คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
สัญญาเลิกกัน

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 7 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7024/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การส่งมอบรถยนต์คืนผู้ให้เช่าซื้อถือเป็นการบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อ แม้การโอนสิทธิยังไม่สมบูรณ์
จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ไปจากโจทก์โดยจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกัน จำเลยที่ 1 ผ่อนชำระค่าเช่าซื้อให้แก่โจทก์ 5 งวด แต่ก่อนครบกำหนดชำระประจำงวดที่ 6 จำเลยที่ 1 ติดต่อกับ พ. พนักงานของโจทก์ ณ ที่ทำการของโจทก์ว่าจะเปลี่ยนสัญญาเช่าซื้อใหม่โดยให้ ย. เป็นผู้เช่าซื้อและให้ ก. เป็นผู้ค้ำประกันแทนจำเลยทั้งสอง พ. จึงให้จำเลยที่ 1 และ ย. ลงลายมือชื่อในแบบพิมพ์หนังสือโอนสิทธิตามสัญญาเช่าซื้อของโจทก์ ให้ ย. ลงลายมือชื่อเป็นผู้เช่าซื้อในสัญญาเช่าซื้อฉบับใหม่โดยไม่มีการกรอกข้อความและลงลายมือชื่อรับมอบรถยนต์ในหนังสือหลักฐานการรับมอบรถยนต์ที่ทำขึ้นโดยบริษัทโจทก์ โดย พ. พนักงานของโจทก์ลงลายมือชื่อในฐานะเป็นฝ่ายโอนสิทธิและผู้ส่งมอบ ซึ่งมีการตรวจสอบความถูกต้องในการจัดทำเอกสารจากพนักงานฝ่ายอื่นของโจทก์ ทั้งในวันดังกล่าวจำเลยที่ 1 ได้ชำระค่าธรรมเนียมในการโอนสิทธิให้แก่โจทก์รับไปถูกต้องตามประเพณีปฏิบัติในการโอนสิทธิตามสัญญาเช่าซื้อของโจทก์แล้ว อันถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ปฏิบัติถูกต้องตามสัญญาเช่าซื้อ พฤติการณ์เช่นนี้ถือได้ว่า จำเลยที่ 1 ได้ส่งมอบรถยนต์คันที่เช่าซื้อคืนแก่โจทก์แล้วในวันดังกล่าว มิฉะนั้นโจทก์คงจะไม่ยินยอมให้มีการตกลงโอนสิทธิตามสัญญาเช่าซื้อและทำหลักฐานรับมอบรถยนต์ให้แก่ ย. ไป การที่จำเลยที่ 1 ผู้เช่าซื้อได้ส่งมอบรถยนต์คันที่เช่าซื้อคืนแก่โจทก์ผู้ให้เช่าซื้อ ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้บอกเลิกสัญญาเช่าซื้อแก่โจทก์ โดยไม่ต้องคำนึงว่าหนังสือโอนสิทธิและสัญญาเช่าซื้อระหว่างโจทก์กับ ย. จะได้ทำถูกต้องตามแบบที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ สัญญาเช่าซื้อระหว่างจำเลยที่ 1 กับโจทก์เป็นอันเลิกกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 573 นับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ส่งมอบรถยนต์คืนแก่โจทก์ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องให้จำเลยทั้งสองรับผิดตามสัญญาเช่าซื้อและสัญญาค้ำประกันที่ทำไว้กับโจทก์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3040/2548 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาเลิกกันแล้ว การฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการก่อสร้าง และการหักกลบลบหนี้จากค่าเสียหายฐานละเมิด
