คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
สิทธิถือครอง

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 2 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 475/2511

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คนต่างด้าวรับมรดก/พินัยกรรม: สัญญาประนีประนอมมีผลบังคับใช้ได้ หากมีสิทธิขออนุญาตถือครองที่ดินได้
ถ้าคนต่างด้าวผู้รับพินัยกรรมมีสิทธิหรือมีทางที่จะขออนุญาตถือที่ดินได้. พินัยกรรมก็ไม่เป็นโมฆะ.
โจทก์จำเลยต่างเป็นทายาทโดยธรรมของเจ้ามรดก. และได้ทำสัญญาประนีประนอมกันว่าจำเลยจะโอนที่ดินให้โจทก์ตามส่วนในพินัยกรรมเมื่อมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อจำเลยผู้รับผิด. จึงบังคับตามสัญญาได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1750. ส่วนโจทก์ที่เป็นคนต่างด้าวก็ให้ไปจัดการตามประมวลกฎหมายที่ดินก่อน.(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 6/2511).

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 840/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาซื้อขายโมฆะจากข้อจำกัดสิทธิการถือครองของชาวต่างชาติ การบังคับตามคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการขัดต่อความสงบเรียบร้อย
ผู้ร้องเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด จดทะเบียนตามกฎหมายดินแดนหมู่เกาะเวอร์จิน ผู้ร้องจึงเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายต่างประเทศซึ่งไม่มีสัญชาติไทยและถือว่าเป็นคนต่างด้าวตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 281 ลงวันที่ 24 พฤศจิกายน 2515 ข้อ 3 การที่นิติบุคคลที่กฎหมายถือว่าเป็นคนต่างด้าว จะมีกรรมสิทธิ์ในห้องชุดได้ต้องเป็นนิติบุคคลตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 19 แห่ง พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 ซึ่งบัญญัติว่า "...นิติบุคคลซึ่งกฎหมายถือว่าเป็นคนต่างด้าวอาจถือกรรมสิทธิ์ในห้องชุดได้ ถ้าเป็น...นิติบุคคลดังต่อไปนี้...(4) นิติบุคคลซึ่งเป็นคนต่างด้าวตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 281 ลงวันที่ 24 พฤศจิกายน 2515 และได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน..." เมื่อผู้ร้องซึ่งเป็นนิติบุคคลเป็นคนต่างด้าวตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 281 ลงวันที่ 24 พฤศจิกายน 2515 ข้อ 3 ผู้ร้องผู้จะซื้อจะขายถือกรรมสิทธิ์ในห้องชุดของผู้คัดค้านผู้จะขายตามสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดลงวันที่ 12 สิงหาคม 2548 ได้ ผู้ร้องจะต้องได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน ตามเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 19 (4) ด้วย เมื่อไม่ปรากฏว่า ผู้ร้องได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน จึงถือไม่ได้ว่าบริษัทผู้ร้องซึ่งเป็นคนต่างด้าวตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 281 ลงวันที่ 24 พฤศจิกายน 2515 มีคุณสมบัติที่จะถือกรรมสิทธิ์ในห้องชุดตามสัญญาดังกล่าวได้ปรากฏตามหนังสือรับรองบริษัทผู้ร้องว่า บริษัทผู้ร้องมีวัตถุประสงค์ในการดำเนินธุรกิจการลงทุนทั่วไปและถือครองทรัพย์สินในการประกอบกิจการของบริษัทผู้ร้อง จึงมีเหตุผลให้เชื่อว่าก่อนที่บริษัทผู้ร้องจะเข้าถือครองทรัพย์สินโดยซื้อทรัพย์สินในต่างประเทศ ผู้ร้องได้ศึกษากฎหมายของประเทศที่ผู้ร้องจะไปซื้อทรัพย์สินแล้วว่าบริษัทผู้ร้องมีคุณสมบัติที่จะเข้าถือครองทรัพย์สินในประเทศนั้นได้หรือไม่ ทั้งนี้เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของบริษัทผู้ร้อง ในคดีนี้ปรากฏตามสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดว่า ห้องชุดที่ผู้ร้องจะซื้อจากผู้คัดค้านมีราคาสูงถึง 72,960,361 บาท จึงมีเหตุผลให้เชื่อว่า บริษัทผู้ร้องได้ศึกษากฎหมายไทย โดยเฉพาะประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 281 ลงวันที่ 24 พฤศจิกายน 2515 และ พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 แล้ว และทราบดีว่า ผู้ร้องซึ่งเป็นนิติบุคคลเป็นคนต่างด้าวตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 281 ลงวันที่ 24 พฤศจิกายน 2515 ข้อ 3 จะถือกรรมสิทธิ์ในห้องชุดที่ประเทศไทยได้ บริษัทผู้ร้องต้องได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุนก่อน ส่วนบริษัทผู้คัดค้านผู้จะขายห้องชุดให้แก่ผู้ร้องซึ่งประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 