คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
สิทธิยึดหน่วง

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 35 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7125/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิยึดหน่วงและบุริมสิทธิของผู้ขนส่ง: ผู้ขนส่งมีสิทธิได้รับชำระหนี้ค่าระวางก่อนเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา
ผู้ร้องรับสินค้าเหล็กพิพาทลงเรือลำเลียงและลากเรือลำเลียงไปลอยลำไว้ในความดูแลเพื่อรอคำสั่งจากโจทก์และจำเลยให้ทำการขนส่งต่อไป จึงย่อมมีสิทธิยึดหน่วงเหล็กพิพาทไว้จนกว่าจะได้รับชำระค่าระวางพาหนะและอุปกรณ์ที่เกิดขึ้นหลังจากที่รับสินค้าไว้ในความดูแล โดยสามารถใช้สิทธินี้ยันต่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้รับตราส่งตามใบตราส่งที่ออกไว้สำหรับการขนส่งเหล็กพิพาทครั้งนี้ได้ การที่สินค้าเหล็กพิพาทได้ถูกเจ้าหน้าที่ศุลกากรอายัดและตกอยู่ภายใต้อารักขาของเจ้าหน้าที่ศุลกากรก่อนการส่งมอบสินค้าให้แก่ผู้มีสิทธิที่จะได้รับ เนื่องจากเป็นสินค้าที่ยังไม่ได้ดำเนินการตามพิธีการศุลกากรให้เสร็จสิ้น ถือไม่ได้ว่าผู้ร้องมีเจตนาสละการครอบครองหรือเจตนาไม่ยึดถือเหล็กพิพาทไว้ต่อไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 1377 และ มาตรา 250 เมื่อผู้ร้องยังมีสิทธิยึดหน่วงสินค้าอยู่ แม้ต่อมาเจ้าพนักงานบังคับคดีในคดีนี้ยึดเหล็กพิพาทนั้นไว้เพื่อเอาชำระหนี้ตามคำพิพากษาคดีถึงที่สุดให้แก่โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาก็ไม่ทำให้สิทธิยึดหน่วงของผู้ร้องสูญสิ้นไปเช่นกัน นอกจากผู้ร้องมีสิทธิยึดหน่วงดังกล่าวแล้ว ผู้ร้องยังมีบุริมสิทธิเหนือสินค้าเหล็กนี้ด้วยตาม ป.พ.พ. มาตรา 259 และมาตรา 267 สำหรับเอาค่าระวางพาหนะในการรับขน กับทั้งค่าใช้จ่ายอันเป็นอุปกรณ์และเป็นบุริมสิทธิมีอยู่เหนือของอันอยู่ในมือของผู้ขนส่ง ผู้ร้องจึงมีสิทธิได้รับชำระหนี้ในฐานะเจ้าหนี้บุริมสิทธิในมูลรับขนก่อนโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในมูลหนี้ตามคำขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิต

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6734/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิยึดหน่วงที่ดิน แม้คดีขาดอายุความ ศาลสั่งให้โอนได้ตามสัญญา
โจทก์กับ ข. ได้ทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทโดยโจทก์ชำระราคาครบถ้วนแล้ว ส่วน ข. ได้ส่งมอบที่ดินพิพาทให้โจทก์ครอบครอง แต่ยังมิได้จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ หนี้ดังกล่าวจึงเป็นคุณประโยชน์แก่โจทก์เกี่ยวด้วยทรัพย์สินซึ่งครอบครองอยู่จนกว่าจะมีการจดทะเบียนโอน โจทก์ย่อมเป็นผู้ทรงสิทธิยึดหน่วงที่ดินพิพาทตามความหมายใน ป.พ.พ. มาตรา 241 แม้คดีโจทก์ขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคสาม ก็ตาม แต่ตามมาตรา 1754 วรรคสาม ยังบัญญัติให้อยู่ภายใต้บังคับแห่งมาตรา 193/27 ก็กำหนดให้ผู้ทรงสิทธิยึดหน่วงที่ดินไว้จนกว่าจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นทายาทของ ข. ไปจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ ทั้งยังมีสิทธิฟ้องบังคับให้จำเลยทั้งสองจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้โจทก์ด้วย เมื่อศาลชั้นต้นวินิจฉัยปัญหาเรื่องอายุความมรดกที่จำเลยทั้งสองให้การต่อสู้ไว้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคสาม ทั้งในชั้นอุทธรณ์โจทก์ได้อุทธรณ์เรื่องอายุความดังกล่าวและอ้างว่ามีสิทธิยึดหน่วงตาม ป.