คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
สัญญาโมฆะ

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 46 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7277/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาจ้างเหมาที่เกิดจากการทุจริตและผลประโยชน์ทับซ้อน ทำให้สัญญาเป็นโมฆะ และศาลไม่ต้องบังคับตามคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการ
ผู้คัดค้านเป็นหน่วยงานทางปกครองที่จัดตั้งขึ้นโดยกฎหมายฝ่ายมหาชนทำสัญญาจ้างเหมาออกแบบรวมก่อสร้างโครงการทางด่วนกับผู้ร้องทั้งสาม ผู้คัดค้านทำโดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายในฐานะหน่วยงานทางปกครองที่เป็นองค์กรนิติบุคคลข้อ 17 ของประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 290 บัญญัติให้มีผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทยเป็นผู้กระทำการในนามผู้คัดค้านในกิจการที่เกี่ยวกับบุคคลภายนอกและเป็นผู้กระทำการแทนผู้คัดค้านตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว การใช้อำนาจของผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทยซึ่งกระทำการในนามผู้คัดค้านจะผูกพันผู้คัดค้านต่อเมื่ออยู่ภายใต้หลักความชอบด้วยกฎหมาย กล่าวคือ นอกจากจะต้องอยู่ภายในขอบเขตแห่งอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายที่จัดตั้งกำหนดไว้เป็นไปตามระเบียบวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองและไม่ฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งกฎหมายหรือกฎระเบียบและข้อบังคับที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายแล้ว การใช้อำนาจของผู้คัดค้านจะต้องมิใช่เป็นการใช้อำนาจโดยมิชอบหรือมีการบิดผันอำนาจทางหนึ่งทางใดอีกด้วย
ผู้คัดค้านโต้แย้งคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่วินิจฉัยว่า นิติกรรมหรือสัญญาจ้างเหมาออกแบบรวมก่อสร้างโครงการทางด่วนหากมีการทำขึ้นเพราะกลฉ้อฉลก็เป็นเพียงโมฆียะ เมื่อไม่มีการบอกล้าง ก็ไม่ทำให้สัญญาจ้างดังกล่าวตกเป็นโมฆะนั้นไม่ชอบ โดยผู้คัดค้านอ้างทำนองเดียวกันกับที่ได้ยกข้อต่อสู้ไว้แล้วว่า ในการทำสัญญาจ้างเหมาออกแบบรวมก่อสร้างโครงการทางด่วน มีการทุจริตและประพฤติมิชอบ เอื้อประโยชน์แก่ผู้ร้อง ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ มีเจ้าหน้าที่ของรัฐร่วมมือกับผู้ร้อง โดยเฉพาะ ศ. ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้ว่าการของผู้คัดค้านในขณะนั้นและเป็นผู้ลงนามในสัญญาจ้างดังกล่าวในนามผู้คัดค้านกระทำโดยมิชอบหลายประการ ทั้ง ศ. และเจ้าหน้าที่อื่นและเจ้าหน้าที่รัฐหน่วยอื่น ๆ รับประโยชน์จากผู้ร้อง สัญญาจ้างดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะ เป็นการกล่าวอ้างว่า การใช้อำนาจของ ศ. และเจ้าหน้าที่รัฐคนอื่นดังกล่าวกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 290 ซึ่งเป็นกฎหมายฝ่ายมหาชน เป็นการโต้แย้งว่า