281 ลงวันที่ 24 พฤศจิกายน 2515 ถือว่าเป็นคนต่างด้าว ก็ต้องตรวจสอบก่อนว่าบริษัทผู้ร้องได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุนตามบทกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุนหรือไม่ และเชื่อว่าผู้คัดค้านตรวจสอบแล้วทราบดีว่าผู้ร้องยังไม่ได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุน การที่ผู้ร้องและผู้คัดค้านทราบดีว่าผู้ร้องยังไม่ได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน แต่ยังเข้าทำสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดกัน สัญญาจะซื้อจะขายห้องชุด ลงวันที่ 12 สิงหาคม 2548 จึงเป็นสัญญาที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย สัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดย่อมตกเป็นโมฆะ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 ที่ผู้ร้องอุทธรณ์และนำสืบว่า ผู้คัดค้านปฏิบัติผิดสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินไม่ส่งมอบห้องชุดให้ผู้ร้องภายในกำหนด ผู้ร้องกับผู้คัดค้านจึงทำบันทึกยกเลิกการซื้อขายห้องชุดและตกลงกันตามข้อตกลง เปลี่ยนข้อตกลงเดิมเป็นการตกลงคืนเงินค่าห้องชุดที่ผู้ร้องได้ชำระให้แก่ผู้คัดค้านไปแล้วบางส่วนนั้น แม้ผู้ร้องกับผู้คัดค้านจะมิได้ตกลงยกเลิกการซื้อขายห้องชุดดังกล่าวและมิได้ตกลงให้ผู้คัดค้านคืนเงินค่าห้องชุดที่ผู้ร้องได้ชำระให้แก่ผู้คัดค้านไปแล้วบางส่วนก็ตาม แต่เมื่อสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดตกเป็นโมฆะ และหากผู้คัดค้านต้องคืนเงินค่าห้องชุดที่ผู้ร้องได้ชำระให้แก่ผู้คัดค้านไปบางส่วน ป.พ.พ. มาตรา 172 วรรคสอง ก็บัญญัติให้นำบทบัญญัติว่าด้วยลาภมิควรได้แห่งประมวลกฎหมายนี้มาใช้บังคับ เมื่อผู้คัดค้านผิดนัดไม่คืนเงินค่าห้องชุดที่ผู้ร้องได้ให้แก่ผู้คัดค้านบางส่วนตามข้อตกลงผู้ร้องจึงเสนอข้อพิพาทให้คณะอนุญาโตตุลาการ สถาบันอนุญาโตตุลาการ สำนักระงับข้อพิพาท สำนักงานศาลยุติธรรม ชี้ขาดตามข้อสัญญาอนุญาโตตุลาการ ข้อ 4.2 ในบันทึกข้อตกลง ซึ่ง ส. คณะอนุญาโตตุลาการที่ผู้ร้องกับผู้คัดค้านแต่งตั้งตามข้อ 4.2 ในบันทึกข้อตกลงก็ได้มีคำวินิจฉัยชี้ขาดเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2558 ตามคำชี้ขาดให้ผู้คัดค้านคืนเงินจำนวน 17,136,747.59 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 10 ต่อปี นับแต่วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2553 ถึงวันที่ 2 ตุลาคม 2556 จำนวน 7,134,408.14 บาท และดอกเบี้ยผิดนัดในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 3 ตุลาคม 2556 เป็นต้นไปจนกว่าผู้ร้องจะได้รับชำระหนี้ครบถ้วน ค่าเสียหายเป็นเงินจำนวน 2,000,000 บาท และค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายของคณะอนุญาโตตุลาการกึ่งหนึ่งที่ผู้ร้องทดรองจ่ายแทนผู้คัดค้านไปก่อนจำนวน 65,258 บาท แก่ผู้ร้อง การที่ผู้ร้องจดทะเบียนเป็นบริษัทจำกัดตามกฎหมายดินแดนหมู่เกาะบริติชเวอร์จิน ซึ่งประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 281 ลงวันที่ 24 พฤศจิกายน 2515 ข้อ 3 ถือว่าเป็นคนต่างด้าวรู้อยู่แล้วว่าผู้ร้องยังไม่ได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุนไม่อาจถือกรรมสิทธิ์ในห้องชุด ตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 19 (4) ได้เข้าทำสัญญาจะซื้อห้องชุดจากผู้คัดค้านซึ่งตกเป็นโมฆะ และผู้ร้องได้ชำระค่าห้องชุดให้แก่ผู้คัดค้านไปบางส่วนถือเป็นการที่ผู้ร้องได้กระทำการเพื่อชำระหนี้เป็นการอันฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมาย ผู้ร้องจึงไม่อาจเรียกร้องให้ผู้คัดค้านคืนเงินค่าห้องชุดที่ผู้ร้องชำระให้แก่ผู้คัดค้านไปบางส่วนในฐานลาภมิควรได้แก่ผู้ร้อง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 411 ได้ ซึ่งบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 411 เป็นบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ที่คณะอนุญาโตตุลาการวินิจฉัยชี้ขาดตามคำชี้ขาดให้ผู้คัดค้านคืนเงินแก่ผู้ร้องตามข้อตกลง จึงเป็นการวินิจฉัยชี้ขาดที่ขัดต่อ ป.พ.พ. มาตรา 411 ซึ่งเป็นบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน การบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการย่อมเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ศาลชอบที่จะมีคำสั่งปฏิเสธไม่รับบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ ตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 44