คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
สิทธิกระทบ

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 3 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5155/2539

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การอายัดที่ดินกระทบสิทธิการโอนกรรมสิทธิ์ เจ้าพนักงานที่ดินมีอำนาจปฏิเสธการจดทะเบียนได้
ตามเจตนารมณ์ของการอายัดที่ดินตามประมวลที่ดินมาตรา83มีความมุ่งหมายเป็นการตัดสิทธิของเจ้าของที่ดินในอันที่จะจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนที่ดินไว้ชั่วระยะเวลาหนึ่งจนกว่าจะมีการวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับที่ดินแปลงนั้นแล้วการอายัดที่ดินจึงมีผลเป็นการตัดสิทธิของเจ้าของที่ดินในการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนที่ดินทุกประเภทที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ขออายัดได้มิได้จำกัดอยู่เฉพาะการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเฉพาะประเภทที่พิพาทกันเท่านั้นและคำสั่งกระทรวงมหาดไทย ที่228/2530ข้อ12(2)ที่เปิดช่องให้มีการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับที่ดินได้ในระหว่างที่การอายัดยังมีผลบังคับในกรณีที่ศาลสั่งหรือจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมที่ไม่เสียหายแก่ผู้ขออายัดแต่ที่โจทก์ฎีกาอ้างว่าโจทก์กับห้างหุ้นส่วนจำกัดก. ได้ทำสัญญาตกลงกันให้ห้างหุ้นส่วนจำกัดก. ยินยอมรับโดยไม่มีเงื่อนไขและเงื่อนเวลาในกรณีที่มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ส. ชนะคดีแพ่งหมายเลขดำที่425/2531นั้นข้อตกลงดังกล่าวก็เป็นเพียงบุคคลสิทธิที่ใช้ยันกันเองระหว่างโจทก์กับห้างหุ้นส่วนจำกัดก.เท่านั้นดังนั้นหากส. ชนะคดีผลของคำพิพากษาย่อมไม่ผูกพันห้างหุ้นส่วนจำกัดก.ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา145ทั้งข้อตกลงนี้ไม่ทำให้ห้างหุ้นส่วนจำกัดก. เป็นผู้มีส่วนได้เสียตามกฎหมายในผลแห่งคดีอันอาจจะเข้าเป็นคู่ความแทนโจทก์ในคดีดังกล่าวได้ดังนั้นหากมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้นายสมชายชนะคดีและปรากฎว่าห้างหุ้นส่วนจำกัดก. ได้รับโอนกรรมสิทธิ์ที่พิพาทไม่ยอมจดทะเบียนสิทธิการเช่าให้แก่ส. ส. ก็ไม่มีทางเลือกที่จะต้องฟ้องบังคับให้ห้างหุ้นส่วนจำกัดก. จดทะเบียนสิทธิการเช่าให้ซึ่งจะทำให้ส. ได้รับความเสียหายและไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของกฎหมายดังกล่าวข้างต้นจำเลยที่2ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานที่ดินจึงมีอำนาจปฏิเสธไม่ยอมจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในที่พิพาทของโจทก์ให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัดก. ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3558/2534

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้อง – ความเห็นทางกฎหมาย – สิทธิกระทบ – นักบวช – การเลือกตั้ง
โจทก์และจำเลยเพียงแต่มีความเห็นโต้แย้งกันเกี่ยวกับความหมายของคำว่า นักบวช ตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2499 มาตรา 18(3) กรณีจึงเป็นเรื่องในทางความคิดเห็นอันเป็นนามธรรม ไม่มีการกระทำอันจะเป็นการกระทบต่อ สิทธิของโจทก์ จึงไม่อาจถือได้ว่าเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1469/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คำขอประนอมหนี้หลังล้มละลายกระทบสิทธิเจ้าหนี้มีประกัน การประชุมเจ้าหนี้ไม่ชอบ
ผู้ร้องในฐานะเจ้าหนี้รายที่ 190, 353 และ 354 ซึ่งเป็นเจ้าหนี้มีประกันเหนือที่ดินโฉนดเลขที่ 206459 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง กรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 2 ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้โดยขอให้ผู้คัดค้านขายทอดตลาดทรัพย์หลักประกันแล้ว ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 96 (3) การที่จำเลยที่ 2 เสนอคำขอประนอมหนี้โดยขอชำระเงิน 590,000,000 บาท เพื่อไถ่ถอนจำนองทรัพย์หลักประกันจากผู้ร้องและให้คืนโฉนดที่ดินแก่จำเลยที่ 2 แล้วขอให้ผู้คัดค้านถอนการยึดทรัพย์หลักประกัน ทั้งที่ผู้ร้องในฐานะเจ้าหนี้รายที่ 190, 353 และ 354 ขอรับชำระหนี้สำหรับเจ้าหนี้รายที่ 190 เป็นเงิน 174,335,644.93 บาท เจ้าหนี้รายที่ 353 เป็นเงิน 182,019,304.11 บาท ส่วนเจ้าหนี้รายที่ 354 มีสิทธิได้รับชำระหนี้ตามคำพิพากษาศาลฎีกาเป็นเงิน 701,691,757.72 บาท และผู้ร้องในฐานะเจ้าหนี้มีประกันอันมีบุริมสิทธิเหนือทรัพย์หลักประกันก่อนเจ้าหนี้อื่นได้ใช้สิทธิเลือกที่จะให้ผู้คัดค้านจัดการกับทรัพย์หลักประกันของผู้ร้องด้วยวิธีให้ผู้คัดค้านขายทอดตลาดทรัพย์หลักประกันแล้วขอรับชำระหนี้สำหรับจำนวนที่ยังขาดอยู่ ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 96 (3) คำขอประนอมหนี้ภายหลังล้มละลายของจำเลยที่ 2 ที่ขอไถ่ถอนทรัพย์หลักประกันของผู้ร้องโดยที่จำเลยที่ 2 กำหนดราคาไถ่ถอนทรัพย์หลักประกันเองซึ่งผู้ร้องไม่ยินยอมด้วย จึงเป็นคำขอประนอมหนี้ที่กระทบถึงสิทธิของผู้ร้องในฐานะเจ้าหนี้มีประกัน อันเป็นคำขอประนอมหนี้ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และผู้คัดค้านไม่อาจดำเนินการจัดประชุมเพื่อเสนอให้ที่ประชุมเจ้าหนี้ลงมติเพื่อพิจารณาคำขอประนอมหนี้ภายหลังล้มละลายของจำเลยที่ 2 ดังกล่าวได้ การจัดประชุมเจ้าหนี้ครั้งอื่นเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2561 เพื่อพิจารณาคำขอประนอมหนี้ภายหลังล้มละลายของจำเลยที่ 2 ของผู้คัดค้านจึงกระทำโดยมิชอบ