คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
สัญญาใช้ทุน

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 2 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1211/2545 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาใช้ทุนการศึกษา-การรับราชการ: การโอนย้ายสังกัดไม่ถือเป็นการผิดสัญญา
ตามสัญญาของข้าราชการที่ไปศึกษาหรือฝึกอบรม ณ ต่างประเทศ ข้อ 3 ว่า "เมื่อจำเลยที่ 1 สำเร็จการศึกษาหรือไม่ก็ตาม จำเลยที่ 1 สัญญาว่าจะรับราชการต่อไปในสังกัดโจทก์ กระทรวงศึกษาธิการหรือในกระทรวง ทบวง กรมอื่นตามที่ทางราชการเห็นสมควร เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 2 เท่าของระยะเวลาที่ได้รับทุนหรือได้รับเงินเดือนรวมทั้งเงินเพิ่ม ทั้งนี้สุดแต่ระยะเวลาใดจะมากกว่ากัน" และข้อ 4 ว่า "หากจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาในข้อ 3 หรือจำเลยที่ 1 ไม่กลับมารับราชการด้วยเหตุใด ๆ ก็ดี จำเลยที่ 1 ยินยอมชดใช้เงินเดือนหรือเงินอื่นใดที่ได้รับในระหว่างไปศึกษาพร้อมเบี้ยปรับให้แก่โจทก์ตามที่กำหนดไว้" ข้อสัญญาดังกล่าวมีความหมายว่าเมื่อสำเร็จการศึกษาแล้ว จำเลยที่ 1 จะต้องกลับมารับราชการสังกัดโจทก์ กระทรวงศึกษาธิการหรือที่กระทรวง ทบวง กรมอื่นตามที่ทางราชการเห็นสมควร แต่จะต้องปฏิบัติราชการให้ครบระยะเวลาที่ตกลงกันไว้ตามสัญญา มิใช่ต้องรับราชการในสังกัดโจทก์เท่านั้น เพราะถึงแม้จำเลยที่ 1 รับราชการในสังกัดกระทรวง ทบวง หรือกรมอื่น จำเลยที่ 1 ก็สามารถนำความรู้ที่ศึกษาจากต่างประเทศมาปฏิบัติราชการให้เกิดประโยชน์แก่ส่วนรวมอันเป็นผลดีแก่ประเทศชาติ หากโจทก์ประสงค์ให้ผู้ลาไปศึกษาต้องกลับมารับราชการใช้ทุนเฉพาะที่กรมโจทก์ โจทก์สามารถทำได้โดยกำหนดเงื่อนไขของสัญญาให้มีข้อความผูกมัดคู่สัญญาไว้ให้ชัดแจ้งแต่โจทก์หาได้กระทำไม่ ทั้งตามหนังสือขอโอนข้าราชการ โจทก์เป็นผู้เห็นสมควรให้จำเลยที่ 1 โอนไปรับราชการที่สำนักงานสภาสถาบันราชภัฏ ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ และยังคงปฏิบัติราชการในหน่วยงานดังกล่าวตลอดมาจนถึงเวลาที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ โดยจำเลยไม่เคยลาออกจากราชการเลย จำเลยจึงมิได้ปฏิบัติผิดสัญญาดังกล่าว เมื่อไม่มีการผิดสัญญา จำเลยที่ 1 จึงไม่ผิดนัดและไม่มีหนี้ที่จะต้องชำระเงินตามสัญญาข้อ 4 แก่โจทก์ หนังสือรับสภาพหนี้แม้จะทำขึ้นเพื่อให้โจทก์ยอมอนุมัติให้จำเลยที่ 1 โอนไปรับราชการที่อื่นได้ ก็ไม่มีภาระผูกพันหรือทำให้มีหนี้ที่จะต้องชำระเงินตามที่รับสภาพไว้ จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดตามสัญญาของข้าราชการที่ไปศึกษาหรือฝึกอบรม ณ ต่างประเทศ และตามหนังสือรับสภาพหนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1909/2541

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาใช้ทุน, เบี้ยปรับ, ดอกเบี้ย, อายุความ, อัตราแลกเปลี่ยน: การชำระหนี้และการบังคับคดี
โจทก์เป็นส่วนราชการที่จำเลยที่ 1 สังกัดอยู่ฟ้องให้จำเลยชดใช้ทุน จึงไม่ใช่กรณีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 193/34(11) แต่กรณีนี้มิได้มีบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะจึงต้องใช้อายุความทั่วไปคือ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30(164 เดิม)เมื่อนับจากวันที่จำเลยที่ 1 ลาออกจากราชการถึงวันฟ้องไม่เกิน 10 ปี จึงไม่ขาดอายุความ สำหรับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ซึ่ง โจทก์ฟ้องในฐานะทายาทโดยธรรมของพันเอก บ. ผู้ค้ำประกันการรับทุนของจำเลยที่ 1 ที่เสียชีวิตเมื่อปี 2529 นั้น แม้ขณะจัดการศพจะมีการลงประกาศพระราชทานเพลิงศพใน