คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
สิทธิผูกขาด

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 4 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 929/2539 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพิจารณาความแตกต่างของเครื่องหมายการค้า: คำว่า 'กุ๊ก/Cook' เป็นคำสามัญทั่วไป ไม่ผูกขาดสิทธิ
เครื่องหมายการค้าของจำเลยเป็นอักษรไทยและอักษรโรมันคำว่า บิกกุ๊ก Big Cook แฟตกุ๊ก Fat Cook และมาสเตอร์กุ๊ก Master Cookซึ่งตัวอักษรไทยอยู่ด้านบนของอักษรโรมัน และไม่มีรูปพ่อครัวประดิษฐ์อยู่ด้วย จึงแตกต่างจากเครื่องหมายการค้าของโจทก์ประเภทที่เป็นรูปพ่อครัวประดิษฐ์คล้ายขวดทรงกระบอกเอนตัวยืนยิ้ม มีอักษรไทยคำว่า กุ๊ก หรือมีอักษรไทยคำว่ากุ๊กและอักษรโรมันคำว่า Cook รวมกันอยู่บนตัวรูปพ่อครัวประดิษฐ์ อย่างชัดแจ้ง ไม่เหมือนหรือคล้ายกันแต่อย่างใด และเครื่องหมายการค้าของจำเลยดังกล่าวยังแตกต่างจากเครื่องหมายการค้าของโจทก์ประเภทที่ใช้อักษรไทยคำว่า กุ๊ก หรืออักษรโรมันคำว่า Cook หรืออักษรไทยและอักษรโรมันดังกล่าวรวมกันอย่างมาก โดยคำว่าบิกกุ๊ก Big Cook และ แฟตกุ๊ก Fat Cook เป็นคำ 2 พยางค์ คำว่า มาสเตอร์กุ๊กMaster Cook เป็นคำ 3 พยางค์ การจัดวางตัวอักษรและขนาดตัวอักษรของเครื่องหมายการค้าของโจทก์และของจำเลยก็ยังแตกต่างกันมาก เครื่องหมายการค้าของโจทก์และของจำเลยดังกล่าวจึงไม่เหมือนหรือคล้ายกันจนถึงนับได้ว่าเป็นการลวงสาธารณชน
แม้เครื่องหมายการค้าของจำเลยมีคำว่า กุ๊ก และคำ Cookเป็นสาระสำคัญส่วนหนึ่งของเครื่องหมายการค้าเช่นเดียวกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ก็ตาม แต่คำว่า กุ๊ก ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2525หมายถึง พ่อครัวทำกับข้าวฝรั่ง และคำดังกล่าวก็เป็นคำที่เลียนเสียงมาจากคำอักษรโรมันคำว่า Cook ซึ่งเป็นคำสามัญที่มีคำแปลตามพจนานุกรม คำดังกล่าวจึงเป็นคำสามัญทั่ว ๆ ไป ไม่ทำให้โจทก์เป็นผู้มีสิทธิที่จะใช้คำดังกล่าวแต่เพียงผู้เดียวและหวงกันไม่ให้ผู้อื่นใช้คำดังกล่าวได้ จำเลยจึงนำคำดังกล่าวไปใช้ประกอบเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องหมายการค้าของจำเลยได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 882/2504

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิจำหน่ายยาต่างประเทศ: ผู้รับมอบหมายจำหน่ายย่อมไม่มีสิทธิผูกขาดเหนือผู้อื่น
การที่โจทก์ได้รับมอบหมายจากบริษัทต่างประเทศให้จำหน่ายยาชนิดหนึ่งในประเทศไทยแต่ผู้เดียวนั้น เป็นเรื่องระหว่างโจทก์กับบริษัทต่างประเทศ มิได้ก่อให้เกิดสิทธิเหนือคนทั่วไปที่จะไม่ให้ใครจำหน่ายยาของบริษัทต่างประเทศนั้นในประเทศไทย ฉะนั้น การที่จำเลยสั่งยาชนิดนั้นจากต่างประเทศมาขายในประเทศไทยบ้าง แม้ยาที่จำเลยสั่งมาขายจะมีสลากใส่กล่อง และใช้สำลีปลอม ก็ไม่ใช่เรื่องโต้แย้งสิทธิของโจทก์ ซึ่งเป็นแต่ผู้จำหน่ายเท่านั้นโจทก์จะฟ้องหาว่าจำเลยกระทำละเมิดต่อโจทก์ให้ใช้ค่าเสียหายและทำลายยากับกล่องบรรจุยา ห้ามจำหน่ายยาต่อไปไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 794/2500 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การค้าแข่งขันและการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า: ผู้แทนจำหน่ายย่อมไม่มีสิทธิผูกขาด
