คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
สิทธิโดยชอบ

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 9 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6864/2543

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การละเมิดลิขสิทธิ์: จำเลยอ้างสิทธิโดยชอบตามสัญญาซื้อขายลิขสิทธิ์ โจทก์มิได้พิสูจน์การซื้อขายเป็นโมฆะ คดีไม่มีมูล
ใบปกเทปเพลงของจำเลยที่ 1 ระบุชื่อจำเลยที่ 1 โดยเปิดเผยว่าเป็นผู้ผลิต จัดจำหน่ายและเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์เพลงในเทปซึ่งรวมถึงเพลงพิพาทประกอบกับสัญญาซื้อขายลิขสิทธิ์เพลงระบุว่า ด. ขายลิขสิทธิ์เพลงพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 จึงมีความเป็นไปได้ว่าจำเลยอาจกระทำการต่องานลิขสิทธิ์ของโจทก์โดยเข้าใจว่าตนมีสิทธิโดยชอบที่จะกระทำได้ โจทก์เองก็มิได้นำสืบว่า ด. ไม่ได้ขายลิขสิทธิ์เพลงพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 หรือบุคคลอื่นใดอีก พฤติการณ์แห่งคดีจึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสี่มีเจตนากระทำการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์อันเป็นองค์ประกอบความผิดที่ฟ้อง คดีโจทก์ไม่มีมูล

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2146/2520 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การสละสิทธิครอบครองที่ดินเพื่อชำระหนี้: สิทธิการครอบครองที่ชอบด้วยกฎหมายหลังเจ้าหนี้รับมอบ
ข.ทำหนังสือแสดงเจตนาสละสิทธิครอบครองที่พิพาทซึ่งเป็นที่ดินไม่มีหนังสือสำคัญสำหรับที่ดินไว้ล่วงหน้าว่า เมื่อ ข.ตายแล้วให้ที่พิพาทเป็นสิทธิแก่จำเลยเจ้าหนี้แทนการชำระหนี้ เมื่อจำเลยยินยอมตามนี้โดยได้ครอบครองที่พิพาทเพื่อตนตั้งแต่ ข.ตายก็เป็นสิทธิที่คู่กรณีกระทำได้โดยชอบไม่เป็นการขัดต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 656 วรรค 2 และวรรคสุดท้าย ดังนั้น การครอบครองของ ข.จึงเป็นอันสิ้นสุดลงนับแต่ ข.ตาย จำเลยหาได้ครอบครองที่พิพาทแทน ข. หรือโจทก์ซึ่งเป็นทายาทไม่ จำเลยจึงไม่ตกอยู่ในฐานะเป็นผู้ยึดถือแทนตามประมวลกกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1381 ไม่จำต้องบอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะการครอบครองไปยังโจทก์หรือทายาทอื่นของ ข. จำเลยย่อมได้สิทธิครอบครองที่พิพาท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 698/2516

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจับกุมและการป้องกันตน: กรณีความผิดซึ่งหน้า, การใช้อำนาจเกินเหตุ และการกระทำเพื่อป้องกันสิทธิโดยชอบ
คืนเกิดเหตุมีการลักลอบเล่นการพนันกันบนบ้านผู้มีชื่ออันเป็นที่รโหฐาน ผู้เสียหายกับพวกซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจแต่ไม่ใช่ตำรวจชั้นผู้ใหญ่ ได้รับคำสั่งให้ไปจับกุม จึงพากันไปยังบ้านที่เกิดเหตุ แต่ไม่มีหมายจับหรือหมายค้นไปด้วย ไปถึงได้แอบดูเห็นคนหลายคนกำลังเล่นการพนันกันอยู่ กรณีเช่นนี้ถือว่าเป็นความผิดซึ่งเห็นกำลังกระทำลง อันเป็นความผิดซึ่งหน้าตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 80
