คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
สินค้าเสียหาย

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 79 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1638/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของผู้ขนส่งทางทะเลเมื่อสินค้าเสียหายจากการบรรจุและการขนส่งที่ไม่ระมัดระวังของผู้ส่ง
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ว่าจ้างให้จำเลยที่ 3 ทำการขนส่งสินค้าที่บรรจุในตู้สินค้าทางเรือจากประเทศสิงคโปร์มายังท่าเรือกรุงเทพภายใต้เงื่อนไขแบบซีวาย/ซีวาย ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าสินค้าได้รับความเสียหายตั้งแต่ก่อนเปิดตู้สินค้าแล้ว เมื่อไม่ปรากฏว่าตู้สินค้าดังกล่าวอยู่ในสภาพผิดปกติหรือมีรอยชำรุดเสียหายที่จะแสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 3 ทำการขนส่งด้วยความประมาทเลินเล่อทำให้สินค้าถูกกระทบกระแทก จึงรับฟังได้ว่าความเสียหายนั้นเกิดขึ้นหรือเป็นผลจากเหตุอื่นที่มิใช่ความผิดหรือความประมาทเลินเล่อหรืออยู่ในความรู้เห็นของจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิดเพื่อความเสียหายของสินค้านั้น ตาม พ.ร.บ. การรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 มาตรา 52 (13)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1413/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของผู้ขนส่งและผู้รับประกันภัยทางทะเล กรณีสินค้าเสียหายจากการขนส่ง โดยพิจารณาจากเงื่อนไขการส่งมอบและสาเหตุความเสียหาย
แม้ตามใบกำกับสินค้าจะมีข้อความระบุราคาเป็นราคา FOB ก็ตาม แต่กลับปรากฏข้อเท็จจริงตามทางพิจารณาเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของคู่สัญญาว่า ผู้ซื้อไม่ได้มีหน้าที่ว่าจ้างผู้ขนส่งให้นำเรือไปรับสินค้าจากผู้ขายหรือให้ผู้ขายช่วยว่าจ้างผู้ขนส่งแทน โดยผู้ซื้อออกค่าขนส่งเองตามเงื่อนไขของการซื้อขายแบบ FOB ดังกล่าวแต่อย่างใด อีกทั้งเมื่อผู้ซื้อพบว่าสินค้าเสียหายและส่งสินค้าคืนแก่บริษัท บ. ตามที่ผู้ขายจะปฏิเสธไม่รับสินค้าตามสิทธิที่กระทำได้หากเป็นการซื้อขายภายใต้เงื่อนไข FOB ดังกล่าว ซึ่งความเสี่ยงภัยในการสูญหายหรือเสียหายของสินค้าได้ตกอยู่แก่ผู้ซื้อแล้ว เนื่องจากมีการขนสินค้าข้ามพ้นกราบเรือ ณ ท่าเรือต้นทางแล้ว แต่ผู้ขายก็ยอมรับสินค้าคืน ซึ่งส่อแสดงว่าคู่สัญญาดังกล่าวมิได้ถือปฏิบัติตามเงื่อนไข FOB เป็นเหตุให้เชื่อได้ว่าคู่สัญญาซื้อขายรายนี้ระบุข้อความคำว่า "FOB" เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับราคาสินค้าเพียงเพื่อใช้แสดงราคาเท่านั้น มิใช่มีข้อตกลงให้นำเรื่องหน้าที่และการโอนความเสี่ยงภัยตามเงื่อนไข FOB ของ INCOTERM มาใช้ด้วย ดังนั้น เมื่อสินค้าเสียหายผู้ขายจึงยังต้องรับผิด