หนังสือพิมพ์ไทยรัฐที่มีจำหน่ายแพร่หลายทั่วประเทศติดต่อกัน ถึง 2 วัน แต่การที่โจทก์เป็นนิติบุคคล และจำเลยทั้งสี่ มิได้นำสืบว่า ได้เชิญผู้แทนของโจทก์ไปในงานศพและโจทก์ได้ทราบ ประกาศดังกล่าวเมื่อใดโดยวิธีใด ข้อนำสืบของจำเลยทั้งสี่ จึงเป็นเพียงการคาดคะเนเอาเองอย่างเลื่อนลอย เมื่อโจทก์ นำสืบรับฟังได้ว่าโจทก์ทราบถึงการตายของพันเอก บ. เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2536 และนำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2537 ฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 จึงไม่ขาด อายุความเช่นเดียวกัน ลักษณะของทุนเป็นเงินทุนของรัฐบาลต่อรัฐบาล การที่จำเลยที่ 1 รับราชการสังกัดโจทก์ได้รับอนุมัติให้ลาราชการไปศึกษาต่อด้วยทุนดังกล่าว โดยสัญญาว่าจะกลับมารับราชการ ในสังกัดโจทก์เป็นการชดใช้ทุน โจทก์จึงมีฐานะเป็นเจ้าของทุน เมื่อจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาไม่กลับมารับราชการชดใช้ทุนให้ครบ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ให้ชดใช้ทุนได้ ส่วนที่ จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 เมื่อได้ความว่าพันเอก บ. ค้ำประกันเฉพาะที่จำเลยที่ 1 ได้รับอนุมัติให้ไปศึกษาครั้งแรก 1 ปี 6 เดือน เท่านั้น การที่ต่อมาเมื่อครบกำหนดดังกล่าว จำเลยที่ 1 ได้รับอนุมัติให้อยู่ศึกษาต่อไปอีกโดยโจทก์ ไม่ได้แจ้งให้พันเอก บ. ทราบหรือรู้เห็นยินยอม พันเอกบ. จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์สำหรับเวลาที่เกินกว่า 1 ปี 6 เดือน จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 จึงไม่ต้องรับผิดด้วย อำนาจฟ้องเป็น ปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกา เห็นสมควรหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(5) ประกอบมาตรา 246 และ 247 ตามสัญญาระบุว่าหากผิดสัญญาจำเลยที่ 1 จะจ่ายเบี้ยปรับ หนึ่งเท่าของเงินที่จะต้องชดใช้ หากไม่ชำระยอมให้คิด ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ทั้งเบี้ยปรับและดอกเบี้ยเป็น ค่าเสียหายที่กำหนดไว้ล่วงหน้าอันมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383 ที่ศาลอุทธรณ์ ใช้ดุลพินิจลดเบี้ยปรับลงเหลือเพียงครึ่งส่วนและดอกเบี้ย ร้อยละ 7.5 ต่อปี ก็โดยคำนึงถึงทางได้เสียของโจทก์ผู้เป็น เจ้าหนี้ เพราะจำเลยที่ 1 ได้รับราชการชดใช้ทุนบางส่วน ชดใช้เงินเดือนและเงินเพิ่มพร้อมดอกเบี้ยแล้ว จึงเหมาะสม แก่พฤติการณ์แห่งรูปคดีแล้ว เมื่อดอกเบี้ยที่กำหนดไว้เป็นเบี้ยปรับ เงินจำนวนดังกล่าวจึงมิใช่ดอกเบี้ยค้างส่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/33(มาตรา 166 เดิม)และกรณีเช่นนี้ไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะจึงมีอายุความ 10 ปี ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าโจทก์มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยไม่เกิน 5 ปี จึงไม่ถูกต้อง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 196 อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศหมายถึงอัตราแลกเปลี่ยนกันได้โดยเสรีในเวลาที่ได้ใช้เงินจริง ซึ่งตามปกติจะคิดอัตราแลกเปลี่ยนเงินโดยผลเฉลี่ยที่ธนาคารพาณิชย์ซึ่งขายเงินตราต่างประเทศในกรุงเทพมหานครเป็นเกณฑ์ แต่เพื่อความสะดวกในการบังคับคดีจึงให้คิดอัตราในวันที่มีการอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา ถ้าไม่มีอัตราในวันดังกล่าวก็ให้ถือเอาวันสุดท้ายที่มีอัตราการขายนั้นก่อนวันอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา ปัญหาอัตราแลกเปลี่ยนเงินเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยได้เองแม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา