คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
สินเชื่อ

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 34 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4678/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค่าขึ้นศาลรวมกรณีหนี้เกี่ยวข้องกัน: ธนาคารฟ้องหนี้หลายประเภทจากสินเชื่อเดียวกัน ชำระค่าขึ้นศาลตามทุนทรัพย์สูงสุดได้
โจทก์ประกอบกิจการธนาคารพาณิชย์ ประกอบธุรกิจด้วยการให้สินเชื่อแก่ลูกค้าซึ่งทำได้หลายวิธี จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีและขายลดตั๋วสัญญาใช้เงินกับโจทก์แม้จะเรียกชื่อวิธีการก่อให้เกิดหนี้ แต่ก็ล้วนแต่เป็นการขอสินเชื่อจากโจทก์นั่นเอง มูลหนี้ตามฟ้องทั้งสองประเภทจึงเกี่ยวข้องกันพอที่จะรวมพิจารณาเข้าด้วยกันได้ โจทก์จึงนำสินเชื่อทุกชนิดมารวมกันเป็นทุนทรัพย์ที่เรียกร้องฟ้องมาเป็นคดีเดียวกันได้ โจทก์ชำระค่าขึ้นศาลในศาลชั้นต้นตามทุนทรัพย์ที่เรียกร้องสูงสุดตามตาราง 1 ท้าย ป.วิ.พ. ข้อ (1) ก. ชอบแล้ว การที่ศาลชั้นต้นเรียกให้โจทก์เสียค่าขึ้นศาลเพิ่มเติมโดยแยกเป็นมูลหนี้แต่ละประเภท จึงเป็นการเรียกเก็บค่าขึ้นศาลเกินกว่าที่จะต้องเสีย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7057/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างลูกจ้างด้วยเหตุผลความไม่ไว้วางใจจากการอนุมัติสินเชื่อที่ไม่ชอบธรรม และสิทธิในการได้รับหนังสือรับรองการทำงาน
การที่โจทก์อนุมัติสินเชื่อให้แก่นางสาว ร. แล้วโอนเงินมาชำระหนี้ส่วนตัวให้โจทก์ แล้วต่อมาหนี้รายของ นางสาว ร. กลายเป็นหนี้เสียนั้น เป็นพฤติการณ์ที่ทำให้จำเลยมีเหตุอันควรไม่ไว้วางใจในการปฏิบัติหน้าที่ของโจทก์ การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ด้วยเหตุดังกล่าว จึงเป็นการเลิกจ้างที่มีเหตุอันสมควร มิใช่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 49
เมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์ซึ่งเป็นผลทำให้สัญญาจ้างระหว่างโจทก์กับจำเลยสิ้นสุดลง โจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างชอบที่จะได้รับใบสำคัญแสดงว่าลูกจ้างนั้นได้ทำงานมานานเท่าไรและงานที่ทำนั้นเป็นงานอย่างไรจากนายจ้างตาม ป.พ.พ. มาตรา 585 แต่นายจ้างไม่จำต้องระบุข้อความว่าลูกจ้างมิได้กระทำผิดไว้ในหนังสือสำคัญแสดงการทำงาน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7980/2543

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การอนุมัติสินเชื่อเกินอำนาจถือเป็นความผิดร้ายแรงทางวินัยของพนักงานธนาคาร
