คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
สัญญาแลกเปลี่ยน

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 10 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 828/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาแลกเปลี่ยนที่ดิน: อำนาจฟ้อง แม้ไม่ได้เสนอโอนกรรมสิทธิ์ทั้งหมด & หน้าที่แบ่งแยกที่ดินเกินอาคาร
สัญญาแลกเปลี่ยนที่ดินและบันทึกข้อตกลงมีข้อตกลงให้ทั้งฝ่ายโจทก์และจำเลยทั้งสองมีหน้าที่ที่จะต้องโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินในส่วนที่มีอาคารปลูกสร้างรุกล้ำของแต่ละฝ่ายให้แก่กันและกัน และจำเลยทั้งสองมีหน้าที่ที่จะต้องยื่นเรื่องราวขอแบ่งแยกที่ดินส่วนที่เกินจากอาคารของจำเลยทั้งสองให้แก่ฝ่ายโจทก์อีกด้วย สัญญาดังกล่าวจึงเป็นสัญญาจะแลกเปลี่ยนที่ดินซึ่งเป็นสัญญาต่างตอบแทน หากบังคับฝ่ายหนึ่งชำระหนี้ก็ต้องบังคับให้อีกฝ่ายชำระหนี้ตอบแทนได้ แม้โจทก์ทั้งสองฟ้องจำเลยทั้งสองโดยไม่ได้มีคำขอท้ายฟ้องเสนอขอโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินที่ฝ่ายโจทก์จะต้องโอนให้แก่จำเลยทั้งสองตามสัญญาก็ตาม ก็หาเป็นเหตุให้โจทก์ทั้งสองไม่มีอำนาจฟ้องแต่อย่างใดไม่ โจทก์ทั้งสองจึงมีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7143/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การรับชำระหนี้ในคดีฟื้นฟูกิจการ สัญญาธุรกรรมแลกเปลี่ยนเงินตรา ไม่ต้องทำเป็นหนังสือ
เจ้าหนี้ยื่นคำแถลงชี้แจงพร้อมรายละเอียดเกี่ยวกับหนี้ที่ขอรับชำระหนี้ส่วนหนึ่งประกอบคำแถลงต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2544 และยื่นเอกสารเพิ่มเติมอีกครั้งในวันที่ 6 มีนาคม 2544 ซึ่งผู้ทำแผนมีเวลาที่จะคัดค้านว่าต้นฉบับไม่มีหรือเอกสารปลอมหรือสำเนาไม่ถูกต้องหรือนำพยานหลักฐานเสนอต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เพื่อหักล้างข้ออ้างของเจ้าหนี้ แต่ผู้ทำแผนก็มิได้กระทำการดังกล่าวแต่อย่างใด จนกระทั่งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีคำสั่งคำขอรับชำระหนี้เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2544 เช่นนี้ จึงถือว่าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้รวบรวมพยานหลักฐานสำหรับการพิสูจน์มูลหนี้ที่ขอรับชำระโดยชอบแล้ว เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ย่อมใช้ดุลพินิจรับฟังพยานหลักฐานดังกล่าวประกอบการพิจารณาคำขอรับชำระหนี้ได้ ไม่ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 93
สัญญาธุรกรรมเพื่อการส่งมอบเงินตราแลกเปลี่ยนกันนั้นไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายกำหนดให้ต้องทำเป็นหนังสือหรือมีหลักฐานเป็นหนังสือ ดังนั้น หากคู่สัญญานำสืบพยานหลักฐานเพียงพอให้รับฟังได้ว่าคู่สัญญาแสดงเจตนาเข้าทำสัญญากันจริงแล้ว คู่สัญญาย่อมผูกพันตามข้อตกลงในสัญญานั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3576/2542