คำพิพากษาศาลชั้นต้นในส่วนนี้ฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติของประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 290 อันเป็นกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนซึ่งผู้คัดค้านย่อมอุทธรณ์ได้ตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 45 (2) ซึ่งบัญญัติไว้อย่างเดียวกับพ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2530 มาตรา 26 (2) ศ. ช่วยเหลือผู้ร้องโดยเห็นแก่ประโยชน์ที่ผู้ร้องจัดให้จึงถือว่าการใช้อำนาจในฐานะผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทยของ ศ. ที่ลงนามในสัญญาจ้างเหมาออกแบบรวมก่อสร้างโครงการทางด่วนเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบด้วยกฎหมาย และขณะเดียวกันการที่ผู้ร้องเพิ่มทุนและจัดสรรหุ้นของบริษัท ท. ให้แก่ ศ. กับเจ้าหน้าที่ของรัฐคนอื่นมีสิทธิซื้อหุ้นในฐานะผู้มีอุปการะคุณก่อนทำสัญญาจ้างเหมาออกแบบรวมก่อสร้างโครงการทางด่วนถือได้ว่าผู้ร้องได้ให้ผลประโยชน์แก่ ศ. และเจ้าหน้าที่เกี่ยวกับการทำสัญญาจ้างเหมาออกแบบรวมก่อสร้างโครงการทางด่วน โดยเอื้อประโยชน์แก่ผู้ร้อง กรณีต้องถือว่า ในการทำสัญญาดังกล่าวของผู้ร้อง ผู้ร้องใช้สิทธิโดยไม่สุจริต สัญญาจ้างเหมาออกแบบรวมก่อสร้างโครงการทางด่วนซึ่งเกิดจากการกระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน จึงไม่มีผลผูกพันผู้คัดค้าน คำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการที่ชี้ขาดให้ผู้คัดค้านชำระเงินให้แก่ผู้ร้องตามสัญญาที่เกิดขึ้นจากการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายดังกล่าวนั้นหากศาลบังคับให้ตามคำชี้ขาดนั้นย่อมเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนชอบที่ศาลชั้นต้นจะปฏิเสธไม่รับบังคับให้ตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 44 ดังนั้นคำพิพากษาของศาลชั้นต้นที่บังคับตามคำชี้ขาดขออนุญาตโดยตุลาการดังกล่าวจึงฝ่าฝืนต่อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6980/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การละเมิดเครื่องหมายการค้า แม้สัญญาอนุญาตจะโมฆะ แต่เจ้าของเครื่องหมายยังฟ้องละเมิดได้ หากจำเลยใช้เครื่องหมายต่อหลังบอกเลิก
แม้ว่าโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของเครื่องหมายบริการ "เลมอนกรีน (LEMON GREEN)" ที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วได้อนุญาตให้จำเลยใช้เครื่องหมายบริการดังกล่าวโดยมิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อนายทะเบียนอันเป็นผลให้สัญญาดังกล่าวเป็นโมฆะก็ตาม แต่คดีนี้โจทก์ไม่ได้ฟ้องบังคับสิทธิหรือกล่าวอ้างสิทธิตามสัญญาแต่อย่างใด แต่ฟ้องกล่าวหาจำเลยกระทำละเมิดสิทธิในเครื่องหมายบริการของโจทก์ โดยจำเลยยังคงใช้เครื่องหมายบริการของโจทก์ หลังจากที่โจทก์ได้แจ้งบอกเลิกการอนุญาตให้ใช้แล้ว โจทก์ในฐานะเจ้าของเครื่องหมายบริการที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วซึ่งมีสิทธิแต่ผู้เดียวในการใช้เครื่องหมายบริการนั้นสำหรับบริการที่ได้จดทะเบียนไว้ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 80 ประกอบมาตรา 44 ย่อมมีสิทธิฟ้องว่าจำเลยละเมิดสิทธิในเครื่องหมายบริการของโจทก์ได้