พ.พ. มาตรา 241 ด้วย ซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 3 ก็ได้วินิจฉัยเรื่องอายุความมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคสาม ประกอบมาตรา 193/27 และมาตรา 241 อันเป็นเรื่องอายุความมรดกตามที่คู่ความว่ากล่าวกันมาโดยชอบ จึงมิใช่เป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาเกินคำฟ้องอุทธรณ์ของโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1894/2546 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิยึดถือโฉนดที่ดินเป็นประกันหนี้ ไม่ใช่สิทธิยึดหน่วงตามกฎหมาย เพราะไม่ใช่หนี้ที่เกี่ยวกับที่ดินโดยตรง
ผู้ร้องเป็นผู้ครอบครองโฉนดที่ดินเพราะจำเลยมอบให้ยึดถือเป็นประกันเงินกู้ผู้ร้องจึงมีสิทธิยึดถือโฉนดที่ดินไว้จนกว่าจะได้รับชำระหนี้คืน แต่เป็นเพียงบุคคลสิทธิที่บังคับกันได้ระหว่างคู่สัญญาไม่สามารถใช้ยันแก่บุคคลอื่นได้ กรณีมิใช่สิทธิยึดหน่วงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 241 เพราะหนี้ที่ผู้ร้องมีเป็นเพียงหนี้เงินกู้ที่ผู้ร้องจะได้รับชำระคืนเท่านั้นหาได้เป็นคุณแก่ผู้ร้องเกี่ยวด้วยที่ดินโฉนดดังกล่าวไม่ เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีทำการบังคับคดีแก่ที่ดินดังกล่าว ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิยึดโฉนดที่ดินดังกล่าวได้
การที่ผู้ร้องอ้างว่า จำเลยนำโฉนดที่ดินมาจำนองเป็นประกันเงินกู้แต่ยังมิได้จดทะเบียนจำนอง โดยจำเลยมอบโฉนดที่ดินให้ผู้ร้องยึดถือไว้ก่อนเพื่อให้เห็นว่าตนมีสิทธิยึดหน่วงในโฉนดที่ดินนั้น ผู้ร้องต้องอ้างมาในคำร้องด้วย จะนำสืบในชั้นไต่สวนคำร้องหาได้ไม่ เพราะมิใช่ข้อเท็จจริงอันเป็นเพียงรายละเอียดหรือข้อเท็จจริงที่เป็นส่วนหนึ่งของข้อเท็จจริงที่กล่าวมาในคำร้องของผู้ร้อง และแม้จะเป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยแต่เมื่อเป็นข้อเท็จจริงที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ก็ชอบที่จะไม่รับวินิจฉัยให้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1894/2546

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิยึดถือโฉนดที่ดินต่างจากสิทธิยึดหน่วง ต้องมีหนี้อันเป็นคุณแก่ผู้ครอบครองเกี่ยวกับทรัพย์สิน
จำเลยผู้เป็นลูกหนี้เงินกู้มอบโฉนดที่ดินให้ผู้ร้องยึดถือไว้เป็นประกันเงินกู้ ผู้ร้องจึงมีสิทธิยึดถือโฉนดที่ดินไว้เป็นประกันการชำระหนี้เงินกู้จนกว่าจะได้รับชำระหนี้คืนโดยอาศัยข้อตกลงดังกล่าวนั้นเอง แต่สิทธิยึดถือโฉนดที่ดินเป็นเพียงบุคคลสิทธิบังคับกันได้ระหว่างคู่สัญญาไม่สามารถใช้ยันแก่บุคคลอื่นได้ ส่วนสิทธิยึดหน่วงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 241 หมายถึง การที่ผู้ครอบครองได้ครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นและมีหนี้อันเป็นคุณแก่ผู้ครอบครองเกี่ยวด้วยทรัพย์สินที่ครอบครองนั้นหนี้ที่ผู้ร้องมีเป็นเพียงหนี้เงินกู้ที่ผู้ร้องจะได้รับชำระหนี้คืนเท่านั้นหาได้เป็นคุณแก่ผู้ร้องเกี่ยวด้วยที่ดินโฉนดดังกล่าวไม่ เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีทำการบังคับคดีแก่ที่ดินดังกล่าวผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิยึดหน่วงโฉนดที่ดิน