สั่งสินค้าจากต่างประเทศเข้ามาขายในประเทศในฐานะเป็นตัวแทนช่วงขายสินค้านั้น แล้วจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของสินค้านั้นไว้ที่กรมทะเบียนการค้า ดังนี้ ไม่ทำให้ผู้จดทะเบียนได้สิทธิเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้านั้น เพราะตนไม่ใช่ผู้ประดิษฐ์
ฉะนั้น การที่ผู้อื่นสั่งสินค้าชนิดเดียวกันนั้นเข้ามาขายในประเทศไทยบ้าง จึงเป็นการค้าแข่งขัน ไม่เป็นการละเมิด.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11133/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิเครื่องหมายการค้าและสิทธิบัตร: การจดทะเบียนโดยไม่ผูกขาด, Generic words, และการออกแบบที่ไม่ใหม่
เมื่อโจทก์จดทะเบียนเครื่องหมายการค้า โดยไม่ขอถือเป็นสิทธิของตนแต่ผู้เดียวในคำว่า "COOL IN AMERICAN STYLE" และ "SPORTY" โจทก์จึงไม่มีสิทธิหวงกันที่จะใช้คำดังกล่าวแต่เพียงผู้เดียว ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 17 จำเลยที่ 4 จึงสามารถใช้คำว่า "AMERICAN STYLE" กับสินค้าของตนได้เช่นกัน ส่วนคำว่า "BIKE" แม้จะมีคำแปลว่า "รถจักรยาน" เช่นเดียวกับคำว่า "BICYCLE" แต่ไม่ใช่เป็นคำในเครื่องหมายการค้าของโจทก์ ประกอบกับคำดังกล่าวเป็นคำสามัญ (Generic word) ส่วนคำว่า "SINCE 1991" เป็นคำสามัญเช่นกัน บุคคลทั่วไปมีสิทธิใช้คำดังกล่าวสำหรับสินค้ารถจักรยานได้ โจทก์ไม่มีสิทธิห้ามบุคคลอื่นใช้คำว่า "BIKE" และ "SINCE 1991" เช่นเดียวกัน
ตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ.2522 มาตรา 3 กำหนดว่า แบบผลิตภัณฑ์ หมายความว่า "รูปร่างของผลิตภัณฑ์หรือองค์ประกอบของลวดลาย หรือสีของผลิตภัณฑ์ อันมีลักษณะพิเศษสำหรับผลิตภัณฑ์ซึ่งสามารถใช้เป็นแบบสำหรับผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมรวมทั้งหัตถกรรมได้" เมื่อสิทธิบัตรของโจทก์ระบุข้อถือสิทธิไว้ว่า ขอถือสิทธิในแบบผลิตภัณฑ์ ซึ่งได้แก่รูปร่างลักษณะของสปอยเลอร์รถจักรยาน แสดงว่าแบบผลิตภัณฑ์ของโจทก์ที่อ้างว่าได้คิดค้นขึ้นเป็นเหล็กแผ่นขึ้นรูปเป็นตัวยู เป็นรูปร่างที่ถูกจัดทำขึ้นตามลักษณะของการใช้สอย มากกว่าความสวยงาม เมื่อรูปร่างแบบผลิตภัณฑ์อยู่ในลักษณะเดียวกันกับแบบผลิตภัณฑ์ที่มีการเปิดเผยภาพ สาระสำคัญหรือรายละเอียดในเอกสารสิ่งพิมพ์ที่ได้เผยแพร่มาก่อนแล้ว ในโฆษณาแบบผลิตภัณฑ์รถจักรยานจึงต้องถือว่าแบบผลิตภัณฑ์ของโจทก์ไม่ถือว่าเป็นการออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ.2522 มาตรา 57 (2)