การที่จำเลยเคยใช้เครื่องหมายบริการของโจทก์ทั้งหมดให้ประชาชนได้เห็นแล้วต่อมาจำเลยเพียงแต่ลอกป้ายส่วนที่เป็นรูปและคำว่า "LEMON" ออกโดยป้ายต่างๆ ยังติดตั้งอยู่ที่เดิม ย่อมทำให้บุคคลทั่วไปที่เคยเห็นป้ายร้านค้าของจำเลยดังกล่าวเข้าใจได้ว่าร้านค้าของจำเลยยังเป็นร้าน LEMON GREEN อยู่ส่วนรูปและคำว่า "LEMON" ที่หายไปนั้นก็อาจเข้าใจว่าเป็นเพราะป้ายได้รับความเสียหายเท่านั้น ถือว่าจำเลยยังใช้เครื่องหมายบริการของโจทก์อยู่อันเป็นการละเมิดต่อโจทก์
ที่โจทก์มีคำขอท้ายฟ้องว่า หากจำเลยไม่ดำเนินการถอดป้ายและลบเครื่องหมายบริการของโจทก์ออกจากร้านค้าของจำเลย โจทก์ขอถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยให้โจทก์เข้าไปถอดป้ายและลบเครื่องหมายบริการของโจทก์ดังกล่าวได้โดยจำเลยเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายทั้งหมดนั้น หากโจทก์จะกระทำการดังกล่าวย่อมเป็นการละเมิดสิทธิในทรัพย์สินของจำเลยโดยไม่มีบทบัญญัติในกฎหมายใดให้อำนาจแก่โจทก์ดำเนินการเช่นนั้นได้ คำขอในส่วนนี้ของโจทก์ จึงเป็นคำขอที่ไม่อาจพิพากษาบังคับให้ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 548/2546

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การโอนสิทธิอนุญาตใช้ที่ดินของรัฐตาม ป.ก.ที่ดิน มาตรา 9 มิได้ สัญญาซื้อขายเพื่อหลีกเลี่ยงข้อห้ามเป็นโมฆะ
การได้รับอนุญาตให้ใช้ที่ดินของรัฐตามประมวลกฎหมายที่ดินฯ มาตรา 9 ไม่ได้บัญญัติให้โอนกันได้ และไม่มีบทกฎหมายหรือกฎกระทรวงฉบับใดกำหนดให้ผู้ได้รับอนุญาตโอนสิทธิหรืออำนาจตลอดจนวิธีดำเนินการต่าง ๆ เพื่อเป็นการหาประโยชน์ในที่ดินของรัฐให้แก่บุคคลอื่นได้ การอนุญาตให้ใช้ที่ดินของรัฐในกรณีดังกล่าวกำหนดขึ้นเพื่ออนุญาตให้ผู้ที่ได้รับใบอนุญาตเป็นการเฉพาะตัวเท่านั้น การที่ผู้ได้รับอนุญาตโอนสิทธิดังกล่าวย่อมเป็นการฝ่าฝืนประมวลกฎหมายที่ดินฯ มาตรา 9 อาจถูกเพิกถอนใบอนุญาตได้เนื่องจากตามเงื่อนไขการอนุญาตให้ระเบิดและย่อยหินระบุให้ผู้ได้รับอนุญาตต้องดำเนินการด้วยตนเอง จะให้ผู้อื่นดำเนินการหรือโอนสิทธิให้ผู้อื่นไม่ได้ หากผู้รับโอนเข้าไปทำประโยชน์หรือใช้ที่ดินของรัฐโดยระเบิดและย่อยหินเองโดยไม่ได้รับอนุญาตตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 9 อาจมีความผิดตามมาตรา 108 ทวิ ดังนั้น การที่จำเลยทั้งสองทำสัญญาซื้อขายหินกับโจทก์ในสภาพสังหาริมทรัพย์ แต่ให้โจทก์เป็นผู้ระเบิดและย่อยหินเองได้นั้น เป็นการทำสัญญาเพื่อหลีกเลี่ยงกฎหมายและข้อกำหนดห้ามโอนสิทธิตามใบอนุญาตระเบิดหินและย่อยหิน ในเมื่อโจทก์กับจำเลยทั้งสองมีเจตนาที่แท้จริงจะโอนสิทธิตามใบอนุญาตระเบิดและย่อยหินแก่กัน สัญญาดังกล่าวจึงมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย ย่อมตกเป็นโมฆะ ทั้งกรณีหาใช่การให้สัมปทานตามประมวลกฎหมายที่ดินฯ มาตรา 12 ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 235/2546 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฟ้องซ้ำ: สัญญาที่ศาลวินิจฉัยโมฆะแล้วนำมาฟ้องอีก ย่อมเป็นฟ้องซ้ำตามกฎหมาย