ข้อเท็จจริงที่ว่าจะมีการนำโฉนดที่ดินที่มอบให้ผู้ร้องยึดถือไปจำนองเป็นประกันการกู้เงินตามหนังสือสัญญากู้นั้นด้วย เป็นข้ออ้างว่าผู้ร้องมีหนี้อันเป็นคุณแก่ผู้ร้องเกี่ยวด้วยโฉนดที่ดิน ซึ่งจะทำให้ผู้ร้องมีสิทธิยึดหน่วงตามกฎหมาย ที่จะสนับสนุนว่าผู้ร้องมีสิทธิยึดหน่วง ผู้ร้องต้องอ้างมาในคำร้องด้วย จะนำสืบในชั้นไต่สวนคำร้องหาได้ไม่ เพราะมิใช่ข้อเท็จจริงอันเป็นเพียงรายละเอียดหรือข้อเท็จจริงที่เป็นส่วนหนึ่งของข้อเท็จจริงที่กล่าวมาในคำร้องของผู้ร้องแม้จะเป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยก็ต้องเป็นข้อเท็จจริงที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6293/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิเจ้าหนี้จำนอง vs. เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา: ผู้รับจำนองมีสิทธิได้รับชำระหนี้ก่อนจากทรัพย์สินจำนอง แม้กรรมสิทธิ์จะโอนไปแล้ว
โจทก์ขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินของจำเลยเพื่อนำออกขายทอดตลาดปรากฏว่าโฉนดที่ดินของที่ดินที่ถูกยึดอยู่ในความครอบครองของผู้ร้องในฐานะผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องจากเจ้าหนี้เดิมของจำเลย ผู้ร้องย่อมเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้จำนองในที่ดินผู้ร้องในฐานะผู้รับจำนองชอบที่จะได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินจำนองก่อนเจ้าหนี้สามัญโดยมิพักต้องพิเคราะห์ว่ากรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินจะได้โอนไปยังบุคคลภายนอกแล้วหรือหาไม่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 702 วรรคสอง เพราะการจำนองย่อมติดตามตัวที่ดินไปตลอดจนกว่าผู้ร้องจะได้รับชำระหนี้ แต่การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีขอให้ผู้ร้องส่งมอบโฉนดที่ดินที่จะขายทอดตลาดนั้นถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของการบังคับคดีตามคำพิพากษาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 275,276 ประกอบด้วยมาตรา 304 กรณีเรื่องสิทธิยึดหน่วงโฉนดที่ดินจึงเป็นเรื่องระหว่างผู้ร้องผู้เป็นเจ้าหนี้กับจำเลยผู้เป็นลูกหนี้เท่านั้น ผู้ร้องจะยึดหน่วงโฉนดที่ดินไว้รอจนกว่าจำเลยจะชำระหนี้อันเป็นการกระทบสิทธิโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในอีกคดีหนึ่งที่จะบังคับยึดที่ดินเพื่อขายทอดตลาดหาได้ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3837/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิยึดหน่วงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แม้สิทธิเรียกร้องหลักขาดอายุความ ก็ยังบังคับให้จดทะเบียนโอนได้
โจทก์ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทจากจำเลย โดยชำระราคาให้บางส่วนแล้วส่วนที่เหลือจะชำระในวันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ จำเลยส่งมอบให้โจทก์ครอบครองที่ดินพิพาท อันเป็นทรัพย์สินของจำเลยโดยอาศัยสิทธิตามสัญญาจะซื้อจะขายดังกล่าวซึ่งจำเลยในฐานะผู้จะขายยังมีหนี้ที่จะต้องไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ผู้จะซื้อ หนี้ดังกล่าวจึงเป็นคุณประโยชน์แก่โจทก์เกี่ยวด้วยทรัพย์สินที่โจทก์ครอบครองอยู่ โจทก์จึงชอบที่จะยึดหน่วงที่ดินพิพาทไว้ได้จนกว่าจำเลยจะได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์แก่โจทก์ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 241 แม้จำเลยจะอ้างว่าโจทก์ใช้สิทธิเรียกร้องบังคับให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญาจะซื้อจะขายเกินกว่า10 ปี ซึ่งขาดอายุความแล้วก็ตาม แต่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 193/27 ระบุไว้ว่า แม้สิทธิเรียกร้องส่วนที่เป็นประธานจะขาดอายุความ โจทก์ในฐานะผู้ทรงสิทธิยึดหน่วงก็ยังคงมีสิทธิบังคับให้จำเลยจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทให้แก่ตนได้พร้อมรับเงินส่วนที่เหลือจากโจทก์ไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 621/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิยึดหน่วงที่ดินจากการซื้อขายเงินผ่อนและการฟ้องขาดอายุความ
อ. กับ ส. ทำสัญญาซื้อขายที่ดินเงินผ่อนเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์2510 โดย อ. เข้าครอบครองปลูกบ้านในปี 2510 ต่อมา ส. จะแบ่งแยกที่ดินโอนแก่ อ. แต่การแบ่งแยกมีปัญหาเพราะมีการฟ้องร้องระหว่าง ส. กับเจ้าของเดิม คดีถึงที่สุดในปี 2514 และ ส. ถึงแก่ความตายในปี 2522การที่ ส. ยอมให้ อ. เข้าครอบครองปลูกบ้านจนกระทั่ง อ. ถึงแก่ความตายแล้ว โจทก์ซึ่งเป็นทายาทได้ครอบครองต่อมา โจทก์จึงมีสิทธิยึดหน่วงที่ดินไว้จนกว่าจำเลยซึ่งเป็นทายาทของ ส. จะปฏิบัติตามสัญญาโดยไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่โจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 241และมาตรา 193/27 โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้โจทก์เมื่อปี 2536 จึงไม่ขาดอายุความตามมาตรา 1754

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7326/2541

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาแบ่งทรัพย์ & สิทธิยึดหน่วง: แม้ยังมิได้จดทะเบียน แต่การมอบครองที่ดินตามสัญญาประนีประนอมยอมความทำให้จำเลยมีสิทธิยึดหน่วงโฉนดได้
การที่โจทก์ตกลงแบ่งที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยทั้งสองตามสัญญาประนีประนอมยอมความ แม้ยังไม่ได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ แต่ก็ได้ความจากทางนำสืบของจำเลยว่าโจทก์ได้มอบการครอบครองให้แก่จำเลยแล้ว ดังนี้ ย่อมเข้าลักษณะเป็นสัญญาแบ่งทรัพย์ซึ่งมีผลผูกพันโจทก์ เมื่อจำเลยเป็นผู้ครอบครองที่ดินในฐานะผู้รับแบ่งทรัพย์ ศาลย่อมมีอำนาจที่จะปรับบทกฎหมายในเรื่องสิทธิยึดหน่วงตาม ป.พ.พ. มาตรา 241 มาวินิจฉัยให้เป็นคุณแก่จำเลยได้ ตามบทบัญญัติดังกล่าวย่อมถือได้ว่ามีหนี้ที่เป็นคุณประโยชน์แก่จำเลยเกี่ยวกับโฉนดพิพาท ฉะนั้นจำเลยจึงมีสิทธิยึดหน่วงโฉนดพิพาทจนกว่าจะได้รับแบ่งทรัพย์ในฐานะผู้มีสิทธิอันชอบธรรมตามสัญญาประนีประนอมยอมความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5623/2541

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิยึดหน่วงและอายุความของสัญญาวางมัดจำซื้อขาย: ผู้ซื้อมีสิทธิเรียกร้องให้โอนกรรมสิทธิ์ได้แม้เวลาผ่านไป
การที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะไม่ยอมรับสิทธิตามสัญญาที่มีต่อบุคคลอื่นตามความในมาตรา 122 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 นั้น หมายถึงสิทธิตามสัญญาที่ลูกหนี้จะพึงได้รับ หาใช่สิทธิตามสัญญาที่ผู้อื่นจะพึงได้รับไม่เมื่อผู้คัดค้านที่ 1 ได้ชำระค่าที่ดินให้แก่ลูกหนี้ครบถ้วนตามสัญญา แต่ลูกหนี้ไม่สามารถจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่ผู้คัดค้านที่ 1 เนื่องจากที่ดินติดจำนองไว้แก่ผู้ร้อง และเมื่อศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาด ผู้คัดค้านที่ 1 