เหตุแห่งความเสียหายของสินค้าที่ขนส่งเกิดขึ้นจากการที่น้ำทะเลท่วมเข้าไปถูกตู้สินค้าซึ่งอยู่ในความดูแลของจำเลยที่ 4 จึงเป็นกรณีจำเลยร่วมที่ 4 ผู้ขนส่งอื่นต้องรับผิดในความเสียหายของสินค้าที่ขนส่งตาม พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มาตรา 44 ประกอบมาตรา 39 วรรคหนึ่ง และแม้ความเสียหายของสินค้าจะเกิดขึ้นในระหว่างสินค้าอยู่ในความดูแลของจำเลยร่วมที่ 4 ผู้ขนส่งอื่น จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้ขนส่งก็ต้องรับผิดในความเสียหายของสินค้านั้นด้วย ตามมาตรา 43 และจำเลยที่ 2 ผู้รับประกันภัยความรับผิดของจำเลยที่ 1 ผู้เอาประกันภัยที่มีต่อบุคคลอื่นในการขนส่งสินค้าของจำเลยที่ 1 ต้องร่วมรับผิดของจำเลยที่ 1 ด้วย สำหรับจำเลยร่วมที่ 3 ผู้ขนส่งอื่นได้รับการมอบหมายจากจำเลยที่ 1 ให้ขนส่งสินค้า เมื่อเหตุแห่งความเสียหายเกิดขึ้นในช่วงการขนส่งที่จำเลยร่วมที่ 3 ได้รับมอบหมายจำเลยร่วมที่สามจึงต้องรับผิดในความเสียหายของสินค้านี้เช่นกัน
ค่าสำรวจความเสียหายถือได้ว่าเป็นผลจากความเสียหายของสินค้าที่ผู้ขนส่งต้องรับผิดด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 827/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของผู้ขนส่งสินค้าทางทะเล กรณีสินค้าเสียหายจากการบรรจุและขนส่ง
ผู้ซื้อและผู้ขายตามสัญญาซื้อขายสินค้าระหว่างประเทศตกลงซื้อขายกันตามเงื่อนไข INCOTERMS แบบ EX WORKS ผู้ขายจึงมีหน้าที่ต้องส่งมอบสินค้าที่หน้าโรงงานของผู้ขาย ส่วนผู้ซื้อมีหน้าที่ว่าจ้างผู้ขนส่งไปรับสินค้าจากที่หน้าโรงงานของผู้ขาย
เมื่อการซื้อขายครั้งนี้ผู้ซื้อและผู้ขายตกลงกันให้ผู้ขายมีหน้าที่เพียงส่งมอบสินค้าที่หน้าโรงงานของผู้ขาย และโจทก์มีพนักงานของบริษัทผู้ซื้อซึ่งเป็นผู้ส่งมาเบิกความยืนยันว่าได้มีการตกลงกันตามสัญญารับขนให้จำเลยที่ 1 ผู้ขนส่งมีหน้าที่ต้องควบคุมดูแลการบรรจุสินค้าเข้าตู้คอนเทนเนอร์ จึงเชื่อได้ว่าหน้าที่ความรับผิดชอบในการบรรจุสินค้าเข้าตู้คอนเทนเนอร์ตามสัญญารับขนซึ่งเป็นสัญญาที่เป็นมูลฟ้องร้องคดีนี้นั้นเป็นของผู้ขนส่ง ดังนั้น ไม่ว่าการบรรจุสินค้าเข้าตู้ที่แท้จริงผู้ส่งจะช่วยบรรจุด้วยหรือไม่ก็ตาม ก็ถือไม่ได้ว่าความเสียหายของสินค้าเกิดจากความผิดของผู้ส่งในการบรรจุสินค้าเข้าตู้คอนเทนเนอร์