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟ้องรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง: ประเด็นไม่ใช่การแย่งการครอบครอง แต่เป็นข้อพิพาทเรื่องสัญญาแลกเปลี่ยนที่ดิน
จำเลยต่อสู้ว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลย ไม่มีประเด็น เรื่องแย่งการครอบครองจึงไม่อาจนำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1375 มาใช้บังคับแก่การฟ้องคดีของโจทก์ โจทก์จึง มีสิทธิฟ้องคดีหาใช่หมดสิทธิฟ้อง เพราะประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1375 เป็นบทบังคับเรื่อง กำหนดเวลาสำหรับฟ้อง ซึ่งเป็นระยะเวลาให้สิทธิฟ้องคดี หากไม่ฟ้อง ภายในกำหนดก็หมดสิทธิฟ้อง มิใช่เรื่องอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5526/2541 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาจะแลกเปลี่ยนที่ดินและสิทธิของผู้จัดการมรดกในการบังคับตามสัญญา
หนังสือสัญญาเอกสารท้ายฟ้องที่จำเลยได้ทำกับ ร.มีข้อความระบุว่าตกลงแลกเปลี่ยนที่ดินกัน โดยที่พิพาทเป็นกรรมสิทธิ์รวมของ ร.และบิดาจำเลย เนื่องจากบิดาจำเลยถึงแก่กรรม จำเลยจะขอรับมรดกที่พิพาทส่วนของบิดาเมื่อได้รับมรดกที่พิพาทนี้เสร็จเรียบร้อยแล้ว จำเลยยอมโอนกรรมสิทธิ์ที่พิพาทส่วนของบิดาที่รับมรดกเนื้อที่ประมาณ 2 ไร่ ให้แก่ ร. ส่วน ร.จะโอนที่ดิน 3 แปลงให้แก่จำเลย ต่อมามีการบันทึกเพิ่มเติมว่า จำเลยได้รับ ส.ค.1 ที่เชิงทะเลไปแล้วจำเลยจะโอนที่พิพาทให้แก่พวกลูก ร. เมื่อถึงเวลาพวกลูกของ ร.ต้องการ จำเลยจะโอนให้ทันที ดังนี้ เมื่อขณะทำสัญญาที่ดินพิพาทยังมีชื่อบิดาจำเลยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในโฉนดอยู่ ทั้งสัญญาระบุไว้ชัดเจนว่าจำเลยจะโอนกรรมสิทธิ์ให้เมื่อรับโอนมรดกแล้วข้อตกลงตามสัญญาจึงเป็นสัญญาจะแลกเปลี่ยนที่ดินซึ่งมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อฝ่ายจำเลยผู้ต้องรับผิดเป็นสำคัญ ต้องด้วย ป.พ.พ.มาตรา 519 ประกอบมาตรา456 วรรคสอง โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกันของ ร. ย่อมมีสิทธิฟ้องร้องบังคับเอาแก่จำเลยได้
ศาลอุทธรณ์ได้พิพากษาคดีถึงที่สุดแล้วว่า จำเลยได้รับที่ดินของ ร.ตามสัญญาครบถ้วนแล้ว จำเลยไม่มีสิทธิเรียกให้แบ่งที่พิพาท จำเลยมีหน้าที่ต้องโอนส่วนของจำเลยในโฉนดที่พิพาทให้โจทก์ เมื่อจำเลยเป็นคู่ความในคดีดังกล่าว จึงต้องผูกพันตาม ป.วิ.พ.มาตรา 145 วรรคหนึ่ง จำเลยจึงต้องโอนที่พิพาทให้โจทก์ทั้งสองในฐานะผู้จัดการมรดกร่วมกันของ ร.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1056/2541

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาซื้อขายที่ดิน, การโอนกรรมสิทธิ์, มัดจำ, สัญญาแลกเปลี่ยน, หน้าที่ชำระราคา