ขณะเกิดเหตุนั้นมีคนบนเรือนประมาณ 50 คน ทั้งที่กำลังเล่นและมิได้เล่นการพนัน ถ้าปล่อยให้เนิ่นช้าไปโดยไม่จับทันที ก็อาจจับผู้กระทำความผิดไม่ได้เลย เพราะปนเปกันอยู่มาก ทั้งบรรดาพยานหลักฐานต่างๆ ก็อาจสูญหายหรือถูกทำลายไปหมด จึงเป็นกรณีฉุกเฉินอย่างยิ่ง ผู้เสียหายกับพวกจึงมีอำนาจเข้าไป (ค้น) ในบ้านที่เกิดเหตุอันเป็นที่รโหฐานในเวลากลางคืนโดยไม่ต้องมีหมายค้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 96(2) ประกอบด้วยมาตรา 92(2) และมีอำนาจจับผู้กระทำความผิด โดยไม่ต้องมีหมายจับตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 80และมาตรา 81(1)
ขณะที่ผู้เสียหายกับพวกเข้าทำการจับกุมนั้น พวกผู้เล่นแตกฮือกันรีบหนีลงจากเรือนผู้เสียหายวิ่งเข้าจับข้อมือจำเลย จำเลยสะบัดหลุด ผู้เสียหายใช้ปืนตีศีรษะจำเลยจนจำเลยล้มลงไป ขณะเดียวกันมีตำรวจอื่นเข้ากลุ้มรุมทำร้ายจำเลยด้วย แม้ผู้เสียหายจะมีอำนาจจับ แต่การใช้วิธีการจับดังกล่าวนี้รุนแรงเกินความเหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งเรื่อง ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 83 วรรคสอง การจับของผู้เสียหายดังนี้จึงเป็นการใช้วิธีจับที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย. จำเลยจึงชอบที่จะป้องกันสิทธิของจำเลยให้พ้นจากภยันตรายอันเกิดจากการจับโดยใช้วิธีการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมายนี้ได้ ไม่เป็นความผิดฐานต่อสู้หรือขัดขวางเจ้าพนักงาน
จำเลยได้ใช้มีดแทงผู้เสียหายในขณะที่ผู้เสียหายทำร้ายจำเลย และมีตำรวจอื่นอีกหลายคนกลุ้มรุมเข้ามาทำร้ายจำเลยด้วย ผู้เสียหายได้รับบาดเจ็บที่ท้อง 1 แห่ง และที่ไหล่ขวาอีก 1 แห่ง รักษาประมาณ 21 วันหาย และมีดที่จำเลยใช้แทงก็เป็นมีดขนาดเล็ก ประกอบกับแทงในขณะที่เหตุการณ์กำลังชุลมุนสับสน อันอาจทำให้จำเลยเข้าใจได้ว่าจำเลยจะถูกผู้เสียหายและตำรวจอื่นทำร้ายเอาอีก การกระทำของจำเลยดังกล่าวถือได้ว่าเป็นการกระทำโดยชอบด้วยกฎหมายเพื่อป้องกันตนพอสมควรแก่เหตุ
(วรรค 1-2 วินิจฉัยโดยมติที่ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 5/2516)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 133/2516 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟ้องคดีต่อศาลย่อมเป็นการใช้สิทธิโดยชอบ เว้นแต่เป็นการกระทำโดยไม่สุจริต จงใจให้ผู้อื่นเสียหาย
การฟ้องคดีต่อศาลนั้นตามปกติย่อมเป็นการกระทำโดยชอบเพราะเป็นการที่จำเลยใช้สิทธิของตนทางศาลอันเป็นสิ่งที่กฎหมายอนุญาตการใช้สิทธิเช่นนี้ไม่เป็นการผิดกฎหมายแต่อย่างใด เว้นไว้แต่จะปรากฏว่าจำเลยกระทำไปโดยไม่สุจริต มิได้หวังผลอันเป็นธรรมดาแห่งการใช้สิทธิทางศาล หากแต่จงใจให้โจทก์ได้รับความเสียหายโดยใช้ศาลเป็นเครื่องกำบัง
(อ้างคำพิพากษาที่ 146/2480)
จำเลยฟ้องโจทก์ฐานเบิกความเท็จเพราะโจทก์เบิกความในคดีก่อนสองครั้งชั้นไต่สวนมูลฟ้อง โจทก์เบิกความว่าได้ยื่นคำขอจดทะเบียน(เครื่องหมายการค้า) เพิ่มเติมอีกเป็นชุด ได้รับอนุญาตแล้ว ซึ่งความจริงทางราชการยังไม่ได้รับจดทะเบียนให้ ส่วนชั้นพิจารณาโจทก์เบิกความว่ายังไม่ได้รับจดทะเบียนเป็นเครื่องหมายชุด คำเบิกความของโจทก์ดังกล่าวมีมูลให้จำเลยเข้าใจว่าโจทก์เบิกความเท็จ มิใช่เป็นการปั้นเรื่องขึ้นฟ้องแม้ศาลจะพิพากษายกฟ้อง โดยเห็นว่าคำเบิกความของโจทก์มิใช่ข้อสำคัญในคดีและเป็นคำบอกเล่ามา แต่คำเบิกความของโจทก์จะเป็นข้อสำคัญในคดีหรือไม่ เป็นข้อกฎหมายอันจำเลยอาจเห็นว่าเป็นข้อสำคัญในคดีก็ได้เมื่อโจทก์จำเลยอ้างแต่สำนวนคดีอาญาเป็นพยาน ย่อมไม่พอที่จะให้เห็นว่าการที่จำเลยฟ้องโจทก์ฐานเบิกความเท็จนั้น เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตอันจะเป็นการทำละเมิดต่อโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1918-1926/2511