จำเลยที่ 1 ผู้ขนส่ง และจำเลยที่ 2 ผู้ขนส่งอื่นซึ่งตกลงรับผิดชอบดูแลสินค้าตลอดช่วงการขนส่งจากเมืองท่าลา สเปเซียถึงกรุงเทพมหานคร ต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายของสินค้า ไม่ว่าความเสียหายจะเกิดขึ้นในระหว่างช่วงการรับขนของช่วงใดก็ตาม ส่วนจำเลยที่ 3 ผู้ขนส่งอื่นซึ่งตกลงรับผิดชอบดูแลสินค้าในช่วงการขนส่งจากประเทศสิงคโปร์มายังกรุงเทพมหานคร แม้ต้องรับผิดเฉพาะในช่วงการรับขนของตน แต่เมื่อคดีนี้ไม่ปรากฏว่าความเสียหายของสินค้าเกิดขึ้นนอกช่วงการขนส่งดังกล่าว จำเลยที่ 3 จึงต้องร่วมรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นด้วย
เมื่อไม่ปรากฏข้อเท็จจริงซึ่งเป็นเหตุตัดสิทธิของผู้ขนส่งตามมาตรา 60 แห่ง พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 จำเลยทั้งสามจึงได้รับประโยชน์จากข้อจำกัดความรับผิดคือต้องรับผิดเพียงไม่เกิน 30 บาท ต่อหนึ่งกิโลกรัม ตามมาตรา 58

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7680/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของผู้ขนส่งสินค้าทางเรือเมื่อเกิดความเสียหายจากเหตุที่คาดหมายได้ และการจำกัดความรับผิดตามสัญญาประกันภัย
เมื่อปรากฏว่าเรือฉลอมลำเกิดเหตุซึ่งบรรทุกสินค้า 155 ถุง น้ำหนัก 186 ตัน จากที่สามารถบรรทุกน้ำหนักสูงสุดได้ 190 ตันเศษ ถูกนำไปจอดรวมกับเรืออีก 4 ลำ อยู่ที่ทุ่นกลางแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณที่จอดเรือเป็นทางเข้าออกของเรือเดินสมุทรหรือเรือบรรทุกสินค้าขนาดใหญ่ ย่อมจะคาดหมายได้ว่าจะเกิดคลื่นขนาดใหญ่ได้ การที่เรือฉลอมบรรทุกสินค้าเต็มลำเรือเสมอกาบเรือโดยเรือพ้นจากผิวน้ำไม่เกิน 1 ศอก เมื่อถูกคลื่นขนาดใหญ่กระแทกน้ำย่อมเข้าเรือได้โดยง่าย ยิ่งนำไปผูกรวมกับเรืออื่น ๆ อีก 4 ลำ ทำให้เรือกระแทกกันเอง เพิ่มความรุนแรงในการกระแทกมากขึ้นและน้ำย่อมจะเข้าเรือได้ง่ายยิ่งขึ้น ไม่ปรากฏว่าได้มีการระมัดระวังจัดการป้องกันมิให้น้ำเข้าเรือเมื่อโดนคลื่นขนาดใหญ่กระแทกอย่างไรบ้าง การนำเรือมาจอดที่ทุ่นจอดเรือและบรรทุกสินค้าไม่เกินพิกัดสูงสุดที่จะบรรทุกได้โดยไม่จัดการระมัดระวังป้องกันเป็นพิเศษอย่างใดเลย ไม่เป็นการป้องกันตามสมควรอันพึงคาดหมายได้จากผู้มีอาชีพขนส่งสินค้าทางเรือ แม้ว่าเมื่อเรือฉลอมดังกล่าวจมลง ผู้ควบคุมเรือได้ตัดเชือกที่ผูกโยงกับเรือลำอื่น ๆ ก็เป็นเพียงการป้องกันมิให้เรือลำอื่น ๆ ต้องจมลงไปด้วย มิใช่การป้องกันเรือลำเกิดเหตุ เรือฉลอมจมลงและสินค้าเสียหายจึงมิได้เกิดจากเหตุสุดวิสัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4099/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของผู้ขนส่งทางอากาศต่อความเสียหายของสินค้า แม้เกิดในคลังสินค้าของผู้อื่น