เมื่อสัญญาซื้อขายที่ดินระหว่างโจทก์และจำเลยมิได้ระบุว่าหากโจทก์ยืมเงินจากธนาคารไม่ได้ ให้ถือว่าสัญญาดังกล่าวเป็นอันเลิกกัน โจทก์จึงจะนำเหตุที่ตนกู้ยืมเงินไม่ได้มาบอกเลิกสัญญากับจำเลยหาได้ไม่ โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา เพราะไม่อาจชำระราคาค่าบ้านและที่ดินให้แก่จำเลยได้ ทั้งการที่จำเลยโอนบ้านและที่ดินพิพาทมาเป็นของตนก็เป็นการกระทำโดยชอบและสุจริตเพราะดำเนินการไปโดยได้รับมอบอำนาจจากโจทก์ โจทก์จึงไม่ สามารถฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนบ้านและที่ดินพิพาท ดังกล่าวได้ แม้สัญญาซื้อขายที่ดินระหว่างโจทก์และจำเลยจะระบุว่าโจทก์มอบบ้านและที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยเป็นค่ามัดจำในการ ซื้อบ้านและที่ดินของจำเลย แต่เมื่อโจทก์ยังมิได้ส่งมอบบ้าน ดังกล่าวให้แก่จำเลย บ้านและที่ดินพิพาทจึงไม่ใช่มัดจำ ดังนี้แม้โจทก์จะผิดสัญญาจำเลยก็ไม่อาจริบบ้านและที่ดินพิพาทได้ อย่างไรก็ตามการที่โจทก์และจำเลยต่างต้องโอนกรรมสิทธิ์ ในบ้านและที่ดินให้แก่กันนั้นมีลักษณะเป็นสัญญาแลกเปลี่ยน ทรัพย์สิน ซึ่งต้องบังคับตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 518-520 โดยจำเลยอยู่ใน ฐานะผู้ซื้อบ้านและที่ดินพิพาทส่วนโจทก์เป็นผู้ขายเมื่อจำเลย โอนบ้านและที่ดินพิพาทเป็นของตนแล้ว จำเลยจึงมีหน้าที่ต้อง ชำระราคาค่าบ้านและที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1016/2538

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ นิติกรรมอำพรางสัญญาแลกเปลี่ยนที่ดิน แม้มีสัญญาให้ที่ดินเป็นหลักฐาน โจทก์นำสืบได้ว่าเป็นการแลกเปลี่ยน
แม้นิติกรรมที่โจทก์ทำกับจำเลยระบุว่าเป็นสัญญาให้โจทก์ก็นำพยานบุคคลมาสืบได้ว่าความจริงเป็นการแลกเปลี่ยนที่ดินกันไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา94เพราะเป็นการนำสืบว่าสัญญาให้นั้นเป็นนิติกรรมอำพรางต้องบังคับตามสัญญาที่แท้จริงคือสัญญาแลกเปลี่ยนเมื่อโจทก์โอนที่ดินของโจทก์ให้แก่จำเลยแล้วจำเลยต้องโอนที่ดินของจำเลยให้แก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 254/2480

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาแลกเปลี่ยนอสังหาริมทรัพย์ต้องทำตามรูปแบบกฎหมาย หากสัญญาไม่สมบูรณ์ สัญญาเดิมย่อมไม่ผูกพัน
สัญญาจะแลกเปลี่ยนอสังหาริมทรัพย์แก่กันนั้น จักต้องมีหลักฐานดังที่บัญญัติไว้ใน ม.456 วรรค 2 จึงจะฟ้องร้องให้บังคับกันได้ การฟ้องคดีเพื่อเพิกถอนสัญญายกให้นั้นจักต้องอาศัยเหตุบกพร่องต่าง ๆ ตามลักษณทั่วไปของสัญญา เช่น ถูกข่มขู่หรือสำคัญผิดหรืออาศัยเหตุเนรคุณตาม ม.531 แห่งประมวลแพ่งฯ ประมวลวิธีพิจารณาแพ่ง ม.94 (ข) โจทก์ฟ้องคดีว่าได้ตกลงจะแลกเปลี่ยนที่ดินและตึกแถวกับจำเลยด้วยปากเปล่า โจทก์จึงไปทำหนังสือสัญญายกตึกแถวส่วนของโจทก์ให้จำเลย แต่ในหนังสือยกให้ไม่ปรากฎความข้อนี้เลย โจทก์จะสืบพะยานหลักฐานตามข้ออ้างในฟ้องของโจทก์มิได้เพราะเป็นการสืบเพิ่มเติมหรือแก็ไขสัญญายกให้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15097/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาแลกเปลี่ยนที่ดิน: เจตนาคู่สัญญาและลักษณะของสัญญาจะแลกเปลี่ยน