การที่โจทก์ในขณะดำรงตำแหน่งผู้จัดการสาขาและผู้จัดการสำนักงานเขต มีอำนาจอนุมัติให้สินเชื่อแก่ลูกค้ารายเดียวกันได้ไม่เกินวงเงิน 4,000,000 บาท แต่โจทก์อนุมัติให้สินเชื่อแก่ลูกค้ารายนาง ธ. กับนาย ส. ซึ่งเป็นสามีภริยาที่มิได้จดทะเบียนสมรสอันถือเป็นลูกค้ารายเดียวกันตามระเบียบข้อบังคับ ข้อ 1.5.1 กู้รวมแล้วเกินกว่า 4,000,000 บาท และอนุมัติให้สินเชื่อแก่นาย ค. กับนาง น. ซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจของบริษัท ธ. อันถือเป็นลูกค้ารายเดียวกันตามระเบียบข้อบังคับข้อ 1.5.3 เป็นจำนวนเงินกว่า 4,000,000 บาท การอนุมัติสินเชื่อของโจทก์มีลักษณะเป็นการกระจายหนี้ซึ่งเกินอำนาจอนุมัติของโจทก์เพื่อให้อยู่ในอำนาจอนุมัติของโจทก์ จึงเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับในการทำงานของจำเลยที่ 1 และการที่จำเลยที่ 1 ออกระเบียบกำหนดวงเงินอนุมัติสินเชื่อตามตำแหน่งรับผิดชอบของผู้บริหารแต่ละระดับนั้นก็เพื่อกลั่นกรองป้องกันความเสี่ยงอันเกิดจากการใช้อำนาจของพนักงานของจำเลยที่ 1 โจทก์เป็นพนักงานธนาคารอันเป็นสถาบันการเงินที่มีผลกระทบกระเทือนถึงสิทธิประโยชน์ของประชาชน มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับอันเกี่ยวกับการเงินของจำเลยที่ 1 โดยเคร่งครัดด้วยความระมัดระวังและสุจริต มิฉะนั้นแล้วจะส่งผลกระทบกระเทือนไปถึงความเชื่อถือของประชาชนที่มีต่อกิจการของธนาคารจนอาจทำให้ธนาคารไม่อาจดำรงอยู่ต่อไปได้ โจทก์ทำงานกับจำเลยที่ 1 มากว่า 20 ปี ย่อมรู้ระเบียบข้อบังคับของจำเลยที่ 1 ดี กลับหาช่องทางหลีกเลี่ยงระเบียบข้อบังคับด้วยวิธีการกระจายหนี้ที่เกินอำนาจอนุมัติของโจทก์เป็นหนี้หลายรายแล้วโจทก์อนุมัติให้สินเชื่อไปจนทำให้จำเลยที่ 1 เสียหายจำนวนมากเช่นนี้ นับว่าเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับของจำเลยที่ 1 ในกรณีร้ายแรง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4039/2543

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การรวมมูลหนี้จากการปล่อยสินเชื่อหลายประเภทเพื่อคำนวณค่าขึ้นศาล
โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทสถาบันการเงินประกอบธุรกิจด้วยการปล่อยสินเชื่อให้กับลูกค้า ซึ่งทำได้หลายวิธี ไม่ว่าจะโดยการให้กู้ยืมเงินให้เบิกเงินเกินบัญชี ขายลดตั๋วสัญญาใช้เงิน หรือด้วยประการอื่นที่สามารถ ทำได้ในการให้เงินหรือหลักประกันแก่ลูกค้าโดยได้รับประโยชน์ตอบแทน เป็นดอกเบี้ยหรือประโยชน์อื่นจำเลยเป็นลูกค้าโจทก์ ย่อมสามารถทำ ธุรกิจการเงินกับโจทก์ได้โดยไม่จำกัดว่าจะต้องเป็นวิธีใดวิธีหนึ่ง เพียงอย่างเดียว การที่จำเลยกู้ยืมเงิน ขอเบิกเงินเกินบัญชีและขายลด ตั๋วสัญญาใช้เงินกับโจทก์ แม้จะเรียกชื่อวิธีการก่อให้เกิดหนี้ต่างกัน แต่ทุกประการล้วนแต่เป็นการขอสินเชื่อจากโจทก์นั่นเอง จำเลยจึง สามารถนำที่ดินและทรัพย์สินหลายรายการมาจดทะเบียนจำนอง เป็นประกันการชำระหนี้ของจำเลยที่ก่อขึ้นทั้งหมดกับโจทก์ โดยมิได้ แบ่งแยกว่าทรัพย์รายใดประกันหนี้ประเภทไหนรายการใด มูลหนี้ทั้งหมดจึงเกี่ยวข้องกันพอที่จะรวมพิจารณาเข้าด้วยกันได้ โจทก์จึงนำสินเชื่อทุกชนิดมารวมกันเป็นจำนวนทุนทรัพย์ที่เรียกร้อง ฟ้องมาเป็นคดีเดียวกัน ได้โจทก์ชำระค่าขึ้นศาลในศาลชั้นต้นตามจำนวนทุนทรัพย์ที่เรียกร้อง ในอัตราสูงสุดตามตาราง 1 ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ข้อ(1)ก. ชอบแล้ว การที่ศาลชั้นต้นเรียกให้โจทก์เสียค่าขึ้นศาลเพิ่มเติม โดยแยกเป็นมูลหนี้แต่ละรายการ จึงเป็นการเรียกเก็บค่าขึ้นศาลเกินกว่า ที่จะต้องเสีย จึงต้องคืนค่าขึ้นศาลส่วนที่เรียกเก็บเกินจากสองแสนบาท คืนโจทก์ (ประชุมใหญ่ครั้งที่ 11/2543)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2191/2541

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของกรรมการธนาคารต่อความเสียหายจากสินเชื่อที่ไม่เป็นไปตามระเบียบ และละเว้นการติดตามหนี้
จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 ต่างก็เป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ของโจทก์ต่างวาระกัน มีหน้าที่ดูแลกิจการทั้งหมดของธนาคารโจทก์ให้พนักงานปฏิบัติตามระเบียบของธนาคารที่ได้วางไว้ตลอดถึงการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติว่าด้วยธนาคารพาณิชย์เมื่อมีการปล่อยสินเชื่อให้กู้ยืมเงิน การค้ำประกันและอาวัลตั๋วเงินไม่เป็นไปตามระเบียบปกติของธนาคาร มิได้เร่งรัดติดตามหนี้สิน หรือดำเนินการใดเพื่อแก้ไขหนี้ดังกล่าวเป็นเหตุให้ธนาคารโจทก์ได้รับความเสียหาย จำเลยที่ 1และที่ 3 ได้ชื่อว่าทำละเมิดต่อโจทก์ต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้โจทก์ สำหรับจำเลยที่ 4 แม้มิใช่เป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่แต่มีหน้าที่ดูแลด้านสินเชื่อภายในประเทศ ซึ่งจำเลยที่ 4ได้รับการสรุปภาระหนี้สินของธนาคารโจทก์จาก ป.หลายครั้งเพื่อให้สั่งการ แต่จำเลยที่ 4 ก็มิได้สั่งการแต่ประการใดเป็นเหตุให้ไม่สามารถติดตามหนี้สินจากลูกหนี้ของธนาคารโจทก์ได้ การที่จำเลยที่ 4 ละเว้นไม่ปฏิบัติตามหน้าที่และระเบียบปฏิบัติของธนาคารโจทก์ จำเลยที่ 4ได้ชื่อว่าทำละเมิดต่อโจทก์ เป็นเหตุให้โจทก์เสียหายจำเลยที่ 4 ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้โจทก์ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1168เป็นบทบัญญัติว่าด้วยการประกอบกิจการบริษัทของกรรมการซึ่งอำนาจของกรรมการจะมีเพียงใดย่อมเป็นไปตามมาตรา 1158 ถึง 1164 ส่วนมาตรา 1168 เป็นบทบัญญัติว่าด้วยหน้าที่ และความรับผิดชอบของกรรมการ ซึ่งมาตรา 1168 วรรคแรก บัญญัติให้กรรมการใช้ความเอื้อเฟื้อสอดส่องอย่างบุคคลค้าขาย ผู้ประกอบด้วยความระมัดระวัง ส่วนวรรคสองหมายถึง