พบผลลัพธ์ทั้งหมด 1 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4466/2536 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
สิทธิผู้ให้กู้ควบคุมวงเงินและเรียกคืนหนี้เมื่อผู้กู้ผิดสัญญา การกระทำไม่เป็นละเมิด
คดีนี้จำเลยทั้งสี่ยื่นอุทธรณ์ ศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์และสั่งให้ผู้อุทธรณ์นำส่งสำเนาอุทธรณ์ให้อีกฝ่ายภายในกำหนด 15 วัน มิฉะนั้นถือว่าทิ้งอุทธรณ์ซึ่งศาลชั้นต้นมีอำนาจสั่งได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 70 วรรคสอง จึงเป็นหน้าที่ของผู้อุทธรณ์จะต้องนำพนักงานเดินหมายไปส่งสำเนาอุทธรณ์ด้วยตนเอง แม้จะได้ความว่าจำเลยทั้งสี่ได้ไปเสียค่าใช้จ่ายในการนำส่งหมายสำเนาอุทธรณ์ไว้แล้ว ก็ไม่ทำให้จำเลยทั้งสี่หมดหน้าที่ที่จะต้องจัดการนำส่งตามคำสั่งศาลชั้นต้น ปรากฏว่าพนักงานเดินหมายรายงานต่อศาลชั้นต้นเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2534 ว่า ส่งหมายนัดและสำเนาอุทธรณ์ให้โจทก์ไม่ได้ ศาลชั้นต้นสั่งในวันที่ 15 เดือนเดียวกันว่า รอจำเลยทั้งสี่แถลง ถ้าจำเลยทั้งสี่นำส่งหมายนัดและสำเนาอุทธรณ์ด้วยตนเองแล้ว จำเลยทั้งสี่ก็จะทราบผลทันทีในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2534 ว่า ส่งหมายนัดและสำเนาอุทธรณ์ให้โจทก์ไม่ได้ ซึ่งจำเลยทั้งสี่ก็ต้องแถลงให้ศาลชั้นต้นทราบต่อไปว่าจะดำเนินการอย่างไรภายในเวลาอันสมควร เมื่อจำเลยทั้งสี่ไม่นำส่งเองกลับปล่อยให้พนักงานเดินหมายไปส่งตามลำพังเช่นนี้ ต้องถือว่าเป็นความผิดของจำเลยทั้งสี่เองที่ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาล จะอ้างว่าไม่ทราบผลการส่งหมายไม่ได้ ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นสั่งว่า"รอจำเลยทั้งสี่แถลง" โดยไม่กำหนดเวลาให้จำเลยทั้งสี่แถลง และไม่ได้แจ้งคำสั่งให้จำเลยทั้งสี่ทราบอีก จึงต้องถือว่าศาลชั้นต้นได้ดำเนินกระบวนพิจารณาไปโดยชอบแล้ว การที่จำเลยทั้งสี่ไม่ได้แถลงต่อศาลชั้นต้นว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไปนับแต่วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2534 จนถึงวันที่เจ้าหน้าที่ศาลรายงานต่อศาลชั้นต้นในวันที่ 15สิงหาคม 2534 ว่า จำเลยทั้งสี่ไม่แถลงเข้ามาเป็นระยะเวลาถึง 6 เดือนเศษศาลชั้นต้นจึงได้มีคำสั่งให้ส่งสำนวนไปศาลอุทธรณ์เพื่อดำเนินการต่อไป พฤติการณ์ดังกล่าวถือได้ว่า จำเลยเพิกเฉยไม่ดำเนินคดีภายในเวลาตามที่ศาลเห็นสมควรกำหนด ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา 174 (2) ประกอบมาตรา 246เป็นการทิ้งฟ้องอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ย่อมมีอำนาจจำหน่ายคดีได้ตาม ป.วิ.พ.มาตรา 132 (1)