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิเจ้าของที่ดินตามโฉนดฯ เหนือกว่าการครอบครองปรปักษ์ แม้ผู้ซื้อยังมิได้เข้าครอบครอง
ที่ที่จำเลยตั้งพิพาทอยู่ในเขตโฉนดของโจทก์. การที่จำเลยอ้างว่าจำเลยเป็นเจ้าของที่ดินตรงนั้นเพราะได้ครอบครองมาช้านาน จึงย่อมใช้ยันกับโจทก์ผู้ซื้อที่ดินมาโดยสุจริตและได้จดทะเบียนสิทธิโดยชอบแล้วไม่ได้. ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1299 วรรคสอง. แม้โจทก์ยังมิได้เคยเข้าครอบครองที่พิพาทที่ซื้อมา สิทธิของโจทก์ที่ได้มาโดยทางทะเบียนก็มิได้เสียไป. กรณีมิใช่เรื่องที่จะเอาหลักเรื่องผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอนมาใช้ได้. ข้อที่ว่าโจทก์ซื้อโดยสุจริตหรือไม่นั้น ก็ได้มีข้อสันนิษฐานของกฎหมายยอมรับรู้ไว้ก่อนแล้ว. ทั้งจำเลยไม่ได้โต้แย้งไว้ในคำให้การว่า โจทก์ได้ซื้อโดยไม่สุจริตแต่อย่างไร. จึงมากล่าวอ้างในชั้นฎีกาไม่ได้. และการสุจริตหรือไม่สุจริตในที่นี้ ก็ดูได้จากตัวโจทก์ มิใช่ดูจากฝ่ายผู้ขายที่ดินให้โจทก์. ฉะนั้น ถ้าผู้ขายที่ดินทางทะเบียนให้กับโจทก์จะรู้ว่าที่ดินขาดตกเป็นสิทธิของจำเลยเพราะการครอบครองปรปักษ์ไปแล้วหรือไม่. จึงไม่สำคัญ.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12265-12266/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิ้นสุดสัญญาเช่า - การใช้สิทธิโดยชอบตามสัญญา - ไม่เป็นความผิดฐานบุกรุก/ลักทรัพย์
สัญญาเช่าระหว่างโจทก์ร่วมที่ 1 กับจำเลยที่ 1 มีข้อความระบุชัดเจนว่ามีกำหนดอายุของสัญญาเช่าเป็นเวลา 15 ปี นับตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2529 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2544 ซึ่งเป็นการเช่าอสังหาริมทรัพย์เกิน 3 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 538 บัญญัติให้ต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าสัญญาเช่าทุกฉบับมีข้อตกลงในข้อ 7.9 ว่า เมื่อสัญญาเช่าสิ้นสุดลงไม่ว่าด้วยสาเหตุประการใดก็ตาม ผู้เช่าจะต้องออกจากสถานที่เช่าทันที ผู้ให้เช่ามีสิทธิเข้าครอบครองสถานที่เช่า ขนย้ายทรัพย์สินของผู้เช่าออกจากสถานที่เช่าได้โดยปราศจากความรับผิดใด ๆ ข้อตกลงดังกล่าวไม่ขัดต่อกฎหมายหรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ย่อมใช้บังคับได้โดยชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้น สัญญาเช่าระหว่างโจทก์ร่วมที่ 1 กับจำเลยที่ 1 จึงสิ้นสุดลงในวันที่ 30 กันยายน 2544 ตามที่ระบุไว้ในสัญญา เมื่อไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่ามีการต่อสัญญาเช่าหรือทำสัญญาเช่ากันใหม่ การที่จำเลยที่ 1 กับพวกกลับเข้าครอบครองพื้นที่เช่าโดยใช้ไม้กระดานปิดกั้นและขนย้ายทรัพย์สินของโจทก์ร่วมที่ 1 ออกจากพื้นที่เช่าไปเก็บไว้ในที่อื่นและพร้อมกับปิดประกาศ ณ บริเวณพื้นที่เช่าชั้นที่ 1 และชั้นที่ 3 ว่า สัญญาเช่าสิ้นสุดลงแล้วให้ผู้ที่อ้างว่าเป็นเจ้าของนำหลักฐานไปรับทรัพย์สินคืน จึงเป็นการใช้สิทธิโดยชอบตามข้อตกลงแห่งสัญญาเช่า การกระทำของจำเลยที่ 1 กับพวกจึงไม่เป็นความผิดฐานบุกรุก และฐานทำให้เสียทรัพย์ สำหรับข้อหาลักทรัพย์ ได้ความจากพยานโจทก์และโจทก์ร่วมที่ 1 ว่ามีการรื้อถอนและขนย้ายทรัพย์สินของโจทก์ร่วมที่ 1 ออกจากพื้นที่เช่าไปเก็บไว้ที่ลานจอดรถชั้นที่ 3 