โจทก์เคยนำสัญญาที่จำเลยยอมให้โจทก์ใช้ใบอนุญาตให้ตั้งบ่อนการพนันและจัดให้มีการเล่นการพนันประเภทชนไก่และกัดปลาที่จำเลยได้รับใบอนุญาตมาฟ้องต่อศาลในคดีก่อน คดีถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่าสัญญาดังกล่าวตกเป็นโมฆะ การที่โจทก์นำสัญญาดังกล่าวมาฟ้องกล่าวหาจำเลยว่าผิดสัญญาดังกล่าวและบังคับให้จำเลยคืนเงินมัดจำที่รับไปจากโจทก์เพื่อให้ศาลวินิจฉัยคดีในประเด็นเดียวกันนั้นซ้ำอีก ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงเป็นฟ้องซ้ำกับคดีก่อนต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกฟ้องโจทก์โดยไม่ได้สั่งเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมไม่ชอบ เพราะคำสั่งในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมแม้จะไม่มีคำขอของคู่ความฝ่ายใดก็เป็นหน้าที่ของศาลจะต้องสั่งลงไว้ในคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 167 วรรคหนึ่ง แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นกล่าวอ้าง ศาลฎีกามีอำนาจแก้ไขให้ถูกต้องได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 900/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิครอบครองที่ดินหลังแลกเปลี่ยน-เวนคืน แม้สัญญาโมฆะ แต่สิทธิครอบครองยังคงอยู่
การที่โจทก์จำเลยต่างมีสิทธิครอบครองในที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ได้ตกลงแลกเปลี่ยนที่ดินกันครอบครองโดยเด็ดขาด เมื่อจำเลยโต้แย้งสิทธิครอบครองของโจทก์ โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 และแม้การแลกเปลี่ยนที่ดินระหว่างโจทก์กับจำเลยจะตกเป็นโมฆะ เพราะมิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 456 ประกอบมาตรา 519 ก็ตาม แต่เมื่อต่างฝ่ายต่างได้สละการครอบครองและส่งมอบที่ดินให้อีกฝ่ายยึดถือครอบครองแล้วเช่นนี้ โจทก์และจำเลยย่อมได้สิทธิครอบครองในที่ดินส่วนนั้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 1367 มาตรา 1377 วรรคหนึ่ง และมาตรา 1378
แม้ที่ดินพิพาทจะถูกเวนคืนไปแล้ว และโจทก์ไม่มีสิทธิที่จะฟ้องบังคับให้จำเลยแบ่งแยกที่ดินและโอนเปลี่ยนชื่อทางทะเบียนให้แก่โจทก์ เนื่องจากสัญญาแลกเปลี่ยนที่ดินตกเป็นโมฆะก็ตาม แต่ศาลฎีกาก็เห็นสมควรพิพากษาให้โจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินส่วนดังกล่าวในขณะที่ที่ดินถูกเวนคืน ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ในการรับเงินค่าทดแทนจากทางราชการซึ่งไม่ถือว่าเป็นการพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง เพราะเป็นสิทธิอย่างเดียวกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2486/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาเช่าประทานบัตรโมฆะ: การรับช่วงทำเหมืองต้องได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีตาม พ.ร.บ.แร่