ป.พ.พ. มาตรา 519 บัญญัติว่า "บทบัญญัติทั้งหลายในลักษณะซื้อขายนั้น ท่านให้ใช้ถึงการแลกเปลี่ยนด้วย โดยให้ถือว่าผู้เป็นคู่สัญญาแลกเปลี่ยนเป็นผู้ขายในส่วนทรัพย์สินซึ่งตนได้ส่งมอบ และเป็นผู้ซื้อในส่วนทรัพย์สินซึ่งตนได้รับในการแลกเปลี่ยนนั้น" แม้หนังสือแบ่งแยกโฉนดที่ดินจะระบุชื่อสัญญาว่าเป็นหนังสือแบ่งแยกโฉนดที่ดิน อันอาจจะแปลได้ว่าเป็นสัญญาแลกเปลี่ยนที่ดินเสร็จเด็ดขาดก็ตาม แต่เมื่อตามสัญญาโจทก์กับจำเลยตกลงกันว่าจะแลกโฉนดที่ดินกัน โดยจำเลยจะแบ่งที่ดินคืนให้โจทก์ 12 ไร่เศษ ตามจำนวนที่จำเลยแบ่งขาย จึงไม่ใช่สัญญาที่ตกลงกันให้ความเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินโอนไปทันทีที่มีการทำสัญญา แต่จำเลยยังมีหน้าที่แบ่งแยกที่ดินแล้วจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้โจทก์ตามข้อตกลงในสัญญา จึงเป็นข้อบ่งชี้ว่าโจทก์กับจำเลยมีเจตนาที่จะไปจดทะเบียนโอนที่ดินที่แลกเปลี่ยนกันในภายหลัง หามีเจตนาจะให้กรรมสิทธิ์ในที่ดินที่แลกเปลี่ยนกันโอนทันทีในวันทำสัญญาไม่ หนังสือแบ่งแยกโฉนดที่ดินระหว่างโจทก์กับจำเลย จึงเป็นสัญญาจะแลกเปลี่ยนที่ดินตาม ป.พ.พ. มาตรา 519 ประกอบมาตรา 456 วรรคสอง หาใช่สัญญาแลกเปลี่ยนที่ดินเสร็จเด็ดขาดซึ่งจะตกเป็นโมฆะเพราะไม่ได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 519 ประกอบมาตรา 456 วรรคหนึ่ง แต่อย่างใดไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11692/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาแลกเปลี่ยนทรัพย์สินระหว่างสมรสมีผลสมบูรณ์ แม้มีบุคคลภายนอกเกี่ยวข้อง และโจทก์ไม่สามารถบอกล้างสัญญาได้
โจทก์และจำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาแลกเปลี่ยนสินส่วนตัวของแต่ละฝ่ายแก่กัน กรณีแม้เป็นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างสามีภริยาในทางทรัพย์สินตาม ป.พ.พ. มาตรา 1469 อันเป็นคดีครอบครัว แต่การพิจารณาพิพากษาคดีก็ต้องอาศัยหลักกฎหมายในเรื่องนิติกรรมสัญญาและหลักกฎหมายอื่นตาม ป.พ.พ. มาพิจารณาประกอบกัน เมื่อปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ตกลงให้โจทก์โอนที่ดินของโจทก์ให้แก่จำเลยที่ 2 ผู้เป็นมารดา โดยให้ทำเป็นนิติกรรมซื้อขายกันระหว่างจำเลยที่ 2 กับโจทก์เพื่อแลกเปลี่ยนกับรถยนต์ของจำเลยที่ 1 และโจทก์ทำนิติกรรมขายที่ดินดังกล่าวแก่จำเลยที่ 2 แล้วถือได้ว่าการแลกเปลี่ยนสินส่วนตัวระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 มีผลสมบูรณ์ แม้รถยนต์ที่ตกลงแลกเปลี่ยนยังคงมีชื่อจำเลยที่ 1 ในทางทะเบียน แต่รถยนต์เป็นสังหาริมทรัพย์ที่ไม่ต้องจดทะเบียนโอนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ เมื่อคู่กรณีมีการตกลงโอนกรรมสิทธิ์แก่กันก็มีผลสมบูรณ์ตามกฎหมายแล้ว