และโกดังชั้นที่ 6 บางส่วนนำไปไว้ที่ทิ้งขยะชั้นล่าง แต่ไม่มีพยานหลักฐานใดยืนยันว่าจำเลยทั้งหกเอาไปซึ่งทรัพย์สินของโจทก์ร่วมที่ 1 ทั้งการที่จำเลยที่ 1 กับพวกรื้อถอนและขนย้ายทรัพย์สินออกจากพื้นที่เช่าก็เพื่อนำไปเก็บรักษาไว้เพื่อให้ผู้ที่อ้างว่าเป็นเจ้าของนำหลักฐานไปรับทรัพย์สินคืน และยังอ้างด้วยว่าทรัพย์สินนั้นตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 1 ตามข้อตกลงในสัญญาถือว่าจำเลยทั้งหกขาดเจตนาทุจริต จึงไม่มีความผิดฐานลักทรัพย์
อนึ่ง ตามฟ้องโจทก์ขอคืนของกลางตามบัญชีทรัพย์ที่ตรวจพบแก่โจทก์ร่วมที่ 1 ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ไม่ได้มีคำสั่งเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าทรัพย์ของกลางตามบัญชีทรัพย์เป็นของโจทก์ร่วมที่ 1 จึงให้คืนแก่เจ้าของตาม ป.วิ.อ. มาตรา 49 และ 186 (9) ส่วนการคืนหรือใช้ราคาทรัพย์อื่น ๆ เมื่อจำเลยทั้งหกไม่ได้กระทำผิด จึงไม่มีหน้าที่ต้องคืนหรือใช้ราคาทรัพย์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1245/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องของกองทุนรวม และการใช้สิทธิฟ้องล้มละลายโดยชอบตามกฎหมาย
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ได้รับจดทะเบียนกองทรัพย์สินของโครงการจัดการกองทุนรวมโจทก์เป็นกองทุนรวมตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 มาตรา 124 วรรคสอง เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2542 โดยมีบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม ว. เป็นผู้รับผิดชอบในการดำเนินการของกองทุนโจทก์ โจทก์จึงมีฐานะเป็นนิติบุคคลโดยมีบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม ว. เป็นผู้แทนโจทก์ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 70 บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม ว. จึงมีอำนาจดำเนินคดีแทนโจทก์
โจทก์เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาซึ่งถึงที่สุดแล้ว เมื่อจำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาไม่ยอมชำระหนี้ โจทก์จึงขอศาลออกหมายบังคับคดีเพื่อดำเนินการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของจำเลยและโจทก์ได้ยื่นคำขอตรวจสอบการถือกรรมสิทธิ์ที่ดินของจำเลยที่สำนักงานที่ดินซึ่งจำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตรับผิดชอบ แต่ไม่พบว่าจำเลยมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินจะให้ยึดมาชำระหนี้แก่โจทก์ได้เพื่อให้ต้องด้วยข้อสันนิษฐานของกฎหมายว่าจำเลยมีหนี้สิ้นล้นพ้นตัวตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 8 (5) และนำคดีมาฟ้องจำเลยเป็นคดีล้มละลายนับว่าเป็นการใช้สิทธิตามกฎหมายโดยชอบมิใช่เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1233/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ใบกำกับภาษีต้องออกโดยผู้ขายสินค้า/บริการจริง และมีหลักฐานการชำระเงิน การนำภาษีซื้อมาหักต้องมีสิทธิโดยชอบ