การที่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ถือประทานบัตรให้โจทก์เช่าประทานบัตรเพื่อผลิตหินแกรนิต เป็นการให้โจทก์รับช่วงการทำเหมืองตามที่พระราชบัญญัติแร่ พ.ศ.2510มาตรา 76 วรรคหนึ่ง บัญญัติห้ามไว้นั่นเอง เพียงแต่บทบัญญัติดังกล่าวมิได้ห้ามการรับช่วงการทำเหมืองโดยเด็ดขาดหากรัฐมนตรีหรือผู้ที่รัฐมนตรีมอบหมายอนุญาต ก็รับช่วงการทำเหมืองได้
โจทก์และจำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าประทานบัตรโดยโจทก์เป็นผู้ผลิตหินแกรนิตแล้วให้จำเลยที่ 1 ผู้ถือประทานบัตรติดต่อขอใบอนุญาตขนแร่จากทรัพยากรธรณีจังหวัด เพื่อโจทก์จะได้นำหินแกรนิตที่ผลิตได้ออกจำหน่าย แสดงว่าโจทก์ทราบแล้วว่าตนไม่มีสิทธิขนแร่ได้เองเสมือนเป็นผู้ถือบัตรประทานบัตรเพราะโจทก์ไม่ได้เป็นผู้รับช่วงการทำเหมืองตามพระราชบัญญัติแร่พ.ศ. 2510 มาตรา 77 ทั้งมีเจตนาฝ่าฝืนบทห้ามของพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 ซึ่งได้กำหนดโทษทางอาญาสำหรับผู้ถือประทานบัตรไว้ในมาตรา 140 นอกจากนี้มาตรา 75ว่า ประทานบัตรให้ใช้ได้เฉพาะตัวผู้ถือประทานบัตรด้วยประสงค์ให้ผู้ถือประทานบัตรดำเนินการตามประทานบัตรเองการที่จำเลยที่ 1 ทำสัญญาให้โจทก์เช่าประทานบัตรโดยไม่ยื่นขออนุญาต จึงมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายและขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4128/2543

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาซื้อขายห้องชุดและเฟอร์นิเจอร์ไม่เป็นโมฆะ แม้แยกสัญญาและมีเนื้อที่ต่างจากที่ระบุ การบอกเลิกสัญญาชอบด้วยกฎหมาย
เมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดบังคับให้ชำระภาษีและค่าธรรมเนียมการโอนรวมกัน การที่จำเลยทำสัญญาจะซื้อจะขายกรรมสิทธิ์ห้องชุดและสัญญาซื้อขายเฟอร์นิเจอร์ แยกออกเป็น 2 ฉบับจึงเป็นสิทธิโดยชอบของจำเลยที่จะกระทำได้ ทั้งโจทก์ยินยอมทำสัญญากับจำเลย สัญญาจะซื้อจะขายกรรมสิทธิ์ห้องชุดและสัญญาซื้อขายเฟอร์นิเจอร์ย่อมมีผลสมบูรณ์ หาใช่เป็นการหลีกเลี่ยงภาษีและค่าธรรมเนียมการโอนซึ่งขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนอันจะตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 150 ไม่
ตามสัญญาจะซื้อจะขายกรรมสิทธิ์ห้องชุดระบุเนื้อที่ประมาณ50 ตารางเมตร แม้ความจริงแต่ละห้องมีเนื้อที่เพียง 45.31 ตารางเมตรก็ตาม แต่ก็มีเนื้อที่น้อยกว่าที่ประมาณไว้ในสัญญาไม่มาก จึงไม่เพียงพอที่จะถือว่าโจทก์แสดงเจตนาโดยสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรม อันจะทำให้สัญญาตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 156 สำหรับแผ่นภาพโฆษณาและใบแจ้งราคาและเนื้อที่ห้องชุดของจำเลยที่ระบุเนื้อที่50 ตารางเมตร เป็นเพียงหนังสือเชิญชวนบุคคลทั่วไปให้สนใจในห้องชุดดังกล่าวเท่านั้น หามีผลต่อคดีไม่