จำเลยที่ 1 ผู้ขนส่งมีหน้าที่ต้องดูแลมิให้สินค้าที่ขนส่งสูญหายหรือได้รับความเสียหายในระหว่างการขนส่งหรือในระหว่างที่สินค้านั้นอยู่ในความดูแลของตน มิฉะนั้น จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดต่อความสูญหายหรือเสียหายนั้นต่อผู้รับตราส่ง การที่จำเลยที่ 1 ต้องฝากสินค้าที่ขนส่งไว้ในคลังสินค้าของจำเลยที่ 2 เพราะถูกบังคับโดยกฎหมายศุลกากรเพื่อเสียภาษีศุลกากรและตามกฎหมายการบินระหว่างประเทศ (IATA) เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 ต้องปฏิบัติเพื่อส่งมอบสินค้านั้นให้แก่ผู้รับตราส่งต่อไป สินค้าที่ขนส่งยังไม่พ้นไปจากความดูแลหรือความรับผิดชอบของจำเลยที่ 1 ผู้ขนส่ง ดังนั้น แม้เหตุแห่งการสูญหายของสินค้าน้ำหอมที่ขนส่งจะเกิดขึ้นในระหว่างที่สินค้าอยู่ในคลังสินค้าของจำเลยที่ 2 ก็ถือได้ว่าเหตุแห่งการสูญหายของสินค้าที่ขนส่งเกิดขึ้นในระหว่างการขนส่งหรือในระหว่างที่สินค้านั้นยังอยู่ในความรับผิดชอบของจำเลยที่ 1 ผู้ขนส่ง จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดสำหรับความเสียหายเนื่องจากการสูญหายของสินค้าที่ขนส่งต่อโจทก์ผู้รับประกันภัยสินค้านั้น
คดีนี้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และจำเลยร่วม มิได้ทำนิติกรรมว่าจะร่วมกันรับผิดในหนี้ค่าเสียหายเนื่องจากการสูญหายของสินค้าน้ำหอมที่ขนส่งแต่อย่างใด ทั้งไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดบัญญัติให้ผู้ขนส่งสินค้าทางอากาศระหว่างประเทศ นายคลังสินค้า และผู้รับประกันภัยความรับผิดอันเกิดจากการเก็บของในคลังสินค้าร่วมกันรับผิดในหนี้ค่าเสียหายเนื่องจากการสูญหายของสินค้าที่ขนส่งอย่างลูกหนี้ร่วม ดังนี้ กรณีจึงไม่อาจพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ผู้ขนส่งสินค้าทางอากาศระหว่างประเทศร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 นายคลังสินค้าและจำเลยร่วมผู้รับประกันภัยความรับผิดอันเกิดจากการเก็บของในคลังสินค้าของจำเลยที่ 2 ในหนี้ค่าเสียหายเนื่องจากการสูญหายของสินค้าน้ำหอมที่ขนส่งได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8346/2547 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของผู้ส่งสินค้าและผู้ขนส่ง กรณีสินค้าเสียหายจากการขนส่ง: การประเมินความรับผิดและค่าเสียหาย
ความรับผิดของผู้ส่งของในความเสียหายอันเนื่องมาจากการแจ้งหรือจัดให้ผู้ขนส่งบันทึกข้อความในใบตราส่งโดยไม่ถูกต้องแท้จริงของข้อความเกี่ยวกับลักษณะทั่วไปแห่งของเครื่องหมายที่จำเป็นเพื่อบ่งตัวของ จำนวนหน่วยการขนส่ง น้ำหนักของหรือปริมาณอย่างอื่นตามมาตรา 23 แห่ง พ.ร.