คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
สิทธิสัญชาติ

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 5 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4744/2533 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิสัญชาติ: การพิจารณาความเป็นไทยของบุตรจากมารดาที่ถูกถอนสัญชาติ และอำนาจหน้าที่ของนายอำเภอ
ตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 ข้อ 1(3) ที่ให้ถอนสัญชาติไทยแก่บุคคลที่เกิดในราชอาณาจักรไทยโดยบิดาเป็นคนต่างด้าวหรือมารดาเป็นคนต่างด้าว แต่ไม่ปรากฏบิดาโดยชอบด้วยกฎหมายและขณะที่เกิดบิดาหรือมารดานั้นเป็นผู้ที่มาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดย ไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองนั้น ข้อความที่ว่า"ผู้ที่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทย" ย่อมเป็นที่เข้าใจว่าหมายถึงคนต่างด้าวที่มิได้มีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาณาจักรไทย เพราะเป็นข้อความที่ใช้ถ้อยคำติดต่อกันตลอดไม่มีลักษณะที่จะให้เข้าใจได้ว่าต้องการจะให้แยกความหมายของคำว่า "เข้ามา" กับคำว่า "อยู่"ออกจากกันเหมือนดังที่บัญญัติไว้ตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมืองพ.ศ. 2522 มาตรา 54 ที่ใช้คำว่า "เข้ามาหรืออยู่" ซึ่งเห็นได้ชัดว่าต้องการให้มีผลบังคับถึงคนต่างด้าวทั้งที่เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร กับที่อยู่ในราชอาณาจักรอยู่แล้วโดยมิได้เดินทางมาจากนอกราชอาณาจักรด้วย โดยที่ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 ข้อ 1(3)เป็นกฎหมายที่มีลักษณะถอนสิทธิของบุคคลจึงต้องแปลความโดยเคร่งครัดดังนั้น กรณีของนาง ท. มารดาโจทก์ทั้งสามเกิดในราชอาณาจักรไทยแม้จะถูกถอนสัญชาติไทย ตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337ข้อ 1(3) กลายเป็นคนต่างด้าวและอยู่ในราชอาณาจักรไทยต่อมาโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ก็มิใช่เป็นผู้ที่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยตามความหมายแห่งประกาศของคณะปฏิวัติดังกล่าว โจทก์ทั้งสามเป็นบุตรนาง ท. และเกิดในราชอาณาจักรไทยจึงมิใช่บุคคลตามข้อ 1แห่งประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 แม้โจทก์ทั้งสามจะเกิดภายหลังที่ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 ใช้บังคับแล้วก็ไม่ต้องด้วยกรณีที่จะไม่ได้สัญชาติไทย ตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337ข้อ 2 โจทก์ทั้งสามจึงได้สัญชาติไทยตามพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ.2508 มาตรา 7(3) และไม่ถูกถอนสัญชาติไทยโดยประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 337 ข้อ 1(3)
แม้จะปรากฏตามคำฟ้องว่าโจทก์ระบุชื่อนาย ส. เป็นจำเลยโดยไม่ได้ระบุตำแหน่งของจำเลยในฐานะเป็นนายอำเภอบึงกาฬมาด้วยก็ตามแต่การจะพิจารณาว่าโจทก์ฟ้องจำเลยในฐานะใดนั้น จะต้องพิจารณาถึงข้อความในฟ้องประกอบกันด้วย ซึ่งโจทก์บรรยายฟ้องไว้แล้วว่าจำเลยเป็นข้าราชการมีตำแหน่งเป็นนายอำเภอบึงกาฬจังหวัดหนองคาย เมื่อผู้แทนโดยชอบธรรมของโจทก์ได้ยื่นคำร้องขอให้จดทะเบียนให้โจทก์เป็นคนสัญชาติไทยต่อจำเลย จำเลยมีหน้าที่จดทะเบียนสัญชาติไทยให้แก่โจทก์ แต่จำเลยเพิกเฉย จึงถือว่าโจทก์ได้ฟ้องจำเลยในฐานะเป็นนายอำเภอบึงกาฬแล้ว โจทก์หาได้ฟ้องจำเลยในฐานะส่วนตัวไม่ ปรากฏว่าเมื่อบิดาของโจทก์ทั้งสามได้ยื่นคำร้องต่อจำเลยให้จดทะเบียนให้โจทก์ทั้งสามเป็นคนสัญชาติไทย แต่จำเลยเพิกเฉยการกระทำของจำเลยเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ในเรื่องสัญชาติแล้ว โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยในฐานะนายอำเภอบึงกาฬให้จดทะเบียนสัญชาติไทยให้แก่โจทก์ได้.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2932/2532

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิสัญชาติ: การโต้แย้งสิทธิในสัญชาติจากทะเบียนบ้านญวนอพยพไม่ขาดอายุความ
โจทก์ทั้งห้ามีสัญชาติไทย แต่ปรากฏว่ามีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านญวนอพยพที่แสดงว่าเป็นคนสัญชาติญวน และการจัดทำทะเบียนบ้านญวนอพยพอยู่ในอำนาจหน้าที่ของสำนักงานกิจการญวนอพยพ เมื่อจำเลยที่ 1 มีตำแหน่งเป็นหัวหน้าสำนักงานและเป็นนายทะเบียนบ้านญวนอพยพการที่โจทก์ทั้งห้าได้แจ้งให้จำเลยที่ 1 ถอนชื่อโจทก์ทั้งห้าออกจากทะเบียนบ้านญวนอพยพดังกล่าว แต่จำเลยที่ 1 เพิกเฉยอ้างว่ากระทำการตามหน้าที่และคำสั่งของกระทรวงมหาดไทย ซึ่งจำเลยที่ 2เป็นผู้รักษาการ เช่นนี้ย่อมถือได้ว่าจำเลยโต้แย้งสิทธิในเรื่องสัญชาติของโจทก์ทั้งห้าแล้ว โจทก์ทั้งห้าจึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองได้ ตราบใดที่ยังมิได้มีการถอนชื่อโจทก์ทั้งห้าออกจากทะเบียนบ้านญวนอพยพให้ถูกต้องก็ต้องถือว่าโจทก์ทั้งห้าถูกโต้แย้งสิทธิในเรื่องสัญชาติอยู่ตลอดเวลา ฟ้องโจทก์ทั้งห้า จึงไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1844/2530