เมื่อจำเลยก่อสร้างห้องชุดเสร็จ จำเลยมีหนังสือแจ้งโจทก์ไปรับโอนห้องชุด 2 ครั้ง แต่โจทก์ไม่ไปตามนัดในการแจ้งโอนครั้งที่ 2โจทก์ย่อมตกเป็นผู้ผิดนัด การที่โจทก์ไม่ทราบเรื่องเพราะโจทก์อยู่ต่างประเทศย่อมไม่เป็นข้อแก้ตัว การบอกเลิกสัญญาของจำเลยและริบเงินที่โจทก์ชำระมาแล้วจึงชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3478/2543

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกานี้เกี่ยวกับการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ, สัญญาโมฆะ, และการเรียกคืนเงินมัดจำตามหลักลาภมิควรได้
วันชี้สองสถาน ศาลชั้นต้นตรวจคำฟ้องและคำให้การแล้ววินิจฉัยว่าคดีนี้มูลคดีเดียวกันกับคดีก่อน จึงเป็น การดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144 มีคำสั่งให้ยกฟ้อง ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้ให้รับฟ้องประเด็นเรื่องค่าเสียหาย การที่จำเลยฎีกาว่าไม่มีเหตุที่จะต้องวินิจฉัยประเด็นเรื่องค่าเสียหาย ขอให้บังคับคดีตามศาลชั้นต้น เป็นฎีกาที่ขอให้จำเลยชนะคดีในปัญหาเรื่องการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำตามคำวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายซึ่งทำให้คดีเสร็จไปทั้งเรื่อง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 24 ซึ่งต้องเสียค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาเพียง 200 บาท ตามตาราง 1 (2) (ข) ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำเลยนำเงินมาชำระค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาเพิ่มเติมอย่างคดีมีทุนทรัพย์จึงเป็น คำสั่งที่ไม่ชอบ เมื่อจำเลยไม่ปฏิบัติตาม จึงไม่เป็นการทิ้งฎีกา
ประเด็นเรื่องค่าเสียหายเพิ่มเป็นประเด็นที่จะต้องพิจารณาสืบต่อเนื่องจากประเด็นเรื่องผิดสัญญาหรือไม่ เมื่อคดีก่อนฟังได้ว่าสัญญาเป็นโมฆะ จึงไม่จำเป็นที่จะต้องวินิจฉัยในประเด็นเรื่องค่าเสียหายต่อไป และศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาชี้ขาดในประเด็นที่เกี่ยวกับคดีนี้แล้ว จึงต้องห้ามดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144
โจทก์ชำระมัดจำหรือเงินราคาค่าซื้อขายที่ดินพิพาทแก่จำเลยตามสัญญาซื้อขายที่ดินที่ห้ามโอนซึ่งเป็นโมฆะ จึงเป็นการชำระหนี้อันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย โจทก์จึงไม่อาจเรียกเงินจำนวนดังกล่าวคืนจากจำเลยฐานลาภมิควรได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 411

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5204/2542 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาซื้อขายที่ดินขัดต่อกฎหมายนิคมสร้างตนเอง สัญญาเป็นโมฆะ และจำเลยหมดสิทธิฟ้องขับไล่