บ. การรับขนของทางทะเลฯ นั้น เพื่อให้ผู้ขนส่งบันทึกข้อความนั้นไว้ในใบตราส่ง และเมื่อผู้ขนส่งได้บันทึกให้ตามที่ผู้ส่งของได้แจ้งหรือจัดให้ซึ่งข้อความนั้นแล้ว จึงจะถือว่าผู้ส่งของได้รับรองกับผู้ขนส่งว่าข้อความที่แจ้งหรือจัดให้นั้นถูกต้องตรงกับความเป็นจริงเกี่ยวกับของนั้นทุกประการ หากมีความเสียหายเกิดขึ้นเนื่องจากความไม่ถูกต้องแท้จริงของข้อความดังกล่าว บทบัญญัติ มาตรา 32 วรรคสอง บัญญัติให้ผู้ส่งของรับผิดชดใช้ความเสียหายแก่ผู้ขนส่งแม้ผู้ส่งของจะได้โอนใบตราส่งนั้นให้แก่บุคคลภายนอกไปแล้วก็ตาม แต่ทั้งนี้ผู้ขนส่งยังคงต้องรับผิดตามสัญญาขนของทางทะเลต่อบุคคลภายนอกผู้ทรงใบตราส่งนั้น ซึ่งจะเห็นได้ว่าเหตุผลที่มาตรา 32 วรรคสอง บัญญัติให้ผู้ส่งของรับผิดต่อผู้ขนส่งสำหรับความเสียหายดังกล่าว เป็นเพราะความเสียหายนั้นเป็นความเสียหายที่ผู้ขนส่งยังคงต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกซึ่งเป็นผู้ทรงใบตราส่งตามสัญญารับขนของทางทะเลเนื่องจากผู้ขนส่งส่งมอบสินค้าที่ขนส่งไม่ถูกต้องตรงตามที่ระบุไว้ในใบตราส่งอันเป็นผลมาจากผู้ส่งของยืนยันให้ผู้ขนส่งบันทึกข้อความเกี่ยวกับลักษณะทั่วไปแห่งของเครื่องหมายที่จำเป็นเพื่อบ่งตัวของจำนวนหน่วยการขนส่ง น้ำหนักของหรือปริมาณอย่างอื่นที่ไม่ถูกต้องไว้ในใบตราส่ง ความเสียหายที่เกิดขึ้นเกี่ยวข้องกับใบตราส่งตามมาตรา 32 วรรคสองนี้จึงมิใช่ความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ผู้ขนส่งหรือเรือผู้ขนส่งโดยตรง ดังนี้ การที่จำเลยซึ่งเป็นผู้ส่งของแจ้งน้ำหนักของสินค้าไม้เนื้อแข็งแปรรูปน้อยกว่าน้ำหนักสินค้าของสินค้าตามความเป็นจริง และมีความเสียหายเกิดขึ้นแก่เรือของโจทก์ที่ 2 ผู้ขนส่งและสินค้าของผู้อื่นในเรือซึ่งไม่ใช่สินค้าตามใบตราส่ง จึงเป็นกรณีที่ไม่อาจนำบทบัญญัติมาตรา 32 มาใช้บังคับได้แต่ต้องบังคับตามมาตรา 31 ซึ่งผู้ส่งของจะต้องรับผิดต่อผู้ขนส่ง ในกรณีที่ความเสียหายเป็นเหตุมาจากความผิดหรือประมาทเลินเล่อของผู้ส่งของหรือตัวแทนหรือลูกจ้างของผู้ส่งของหรือจากสภาพแห่งของนั้นเอง โดยผู้ส่งของมิได้ปฏิบัติตามกฎหมายหรือประเพณีทางการค้าเกี่ยวกับการส่งของนั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4807/2546

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของผู้ขนส่งและผู้ขนส่งอื่นตาม พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล เมื่อสินค้าเสียหาย
จำเลยที่ 1 เป็นผู้ทำสัญญารับขนของทางทะเลกับผู้ส่งของ จำเลยที่ 1 จึงเป็นผู้ขนส่ง ส่วนจำเลยที่ 2 ออกใบตราส่งในฐานะเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 2 จึงมิใช่ผู้ที่ได้รับมอบหมายจากจำเลยที่ 1 ผู้ขนส่งให้ทำการขนส่งสินค้าดังกล่าวตามสัญญารับขนของทางทะเลระหว่างผู้ส่งกับจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 จึงมิใช่ผู้ขนส่งอื่นตามความหมายของนิยามคำว่า "ผู้ขนส่งอื่น" ในมาตรา 3 แห่ง พ.ร.