กิจการที่จะต้องระมัดระวังเป็นพิเศษมาขึ้น หาได้หมายความว่า กรรมการจะต้องร่วมกันรับผิดเฉพาะกิจการ 4 ประการ ที่บัญญัติในวรรคสอง มาตรา 1168 เท่านั้นไม่ เมื่อมาตรา 1168 บัญญัติให้กรรมการทุกคนต้องมีหน้าที่เอื้อเฟื้อสอดส่อง การจะเป็นกรรมการของบริษัทใด กรรมการผู้นั้นจึงต้อง ประกอบด้วยความรู้ความเข้าใจในการประกอบกิจการของบริษัท นั้นด้วย มิฉะนั้นกรรมการก็ไม่อาจเอื้อเฟื้อสอดส่อง กิจการให้ดีได้ ธุรกิจการธนาคารพาณิชย์ต้องอาศัยกรรมการผู้มีความรอบรู้ในธุรกิจการธนาคารพาณิชย์ด้วย เพื่อให้เอื้อเฟื้อสอดส่องกิจการของธนาคารให้ลุล่วงไปด้วยดี การที่ธุรกิจของโจทก์ประสบปัญหามาเป็นเวลานานตั้งแต่ปี 2523ไม่ว่าการดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องอยู่ในระดับไม่พอใช้จนถึงด้อยคุณภาพจัดชั้นเป็นสูญและสงสัยจำนวนสูง การแสดงผลกำไรตั้งแต่ปี 2522 ผิดพลาดเพราะแท้จริงแล้วธุรกิจของโจทก์ ขาดทุนมิใช่กำไร มีการให้สินเชื่อแก่กลุ่มผู้บริหารมาก แม้ว่าการให้สินเชื่อดังกล่าวจะไม่ขัดต่อพระราชบัญญัติ การธนาคารพาณิชย์ฯ มาตรา 12(2) และมาตรา 12 ทวิก็ตาม แต่หนี้ในกลุ่มดังกล่าว หลักประกันไม่คุ้มหรือไม่มีเลยดังนั้น เมื่อได้ความว่าจำเลยที่ 2 ที่ 5 ที่ 6 และที่ 7เป็นกรรมการของโจทก์มีหน้าที่ต้องดูแลการบริหารกิจการของโจทก์มิให้เสียหาย กลับปล่อยให้มีการให้สินเชื่อโดยหลักประกันไม่คุ้ม เมื่อหนี้ถูกจัดเป็นหนี้เสียก็มิได้เร่งรัดติดตามหนี้ แม้ธนาคารแห่งประเทศไทยจะแจ้งให้มีการแก้ไขข้อผิดพลาดในการปฏิบัติงานดังกล่าวจำเลยที่ 2 ที่ 5 ที่ 6 และที่ 7 ก็หาได้ดำเนินการใดเพื่อแก้ไขไม่ ดังนั้นเมื่อตามพฤติการณ์ควรจะรู้ข้อปัญหาดังกล่าว หรือโดยสามัญสำนึกของวิญญูชนผู้ประกอบการค้าเช่นนั้นควรจะพึงรู้ได้ แต่มิได้กระทำการใดเพื่อปกป้องความเสียหายอันจะเกิดแก่โจทก์ จึงถือได้ว่าจำเลยที่ 2ที่ 5 ที่ 6 และที่ 7 มิได้ใช้ความเอื้อเฟื้อสอดส่องในการประกอบกิจการของโจทก์ จะอ้างว่าไม่รับรู้การบริหารงานของโจทก์หรือมิได้มาทำงานเป็นประจำก็ดี ไม่มีหน้าที่ก็ดีเพื่อปัดความรับผิดของตนหาได้ไม่ จำเลยที่ 2 เป็นกรรมการโจทก์ ระหว่างวันที่ 16กันยายน 2508 ถึงวันที่ 24 พฤศจิกายน 2526 จำเลยที่ 5เป็นกรรมการโจทก์ ระหว่างวันที่ 19 พฤศจิกายน 2519ถึงวันที่ 27 สิงหาคม 2527 จำเลยที่ 6 เป็นกรรมการโจทก์ระหว่างวันที่ 19 พฤษภาคม 2523 ถึงวันที่ 27 สิงหาคม 2527และจำเลยที่ 7 เป็นกรรมการระหว่างวันที่ 29 พฤษภาคม 2518ถึงวันที่ 27 สิงหาคม 2527 ดังนั้น หน้าที่ในการเอื้อเฟื้อสอดส่องของกรรมการ จึงมีเพียงในช่วงเวลาดังกล่าวการที่จะให้จำเลยที่ 2 ที่ 5 ที่ 6 และที่ 7 รับผิดในหนี้ที่ก่อหรืออนุมัติภายหลังจากที่จำเลยที่ 2 ที่ 5 ที่ 6และที่ 7 พ้นจากการเป็นกรรมการโจทก์แล้วจึงไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4380/2540