โจทก์และจำเลยต่างเป็นสมาชิกนิคมสร้างตนเองและต่างได้รับจัดสรรที่ดินคนละหนึ่งแปลง ต่อมาจำเลย ขายที่ดินซึ่งได้รับการจัดสรรให้โจทก์แต่ไม่สามารถโอนสิทธิให้โจทก์ได้เนื่องจากติดเงื่อนไขข้อห้ามโอนตาม พ.ร.บ. จัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ. 2511 จำเลยจึงได้ส่งมอบที่ดินพิพาทให้โจทก์เข้าครอบครองเพียงอย่างเดียวโดย มีข้อตกลงระหว่างกันเองว่าจำเลยจะจดทะเบียนโอนสิทธิให้โจทก์เมื่อมีกฎหมายหรือกฎระเบียบอนุญาตให้ทำได้ ดังนี้เมื่อโจทก์และจำเลยจงใจหลีกเลี่ยงข้อห้ามตามพระราชบัญญัติดังกล่าว ข้อสัญญาระหว่างโจทก์และจำเลยจึงมี วัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย จึงตกเป็นโมฆะ แม้จำเลยจะไม่ยอมจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ โจทก์ก็ไม่อาจบังคับจำเลยให้ปฏิบัติตามสัญญาได้ และในเมื่อจำเลยก็ปฏิบัติฝ่าฝืนพระราชบัญญัติดังกล่าวเช่นเดียวกับโจทก์ การที่จำเลยได้สละสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทแล้ว จำเลยย่อมหมดสิทธิทุกประการเหนือ ที่ดินพิพาท จึงไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่โจทก์ออกจากที่ดินพิพาทเช่นกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3541/2542 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาซื้อขายหินเพื่อหลีกเลี่ยงกฎหมายห้ามโอนสิทธิใบอนุญาตระเบิดหิน เป็นโมฆะ ทำให้เช็คที่ออกมาชำระหนี้ไม่มีผล
โจทก์เป็นผู้ได้รับอนุญาตจากทางราชการให้ประกอบกิจการ ระเบิดและย่อยหินในที่ดินของรัฐ และมาตรา 9 แห่งประมวลกฎหมายที่ดินไม่มีข้อความที่อนุญาตให้ผู้รับใบอนุญาต โอนสิทธิแก่ผู้อื่นได้ โจทก์ผู้รับใบอนุญาตจึงต้องทำเอง โดยเฉพาะตัว และผู้ที่ฝ่าฝืนบทบัญญัติในมาตรา 9 คือ ผู้ที่เข้าไปประกอบกิจการระเบิดและย่อยหินโดยไม่ได้ รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่จะมีโทษทางอาญาตามมาตรา 108 ทวิ เมื่อตามสัญญาซื้อขายหินระหว่างโจทก์จำเลยมีข้อตกลง ให้จำเลยระเบิดและย่อยหินเอง โดยจำเลยมิได้เป็น ผู้ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ให้ดำเนินการ ดังนี้หากจำเลยเข้าไปดำเนินการก็ย่อมเข้าข่ายเป็นความผิดตามบทกฎหมายดังกล่าว ทั้งกรณีนี้อธิบดีกรมที่ดินมีอำนาจสั่งเพิกถอนใบอนุญาตของโจทก์เสียได้ เนื่องจากตามเงื่อนไขการอนุญาตให้ระเบิดและย่อยหินระบุว่า ผู้ได้รับอนุญาตต้องดำเนินการด้วยตนเอง จะให้ผู้อื่นดำเนินการหรือโอนสิทธิให้ผู้อื่นไม่ได้ นอกจากนี้สัญญาซื้อขายหินได้กำหนดให้ผู้ซื้อจะต้องเข้าไปทำการระเบิดและย่อยหินเองภายในระยะเวลาตามใบอนุญาต ภาระภาษีต่าง ๆ ผู้ซื้อต้องรับผิดชอบรวมทั้งค่าใช้จ่ายและค่าธรรมเนียมที่ต้องเสียแก่หน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง และหน้าที่ต่าง ๆ ของโจทก์ที่ทางราชการระบุไว้ในใบอนุญาตที่สำคัญ ๆ ทุกข้อก็นำมาระบุไว้ในสัญญาให้เป็นหน้าที่ของผู้ซื้อ สัญญาซื้อขายหินดังกล่าวเป็นเรื่องที่ทำขึ้นเพื่อหลีกเลี่ยงกฎหมายและข้อกำหนดห้ามโอนสิทธิตามใบอนุญาตระเบิดและย่อยหิน โดยโจทก์จำเลยมีเจตนาแท้จริงที่จะโอนสิทธิตามใบอนุญาตระเบิดและย่อยหินแก่กันจึงเป็นสัญญาที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนย่อมตกเป็นโมฆะตามสัญญาดังกล่าวจึงมิใช่เป็นการออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย การกระทำของจำเลยไม่อาจเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4
of 5