บ. การรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 แต่จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นตัวการถือได้ว่าเป็นผู้ขนส่งอื่นเพราะการออกใบตราส่งของจำเลยที่ 2 ผูกพันจำเลยที่ 3 ผู้เป็นตัวการ เท่ากับจำเลยที่ 3 เป็นผู้ที่ได้รับมอบหมายจากจำเลยที่ 1 ผู้ขนส่งให้ทำการขนส่งสินค้าดังกล่าวตามสัญญารับขนของทางทะเลช่วงจากกรุงเทพมหานครไปสิงคโปร์ และการที่จำเลยที่ 3 ขนถ่ายตู้คอนเทนเนอร์ซึ่งบรรจุสินค้าลงเรือของจำเลยที่ 4 ให้จำเลยที่ 4 ขนส่งสินค้านั้นต่อไปยังท่าปลายทาง เป็นการที่ผู้ขนส่งอื่นได้มอบหมายช่วงต่อไปอีกทอดหนึ่ง จำเลยที่ 4 จึงเป็นผู้ขนส่งอื่นตามคำนิยามใน พ.ร.บ. การรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 มาตรา 3 ด้วย เมื่อสินค้าที่ขนส่งได้รับความเสียหายระหว่างที่สินค้านั้นอยู่ในความดูแลของจำเลยที่ 1 ผู้ขนส่ง และจำเลยที่ 3 และที่ 4 ผู้ขนส่งอื่น โดยมิใช่ความผิดของผู้ส่งของ จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้ขนส่งและจำเลยที่ 3 กับจำเลยที่ 4 ในฐานะผู้ขนส่งอื่น จึงต้องร่วมกันรับผิดสำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่สินค้าดังกล่าวต่อผู้รับโอนใบตราส่ง ตาม พ.ร.บ. การรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 มาตรา 39 และมาตรา 43 มาตรา 44 ประกอบมาตรา 39 และมาตรา 45
ข้อเท็จจริงในคดีนี้ไม่ใช่กรณีที่จำเลยที่ 2 ทำสัญญากับผู้ส่งของโดยตรงในฐานะตัวแทนของจำเลยที่ 3 แต่เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 3 ผู้ขนส่งอื่นต้องรับผิดต่อผู้ส่งของโดยผลของกฎหมายคือ ตาม พ.ร.บ. การรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 มาตรา 44 ประกอบมาตรา 39 จำเลยที่ 2 ในฐานะตัวแทนจึงไม่ต้องรับผิดต่อผู้รับโอนใบตราส่งโดยลำพังตนเอง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 824 และเมื่อจำเลยที่ 2 มิใช่ผู้ขนส่งหรือผู้ขนส่งอื่น จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ต่อผู้รับโอนใบตราส่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8785/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาขนส่งทางทะเล: ผู้ขนส่งต้องส่งมอบสินค้าในสภาพเรียบร้อย หากสินค้าเสียหายจากตู้สินค้าชำรุด ผู้ขนส่งผิดสัญญา
สัญญารับขนของทางทะเลระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นสัญญาต่างตอบแทน โจทก์ในฐานะผู้ขนส่งมีหน้าที่ชำระหนี้ให้ต้องตามความประสงค์อันแท้จริงแห่งมูลหนี้ กล่าวคือนอกจากจะต้องขนส่งทุเรียนและส่งมอบทุเรียนให้แก่จำเลยที่ปลายทางตามสัญญาแล้ว ยังจะต้องส่งมอบทุเรียนในสภาพเรียบร้อยไม่เสียหายเสียก่อน จำเลยจึงจะชำระหนี้ค่าระวางและค่าใช้จ่ายที่โจทก์เสียไปเพื่อจัดการในการขนส่ง เมื่อปรากฏว่าตู้สินค้าชำรุดบกพร่องไม่สามารถรักษาอุณหภูมิในระดับที่กำหนดในข้อตกลงในการขนส่งได้ตั้งแต่แรกในระหว่างอยู่ในความดูแลของโจทก์โดยความชำรุดบกพร่องดังกล่าวมิได้เกิดจากความผิดของจำเลยผู้ส่งของ เป็นเหตุให้สินค้าทุเรียนสดเปียกน้ำ ชื้น มีราขึ้นเป็นส่วนใหญ่ เนื้อสุกจนเละและผลทุเรียนปริแตก เมื่อพิจารณาจากลักษณะของสินค้าซึ่งเป็นทุเรียนสดประกอบกับสภาพความเสียหายของสินค้าที่เกิดขึ้นแล้ว ถือได้ว่าสินค้าทั้งหมดเกิดความเสียหายไม่สมประโยชน์ของจำเลย ถือว่าโจทก์ผิดสัญญา จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชำระค่าระวางเรือและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ แก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9021/2543

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของผู้รับขนส่งสินค้าทางทะเลกรณีสินค้าเสียหายจากความบกพร่องในการควบคุมอุณหภูมิ
จำเลยที่ 1 ทำสัญญาแต่งตั้งให้จำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนการให้บริการของสายการเดินเรือของจำเลยที่ 1 ในประเทศไทย ใบตราส่งที่จำเลยที่ 2ออกให้แก่โจทก์เพื่อเป็นหลักฐานแห่งสัญญารับขนสินค้าทางทะเลระบุว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ขนส่ง อันเป็นการออกใบตราส่งในนามของจำเลยที่ 1การดำเนินการของจำเลยที่ 2 เกี่ยวกับการรับขนสินค้ามีเพียงการจัดเตรียมตู้คอนเทนเนอร์ให้โจทก์นำไปบรรจุสินค้าและรับมอบตู้คอนเทนเนอร์นำไปบรรทุกลงเรือของจำเลยที่ 1 โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ได้ทำการขนส่งสินค้าทางทะเลช่วงระยะทางช่วงหนึ่งช่วงใด จำเลยที่ 2 จึงเป็นเพียงบุคคลซึ่งได้รับมอบอำนาจให้เป็นตัวแทนจำเลยที่ 1 ผู้ขนส่งในการดำเนินงานอันเกี่ยวกับธุรกิจเนื่องจากการรับขนของทางทะเลเท่านั้นหาใช่ผู้ขนส่งหรือผู้ขนส่งอื่นไม่ จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์
ในการตกลงซื้อขายสินค้า คู่สัญญาย่อมมีสิทธิตกลงเงื่อนไขการส่งมอบและเงื่อนไขในการโอนกรรมสิทธิ์แก่กันได้ แม้ตามใบกำกับสินค้าจะระบุราคาสินค้ารวมค่าระวางหรือซีแอนด์เอฟซึ่งถือว่ากรรมสิทธิ์ในสินค้าโอนไปยังผู้ซื้อเมื่อมีการนำสินค้าพ้นกราบเรือที่ท่าเรือบรรทุกสินค้าขึ้นก็ตามแต่เมื่อการซื้อขายดังกล่าวมีการตกลงกันตามธรรมเนียมการซื้อขายผลไม้สดโดยโจทก์ผู้ขายจะต้องส่งสินค้าให้ผู้ซื้อได้ตรวจคุณภาพจนพอใจแล้ว ผู้ซื้อจึงตกลงรับซื้อและชำระราคาให้ ดังนั้น เมื่อสินค้าเสียหายในระหว่างการขนส่งจนผู้ซื้อไม่ยอมรับซื้อและชำระราคาโจทก์ในฐานะผู้ส่งซึ่งเป็นคู่สัญญารับขนของทางทะเล ย่อมมีสิทธิที่จะฟ้องร้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดได้ตามสัญญารับขนของทางทะเลนั้น
