คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
สิทธิผู้เสียภาษี

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 5 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6220/2549 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิหักค่าใช้จ่ายภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา: ผู้เสียภาษีมีสิทธิเลือกหักค่าใช้จ่ายจากเงินได้ประเภทใดประเภทหนึ่งเต็มจำนวนได้
ป.รัษฎากรฯ มาตรา 42 ทวิ เป็นบทบัญญัติให้สิทธิแก่ผู้มีเงินได้พึงประเมินที่จะได้รับประโยชน์ในการหักค่าใช้จ่ายจากเงินได้ของตน ทั้งที่เป็นเงินได้เนื่องจากการจ้างแรงงานไม่ว่าจะเป็นเงินเดือน ค่าจ้าง ตามมาตรา 40 (1) และเงินได้เนื่องจากหน้าที่หรือตำแหน่งงานที่ทำหรือจากการรับทำงานให้ไม่ว่าจะเป็นค่านายหน้า เบี้ยประชุม ตามมาตรา 40 (2) โดยยอมให้หักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาได้ร้อยละ 40 แต่จะหักค่าใช้จ่ายจากเงินได้ทั้งสองประเภทดังกล่าวรวมกันได้ไม่เกิน 60,000 บาท โดยมิได้กำหนดหลักเกณฑ์และรายละเอียดเป็นการบังคับว่าต้องหักจากเงินได้พึงประเมินประเภทใด ในสัดส่วนเท่าใด หรือต้องถัวเฉลี่ยกันอย่างไร ดังนี้ จึงหาใช่ว่ากรณีมีเงินได้พึงประเมินทั้งสองประเภทจะต้องถัวเฉลี่ยกันดังที่จำเลยเข้าใจและยึดเป็นแนวปฏิบัติไม่ เมื่อกฎหมายเปิดช่องไว้เช่นนี้จึงเท่ากับมอบอำนาจในการตัดสินใจให้แก่ผู้มีเงินได้พึงประเมินว่าควรเลือกหักค่าใช้จ่ายในเงินได้ประเภทใดอย่างไร ในกรณีที่ผู้นั้นมีเงินได้พึงประเมินที่อาจหักค่าใช้จ่ายได้ทั้งสองประเภท ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์ในการบรรเทาภาระภาษีตามเจตนารมณ์ของกฎหมายในส่วนนี้ ดังเช่นกรณีที่โจทก์เลือกหักค่าใช้จ่ายจากเงินได้ตามมาตรา 40 (1) เต็มจำนวน 60,000 บาท ตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 42 ทวิ วรรคหนึ่ง เพียงประเภทเดียว ไม่ประสงค์จะหักค่าใช้จ่ายตามสิทธิจากเงินได้ในมาตรา 40 (2) ซึ่งสามีโจทก์มีหน้าที่และความรับผิดชอบในการยื่นรายการและเสียภาษีในส่วนเงินได้พึงประเมินของโจทก์ผู้เป็นภริยาตามความในมาตรา 57 ตรี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1095/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประเมินภาษีมูลค่าเพิ่ม เบี้ยปรับ และเงินเพิ่มที่มิชอบ ผู้เสียภาษีมีสิทธิฟ้องเพิกถอนการประเมินได้ แม้ไม่ได้อุทธรณ์ก่อน
ประมวลรัษฎากรไม่มีบทบัญญัติใดห้ามมิให้เจ้าพนักงานประเมินแก้ไขการประเมินที่ผิดพลาดใหม่ให้ถูกต้อง โดยเฉพาะการประเมินใหม่โดยยกเลิกการประเมินครั้งก่อนเนื่องจากเจ้าพนักงานประเมินมิได้ประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มโจทก์ภายในกำหนดเวลาตามกฎหมาย แม้การประเมินที่ผิดพลาดดังกล่าวจะอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ก็ตาม เมื่อเจ้าพนักงานประเมินได้ยกเลิกการประเมินในครั้งแรกแล้ว ต้องถือเสมือนว่าไม่มีการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่ม จึงไม่มีคำสั่งของเจ้าพนักงานประเมินที่จะให้คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์วินิจฉัยต่อไป การที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์จำหน่ายคำอุทธรณ์ของโจทก์ จึงชอบแล้ว
การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินในครั้งใหม่ยังประเมินให้โจทก์เสียภาษีมูลค่าเพิ่มและเบี้ยปรับเท่าเดิม คงมีส่วนเงินเพิ่มเท่านั้นที่ประเมินให้โจทก์ชำระเพิ่มขึ้น เนื่องจากไม่ชำระภาษีหรือนำส่งภาษีให้ครบถ้วนภายในกำหนด เมื่อการประเมินครั้งใหม่ทำให้โจทก์ต้องเสียภาษีเพียงครั้งเดียว จึงไม่เป็นการประเมินซ้ำซ้อนหรือทำให้โจทก์ต้องเสียภาษีซ้ำซ้อน
อธิบดีกรมสรรพากรได้มอบอำนาจให้สรรพากรภาคปฏิบัติราชการแทนอธิบดีอนุมัติขยายเวลาประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มตามประมวลรัษฎากร มาตรา 88/6 วรรคท้าย เมื่อสรรพากรภาคปฏิบัติราชการแทนอธิบดีอนุมัติให้เจ้าพนักงานประเมินประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มโจทก์สำหรับเดือนภาษีพฤษภาคมและกรกฎาคม 2538ได้ภายในกำหนดเวลา 5 ปี นับแต่วันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการภาษี และเจ้าพนักงานประเมินได้มีหนังสือแจ้งการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มลงวันที่ 16 มิถุนายน 2541 โดยโจทก์ได้รับหนังสือเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2541 จึงเป็นการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มภายในกำหนด
การที่เจ้าพนักงานประเมินคิดคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มที่โจทก์ต้องเสียโดยไม่ชอบทำให้โจทก์มีภาษีที่ชำระเกิน โจทก์จึงไม่ใช่บุคคลที่ชำระภาษีหรือนำส่งภาษีไม่ครบถ้วนภายในกำหนดเวลาตามกฎหมายตามประมวลรัษฎากร มาตรา 89/1กรมสรรพากรจำเลยจึงไม่มีสิทธิเรียกเงินเพิ่มจากโจทก์
โจทก์นำใบกำกับภาษีปลอมมาใช้คำนวณภาษี เป็นเหตุให้โจทก์ถูกประเมินภาษีมูลค่าเพิ่ม โจทก์จึงต้องรับผิดชำระเบี้ยปรับอีก 2 เท่าของจำนวนภาษีตามใบกำกับภาษีปลอมตามประมวลรัษฎากร มาตรา 89(7) แต่ไม่ต้องเบี้ยปรับอีก 1 เท่าของเงินภาษีที่เสียคลาดเคลื่อนหรือนำส่งคลาดเคลื่อนหรือของจำนวนภาษีซื้อที่แสดงไว้เกินไปตามมาตรา 89(3) และ (4)ตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.37/2534 เรื่อง ระเบียบการงดหรือลดเบี้ยปรับภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 89 และภาษีธุรกิจเฉพาะตามมาตรา 91/21(6) แห่งประมวลรัษฎากร แก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.45/2536 เพราะการใช้ใบกำกับภาษีปลอมย่อมเป็นการยื่นแบบแสดงรายการภาษีหรือแบบนำส่งภาษีไว้ไม่ถูกต้องหรือมีข้อผิดพลาดอยู่ด้วยในตัว
การที่เจ้าพนักงานประเมินให้ผู้เสียภาษีอากรรับผิดเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม เบี้ยปรับและเงินเพิ่มโดยไม่มีอำนาจหรือฝ่าฝืนต่อกฎหมายทำให้ผู้เสียภาษีต้องชำระภาษีมูลค่าเพิ่มเบี้ยปรับและเงินเพิ่มโดยไม่มีหน้าที่ต้องเสียตามกฎหมายต้องถือเสมือนหนึ่งว่าไม่ได้มีการประเมินหรือคำสั่งของเจ้าพนักงานประเมินในส่วนนั้นที่โจทก์ต้องอุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินในส่วนที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายได้โดยไม่จำต้องใช้สิทธิอุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ก่อน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5323/2534 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิเลือกเสียภาษีจากอสังหาริมทรัพย์ที่ไม่ใช่การค้า/หากำไร สามารถเปลี่ยนแปลงวิธีคำนวณภาษีได้หากเกิดความสำคัญผิด