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาจะซื้อขาย, การอนุมัติสินเชื่อ, ข้อตกลงเพิ่มเติม, สิทธิในการเรียกร้องเงินมัดจำ
สัญญาจะซื้อขายมีข้อความว่า ส่วนเงินที่เหลืออีก 1,850,000 บาท จะจ่ายในเมื่อทางธนาคารอนุมัติให้ ไม่ได้กำหนดให้เห็นต่อไปว่าหากธนาคารไม่อนุมัติให้จะมีผลเป็นอย่างไร การที่โจทก์นำสืบพยานบุคคลว่ามีข้อตกลงด้วยวาจาว่า หากธนาคารอนุมัติเงินกู้แก่โจทก์ไม่ครบ 1,850,000 บาท ให้ถือว่าสัญญาจะซื้อขายเลิกกัน โจทก์ย่อมมีสิทธินำสืบได้ เพราะเป็นการนำสืบอธิบายข้อความในเอกสารไม่ใช่เป็นการนำสืบเพิ่มเติมตัดทอน หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94(ข)
โจทก์ประกอบอาชีพเสริมสวย ไม่มีร้านเป็นของตนเอง เหตุที่ต้องการซื้อตึกแถวจากจำเลยก็เพราะร้านเสริมสวยที่ทำอยู่จะหมดสัญญาเช่า เงิน 150,000 บาท ที่วางมัดจำให้จำเลยไว้ก็เป็นเงินที่ยืมมาจากมารดา ในขณะทำสัญญาโจทก์ยังไม่ได้ติดต่อกับธนาคารยังไม่แน่ว่าธนาคารจะให้กู้หรือไม่ เป็นจำนวนเท่าใด โดยปกติการทำสัญญาจะซื้อขายผู้ซื้อจะเอาเงินมาจากที่ใดเป็นเรื่องของผู้ซื้อเอง ไม่จำเป็นต้องระบุไว้ในสัญญา แต่สัญญาจะซื้อขายฉบับพิพาทนี้เขียนไว้ว่าเงินที่เหลืออีก 1,850,000 บาท จะจ่ายในเมื่อธนาคารอนุมัติให้แสดงว่าได้มีการพูดถึงเรื่องเงินที่จะนำมาจ่ายครั้งต่อไปกันไว้แล้วว่าหากธนาคารไม่อนุมัติให้กู้เงินจำนวนดังกล่าวแล้วสัญญาจะซื้อขายเป็นอันเลิกกัน ต่อมาธนาคารอนุมัติให้โจทก์กู้เงินได้เพียง 1,000,000 บาท ไม่ถึงจำนวนที่ระบุไว้ในสัญญาโดยมิใช่เป็นเพราะความผิดของฝ่ายใด สัญญาจะซื้อขายจึงเลิกกัน คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม จำเลยต้องคืนมัดจำที่ริบไว้ให้โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยจะริบเสียมิได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2003/2540

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความการชำระราคาสินค้า: กำหนดระยะเวลาให้สินเชื่อเป็นจุดเริ่มต้นอายุความ
ในการที่โจทก์ขายสินค้าวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้างให้แก่จำเลยนั้นตามทางปฏิบัติโจทก์ได้กำหนดระยะเวลาให้สินเชื่อแก่จำเลยเพื่อชำระราคาสินค้าภายในระยะเวลาประมาณ45ถึง60วันนับแต่วันรับมอบสินค้าจึงถือไม่ได้ว่าวันที่โจทก์ส่งมอบสินค้าเป็นวันที่จำเลยต้องชำระราคาสินค้าแล้วฉะนั้นสิทธิเรียกร้องให้ชำระราคาสินค้าของโจทก์ยังไม่เกิดขึ้นจนกว่าจะครบกำหนดระยะเวลาให้สินเชื่อซึ่งปรากฏว่าตามใบแจ้งหนี้กำหนดให้จำเลยจะต้องชำระเงินเมื่อนับถึงวันฟ้องยังไม่เกิน2ปีคดีโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา193/34(1)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 914/2538 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความคดีบัตรเครดิต: สิทธิเรียกร้องอายุความ 2 ปี เมื่อโจทก์เป็นผู้ให้บริการสินเชื่อและเรียกเก็บค่าบริการ
