คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
สำนวนคดีอาญา

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 3 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 706/2531

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การรับฟังพยานจากสำนวนคดีอาญาในคดีแพ่ง และการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตโดยไม่ถือเป็นการละเมิด
โจทก์เบิกความในคดีแพ่งว่า โจทก์เคยฟ้องจำเลยที่ 1 ถึงที่7 เป็นคดีอาญา ข้อหาหมิ่นประมาทและความผิดต่อเจ้าพนักงานต่อศาลชั้นต้น ข้อเท็จจริงเป็นอย่างเดียวกับปัญหาในคดีนี้ เมื่อโจทก์ได้ยื่นบัญชีระบุพยานอ้างสำนวนคดีอาญาดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานและเสียค่าอ้างเอกสารครบถ้วนแล้ว แม้โจทก์ไม่ได้เรียกสำนวนนั้นมาประกอบการพิจารณา แต่จำเลยได้ส่งคำพิพากษาคดีส่วนอาญาดังกล่าวต่อศาลก่อนศาลชั้นต้นพิพากษา สำนวนคดีอาญาจึงเป็นพยานหลักฐานที่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 87(2) ศาลรับฟังพยานหลักฐานในสำนวนนั้นประกอบการพิจารณาได้
เมื่อความปรากฏต่อศาลฎีกาว่า ศาลฎีกาได้พิพากษายกฟ้องโจทก์ในส่วนอาญาแล้ว ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่งสำหรับจำเลยที่ 1 ถึงที่7 ซึ่งเป็นจำเลยรายเดียวกับจำเลยในคดีส่วนอาญา ประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยก็เป็นอย่างเดียวกันดังนี้ ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาเป็นหลักในการพิพากษาคดีส่วนแพ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 โดยต้องฟังว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 ไม่ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์
จำเลยที่ 8 ถึงที่ 11 เป็นพนักงานโรงพยาบาลที่โจทก์เป็นผู้อำนวยการได้ทำบันทึกและให้ถ้อยคำต่อผู้อำนวยการกองโรงพยาบาลภูมิภาค และคณะกรรมการสอบสวนโจทก์ทางวินัยไปตามที่จำเลยได้รู้เห็นในฐานะที่ทำงานร่วมโรงพยาบาลเดียวกับโจทก์หรือเป็นประสบการณ์ที่เกิดขึ้นแก่จำเลยด้วยตนเองว่าโจทก์ทุจริตและประพฤติมิชอบในการปฏิบัติราชการ ซึ่งต่อมากระทรวงสาธารณสุขได้มีคำสั่งปลดโจทก์ออกจากราชการ ย่อมถือได้ว่าจำเลยที่ 8 ถึงที่ 11 ได้แสดงความคิดเห็นหรือข้อความจริงโดยสุจริต เพื่อความชอบธรรม ป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรมหรือตามวิสัยของการติชม ไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2728/2523

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดทางละเมิดของนายจ้างต่อการกระทำของลูกจ้าง และการใช้สำนวนคดีอาญาประกอบการพิจารณาคดีแพ่ง
จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างจำเลยที่ 2 กระทำละเมิดในทางการที่จ้างเป็นเหตุให้บุตรของโจทก์ที่ 1 ที่ 2 ถึงแก่ความตายศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ทั้งสอง แม้ศาลอุทธรณ์จะพิพากษาแก้ว่าโจทก์ที่ 2 ไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายเพราะไม่ใช่บิดาชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย จำเลยทั้งสองก็ยังต้องชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ที่ 1 เต็มจำนวนตามคำพิพากษาเพราะค่าเสียหายดังกล่าวแบ่งแยกไม่ได้และโจทก์ที่ 1 (มารดา) แต่ผู้เดียวก็มีสิทธิเรียกร้องเอาค่าเสียหายนั้นโดยลำพังอยู่แล้ว จำเลยทั้งสองหามีสิทธิขอให้ลดค่าเสียหายลงครึ่งหนึ่งไม่
แม้โจทก์มิได้ขอให้เรียกสำนวนคดีอาญามาประกอบการพิจารณาศาลก็รับฟังพยานหลักฐานในสำนวนดังกล่าวประกอบคดีของโจทก์ได้เพราะโจทก์ระบุอ้างสำนวนนั้นในบัญชีพยานแล้ว และได้ชำระค่าธรรมเนียมค่าอ้างเอกสารครบถ้วนเมื่อสำนวนคดีอาญาดังกล่าวอยู่ในศาลชั้นต้นเดียวกันจึงอยู่ในอำนาจของศาลชั้นต้นจะเรียกเอามาพิจารณาได้เอง ไม่ต้องให้โจทก์ยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้องให้เรียกสำนวนนั้นมารวมไว้ในคดีอีก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 582/2510 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การยื่นฎีกาพ้นกำหนดและไม่อนุญาตอ้างสำนวนคดีอาญาเป็นพยานเพิ่มเติมในชั้นฎีกาเนื่องจากประเด็นยุติแล้ว
ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้คู่ความฟังเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2507 กำหนดระยะเวลา 1 เดือนสำหรับการยื่นฎีกา เริ่มนับหนึ่งในวันที่ 29 ตุลาคม 2507 ครบ 1 เดือนในวันที่ 28 พฤศจิกายน 2507 แต่วันที่ 28, 29 พฤศจิกายน 2507 ตรงกับวันหยุดราชการ โจทก์จึงยื่นฎีกาในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2507 ซึ่งเป็นวันที่เริ่มทำงานใหม่ได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 161
โจทก์ขออ้างสำนวนคดีอาญาเป็นพยานหลักฐานเพิ่มเติมในชั้นฎีกาเพื่อแสดงว่าผู้ร้องกับจำเลยเป็นสามีภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายโดยได้จดทะเบียนสมรส นั้น เห็นว่าข้อเท็จจริงดังกล่าวได้ยุติมาแต่ศาลชั้นต้น โดยโจทก์ไม่ติดใจอุทธรณ์ในข้อนี้ และยอมรับในอุทธรณ์ว่า ผู้ร้องกับจำเลยมิใช่สามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย เพราะมิได้จดทะเบียนสมรส คงอุทธรณ์เฉพาะประเด็นที่ว่า เรือนพิพาทเป็นทรัพย์ที่ผู้ร้องกับจำเลยต่างมีกรรมสิทธิ์คนละครึ่งข้อเดียวเท่านั้น ศาลฎีกาจึงไม่อนุญาตให้อ้าง