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เขตอำนาจศาลสิทธิสัญชาติ: ศาลมีอำนาจเพิกถอนคำสั่งรับคำร้องและพิจารณาคดีใหม่ได้
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับคำร้องของผู้ร้องที่ขอให้ศาลมีคำสั่งว่าผู้ร้องมีสัญชาติไทยไว้ ต่อมาเมื่อศาลชั้นต้นพิจารณาเห็นว่าคำสั่งรับคำร้องไว้พิจารณาเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 4(2) เรื่องเขตอำนาจศาลศาลชั้นต้นย่อมมีอำนาจสั่งเพิกถอนการพิจารณาที่ผิดระเบียบนั้นและมีคำสั่งใหม่ได้ตามมาตรา 27
ตามพระราชบัญญติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 มาตรา 57 ได้ให้อำนาจแก่พนักงานอัยการที่จะโต้แย้งคัดค้านในกรณีที่มีผู้ร้องขอพิสูจน์สัญชาติต่อศาล คำคัดค้านของพนักงานอัยการจึงชอบด้วยกฎหมาย.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3740/2529 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิสัญชาติไทย: การพิสูจน์สัญชาติโดยอ้างอิงที่เกิดและสัญชาติมารดา แม้บิดาเป็นชาวต่างชาติ
โจทก์ฟ้องจำเลยในฐานะหัวหน้าสำนักกิจการญวนจังหวัดนครพนมซึ่งโต้แย้งสิทธิของโจทก์ว่า โจทก์มิใช่คนสัญชาติไทยแต่เป็นคนสัญชาติญวนและสั่งให้โจทก์ทำบัตรประจำตัวคนญวนอพยพแม้สำนักกิจการญวนจังหวัดนครพนมจะมิใช่นิติบุคคล โจทก์ก็ฟ้องจำเลยในฐานะผู้ครองตำแหน่งดังกล่าวซึ่งโต้แย้งสิทธิของโจทก์ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55
โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 7 เกิดในราชอาณาจักรไทยและมีมารดาคือโจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นคนมีสัญชาติไทย โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 7จึงเป็นคนมีสัญชาติไทย การที่ ต.คนสัญชาติญวนเป็นบิดาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 7 และโจทก์ที่ 2ถึงที่ 7 แจ้งต่อเจ้าหน้าที่ให้จดแจ้งชื่อโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 7 ในทะเบียนบ้านญวนอพยพตามคำสั่งจำเลย มิใช่หลักฐานที่แสดงว่าโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 7 มิใช่คนสัญชาติไทย การที่จำเลยมีคำสั่งให้โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 7 แจ้งชื่อให้เจ้าหน้าที่จดแจ้งในทะเบียนบ้านญวนอพยพและให้ทำบัตรประจำตัวคนญวนอพยพจึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบและเป็นการละเมิดสิทธิของโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 7 ซึ่งเป็นคนมีสัญชาติไทย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 349/2506 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิการพิสูจน์สัญชาติไทยของผู้เข้าเมือง และการเกิดข้อพิพาทสิทธิสัญชาติหลังถูกโต้แย้ง
บุคคลใดซึ่งเข้ามาในราชอาณาจักร อ้างว่าเป็นคนไทย บุคคลนั้นต้องเป็นผู้พิสูจน์ การพิสูจน์นั้นจะกระทำโดยร้องขอพิสูจน์ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่หรือร้องขอต่อศาลก็ได้ ตามความที่บัญญัติไว้ในมาตรา 43 แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2493
ได้ความว่า โจทก์เดินทางเข้ามาถึงประเทศไทยได้ 3 วัน ก็ยื่นฟ้องจำเลยซึ่งเป็นกรมตำรวจและหัวหน้ากองตรวจคนเข้าเมือง อ้างว่าโจทก์เป็นคนสัญชาติไทยแต่จำเลยไม่ยอมให้โจทก์อยู่โดยมีคำสั่งให้โจทก์ออกไปจากประเทศไทย โจทก์จึงฟ้อง่ขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยระงับเพิกถอนคำสั่งและขอให้ศาลสั่งแสดงว่าโจทก์มีสัญชาติไทยตามกฎหมาย จำเลยได้ให้การต่อสู้คดีว่า โจทก์ไม่ใช่บุคคลสัญชาติไทย จนศาลได้ทำการพิจารณาคดีมาโดยลำดับ ดังนี้ แม้จะได้ความว่าเมื่อก่อนที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ จำเลยยังไม่ได้โต้แย้งสิทธิในเรื่องสัญชาติของโจทก์มาก่อนก็ตาม ก็เป็นอันผ่านไปได้ เพราะเกิดเป็นประเด็นข้อพิพาทในเรื่องสัญชาติระหว่างคู่ความในคดีแล้ว ศาลพิจารณาพิพากษาประเด็นข้อพิพาทในเรื่องสัญชาติไปได้