โจทก์มีวัตถุประสงค์ให้บริการสินเชื่อแก่บุคคลทั่วไปในรูปของบัตรเครดิตโดยโจทก์ออกบัตรให้แก่สมาชิกแล้วสมาชิกสามารถนำบัตรไปซื้อสินค้าจากร้านค้าที่ตกลงรับบัตรโดยสมาชิกไม่ต้องชำระราคาสินค้าเป็นเงินสดโจทก์เป็นผู้ชำระเงินแทนสมาชิกไปก่อนแล้วเรียกเก็บเงินจากสมาชิกภายหลังและสมาชิกสามารถนำบัตรไปถอนเงินสดจากบัญชีเงินฝากของโจทก์ที่ธนาคารโดยผ่านเครื่องฝากถนนเงินอัตโนมัติได้ซึ่งสมาชิกจะต้องเสียค่าบริการให้แก่โจทก์และโจทก์ได้เรียกเก็บค่าบริการหรือค่าธรรมเนียมรายปีด้วยโจทก์จึงเป็นผู้ค้ารับทำการงานต่างๆให้แก่สมาชิกการที่โจทก์ชำระเงินแก่เจ้าหนี้ของสมาชิกแทนสมาชิกไปก่อนแล้วเรียกเก็บเงินจากสมาชิกภายหลังเป็นการเรียกเอาค่าที่โจทก์ได้ออกเงินทดรองไปมีอายุความ2ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา165(7)เดิม จำเลยทั้งสองเป็นลูกหนี้ร่วมมูลความแห่งคดีเป็นการชำระหนี้ซึ่งแบ่งแยกจากกันมิได้การที่จำเลยที่2ยกอายุความขึ้นต่อสู้ถือได้ว่าจำเลยที่1ได้ยกอายุความขึ้นต่อสู้แล้วเช่นกันเมื่อปรากฏว่าคดีโจทก์ขาดอายุความแล้วตามที่จำเลยที่2ฎีกาแม้จำเลยที่1มิได้ฎีกาศาลฎีกาย่อมมีอำนาจพิพากษาให้มีผลถึงจำเลยที่1ได้ด้วยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา245(1),247

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1369/2538

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การอนุมัติสินเชื่อเกินอำนาจโดยจงใจเลี่ยงระเบียบ และการกระทำโดยทุจริตเพื่อเอื้อประโยชน์แก่ลูกหนี้ ถือเป็นความผิด
ขณะเกิดเหตุโจทก์เป็นรัฐวิสาหกิจและจำเลยเป็นพนักงานของโจทก์จึงมีฐานะเป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจส่วนที่มีการเปลี่ยนแปลงฐานะของโจทก์ภายหลังหรือไม่ก็หาเป็นเหตุให้มีผลลบล้างฐานะโจทก์และฐานะความรับผิดของจำเลยในขณะเกิดเหตุไม่จึงไม่มีผลกระทบถึงอำนาจฟ้องของโจทก์และไม่เป็นสาระหรือประโยชน์แก่คดีที่พึงพิจารณาวินิจฉัย หนังสือมอบอำนาจเป็นหนังสือยืนยันขอบเขตอำนาจในการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะเป็นพนักงานของจำเลยและรับรองอำนาจหน้าที่ของจำเลยในฐานะเป็นผู้แทนนิติบุคคลของโจทก์ต่อบุคคลภายนอกเป็นการทั่วไปส่วนมติกำหนดขอบเขตการใช้อำนาจของผู้แทนดังกล่าวอีกชั้นหนึ่งเป็นข้อจำกัดอำนาจเป็นการภายในหนังสือมอบอำนาจจึงไม่มีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงหน้าที่และฐานะของจำเลยหรือเป็นการเพิกถอนยกเลิกมติดังกล่าวไม่ ลูกหนี้ยื่นขอสินเชื่อในรูปแบบของการกู้เบิกเงินเกินบัญชีซึ่งเกินอำนาจอนุมัติของจำเลยแทนที่จำเลยจะเสนอขออนุมัติจากคณะกรรมการธนาคารโจทก์ตามระเบียบกลับอนุมัติในรูป เพลซเมนท์/โลนหรือเงินฝากเป็นการจงใจหาวิธีการหลีกเลี่ยงไม่ปฏิบัติตามระเบียบและวัตถุประสงค์ในรูปสินเชื่อที่แท้จริงโดยทุจริตเมื่อเจ้าหน้าที่ของโจทก์ได้ตรวจสอบแล้วทักท้วงว่ารูปแบบสินเชื่อดังกล่าวเป็นการให้กู้และให้แก้ไขแทนที่จำเลยจะแก้ไขปฏิบัติเป็นรูปเงินกู้ตามข้อทักท้วงและขออนุมัติตามระเบียบให้ถูกต้องตามความจริงจำเลยกลับเปลี่ยนแปลงเป็นรูปตั๋วสัญญาใช้เงินอันเป็นวิธีการเลี่ยงไม่ยอมปฏิบัติตามที่ทักท้วงและไม่ปฏิบัติตามระเบียบที่กำหนดไว้ให้ถูกต้องอีกทั้งยังมีการเพิ่มจำนวนสินเชื่อที่เกินอำนาจหลายครั้งหลายหนชี้ชัดว่าเพื่อเอื้อประโยชน์กันแก่ลูกหนี้เป็นเจตนาทุจริต จำเลยฎีกาว่าโจทก์ไม่เสียหายโดยอ้างว่ามีการเปลี่ยนตัวลูกหนี้และได้มีการชำระหนี้ทั้งหมดแล้วโดยได้ยกขึ้นอ้างตั้งแต่ชั้นอุทธรณ์ตลอดมาและมีพยานเอกสารประกอบซึ่งโจทก์มิได้โต้แย้งพอรับฟังเป็นคุณแก่จำเลยได้ว่าเป็นความจริงแต่เมื่อตั้งแต่จำเลยให้ลูกหนี้กู้ยืมไปลูกหนี้มิได้ชำระหนี้ตามกำหนดเวลาตลอดมาจนกระทั่งจำเลยพ้นจากตำแหน่งแล้วตลอดถึงขณะที่โจทก์ฟ้องคดีความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่โจทก์ย่อมมีอยู่จริงก่อนแล้วตั้งแต่จำเลยกระทำผิดการเปลี่ยนตัวลูกหนี้และมีการชำระหนี้แล้วภายหลังเป็นเพียงการชำระหนี้ที่ล่าช้าและมิได้เกิดจากการดำเนินการของจำเลยไม่อาจรับฟังเป็นข้อลบล้างความเสียหายและไม่ช่วยให้จำเลยพ้นจากการกระทำผิดนั้นได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3933/2533

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เจ้าหนี้ให้สินเชื่อแม้ลูกหนี้มีหนี้เดิม เหตุผลหลักทรัพย์มีมูลค่าเพียงพอ ไม่ถือว่ารู้อยู่แล้วว่าลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว
การที่เจ้าหนี้ฟ้องบังคับให้ลูกหนี้ชำระเงินคืนตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีและศาลได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลูกหนี้ชำระเงินตามฟ้องให้เจ้าหนี้แล้ว ลูกหนี้ไม่ชำระและเจ้าหนี้มิได้ดำเนินการบังคับเอากับทรัพย์สินของลูกหนี้ กลับให้ลูกหนี้กู้เบิกเงินเกินบัญชีไปอีกแต่เมื่อปรากฎว่าหนี้ดังกล่าวมีที่ดินซึ่งมีมูลค่ามากกว่าจำนวนหนี้จำนองเป็นประกัน และไม่ปรากฎว่าเจ้าหนี้ทราบว่าลูกหนี้เป็นหนี้เจ้าหนี้รายอื่น ๆ มากมายไม่มีทางชำระหนี้ ดังนี้ จึงฟังไม่ได้ว่า หนี้รายดังกล่าวเป็นหนี้ที่เจ้าหนี้ยอมให้ลูกหนี้ทำขึ้นเมื่อได้รู้ว่าลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว เจ้าหนี้จึงไม่ต้องห้ามมิให้นำหนี้ไปขอรับชำระหนี้ ตามพระราชบัญญัติล้มละลายฯ มาตรา 94(2)
of 4