คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
สิทธิในรถยนต์

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 3 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3748/2533

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การครอบครองรถยนต์โดยไม่สุจริตของผู้ซื้อรายแรก ทำให้สิทธิในรถยนต์ของผู้ซื้อรายหลังมีน้ำหนักกว่า
โจทก์ทราบอยู่แล้วว่าจำเลยได้ขายรถยนต์พิพาทให้ผู้ร้องสอดแต่กลับรับรถยนต์นั้นไว้ก่อน กรณีถือไม่ได้ว่าโจทก์ได้การครอบครองรถยนต์ไว้โดยสุจริต การที่โจทก์นิ่งเสียไม่แจ้งเรื่องที่โจทก์ได้ซื้อรถยนต์พิพาทจากจำเลยให้ผู้ร้องสอดทราบในขณะที่ผู้ร้องสอดและจำเลยทำสัญญาซื้อขายรถยนต์พิพาทกันยังไม่เสร็จ ย่อมทำให้ผู้ร้องสอดหลงผิดเข้าใจว่าจำเลยมีสิทธิโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์พิพาทให้ผู้ร้องสอดได้ ดังนี้ โจทก์จะมาอ้างในภายหลังว่ารถยนต์ดังกล่าวตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์แล้ว จำเลยไม่มีกรรมสิทธิ์ที่จะโอนให้ผู้ร้องสอดอีก เป็นการใช้สิทธิไม่สุจริต

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2785/2526 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟ้องแย้งสิทธิในรถยนต์พิพาทระหว่างผู้ซื้อและผู้ให้เช่าซื้อ รวมถึงการคืนรถยนต์ให้แก่ผู้มีสิทธิ
โจทก์ที่ 1 ที่ 2 ฟ้องให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันคืนรถยนต์พิพาทให้แก่โจทก์ ผู้ร้องสอดยื่นคำร้องสอดว่ารถยนต์พิพาทเป็นของผู้ร้องสอด ขอให้จำเลยทั้งสามคืนให้แก่ผู้ร้องสอด ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 คืนรถยนต์พิพาทให้แก่โจทก์ที่ 2 ผู้ร้องสอดอุทธรณ์ว่าเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์พิพาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามคืนหรือใช้ราคารถยนต์พิพาทให้แก่ผู้ร้องสอดดังนี้ คดีระหว่างผู้ร้องสอดกับจำเลยที่ 1 ที่ 2 จึงยังไม่ยุติ
ที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 ฎีกาว่า ไม่เห็นด้วยกับที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ร่วมกันคืนรถยนต์พิพาทให้แก่ผู้ร้องสอดเพราะเมื่อจำเลยคืนรถยนต์พิพาทให้แก่โจทก์ที่ 2 ไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้วจำเลยก็ไม่มีรถที่จะคืนให้ผู้ร้องสอดได้อีก ผู้ร้องสอดชอบที่จะไปบังคับเอารถยนต์พิพาทคืนจากโจทก์ที่ 2 นั้นมิใช่เป็นการคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่าไม่ถูกต้องหรือไม่ชอบด้วยกฎหมายอย่างไร จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3141/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องและผลผูกพันบุคคลนอกคดี: สิทธิในรถยนต์เมื่อสัญญาซื้อขายไม่สมบูรณ์
โจทก์ซื้อรถยนต์พิพาทจากห้างหุ้นส่วนจำเลยที่ 1 ชำระราคาครบถ้วนและส่งมอบรถยนต์พิพาทให้โจทก์ในวันที่ทำสัญญาแล้ว แต่ไม่ส่งมอบสมุดคู่มือการจดทะเบียนรถยนต์พิพาท เมื่อโจทก์สอบถามไปยังบริษัท ส. จึงทราบว่าจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 นำสมุดคู่มือการจดทะเบียนรถยนต์พิพาทไปจดทะเบียนให้บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์จำเลยที่ 3 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ โดยจำเลยที่ 2 ได้เช่าซื้อรถยนต์พิพาทจากจำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 3 ได้สั่งซื้อรถยนต์พิพาทจากบริษัท ส. และชำระราคาแล้ว แล้วได้มีการจดทะเบียนให้จำเลยที่ 2 เป็นผู้ครอบครองเมื่อคำฟ้องโจทก์กล่าวอ้างว่าโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์พิพาทและครอบครองรถยนต์อยู่ก่อนย่อมมีสิทธิดีกว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 อันเป็นการกล่าวอ้างเพื่อให้ได้รับความคุ้มครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1303 ซึ่งผู้มีอำนาจโอนสิทธิในรถยนต์พิพาทให้โจทก์และจำเลยที่ 3 ต้องเป็นบุคคลคนเดียวกัน คดีจึงมีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของบริษัท ส. เจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์พิพาทหรือไม่ และการที่ศาลจะพิพากษาให้โจทก์ชนะคดีได้นั้นคำพิพากษาต้องมีผลผูกพันบริษัท ส. ด้วย ทำให้บริษัท ส. ต้องเข้ามารับผิดต่อโจทก์ในฐานะคู่สัญญาตาม ป.พ.พ. มาตรา 820 โดยจำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิดเป็นส่วนตัว การเพิกถอนชื่อจำเลยที่ 2 และที่ 3 ออกจากรายการจดทะเบียนและจดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์พิพาทซึ่งต้องอาศัยมูลหนี้ตามสัญญาซื้อขายระหว่างโจทก์กับบริษัท ส. ตามคำขอของโจทก์ย่อมกระทบกระเทือนถึงสิทธิของบริษัท ส. ซึ่งเป็นบุคคลนอกคดี เมื่อโจทก์ไม่ได้ฟ้องหรือขอให้เรียกบริษัท ส. เข้ามาเป็นคู่ความในคดีด้วย ผลของคำพิพากษาย่อมไม่ผูกพันบริษัท ส. ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 ศาลจึงไม่อาจพิพากษาให้ตามคำขอของโจทก์ได้ ปัญหาดังกล่าวเกี่ยวกับอำนาจฟ้อง เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นอ้าง ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5)