คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
สิทธิซื้อขาย

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 15 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8698/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิของผู้ซื้อที่ดินตามสัญญาจะซื้อจะขายก่อนจดทะเบียน: การคุ้มครองสิทธิเหนือทรัพย์สินจากการบังคับคดี
ผู้ร้องทำสัญญาจะซื้อที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 2 ได้ชำระราคาครบถ้วนและเข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทแล้ว คงเหลือแต่การจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินให้แก่ผู้ร้องเท่านั้น ถือได้ว่า ผู้ร้องเป็นบุคคลผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1300 และโดยเหตุที่การบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษา ย่อมไม่กระทบกระทั่งถึงบุริมสิทธิหรือสิทธิอื่น ๆ ซึ่งบุคคลภายนอกอาจร้องขอให้บังคับเหนือทรัพย์สินนั้นได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 287 โจทก์จึงไม่มีสิทธินำยึดที่ดินพิพาทเพื่อบังคับคดีอันเป็นการกระทบกระทั่งถึงสิทธิของผู้ร้องตามบทกฎหมายดังกล่าว ผู้ร้องจึงมีสิทธิร้องขอให้ปล่อยที่ดินพิพาทที่โจทก์นำยึดได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5103/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิการขอทางจำเป็นแม้ผู้ซื้อที่ดินทราบว่าที่ดินถูกล้อม และผลกระทบต่อสาธารณูปโภคในโครงการจัดสรร
การขอทางผ่านที่ดินซึ่งล้อมอยู่ไปสู่ทางสาธารณะตาม ป.พ.พ. มาตรา 1349 วรรคหนึ่ง มุ่งพิจารณาถึงสภาพของที่ดินนั้นจะต้องถูกที่ดินแปลงอื่นล้อมจนไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะเป็นสำคัญ เจ้าของที่ดินแปลงนั้นจึงมีสิทธิจะผ่านที่ดินซึ่งล้อมอยู่ออกไปสู่ทางสาธารณะได้ โดยมิได้กำหนดเงื่อนไขว่าผู้ที่เป็นเจ้าของที่ดินที่ถูกล้อมจะต้องได้ที่ดินมาโดยสุจริต กล่าวคือ ต้องไม่รู้ว่าที่ดินที่ตนได้มาถูกที่ดินแปลงอื่นล้อมจนไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะมาก่อน หากรู้มาก่อนถือว่าไม่สุจริตไม่มีสิทธิผ่านที่ดินแปลงที่ล้อมออกสู่ทางสาธารณะได้แต่อย่างใด ดังนั้นแม้โจทก์จะซื้อที่ดินมาโดยรู้อยู่แล้วว่ามีที่ดินแปลงอื่นล้อมอยู่จนไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะ ก็ไม่ทำให้สิทธิของโจทก์ที่จะผ่านที่ดินที่ล้อมอยู่ออกสู่ทางสาธารณะหมดไป เพราะสิทธิของโจทก์ดังกล่าวเป็นสิทธิที่กฎหมายบัญญัติให้ไว้ ซึ่งหากจำเลยได้รับความเสียหายจากการเปิดทางจำเป็นดังกล่าว จำเลยก็มีสิทธิเรียกร้องค่าทดแทนเป็นค่าเสียหายได้ ตามมาตรา 1349 วรรคสี่
มาตรา 1349 วรรคหนึ่ง มิได้บัญญัติว่าเจ้าของที่ดินที่ถูกที่ดินแปลงอื่นล้อมจะต้องขอผ่านที่ดินที่ล้อมอยู่ ซึ่งอยู่ใกล้ทางสาธารณะมากที่สุดเท่านั้น เจ้าของที่ดินซึ่งถูกที่ดินแปลงอื่นล้อมจะขอผ่านที่ดินที่ล้อมแปลงใดก็ได้ เพียงแต่การที่จะผ่านที่ดินที่ล้อมนั้นต้องเลือกให้พอสมควรแก่ความจำเป็น กับต้องคำนึงถึงที่ดินที่ล้อมอยู่ให้เสียหายแต่น้อยที่สุดที่จะเป็นได้ตามมาตรา 1349 วรรคสาม เมื่อปรากฏว่าที่ดินของจำเลยที่ล้อมที่ดินของโจทก์อยู่มีสภาพเป็นทางซึ่งใช้ออกสู่ทางสาธารณะอยู่แล้ว จึงเป็นทางจำเป็นที่สะดวกที่สุดและก่อให้เกิดความเสียหายแก่จำเลยน้อยที่สุด