แม้การแลกเปลี่ยนทรัพย์สินกันนี้จะมีลักษณะเป็นสัญญาระหว่างสมรส ที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะบอกล้างในเวลาใดที่เป็นสามีภริยากันอยู่หรือภายในกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันที่ขาดจากการเป็นสามีภริยากันได้ตามป.พ.พ. มาตรา 1469 ก็ตาม แต่สัญญาดังกล่าวก็มีลักษณะเป็นสัญญาเพื่อประโยชน์ของบุคคลภายนอกตามมาตรา 374 วรรคหนึ่ง ซึ่งจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกได้เข้าถือเอาประโยชน์จากสัญญาแล้วตามมาตรา 374 วรรคสอง โจทก์จึงไม่อาจบอกล้างสัญญาดังกล่าวซึ่งจะมีผลให้เป็นการระงับสิทธิของจำเลยที่ 2 ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 736/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาแลกเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยไม่ใช่ดอกเบี้ยตามมาตรา 40(4)(ก) แห่งประมวลรัษฎากร ไม่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย
เงินได้ที่เป็นดอกเบี้ยรวมทั้งเงินได้ที่มีลักษณะทำนองเดียวกันกับดอกเบี้ยตามมาตรา 40 (4) (ก) แห่ง ป.รัษฎากร หมายถึงเงินได้ที่มีลักษณะเป็นหนี้อุปกรณ์ของหนี้ประธาน โดยคำนวณจากหนี้ประธานในอัตราและตามระยะเวลาที่กำหนดโดยนิติกรรมสัญญาหรือบทบัญญัติของกฎหมาย ซึ่งฝ่ายที่เป็นลูกหนี้หรือตกเป็นลูกหนี้เป็นผู้จ่ายหรือชำระเพิ่มขึ้นจากหนี้ประธานตามข้อตกลงของนิติกรรมสัญญาหรือบทบัญญัติของกฎหมายให้แก่ฝ่ายที่เป็นเจ้าหนี้
ข้อตกลงตามสัญญาแลกเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยระหว่างสถาบันการเงินกับโจทก์ไม่ใช่สัญญากู้ยืมเงิน เพราะสถาบันการเงินไม่ได้ส่งมอบเงินกู้ยืมจำนวนใดให้แก่โจทก์ และโจทก์ไม่ต้องชำระเงินจำนวนใดที่ได้รับไปคืนให้ เพียงให้โจทก์มีโอกาสได้รับประโยชน์ตามสัญญาโดยเฉพาะต่างหากจากสัญญากู้ยืมเงิน หากโจทก์มีผลกำไรที่ได้รับจากสัญญาแลกเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยแล้วนำเงินนั้นไปหักกลบลบหนี้กับจำนวนดอกเบี้ยตามสัญญากู้ยืมเงินก็เท่ากับเป็นการนำรายได้จากแหล่งอื่นไปชำระดอกเบี้ยตามสัญญากู้ยืม มิใช่กรณีที่ถือว่าเงินที่โจทก์ได้รับตามสัญญาแลกเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยกลายเป็นรายได้ประเภทดอกเบี้ยของผู้ให้กู้ซึ่งทำสัญญาแลกเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยกับโจทก์ไปได้ และในกรณีกลับกันเมื่อโจทก์เป็นฝ่ายต้องจ่ายเงินส่วนต่างแก่สถาบันการเงินคู่สัญญา เงินที่โจทก์จ่ายก็เป็นรายรับแก่คู่สัญญาโดยผลของสัญญาแลกเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยโดยเฉพาะเช่นกัน มิใช่เงินได้จากดอกเบี้ย โจทก์จึงไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้นิติบุคคล ณ ที่จ่าย และนำส่งตามมาตรา 70