คดีก่อนจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินฟ้องขับไล่โจทก์คดีนี้ซึ่งเป็นผู้ก่อสร้างตึกแถวและเรียกค่าเสียหายเนื่องจากโจทก์คดีนี้ผิดสัญญาไม่ยอมส่งมอบตึกแถวแก่จำเลยทั้งสองตามสัญญา ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า สัญญาเลิกกัน คู่ความต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิม โดยโจทก์ต้องคืนที่ดินพร้อมตึกแถวซึ่งถือว่าเป็นส่วนควบตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยทั้งสองในคดีนี้ โจทก์ไม่มีสิทธิครอบครองที่ดินและตึกแถวต่อไป ส่วนค่าเสียหายนั้น เนื่องจากได้ตกลงเลิกสัญญากันแล้วโจทก์จึงไม่มีหน้าที่ส่งมอบตึกแถว จำเลยทั้งสองจึงเรียกค่าเสียหายในส่วนนี้ไม่ได้ พิพากษาให้ขับไล่โจทก์คดีนี้ออกจากที่ดินและตึกแถว ดังนั้น ผลของคำพิพากษาในคดีก่อนย่อมผูกพันโจทก์คดีนี้ โจทก์คดีนี้จึงไม่มีสิทธิอยู่ในที่ดินและตึกแถวนับแต่วันที่อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีก่อนคือวันที่ 12 ตุลาคม 2537 ให้โจทก์คดีนี้ฟัง การที่โจทก์คดีนี้คงอยู่ต่อมาจนถึงวันที่ 15 มิถุนายน 2538 จึงเป็นละเมิด ดังนั้น ที่จำเลยทั้งสองฟ้องแย้งเรียกค่าเสียหายฐานละเมิดในช่วงระยะเวลาดังกล่าวจนกว่าจะขนย้ายทรัพย์สินออกจากที่ดินและตึกแถว จึงเป็นการฟ้องแย้งเพื่อให้บังคับตามสิทธิที่เกิดจากผลของคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีก่อน ฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสองจึงไม่เป็นฟ้องซ้ำกับคดีก่อน
โจทก์ก่อสร้างตึกแถวตามสัญญา ต่อมาจำเลยทั้งสองบอกเลิกสัญญาก่อสร้างตึกแถวและสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินดังกล่าวเลิกกันเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2528 ดังนั้น โจทก์จึงควรได้ค่าก่อสร้างตึกแถวเพียงเท่าที่ก่อสร้างจนถึงวันที่ 13 กรกฎาคม 2528 ซึ่งเป็นเวลาหลังจากตกลงกัน 6 เดือน หลังจากนั้นโจทก์ยังก่อสร้างตึกแถวอีก 3 เดือน จำเลยทั้งสองจึงต้องร่วมรับผิดใช้ค่าก่อสร้างตึกแถวพิพาทจำนวน 3 ห้องให้แก่โจทก์เนื่องจากเป็นการงานอันได้กระทำให้ตาม ป.พ.พ. 391 วรรคสาม แต่เมื่อจำเลยทั้งสองฟ้องแย้งเรียกค่าเสียหายฐานละเมิดในช่วงระยะเวลาที่โจทก์ยังคงอยู่ในที่ดินและตึกพิพาทต่อมา ศาลย่อมมีอำนาจนำค่าเสียหายส่วนนี้มาหักกลบลบหนี้กับจำนวนค่าก่อสร้างตึกแถวจำนวน 3 ห้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1907/2537

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เช็คไม่มีมูลหนี้เนื่องจากสัญญาเลิกกันโดยปริยาย สิทธิฟ้องอาญาจึงระงับ
จำเลยที่ 1 ออกเช็คตามฟ้องให้โจทก์เป็นมัดจำในการว่าจ้างช่วงให้โจทก์ทำเฟอร์นิเจอร์แก่ อ. เช็คตามฟ้องจึงมีมูลหนี้ แต่ไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้ทำงานตามสัญญาจ้างระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1ไปแล้วหรือไม่เพียงใด อ. ก็ได้ตกลงว่าจ้างโจทก์ทำเฟอร์นิเจอร์แก่ อ. เสียเอง ซึ่งจำเลยที่ 1 มิได้ทักท้วงอย่างใด ถือได้ว่าโจทก์กับจำเลยที่ 1 ได้เลิกสัญญากันโดยปริยาย เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้ทำงานตามสัญญาให้แก่จำเลยที่ 1 แล้วหรือไม่ และฝ่ายใดเป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์จึงต้องคืนมัดจำแก่จำเลยที่ 1หนี้ที่จำเลยที่ 1 ได้ออกเช็คเพื่อใช้เงินจึงสิ้นผลผูกพันไปก่อนศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุด ซึ่งพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 7 ให้ถือว่าคดีเลิกกันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และเป็นกฎหมายที่บัญญัติในภายหลังเป็นคุณแก่ผู้กระทำผิดมากกว่าพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 5 ที่ใช้ในการกระทำความผิดจึงต้องใช้พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คพ.ศ. 2534 มาตรา 7 บังคับแก่กรณีนี้ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3โดยถือว่าคดีเลิกกัน สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(3)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4873/2528