แม้ทางจำเลยที่โจทก์ขอผ่านจะเป็นถนนซึ่งเป็นสาธารณูปโภคที่ผู้จัดสรรได้จัดให้มีขึ้น และตกอยู่ในภาระจำยอมเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินจัดสรร แม้มีกฎหมายซึ่งใช้บังคับในขณะนั้นบัญญัติห้ามมิให้ผู้จัดสรรที่ดินที่ได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการจัดสรรที่ดินแล้วทำนิติกรรมกับบุคคลใดอันก่อให้เกิดภาระแก่ที่ดินนั้น เว้นแต่จะได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากคณะกรรมการควบคุมการจัดสรรที่ดินตามนัยแห่งประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 ข้อ 18, 30 วรรคแรก และ 32 ก็ตาม แต่เมื่อถนนดังกล่าวตกอยู่ภายใต้สิทธิเรียกร้องที่โจทก์จะขอเปิดทางจำเป็นได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1349 วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นไปโดยผลของกฎหมาย มิใช่เป็นเรื่องที่ผู้จัดสรรที่ดินทำนิติกรรมอันก่อให้เกิดภาระแก่ที่ดินที่ตกเป็นสาธารณูปโภค จึงหาขัดต่อประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 ข้อ 18 ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3968/2546

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ทับที่ดินที่มีโฉนด สิทธิซื้อขายจากผู้ไม่มีสิทธิเป็นโมฆะ
จำเลยที่ 2 นำที่ดินของโจทก์ไปออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์โดยไม่มีอำนาจแม้เจ้าพนักงานที่ดินจะออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์แก่จำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 ก็ไม่มีสิทธิใด ๆ เหนือที่ดินเพราะกระบวนการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จำเลยที่ 2 จึงมิใช่เจ้าของผู้มีสิทธิครอบครองที่ดิน จำเลยที่ 1 ซื้อที่ดินจากจำเลยที่ 2 ย่อมไม่มีสิทธิเหนือที่ดินนั้นเช่นเดียวกัน และการกระทำอันเกี่ยวกับการจดทะเบียนโอนสิทธิตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ซึ่งไม่มีผลตามกฎหมายย่อมตกเป็นอันเสียเปล่า จำเลยที่ 1 จะกล่าวอ้างการกระทำอันมิชอบเช่นนั้นว่าเป็นการจัดซื้อที่ดินตามพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 มาตรา 29 มิได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5510/2542

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาเช่าซื้อที่ดิน: การกำหนดค่ารายปีภาษีโรงเรือนและที่ดินต้องพิจารณาจากสิทธิซื้อขายที่รวมอยู่ในสัญญา
