คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
สิทธิผู้รับซื้อฝาก

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 2 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1240/2519 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิการเช่าที่ดินธรณีสงฆ์: สัญญาซื้อฝากไม่ผูกพันจำเลย ผู้รับซื้อฝากไม่เกิดสิทธิเช่า
โจทก์รับซื้อฝากบ้านซึ่งปลูกอยู่ในที่ธรณีสงฆ์ไว้จาก ฉ. มีกำหนด 1 ปี โดยมีข้อสัญญาด้วยว่า ถ้าฉ.ไม่ไถ่บ้านคืนภายใน 1 ปี ฉ.ยอมโอนสิทธิการเช่าที่ธรณีสงฆ์ให้โจทก์ ครั้นครบ 1 ปีบ้านหลุดเป็นสิทธิแก่โจทก์ ฉ.กลับยื่นคำร้องต่อจำเลย ซึ่งเป็นผู้จัดการผลประโยชน์ที่ธรณีสงฆ์ขอโอนสิทธิการเช่าให้แก่ ท. ด. เจ้าหน้าที่ของจำเลยได้รายงานเท็จต่อคณะกรรมการจัดผลประโยชน์ของจำเลยว่าไม่มีบ้านปลูกอยู่ในที่ดิน คณะกรรมการจึงอนุญาตให้ ท. เป็นผู้เช่าแทน ฉ.ได้ ดังนี้แม้ในทางปฏิบัติจะมีความเห็นของเจ้าหน้าที่ว่า ผู้ใดเป็นเจ้าของบ้านผู้นั้นควรได้รับเช่าที่ดินก็ตาม แต่ก็มิใช่ข้อบังคับเด็ดขาดว่า จำเลยต้องเช่าเสมอไป การที่มีข้อสัญญาระหว่าง ฉ.กับโจทก์นั้นจำเลยก็มิได้เป็นคู่สัญญาด้วย ข้อตกลงดังกล่าวไม่ผูกพันจำเลย ฉะนั้น การที่โจทก์รับซื้อฝากบ้านจนหลุดเป็นสิทธิไม่ก่อให้เกิดสิทธิการเช่าที่ดิน และจำเลยไม่มีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องให้โจทก์เช่าที่พิพาท การที่เจ้าหน้าที่ของจำเลยทำรายงานเท็จก็เป็นเรื่องทำผิดวินัยตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนส่วนหนึ่งต่างหาก หาใช่สาเหตุโดยตรงที่ทำให้โจทก์ไม่ได้เช่าที่พิพาทไม่ จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดฐานกระทำละเมิดต่อโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 19759/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การขายฝากที่ดินมรดกโดยผู้จัดการมรดก: สิทธิผู้รับซื้อฝากดีกว่า แม้ทายาทอื่นไม่ยินยอม
ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินที่มีหลักฐานแห่งสิทธิเป็นโฉนดที่ดิน นิติกรรมขายฝากระหว่างจำเลยที่ 1 กับที่ 2 ทำการจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ข้อเท็จจริงได้ว่า ก่อนจดทะเบียนนิติกรรมจำเลยที่ 2 ให้จำเลยที่ 1 พาไปดูที่ดินพิพาทพบว่าเป็นที่นา จำเลยที่ 2 ไปดูที่ดินพิพาทอีกหลายครั้งและสอบถามชาวบ้านที่อยู่ใกล้เคียงที่ดินพิพาทได้รับการยืนยันว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยที่ 1 ในวันจดทะเบียนจำเลยที่ 2 สอบถามเจ้าพนักงานที่ดินแล้ว เจ้าพนักงานที่ดินบอกว่าจำเลยที่ 1 สามารถทำนิติกรรมขายฝากที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ได้ เมื่อจดทะเบียนขายฝากเสร็จจำเลยที่ 1 เดินทางไปที่บ้านพักจำเลยที่ 2 และรับเงินจากจำเลยที่ 2 เรียบร้อย จึงต้องถือว่า จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกได้จดทะเบียนรับซื้อฝากที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 1 โดยสุจริต กรณีย่อมต้องด้วยข้อยกเว้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 1300 สิทธิของจำเลยที่ 2 ผู้รับโอนดีกว่าจำเลยที่ 1 ผู้โอน จึงไม่อาจเพิกถอนนิติกรรมขายฝากระหว่างจำเลยที่ 1 กับที่ 2 ได้
จำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของ ส. ผู้ตาย ตามคำสั่งศาล จึงมีฐานะเป็นผู้แทนตามกฎหมายการที่จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกจดทะเบียนโอนทรัพย์มรดกของผู้ตายให้แก่ตนเองเป็นการส่วนตัวในฐานะที่ตนเป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกด้วย เป็นการกระทำไปตามอำนาจหน้าที่โดยทั่วไปของผู้จัดการมรดก ไม่จำต้องได้รับความยินยอมจากทายาทและการกระทำเช่นนี้ไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อกองมรดกตาม ป.พ.พ. 1719 และมาตรา 1722 จำเลยที่ 1 จึงมีอำนาจที่จะกระทำได้ แม้การที่จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ไม่จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่ทายาทอื่นของผู้ตาย ซึ่งมีโจทก์ทั้งสามและโจทก์ร่วมทั้งสองรวมอยู่ด้วย จะทำให้โจทก์ทั้งสามและโจทก์ร่วมทั้งสองได้รับความเสียหาย ก็เป็นเรื่องระหว่างจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตายกับโจทก์ทั้งสามและโจทก์ร่วมทั้งสองที่จะว่ากล่าวกันต่างหาก