ผู้ที่จะมีสิทธิออกใบกำกับภาษีได้นอกจากต้องเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว ยังต้องปรากฏด้วยว่าผู้ประกอบการนั้นได้ขายสินค้าหรือบริการและได้รับชำระราคาสินค้าหรือบริการนั้น หรือเมื่อความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นในกรณีอื่นตามมาตรา 86 แห่ง ป.รัษฎากร หาใช่ว่าใบกำกับภาษีที่ออกโดยผู้ประกอบการจดทะเบียนจะเป็นใบกำกับภาษีที่ชอบด้วยกฎหมายทุกกรณีไม่ เมื่อบริษัททั้งสี่ดังกล่าวออกใบกำกับภาษีซื้อให้แก่โจทก์โดยไม่มีการขายสินค้าถือว่าใบกำกับภาษีดังกล่าวเป็นใบกำกับภาษีที่ออกโดยผู้ที่ไม่มีสิทธิออกใบกำกับภาษี โจทก์จึงไม่อาจนำภาษีซื้อตามใบกำกับภาษีนั้นมาหักในการคำนวณภาษีตามมาตรา 82/5 (5)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1765/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบังคับคดีรื้อถอน การใช้สิทธิโดยชอบตามกฎหมาย และความรับผิดในละเมิด
แม้ในคดีก่อนศาลพิพากษาให้รื้อถอนกำแพงคอนกรีตอิฐบล็อกที่ปิดทางภาระจำยอมออก มิได้ระบุให้รื้อถอนหลังคาคอนกรีตเสริมเหล็กและเสาปูนด้วย แต่ก่อนทำการรื้อถอนเจ้าพนักงานบังคับคดีมีหนังสือแจ้งข้อเท็จจริงต่อศาลชั้นต้นว่าขณะเข้าทำการรื้อถอนพบว่ากำแพงคอนกรีตอิฐบล็อกที่จะต้องรื้อถอนกลายเป็นส่วนหนึ่งของบ้านโจทก์ และขอหารือว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีจะดำเนินการรื้อถอนต่อไปได้หรือไม่ ซึ่งศาลชั้นต้นเห็นว่าเมื่อศาลฎีกามีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าที่ดินพิพาทตกเป็นภาระจำยอม ให้โจทก์รื้อถอนกำแพงคอนกรีตอิฐบล็อกที่ปิดทางภาระจำยอมทั้งหมดออก ย่อมมีความหมายว่าโจทก์ในฐานะเจ้าของภารยทรัพย์ไม่สามารถกระทำการใด ๆ อันจะเป็นเหตุให้ประโยชน์แห่งภาระจำยอมลดไปหรือเสื่อมความสะดวก เจ้าพนักงานบังคับคดีจึงสามารถรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่เชื่อมต่อกับกำแพงคอนกรีตอิฐบล็อกที่โจทก์ทำการก่อสร้างขึ้นใหม่ในระหว่างการพิจารณาได้ และมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีทำการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างส่วนที่รุกล้ำทางภาระจำยอมต่อไป โจทก์อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าว ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน คดีถึงที่สุด การรื้อถอนหลังคาคอนกรีตเสริมเหล็กและเสาปูนของเจ้าพนักงานบังคับคดีจึงไม่เป็นการบังคับคดีที่เกินไปกว่าคำพิพากษาอันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมายแต่อย่างใด
ป.วิ.พ. มาตรา 296 เบญจ วรรคสอง (เดิม) กำหนดให้เจ้าพนักงานบังคับคดีปิดประกาศกำหนดการรื้อถอนไว้ ณ บริเวณที่จะทำการรื้อถอนไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน ก็เพื่อให้ลูกหนี้ตามคำพิพากษาได้ทราบว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีจะเริ่มทำการรื้อถอนในวันใดเท่านั้น หาใช่ว่าจะต้องทำการปิดประกาศให้ทราบล่วงหน้าทุกครั้งที่จะเข้าทำการรื้อถอนไม่ เมื่อได้ความว่าในวันที่ 7 ตุลาคม 2557 เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ปิดประกาศแจ้งให้โจทก์ทราบว่าจะเริ่มทำการรื้อถอนในวันที่ 29 ตุลาคม 2557 และหรือในวันต่อ ๆ ไปจนกว่าจะทำการแล้วเสร็จ เจ้าพนักงานบังคับคดีย่อมสามารถทำการรื้อถอนในวันดังกล่าวและวันต่อมาได้โดยไม่จำต้องปิดประกาศแจ้งกำหนดนัดรื้อถอนให้โจทก์ทราบใหม่ทุกครั้ง การที่จำเลยที่ 5 ถึงที่ 11 ร้องขอและนำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปทำการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกจากทางภาระจำยอมจึงเป็นการใช้สิทธิตามกฎหมาย มิได้กระทำโดยจงใจให้โจทก์ได้รับความเสียหายอันเป็นละเมิด จำเลยที่ 5 ถึงที่ 11 จึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์