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิของผู้ให้เช่าซื้อในการริบค่าเช่าซื้อและเรียกค่าเสียหายจากการไม่ส่งมอบรถยนต์เมื่อสัญญาเช่าซื้อเลิกกัน
เมื่อผู้เช่าซื้อรถยนต์ผิดสัญญาและสัญญาเลิกกันแล้วผู้ให้เช่าซื้อมีสิทธิ ริบค่าเช่าซื้อที่ผู้เช่าซื้อชำระไว้แล้ว และกลับเข้าครอบครองรถยนต์ที่เช่าซื้อ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 574 วรรคแรก หากผู้เช่าซื้อไม่ส่งมอบรถผู้ให้เช่าซื้อมีสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเพราะการไม่ชำระหนี้ ซึ่งได้แก่ค่าใช้ทรัพย์ตลอดเวลาที่ผู้เช่าซื้อครอบครองอยู่ตามนัยแห่ง ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 391 วรรค 3 สัญญาเช่าซื้อข้อ 7 ระบุว่าถ้าผู้เช่าซื้อผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อ งวดหนึ่งงวดใดก็ดี หรือผู้เช่าซื้อจะต้องชำระเงินใด ๆ แก่เจ้าของ ตามสัญญาประการหนึ่งประการใดก็ดี หรือผู้เช่าซื้อจะต้องชดใช้ ค่าเสียหายอันเกิดจากการผิดสัญญาประการใดประการหนึ่งก็ดี ผู้เช่าซื้อยอมเสียดอกเบี้ยสำหรับเงินที่ค้างชำระและหรือค่าเสียหาย นับแต่วันผิดนัดเป็นต้นไปในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี เงินค่าขาดประโยชน์ จากการใช้รถดังกล่าวไม่อยู่ในความหมายของเงินใด ๆ หรือค่าเสียหาย ตาม ข้อสัญญาดังกล่าวผู้ให้เช่าซื้อคงมีสิทธิเรียกร้องให้ผู้เช่าซื้อใช้ดอกเบี้ย ในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 เท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4330/2554 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาเลิกกัน, ค่าชดใช้การงาน, เบี้ยปรับ, ศาลลดหย่อนค่าปรับได้, คืนสู่ฐานะเดิม
โดยปกติเมื่อสัญญาเลิกกัน คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม ส่วนที่เป็นการงานอันได้กระทำให้ ให้ทำได้ด้วยใช้เงินตามสมควรค่าแห่งการนั้น ๆ ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคหนึ่งและวรรคสาม โจทก์ผู้รับจ้างจึงย่อมมีสิทธิได้รับการใช้เงินตามควรค่าแห่งงานที่ได้กระทำให้แก่จำเลยผู้ว่าจ้างไปแล้ว การที่สัญญาข้อ 9 ดังกล่าวระบุให้บรรดางานที่โจทก์ได้ทำขึ้นตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยโดยโจทก์จะเรียกร้องค่าเสียหายใด ๆ ไม่ได้เพื่อเป็นผลให้จำเลยไม่ต้องใช้ค่างานแก่โจทก์ จึงเป็นข้อตกลงที่มีลักษณะเป็นการกำหนดค่าเสียหายไว้ล่วงหน้าอันเป็นเบี้ยปรับ ซึ่งหากสูงเกินส่วนศาลมีอำนาจลดลงได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383 วรรคหนึ่ง หาใช่ว่าจะต้องบังคับตามข้อสัญญาโดยเด็ดขาดเป็นผลให้จำเลยไม่ต้องใช้เงินตามควรค่าแห่งงานแก่โจทก์ดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 วินิจฉัยเสมอไปไม่ คดีนี้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า โจทก์ทำงานตามจำนวนค่าจ้างไปเป็นเงิน 504,000 บาท จำเลยชำระแล้ว 300,000 บาท