สัญญาเช่าที่ดินระหว่างบริษัท ร. กับโจทก์กำหนดว่า ในระหว่างอายุสัญญาเช่าถ้าผู้เช่า (โจทก์) มีความประสงค์จะซื้อทรัพย์สินที่เช่า ผู้ให้เช่ายินยอมขายทรัพย์สินที่ให้เช่าให้ผู้เช่าหรือบุคคลที่ผู้เช่าระบุเป็นผู้ซื้อในราคาตามวิธีคำนวณที่กำหนดไว้ต่อท้ายสัญญานั้นเป็นคำมั่นในการซื้อขายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 454 วรรคแรก ซึ่งผู้ให้เช่าได้กำหนดเวลาให้ผู้เช่าบอกกล่าวความจำนงในการซื้อไว้เป็นการแน่นอนแล้ว ผู้ให้เช่าจึงถอนคำมั่นก่อนเวลาที่ระบุไว้ไม่ได้ ทั้งได้กำหนดราคาซื้อขายที่ดินไว้แน่นอนตามอัตราการเพิ่มมูลค่าของราคาที่ดินนั้นแต่ละปีจากราคาที่ดินที่ผู้ให้เช่าซื้อมา เมื่ออัตราค่าเช่าที่ดินกำหนดไว้ปีละ 9,176,620 บาท หากเช่าครบกำหนด 60 ปี จะเป็นจำนวนเงินถึง 550,597,200 บาท ซึ่งเป็นจำนวนเงินสูงมาก อาจเท่าหรือสูงกว่าราคาที่ดินที่เช่า สัญญาเช่าดังกล่าวจึงมิใช่สัญญาเช่าตามปกติธรรมดาเพียงอย่างเดียว หากแต่เป็นสัญญาเช่าที่รวมถึงสิทธิที่จะซื้อที่ดินที่เช่าไว้ด้วย การที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยนำค่าเช่าจำนวนดังกล่าวเป็นฐานในการกำหนดค่ารายปีของที่ดินต่อเนื่องและโรงเรือนของโจทก์ จึงเป็นการไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1348/2542

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเพิกถอนสัญญาขายฝากที่ดิน: สิทธิของโจทก์ผู้ทำสัญญาจะซื้อขายก่อน และผลของการจดทะเบียนโดยสุจริต
ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส.3) มีชื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้ถือสิทธิครอบครองต่อมาจำเลยที่ 2 นำที่ดินพิพาทไปยื่นคำร้องขอออกโฉนดที่ดินที่สำนักงานที่ดิน โดยอ้างว่าซื้อมาจากจำเลยที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 15 มีนาคม 2515 ตามหนังสือสัญญาขายฝาก การที่โจทก์ยื่นคำคัดค้านอ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ โดยอ้างว่าจำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาจะขายที่ดินพิพาทให้โจทก์ก่อนแล้วตั้งแต่วันที่ 30 มกราคม 2515 ตามหนังสือสัญญาจะซื้อขายก่อนที่จำเลยที่ 1 จะทำหนังสือสัญญาขายฝากที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 2 ก็ตาม แต่เมื่อไม่ปรากฏว่า จำเลยที่ 1ได้สละและส่งมอบการครอบครองที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ดังนี้ ฐานะของโจทก์ย่อมมีเพียงขอให้เพิกถอนสัญญาขายฝากที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ที่ทำให้โจทก์ต้องเสียเปรียบเท่านั้น เมื่อปรากฏว่าจำเลยที่ 1จดทะเบียนขายฝากที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 2ได้เสียค่าตอบแทนชำระเงินค่าที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1และโดยจำเลยที่ 2 ไม่รู้หรือควรได้รู้ว่าโจทก์ได้ซื้อที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ได้จดทะเบียนขายฝากรับโอนที่ดินพิพาทมาจากจำเลยที่ 1 โดยเสียค่าตอบแทนและกระทำการโดยสุจริตแล้ว โจทก์ก็ไม่อาจที่จะเพิกถอนนิติกรรมขายฝากระหว่างจำเลยทั้งสองได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6690/2540 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การอายัดที่ดินหลังศาลฎีกาพิพากษาให้ระงับการแบ่งแยก และสิทธิของผู้ซื้อที่ดินโดยสุจริต
