์ โจทก์ตกลงให้จำเลยเป็นผู้ส่งข้าว คำเสนอและคำสนองดังกล่าวจึงถูกต้องตรงกัน ย่อมก่อให้เกิดสัญญาแล้ว แต่เมื่อจำเลยมีหนังสือขอเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการชำระราคาและเสนอราคาใหม่ไปยังโจทก์ ถือว่าเป็นคำเสนอใหม่ โจทก์ตอบตกลงซื้อข้าวตามราคาที่เสนอมาใหม่และให้จำเลยไปทำสัญญาซื้อขายกับโจทก์ แสดงว่าคำเสนอคำสนองใหม่ถูกต้องตรงกันสัญญาเกิดขึ้นแล้ว มีผลให้เป็นการยกเลิกสัญญาเดิมและผูกพันกันตามสัญญาที่เกิดขึ้นใหม่ ต่อมาโจทก์ มีหนังสือแจ้งให้จำเลยส่งมอบข้าวลงเรือในเดือนตุลาคม 2537 โดยไม่มีข้อความให้จำเลยมาทำสัญญาเป็นหนังสือ แต่กลับเร่งรัดให้จำเลยส่งมอบข้าวให้ทันกำหนดเวลา แสดงว่าโจทก์ไม่ได้มีเจตนาที่จะให้สัญญามีผลสมบูรณ์ต่อเมื่อได้ทำสัญญาเป็นหนังสือก่อน การที่จำเลยได้รับหนังสือดังกล่าวแล้วมีหนังสือขอเลื่อนไปส่งมอบข้าวสารในเดือนธันวาคม 2537 โดยไม่ทักท้วงหรือโต้แย้งว่าสัญญายังไม่ได้ลงนามเนื่องจากยังไม่ได้ตกลงกันในเรื่องค่าเสียหาย การค้ำประกันและการส่งมอบ ทั้งปรากฏว่ากรมการค้าต่างประเทศเคยซื้อข้าวจากจำเลยโดยส่งประกาศรับซื้อไป จำเลยตอบรับ หลังจากนั้นจำเลยส่งมอบข้าวโดยไม่จำต้องทำสัญญาเป็นหนังสืออีก พฤติการณ์ของจำเลยแสดงว่าจำเลยเองมิได้มุ่งที่จะให้การซื้อขายข้าวดังกล่าวนั้นจะต้องทำสัญญากันเป็นหนังสือเช่นกัน ดังนั้น สัญญาซื้อขายระหว่างโจทก์จำเลยจึง มีผลบังคับได้ตามกฎหมายแล้ว หาได้มีกรณีที่สงสัยว่าสัญญาจะต้องทำเป็นหนังสือดังที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 366 วรรคสองแต่อย่างใดไม่
ส. เป็นกรรมการผู้จัดการบริหารงานของบริษัทจำเลยมีอำนาจในการติดต่อทำการค้าแทนจำเลย การที่ ส. ลงชื่อและประทับตราบริษัทจำเลย จึงเป็นการกระทำแทนบริษัทจำเลย มิใช่ทำเป็นส่วนตัว เมื่อ ส. เป็นผู้เสนอขายข้าวให้โจทก์ในนามของจำเลยและจำเลยก็นำสืบยอมรับความสมบูรณ์ของเอกสารอันเป็นคำเสนอขายข้าวโดยรับเอาประโยชน์ไว้เป็นของตน ทั้งต่อมาจำเลยยังให้ ส. เป็นตัวแทนในการทำหนังสือขอเลื่อนการส่งมอบข้าวด้วย จึงถือได้ว่าจำเลยเชิด ส. เป็นตัวแทนของจำเลยหรือรู้แล้วยอมให้ ส. เชิดตัวเองออกแสดงเป็นตัวแทนของจำเลยในการซื้อขายข้าวพิพาท จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกตาม ป.พ.พ. มาตรา 821 ทั้งการเป็นตัวแทนเชิดดังกล่าว หาใช่การตั้งตัวแทนตามปกติไม่ จึงไม่จำต้องมีหนังสือมอบอำนาจให้กระทำแทน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3523/2535 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การซื้อขายกระบือเพื่อทำลูกชิ้น ไม่ถือเป็นการซื้อขายสัตว์พาหนะที่ต้องทำสัญญาเป็นหนังสือ
ซื้อกระบือเพื่อนำไปฆ่าทำลูกชิ้น ไม่เป็นการซื้อขายสัตว์พาหนะซึ่งต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนตาม ป.พ.พ.มาตรา 456 วรรคหนึ่ง.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3523/2535