เมื่อคำนึงถึงค่าปรับรายวันที่จำเลยมิได้เรียกร้องประกอบกับความเสียหายอย่างอื่นที่จำเลยได้รับแล้ว เห็นสมควรกำหนดให้จำเลยใช้เงินแก่โจทก์อีกเพียง 50,000 บาท ซึ่งแม้คำพิพากษาศาลชั้นต้นจะใช้ถ้อยคำว่าเงินจำนวนดังกล่าวเป็นเงินค่าจ้าง แต่ก็เห็นได้ว่าเป็นเงินตามควรค่าแห่งงานที่กำหนดให้จำเลยใช้แก่โจทก์เพื่อการกลับคืนสู่ฐานะเดิมและศาลชั้นต้นได้ใช้ดุลพินิจลดจำนวนลงแล้วนั่นเอง หากจำเลยเห็นว่าตนไม่ต้องรับผิดก็ชอบที่จะอุทธรณ์ แต่จำเลยมิได้อุทธรณ์ เพียงแต่มีคำขอมาในคำแก้อุทธรณ์ให้ยกฟ้องโจทก์เท่านั้น ซึ่งไม่อาจกระทำได้ปัญหาว่าจำเลยจะต้องชำระเงินจำนวน 50,000 บาท แก่โจทก์หรือไม่ จึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ไม่มีเหตุที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 จะต้องยกปัญหานี้ขึ้นวินิจฉัยตามคำแก้อุทธรณ์ของจำเลยอีก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7618/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค่าของงานเมื่อสัญญาเลิกกัน การหักกลบลค่าปรับ และค่าฤชาธรรมเนียม
เมื่อสัญญาเลิกกัน คู่สัญญาต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งกลับคืนสู่ฐานะเดิม การกำหนดค่าของงานที่จะต้องชดใช้แก่กัน จึงมิใช่เป็นค่าตอบแทนหรือค่าเสียหาย แต่เป็นหนทางหนึ่งที่จะสามารถทำให้คู่สัญญากลับคืนสู่ฐานะเดิมได้ ส่วนค่าของงานที่จะชดใช้แก่กันนั้น ก็ต้องพิจารณาจากมูลค่าของงานที่โจทก์ทำให้แก่จำเลยตามความเป็นจริง จะยึดเอาค่าจ้างที่จะต้องชำระตามงวดงานที่กำหนดไว้ในสัญญาที่เลิกกันแล้วมาเป็นหลักเกณฑ์อีกไม่ได้ เพราะค่าจ้างที่กำหนดให้ชำระตามสัญญานั้นอาจมีการกำหนดสิ่งที่มิใช่ค่าของงานลงไปด้วย
ที่โจทก์และจำเลยตกลงกันว่า จะใช้เงินจำนวนหนึ่ง เมื่อไม่ชำระหนี้หรือชำระหนี้ไม่ถูกต้องสมควร ถือเป็นเบี้ยปรับ หากสูงเกินส่วน ศาลมีอำนาจลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383
ความรับผิดในชั้นที่สุดสำหรับค่าฤชาธรรมเนียม ศาลมีอำนาจใช้ดุลพินิจให้ฝ่ายใดเป็นผู้เสียก็ได้ โดยคำนึงถึงเหตุสมควรและความสุจริตในการดำเนินคดี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8812/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การผิดสัญญาเช่าซื้อ ยึดรถยนต์ก่อนบอกเลิกสัญญา จำเลยต้องคืนเงินดาวน์และค่าเช่าซื้อ
จำเลยยึดรถยนต์พิพาทจากบ้านของโจทก์ไปไว้ที่บริษัทจำเลย ไม่ได้ความว่าจำเลยบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อก่อน กลับได้ความว่าในวันดังกล่าวฝ่ายโจทก์นำค่าเช่าซื้อไปชำระให้แก่จำเลยจำนวนหนึ่ง จำเลยก็รับไว้ การที่จำเลยยึดรถยนต์พิพาทจากโจทก์ในระหว่างการเช่าซื้อถือว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาเช่าซื้อจำเลยย่อมไม่มีสิทธิริบเงินดาวน์และค่าเช่าซื้อที่โจทก์ได้ชำระไปตามสัญญาเช่าซื้อ
หลังจากที่จำเลยยึดรถยนต์พิพาทคืนไปจากโจทก์แล้ว โจทก์มีหนังสือให้จำเลยคืนเงินดาวน์และค่าเช่าซื้อทั้งหมดให้แก่โจทก์ จึงถือว่าโจทก์บอกเลิกสัญญาต่อจำเลย สัญญาเช่าซื้อระหว่างโจทก์และจำเลยจึงเป็นอันเลิกกัน ผลแห่งการเลิกสัญญาดังกล่าวคู่สัญญาจะต้องกลับสู่ฐานะเดิม จำเลยต้องคืนเงินที่ได้รับตามสัญญาเช่าซื้อให้แก่โจทก์ และโจทก์ต้องรับผิดในค่าขาดประโยชน์ของจำเลยในระหว่างที่โจทก์ครอบครองและใช้ประโยชน์ในรถยนต์พิพาทของจำเลย