ได้ยื่นคำร้องขอให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ปฏิบัติตามสัญญาวางมัดจำจะซื้อจะขายโดยยินยอมชำระหนี้ตามสัญญาจำนองพร้อมดอกเบี้ยเพื่อไถ่ถอนจำนอง ผู้คัดค้านที่ 1 จึงมีสิทธิเรียกร้องให้โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่ผู้คัดค้านที่ 1 ได้โดยปลอดจำนองลูกหนี้ไม่มีสิทธิตามสัญญาที่จะเรียกร้องต่อผู้คัดค้านที่ 1กรณีจึงเป็นสิทธิตามสัญญาที่ผู้อื่นจะพึงได้รับ หาใช่สิทธิตามสัญญาที่ลูกหนี้จะพึงได้รับไม่ จึงไม่อยู่ในดุลพินิจของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ จะพิจารณาว่าสิทธิตามสัญญาที่ผู้คัดค้านที่ 1 จะพึงได้รับมีภาระเกินควรกว่าประโยชน์ที่จะพึงได้แก่กองทรัพย์สินของลูกหนี้หรือไม่ เพราะประโยชน์จะพึงได้ในการที่ผู้คัดค้านที่ 1 ใช้สิทธิเรียกร้องให้ปฏิบัติตามสัญญาตกได้แก่ผู้คัดค้านที่ 1 หาตกได้แก่ลูกหนี้ไม่ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงไม่อาจปฏิเสธไม่ยอมปฏิบัติตามสัญญาวางมัดจำจะซื้อจะขายรายนี้ได้ การที่ผู้คัดค้านที่ 1 เข้าครอบครองที่ดินของลูกหนี้นั้นเป็นไปตามสัญญาวางมัดจำจะซื้อจะขายซึ่งมีผลผูกพันลูกหนี้เมื่อผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้ครอบครองที่ดินของลูกหนี้ในฐานะผู้ซื้อและมีหนี้อันเป็นคุณประโยชน์แก่ผู้คัดค้านที่ 1เกี่ยวด้วยที่ดินซึ่งครอบครองนั้น ผู้คัดค้านที่ 1 ย่อมสิทธิยึดหน่วงที่ดินนั้นไว้จนกว่าลูกหนี้จะได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่ผู้คัดค้านที่ 1 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 241 แม้นับแต่วันที่ผู้คัดค้านที่ 1 ชำระค่าที่ดินส่วนที่เหลือจนถึงวันที่ผู้คัดค้านที่ 1 ร้องขอให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ปฏิบัติตามสัญญาวางมัดจำจะซื้อจะขายเป็นเวลา 17 ปีเศษ ผู้คัดค้านที่ 1 ในฐานะผู้ทรงสิทธิยึดหน่วงก็มีสิทธิบังคับชำระหนี้จากที่ดินที่ยึดถือไว้โดยร้องขอให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่ผู้คัดค้านที่ 1 ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/27 สิทธิเรียกร้องของผู้คัดค้านที่ 1 ที่จะขอให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ปฏิบัติตามสัญญาวางมัดจำจะซื้อจะขายจึงไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4718/2540

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ศาลวินิจฉัยนอกฟ้องเรื่องสิทธิยึดหน่วงรถยนต์ ไม่ชอบตามกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์นำรถยนต์พิพาทไปว่าจ้างจำเลยที่ 1ซ่อมแต่จำเลยที่ 1 มิได้ซ่อมแซม เมื่อโจทก์ขอรับรถยนต์พิพาทคืน จำเลยที่ 2 ได้ร่วมกับจำเลยที่ 1 ขัดขวางไม่ยอมให้โจทก์เอารถยนต์พิพาทคืน จำเลยที่ 2 ให้การต่อสู้ว่ารถยนต์พิพาทเป็นของจำเลยที่ 2 โดยซื้อมาจากโจทก์ จึงมีสิทธิป้องปัดขัดขวางไม่ให้โจทก์เอารถยนต์พิพาทไปจากอู่ของจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ไม่ได้ต่อสู้ว่าจำเลยที่ 2มีสิทธิยึดหน่วงรถยนต์พิพาท ศาลชั้นต้นได้กำหนดประเด็นข้อพิพาทในชั้นชี้สองสถานไว้ว่า โจทก์ยังคงเป็นเจ้าของรถยนต์พิพาทหรือได้ขายให้แก่จำเลยที่ 2 ไปแล้ว เมื่อคดีไม่มีประเด็นเรื่องจำเลยที่ 2 มีสิทธิยึดหน่วงรถยนต์พิพาท การที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 2 มีสิทธิยึดรถยนต์พิพาทไว้เป็นหลักประกันเงินกู้ที่โจทก์กู้ยืมจำเลยที่ 2 ไป จึงเป็นการวินิจฉัยนอกฟ้องนอกคำให้การและไม่เกี่ยวกับประเด็นข้อพิพาทในคดี ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142
of 4