ศาลฎีกามีคำพิพากษาถึงที่สุดให้โจทก์ระงับการนำรังวัดแบ่งแยกที่ดินพิพาทจนกว่าคดีที่โจทก์จำเลยถูกฟ้องจะถึงที่สุด โจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะนำรังวัดแบ่งแยกที่ดินพิพาทและนำไปโอนขายให้แก่ผู้ร้องมาแต่ต้น ผู้ร้องจะอ้างว่าโจทก์ได้ทำการรังวัดแบ่งแยกเสร็จเรียบร้อยแล้วและโอนขายให้แก่ผู้ร้องก่อนมีคำพิพากษาศาลฎีกาไม่ได้ คดีไม่เกี่ยวกับเรื่องคำพิพากษาผูกพันเฉพาะคู่ความโดยไม่ผูกพันผู้ร้องซึ่งเป็นบุคคลภายนอกหรือในฐานะผู้ซื้อซึ่งรับโอนโดยสุจริต จำเลยมีสิทธิขออายัดการทำนิติกรรมเกี่ยวกับที่ดินพิพาทได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3235/2534

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การใช้สิทธิซื้อขายโดยไม่สุจริต: ผู้ร้องไม่ต้องการเอารถคืนแต่ต้องการเงินส่วนที่ขาด จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องคืนของกลาง
จำเลยทำสัญญาซื้อรถยนต์ของกลางจากผู้ร้องโดยมีเงื่อนไขว่าให้กรรมสิทธิ์ตกเป็นของผู้ซื้อเมื่อชำระราคาหมดแล้ว จำเลยชำระค่างวดเป็นเช็คล่วงหน้าทุกงวด แต่เช็ค 7 งวดสุดท้ายถูกธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน ผู้ร้องก็ไม่เคยดำเนินคดีอาญากับจำเลยฐานจ่ายเช็คไม่มีเงิน และไม่บอกเลิกสัญญา คงให้จำเลยครอบครองและใช้รถยนต์ของกลางเรื่อยมา แสดงว่าผู้ร้องไม่ต้องการเอารถยนต์ของกลางคืนแต่ประสงค์เพียงให้ได้รับชำระราคาส่วนที่ขาดเท่านั้น หากศาลสั่งคืนผู้ร้องก็ต้องมอบต่อให้จำเลยตามสัญญาซื้อขาย การขอคืนรถยนต์ของกลางของผู้ร้องเป็นไปเพื่อประโยชน์ของจำเลยเป็นการขอคืนแทนจำเลยผู้กระทำผิด และเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ผู้ร้องจึงไม่มีอำนาจร้องขอคืนของกลาง.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3819/2533

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การใช้สิทธิซื้อขายโดยไม่สุจริตของผู้ขายที่ปล่อยให้ผู้ซื้อค้างชำระนานปี และรู้เห็นเป็นใจกับการกระทำผิดของผู้ซื้อ
แม้กรรมสิทธิ์ในรถยนต์ของกลางยังเป็นของผู้ร้องตามข้อสัญญา เพราะผู้ซื้อยังค้างชำระราคาอยู่ แต่ผู้ร้องปล่อยให้ผู้ซื้อค้างชำระราคาอยู่จนถึงวันเกิดเหตุเป็นเวลา 4 ปีเศษแล้ว มิได้บังคับตามสัญญาซื้อขายแก่ผู้ซื้อโดยการบอกเลิกสัญญาและเรียกเอาทรัพย์ที่ขายคืนอย่างใดคงปล่อยเนิ่นนานมาจนกระทั่งจำเลยซึ่งเป็นลูกจ้างของผู้ซื้อนำรถยนต์ของกลางไปกระทำความผิดแล้วผู้ร้องก็มอบอำนาจให้ผู้ซื้อนั้นเองมายื่นคำร้องขอคืนรถยนต์ของกลาง ทั้งตามสัญญาซื้อขายผู้ซื้อต้องรับผิดใช้ราคาที่ซื้อจนครบแม้รถยนต์ของกลางจะถูกริบ ดังนี้ การร้องขอคืนรถยนต์ของกลางของผู้ร้อง เป็นการทำเพื่อประโยชน์ของผู้ซื้อ เพื่อให้ผู้ซื้อได้รับรถยนต์ของกลางคืนไปในภายหลังหาใช่เพื่อประโยชน์ของผู้ร้องเองไม่ จากพฤติการณ์แห่งคดีที่จำเลยซึ่งเป็นลูกจ้างของผู้ซื้อใช้รถยนต์ของกลางบรรทุกทรายเกินน้ำหนักในทางการค้าของผู้ซื้อ น่าเชื่อว่ากระทำไปตามคำสั่งของผู้ซื้อ ผู้ซื้อจึงเป็นผู้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิด เมื่อผู้ร้องขอคืนรถยนต์ของกลางเพื่อประโยชน์ของผู้ซื้อ จึงถือได้ว่าเป็นการรู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดคดีนี้ เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ผู้ร้องไม่มีสิทธิขอคืนรถยนต์ของกลาง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3653/2526