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การซื้อขายกระบือเพื่อนำไปทำลูกชิ้น ไม่ถือเป็นการซื้อขายสัตว์พาหนะที่ต้องทำสัญญาเป็นหนังสือ
กระบือทั้ง 6 ตัว ที่โจทก์ขายให้จำเลยทั้งสามมีตั๋วรูปพรรณแล้ว จึงเป็นสัตว์พาหนะตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติสัตว์พาหนะพ.ศ. 2483 ซึ่งการซื้อขายต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 456มิฉะนั้นเป็นโมฆะ แต่จำเลยทั้งสามได้ซื้อกระบือจากโจทก์เพื่อนำไปฆ่าทำลูกชิ้นที่โรงงานของจำเลยที่ 1 จึงไม่เป็นการซื้อขายสัตว์พาหนะซึ่งต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนตามกฎหมายไม่เป็นโมฆะ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7289/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาจ้างเหมามีผลผูกพันแม้ไม่มีสัญญาเป็นหนังสือ, การกระทำโดยสุจริต, และความร่วมรับผิดของจำเลย
จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า สัญญาจ้างเหมาพิพาทไม่มีผลผูกพันจำเลยที่ 1 เพราะยังมิได้ทำเป็นหนังสือตามเจตนาของคู่สัญญา ประเด็นปัญหานี้ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยว่า แม้ว่า กิจการร่วมค้า จ. และจำเลยที่ 1 มีเจตนาว่าสัญญาจ้างเหมาอันมุ่งจะทำต่อกันนั้นต้องทำเป็นหนังสือ แต่ก่อนที่กิจการร่วมค้า จ. และจำเลยที่ 1 จะทำสัญญาเป็นหนังสือดังเจตนาที่มีอยู่เดิม ปรากฏว่าจำเลยที่ 3 ส่งโทรสารแจ้งไปยังกรรมการผู้จัดการ กิจการร่วมค้า จ. ว่าให้เริ่มงานตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2556 เป็นต้นไป กิจการร่วมค้า จ. จึงเริ่มทำงานตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2556 จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลโดยมีจำเลยที่ 3 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจคนหนึ่ง จำเลยที่ 3 จึงมีฐานะเป็นผู้แทนของจำเลยที่ 1 ตามกฎหมาย ประกอบกับหนังสือที่ส่งทางโทรสารยังใช้แบบพิมพ์ที่มีหัวกระดาษระบุชื่อจำเลยที่ 1 จึงรับฟังว่าจำเลยที่ 3 กระทำในนามของจำเลยที่ 1 ดังนั้นจำเลยที่ 1 จึงต้องผูกพันตามข้อความในหนังสือดังกล่าว นอกจากนี้ ภ. พยานจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจคนหนึ่งของจำเลยที่ 1 ก็เบิกความตอบคำถามค้านของทนายโจทก์ยอมรับว่า หลังจากกิจการร่วมค้า จ. เริ่มทำงานแล้ว กิจการร่วมค้า จ. ได้วางแคชเชียร์เช็คเป็นมูลค่าร้อยละ 5 ตามสัญญา ซึ่งจำเลยที่ 1 รับไปเรียบร้อยแล้ว จากข้อเท็จจริงที่จำเลยที่ 1 และกิจการร่วมค้า จ. ปฏิบัติต่อกันเช่นนี้ เท่ากับว่ามีการตกลงกันใหม่โดยผ่อนผันไม่ต้องทำสัญญาเป็นหนังสือต่อกันเป็นการชั่วคราว และสัญญาจ้างเหมาเป็นสัญญาจ้างทำของซึ่งไม่มีกฎหมายบังคับว่าต้องทำเป็นหนังสือมิฉะนั้นเป็นโมฆะ ดังนั้น ถือได้ว่าสัญญาจ้างเหมาดังกล่าวมีผลผูกพันจำเลยที่ 1
ฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ว่า พฤติการณ์ตามที่ศาลอุทธรณ์ยกขึ้นวินิจฉัยฟังว่าคู่สัญญามีเจตนาตกลงกันใหม่โดยผ่อนผันไม่ต้องทำสัญญาเป็นหนังสือต่อกันเป็นการชั่วคราว ล้วนเกิดจากความไม่สุจริตของโจทก์ โดยจำเลยที่ 1 มิได้ยินยอมด้วยนั้น แม้จำเลยที่ 1 มิได้ให้การเป็นข้อต่อสู้ไว้ แต่ปัญหาว่าการใช้สิทธิโดยสุจริตหรือไม่ เป็นเรื่องอำนาจฟ้อง เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน จำเลยที่ 1 ย่อมมีสิทธิยกขึ้นอ้างในชั้นนี้ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคสอง (เดิม) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับขณะโจทก์ยื่นฟ้องคดี ที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยให้ย่อมไม่ชอบ และศาลฎีกาเห็นควรวินิจฉัยไปเสียทีเดียวโดยไม่จำต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยใหม่ ป.พ.พ. มาตรา 6 บัญญัติให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า บุคคลทุกคนกระทำการโดยสุจริต ดังนั้น จำเลยที่ 1 ย่อมมีภาระหน้าที่ต้องพิสูจน์ให้เห็นถึงความไม่สุจริตของโจทก์ แต่จำเลยที่ 1 กล่าวอ้างเพียงว่า การกระทำของจำเลยที่ 3 ตามพฤติการณ์ที่ศาลอุทธรณ์หยิบยกขึ้นนั้น เป็นการกระทำโดยพลการอันเกิดจากการชี้นำของโจทก์ เพราะโจทก์ทราบข้อมูลภายในของจำเลยที่ 1 ว่ายังไม่อาจดำเนินการโครงการตามสัญญาจ้างเหมาพิพาทได้ เนื่องจากอยู่ระหว่างการจัดหาที่ดินเพื่อส่งมอบให้โจทก์ โดยไม่ปรากฏรายละเอียดว่าโจทก์ใช้สิทธิโดยไม่สุจริตชี้นำจำเลยที่ 3 อย่างไร เท่ากับข้ออ้างของจำเลยที่ 1 เป็นการกล่าวอ้างลอย ๆ ปราศจากพยานหลักฐานสนับสนุน ง่ายแก่การกล่าวอ้าง ลำพังเพียงคำเบิกความของจำเลยที่ 3 ที่ว่า กรรมการของจำเลยที่ 2 เป็นผู้ใหญ่ของโจทก์ก่อนที่จำเลยที่ 3 จะมาทำงานกับจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 3 เคยทำงานให้จำเลยที่ 2 มาก่อน และจำเลยที่ 2 เป็นผู้แต่งตั้งให้จำเลยที่ 3 มาเป็นกรรมการของจำเลยที่ 1 หรือการที่โจทก์ว่าจ้างบุคคลภายนอกให้ทำงานมูลค่าเป็นสิบล้านบาทในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ ก่อนที่จำเลยที่ 1 จะสั่งให้ชะลอโครงการ ก็ไม่เป็นเหตุผลเพียงพอที่จะพิสูจน์ให้เห็นถึงความไม่สุจริตของโจทก์ได้ ประการสำคัญที่สุดหากจำเลยที่ 1 เห็นว่าการกระทำของจำเลยที่ 3 เป็นการกระทำโดยพลการอันเกิดจากการชี้นำของโจทก์ จำเลยที่ 1 ชอบที่จะปฏิเสธว่าสัญญาจ้างเหมาพิพาทยังไม่เกิดขึ้นได้ตั้งแต่ต้น แต่จำเลยที่ 1 ก็หากระทำไม่ ตรงกันข้ามกลับมีหนังสือขอให้กิจการร่วมค้า จ. ชะลองานและการทำสัญญาโครงการออกไปก่อน ตามหนังสือฉบับลงวันที่ 18 เมษายน 2556 อันเป็นการแสดงให้เห็นถึงการเกิดขึ้นของสัญญาจ้างเหมาพิพาทแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
คดีนี้จำเลยที่ 1 มิได้อยู่ในฐานะเป็นคู่ความคนละฝ่ายกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงไม่มีสิทธิอุทธรณ์ในปัญหาเกี่ยวกับความรับผิดของจำเลยที่ 2 และที่ 3 โดยที่โจทก์มิได้อุทธรณ์