ตามมาตรา 48(4) แห่ง ป. รัษฎากร ที่กำหนดให้ผู้มีเงินได้ จากการขายอสังหาริมทรัพย์ที่ได้มาโดยมิได้มุ่งในทางการค้าหรือ หากำไรเลือกเสียภาษีเฉพาะเงินได้ประเภทนี้ โดยไม่ต้องนำไป รวมคำนวณภาษีกับเงินได้พึงประเมินที่ต้องเสียภาษีตามที่บัญญัติ ไว้ในมาตรา 48(1) และ (2) ก็ได้นั้น เป็นการให้สิทธิผู้เสียภาษี และมีเจตนารมณ์เพื่อเป็นการบรรเทาภาระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ให้แก่ผู้มีเงินได้ในประเภทดังกล่าว และสิทธิตามมาตรา 48(4) นี้ ก็มิได้มีข้อจำกัดไว้ว่าจะหมดไปเมื่อใด ดังนั้น จึงต้องถือว่า สิทธิของผู้เสียภาษีคงมีอยู่ตลอดเวลาที่ภาระในการเสียภาษียังมีอยู่ โจทก์มีเงินได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ที่ได้มาโดยมิได้มุ่งใน ทางการค้าหรือหา กำไร จึงมีสิทธิตามมาตรา 48(4) การที่โจทก์ ยื่นเสียภาษีโดย วิธีรวมคำนวณ ด้วยความเข้าใจผิดเพราะคิดหัก ค่าใช้จ่ายสำหรับเงินได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ไม่ถูกต้อง ตามกฎหมาย ทำให้จำนวนภาษี ซึ่งคำนวณตามวิธีที่โจทก์ยื่น เสียภาษีขาดไปเป็นจำนวนถึง2,276,397.80 บาท ซึ่งถ้าโจทก์ แยกยื่นเฉพาะเงินได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ที่มิได้มุ่งในทาง การค้าหรือหากำไรแล้ว โจทก์จะมีจำนวนภาษีที่ต้องชำระเพิ่มอีกเพียง 98,800.99 บาท เท่านั้น เห็นได้ว่าการที่โจทก์ยื่นเสียภาษี โดยวิธีรวมยื่นนั้นเกิดขึ้นด้วยความสำคัญผิดเมื่อภาระหน้าที่ ในการชำระภาษีของโจทก์ยังมีอยู่ โจทก์จึงมีสิทธิที่จะเปลี่ยนแปลง วิธีการยื่นเสียใหม่โดยใช้วิธีการยื่นแยกเฉพาะเงินได้จากการขาย อสังหาริมทรัพย์ที่ได้มาโดยมิได้มุ่งในทางการค้าหรือหากำไรเพื่อ บรรเทาภาระภาษีตามที่ ประมวลรัษฎากรให้สิทธิไว้ได้ เพราะไม่ทำให้ จำนวนภาษีที่โจทก์จะต้องเสียโดยวิธีแยกยื่นตามมาตรา 48(4)นี้ขาดจำนวนไป การที่เจ้าพนักงานประเมินนำเอาการยื่นรวม ที่โจทก์ยื่นด้วยความสำคัญผิดมาเป็นหลักในการประเมินโดยไม่ให้ โอกาสโจทก์แก้ไขตามสิทธิที่มีอยู่ตามกฎหมายย่อมเป็นการไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2301/2531 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การหักค่าใช้จ่ายทางภาษีสำหรับธุรกิจเช่าซื้อ: หลักเกณฑ์การคำนวณและสิทธิของผู้เสียภาษีตามกฎหมาย
ตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการกำหนดค่าใช้จ่ายที่ยอมให้หักจากเงินได้พึงประเมิน (ฉบับที่ 11)พ.ศ. 2502 มาตรา 8(33) ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น สำหรับกรณีการให้เช่าซื้อสังหาริมทรัพย์ เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากร ยอมให้หักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาได้ร้อยละ 90 เว้นแต่ผู้มีเงินได้แสดงหลักฐานและพิสูจน์ได้ว่ามีค่าใช้จ่ายมากกว่านั้นก็ยอมให้หักค่าใช้จ่ายให้ตามความจำเป็นและสมควร แต่ถ้าหลักฐานที่นำมาพิสูจน์นั้นมีรายจ่ายที่หักได้ตามกฎหมายน้อยกว่าอัตราค่าใช้จ่ายที่กำหนดไว้ข้างต้นก็ให้ถือว่ามีค่าใช้จ่ายเพียงเท่าหลักฐานที่นำมาพิสูจน์ ดังนี้ เมื่อโจทก์ไม่สามารถแสดงหลักฐานพิสูจน์ได้ว่าโจทก์มีค่าใช้จ่ายเท่าใด จึงต้องหักค่าใช้จ่ายให้โจทก์เป็นการเหมาได้ร้อยละ 90 ตามพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1550/2482

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิฟ้องเรียกเงินค่าภาษีคืนเมื่ออธิบดีกรมสรรพากรไม่ให้คำชี้ขาดตามเวลาที่กฎหมายกำหนด
อธิบดีกรมสรรพากรไม่ให้คำชี้ขาดภายในเวลาอันสมควร ผู้รับประเมินยื่นฟ้องเรียกเงินค่าภาษีคืนต่อศาลได้
กรณีที่ศาลสั่งให้ผู้แพ้คดีในที่สุดเป็นผู้เสียค่าธรรมเนียมชั้นฎีกา