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การยึดทรัพย์สินและการโอนสิทธิแก่บุคคลภายนอก: ผลของการแจ้งยึดต่อสิทธิของบุคคลภายนอกที่รับซื้อทรัพย์สินก่อนการแจ้งยึด
โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินของจำเลยที่ 3 เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2523 ย่อมมีผลต่อจำเลยที่ 3 ตั้งแต่ วันยึด แต่เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีแจ้งให้เจ้าพนักงานที่ดิน ทราบวันที่ 17 เมษายน 2523 ปรากฏว่าจำเลยที่ 3 ได้โอน ขายที่ดินซึ่งถูกยึด ให้แก่ พ. ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกไปแล้ว ตั้งแต่วันที่ 15 เมษายน 2523 การยึด ที่ดินดังกล่าวจึงใช้ ยัน พ.ไม่ได้ เมื่อพ. จดทะเบียนขายฝากที่ดิน ให้แก่ผู้ร้อง ในวันเดียวกับที่รับโอน และไม่ไถ่ตามกำหนดผู้ร้องจึงมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ปล่อยที่ดินที่ถูกยึดได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 804/2511

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิในที่ดินของผู้ซื้อโดยสุจริตย่อมมีลำดับก่อนเจ้าหนี้จำนองเดิม แม้สิทธิเจ้าของเดิมยังมิได้จดทะเบียน
ทนายความชั้นสองย่อมมีสิทธิเรียงคำฟ้องฎีกาให้คู่ความได้. ไม่จำต้องได้รับอนุญาตจากศาลหรือได้รับการแต่งตั้งมาจากศาลชั้นต้น มิต้องห้ามตามพระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ.2508มาตรา 36.
เดิมนาพิพาทเป็นที่ดินมือเปล่า เมื่อจำเลยจำนอง. โจทก์ยังไม่มีหนังสือสำคัญสำหรับที่. สิทธิในนาพิพาทของจำเลยจึงเป็นสิทธิที่ยังมิได้จดทะเบียน. เมื่อมีการแจ้งการครอบครองตามกฎหมาย จำเลยก็.ไม่แจ้ง. แต่ ย.ซึ่งดูแลแทนจำเลยกลับแจ้งเป็นของตน แล้วออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์และจำนองม.. ต่อมาได้ไถ่ถอนจำนองและขายม.. ม.ขายให้ผู้ร้องโดยมีรายการจดทะเบียนไว้ในหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส.3) เป็นลำดับ. สิทธิในนาพิพาทของผู้ร้องซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้ได้มาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริต และได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้ว. จึงมีสิทธิดีกว่าจำเลยซึ่งเป็นเจ้าของเดิม ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1299วรรคท้าย. เมื่อจำเลยซึ่งเป็นเจ้าของเดิมไม่อาจอ้างสิทธิในการเป็นเจ้าของในนาพิพาทเพื่อใช้ยันผู้ร้องได้แล้ว.สิทธิจำนองของโจทก์ในการที่จะบังคับเอาแก่นาพิพาทก็ย่อมเป็นอันหมดสิ้นไปในตัว. โจทก์ไม่มีสิทธิที่จะบังคับเอาแก่นาพิพาทซึ่งเป็นของผู้ร้องได้ต่อไป. เพราะผู้ร้องได้สิทธิในนาพิพาททางทะเบียนตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ซึ่งเป็นหนังสือสำคัญสำหรับที่ดินที่มีขึ้นใหม่ภายหลัง. โดยไม่ใช่เป็นการรับโอนจากจำเลย. กรณีจึงไม่ต้องด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 702 วรรคท้าย. เมื่อโจทก์ไม่มีสิทธิที่จะบังคับจำนองนาพิพาทแล้ว. โจทก์ก็ไม่มีสิทธิยึดนาพิพาท.
of 2