โจทก์เพียงส่งมอบใบตราส่งให้แก่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นตัวแทนจำเลยที่ 1เท่านั้นยังไม่ได้โอนใบตราส่งไปยังผู้ซื้อ แม้ผู้ซื้อจะได้เรียกร้องให้ตัวแทนของจำเลยที่ 1 ส่งมอบตู้คอนเทนเนอร์ซึ่งบรรจุสินค้าให้แก่ผู้ซื้อแล้วก็ตามสิทธิทั้งหลายของโจทก์ในฐานะผู้ส่งอันเกิดแต่สัญญารับขนของทางทะเลก็ยังหาได้โอนไปยังผู้ซื้อหรือผู้รับตราส่งไม่ โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดค่าเสียหายที่เกิดขึ้นในระหว่างที่สินค้าอยู่ในความดูแลของจำเลยที่ 1 ได้ตามพระราชบัญญัติการรับของทางทะเลฯ มาตรา 39
ใบตราส่งสินค้าระบุว่าสินค้าที่ขนส่งเป็นทุเรียนสดจำนวน 1,200 หีบห่อ อันเป็นการระบุจำนวนและลักษณะของหน่วยการขนส่งที่รวมกันนั้นไว้ในใบตราส่ง ดังนี้ ต้องถือว่าสินค้าที่ขนส่งมีจำนวนหน่วยการขนส่ง 1,200 หน่วยตามพระราชบัญญัติการรับของทางทะเลฯมาตรา 59(1) มิใช่ 1 ตู้คอนเทนเนอร์เป็น 1 หน่วยการขนส่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8957/2543

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของผู้ขนส่งสินค้าเสียหาย/สูญหาย และการประเมินความเสี่ยงในการขับขี่ยานพาหนะบรรทุก
รถบรรทุกลากจูงรวมกับน้ำหนักของรถพ่วงและน้ำหนักของสินค้ารวมทั้งหีบห่อแล้วมีน้ำหนักมาก ประกอบกับความยาวของรถบรรทุกลากจูงเมื่อรวมกับความยาวของรถพ่วงแล้ว ย่อมมีความยาวมากกว่ารถยนต์บรรทุกทั่ว ๆ ไป ทำให้ยากแก่การบังคับและควบคุมรถ การห้ามล้อเพื่อจะหยุดรถต้องใช้ระยะเวลานานกว่าปกติ และต้องใช้ระยะทางห้ามล้อยาวกว่าปกติ แต่ อ. ยังขับรถบรรทุกลากจูงคันดังกล่าวด้วยความเร็วประมาณ 50 ถึง 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ทั้งที่ถนนบริเวณดังกล่าวเป็นทางโค้ง ย่อมทำให้เกิดแรงเหวี่ยงที่ส่วนท้ายบริเวณรถพ่วง ทำให้ยากแก่การควบคุมรถและเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย เมื่อมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นข้างหน้า และไม่สามารถจะห้ามล้อหยุดรถบรรทุก ลากจูงได้ทันจนเกิดเหตุขึ้น เหตุที่เกิดขึ้นจึงมิใช่เหตุสุดวิสัย
ตามสำเนาใบรับสินค้าของจำเลยผู้ขนส่งมีข้อความซึ่งมีลักษณะคล้ายใช้ตรายางประทับว่า สินค้าเสียหายหรือสูญหายให้แจ้งภายใน 7 วัน นับแต่วันได้รับสินค้า การชดใช้ค่าเสียหาย สูญหายตามความเป็นจริง แต่ต้องไม่เกินวงเงิน 30,000 บาท เอกสารนี้มีแต่ฝ่ายจำเลยเป็นผู้ลงลายมือชื่อไว้แต่ฝ่ายเดียว โดยมิได้ให้บริษัท ซ. ผู้ส่ง ลงลายมือชื่อไว้ด้วย จะถือว่าผู้ส่งตกลงยอมรับข้อจำกัดความรับผิดของจำเลยโดยชัดแจ้งแล้วหาได้ไม่
of 8