คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
หนังสือค้ำประกัน

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 79 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4246/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ หนังสือค้ำประกันไม่ใช่เงินมัดจำ สิทธิเรียกร้องจากค้ำประกันขึ้นอยู่กับความรับผิดของลูกหนี้
จำนวนเงินตามหนังสือค้ำประกันของจำเลยที่ บริษัท ล. ผู้รับจ้างนำไปมอบให้โจทก์ยึดถือไว้เพื่อเป็นประกันการปฏิบัติตามสัญญา มิใช่เงินที่บริษัท ล. มอบให้โจทก์ทันทีขณะทำสัญญา แต่เป็นเพียงหลักประกันเบื้องต้นเพื่อที่จะให้โจทก์เชื่อได้ว่า บริษัท ล. จะปฏิบัติตามสัญญา และหากบริษัท ล. ผิดสัญญาโจทก์จะได้รับชดใช้ค่าเสียหายจากจำเลยซึ่งเป็นธนาคารพาณิชย์ผู้ออกหนังสือค้ำประกันนั้นแทน จำนวนเงินตามสัญญาไม่ใช่เงินมัดจำที่บริษัท ล. ให้ไว้แก่โจทก์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 377 และ 378 จึงมิใช่หลักประกันที่โจทก์จะริบได้ทันทีเมื่อบริษัท ล. ผิดสัญญา แต่จะถือเป็นส่วนหนึ่งของค่าเสียหายฐานผิดสัญญา และเป็นเพียงข้อตกลงที่ให้ความสะดวกในวิธีการบังคับชำระหนี้หากมี และจำเลยในฐานะผู้ค้ำประกันบริษัท ล. ต้องรับผิดชำระเงินให้แก่โจทก์ตามสัญญาค้ำประกันเพียงเท่ากับความรับผิดที่บริษัท ล. ต้องรับผิดต่อโจทก์เท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2790/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ หนังสือค้ำประกัน-การต่ออายุสัญญา-อายุความ-การคืนหนังสือค้ำประกัน ไม่ถือเป็นการระงับหนี้
แม้โจทก์มิได้แจ้งให้จำเลยทราบถึงการต่ออายุสัญญาจ้างโดยไม่ชักช้าตามที่ระบุไว้ในสัญญาค้ำประกันข้อ 2 ตอนท้ายก็ตาม ข้อความตอนท้ายดังกล่าวก็มิใช่สาระสำคัญอันเป็นเงื่อนไขว่าหากมิได้ปฏิบัติตามแล้วจะทำให้ข้อความตอนต้นไม่เป็นผล เพราะข้อความตอนต้นของสัญญาข้อนี้ เป็นการแสดงเจตนาของจำเลยที่มีผลเป็นการยินยอมด้วยในการผ่อนเวลาหรือผ่อนผันการปฏิบัติตามสัญญาไปแล้ว มิใช่ข้อสัญญาว่าจะปฏิบัติการชำระหนี้อย่างใดอย่างหนึ่ง หากเป็นเพียงคำขอร้องหรือเสนอแนะเท่านั้น จำเลยไม่หลุดพ้นความรับผิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 700 วรรคสอง
ห้างหุ้นส่วนจำกัด อ. ตกเป็นผู้ผิดนัดตั้งแต่วันที่ 24 เมษายน 2533 ซึ่งเป็นวันครบกำหนดตามสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างอาคารที่ต่ออายุสัญญาออกไป โจทก์มีสิทธิเรียกให้จำเลยในฐานะผู้ค้ำประกันชำระหนี้ได้นับแต่วันที่ 25 เมษายน 2533 ความรับผิดตามสัญญาค้ำประกันไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะจึงมีอายุความ 10 ปี โจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2542 ยังไม่เกิน 10 ปี ฟ้องโจทก์ยังไม่ขาดอายุความ
แม้โจทก์คืนหนังสือค้ำประกันของจำเลยให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัด อ. ไปเพราะความประมาทเลินเล่อของเจ้าหน้าที่โจทก์ แต่โจทก์มิได้เจตนาประสงค์จะให้ห้างหุ้นส่วนจำกัด อ. และจำเลยพ้นจากความรับผิด ถึงจำเลยจะได้รับเวนคืนหนังสือค้ำประกันดังกล่าวซึ่งเป็นเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งหนึ่ง ซึ่งเข้าข้อสันนิษฐานตาม ป.พ.พ. มาตรา 327 วรรคสามว่า หนี้นั้นเป็นอันระงับสิ้นไปแล้วก็ตาม แต่ข้อสันนิษฐานตามบทบัญญัติมาตราดังกล่าวมิใช่ข้อสันนิษฐานเด็ดขาด ห้างหุ้นส่วนจำกัด อ. ยังคงต้องรับผิดในค่าเสียหายและค่าปรับแก่โจทก์ จำเลยผู้ค้ำประกันจึงไม่หลุดพ้นจากความรับผิดในหนี้ดังกล่าวตาม ป.พ.พ. มาตรา 698 จำเลยจะอ้างธรรมเนียมปฏิบัติของธนาคารพาณิชย์โดยทั่วไปว่า เมื่อจำเลยได้รับเวนคืนต้นฉบับหนังสือค้ำประกันจากห้างหุ้นส่วนจำกัด อ. ผู้เป็นลูกค้าโดยสุจริต และจำเลยคืนหลักประกันไปจำเลยก็หลุดพ้นจากความรับผิดในฐานะผู้ค้ำประกันแล้วหาได้ไม่ ทั้งนี้ เพราะกรณีไม่ต้องบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยความระงับสิ้นไปแห่งการค้ำประกันอันเป็นเหตุให้ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากความรับผิด ดังที่บัญญัติไว้โดยเฉพาะแล้วใน ป.พ.พ. มาตรา 698 ถึงมาตรา 701

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2519/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ หนังสือค้ำประกันสัญญาก่อสร้าง: การริบเงินเป็นเบี้ยปรับค่าเสียหายจากการผิดสัญญา
สัญญาจ้าง ข้อ 3 ระบุว่า ในขณะทำสัญญานี้ ผู้รับจ้างได้นำหนังสือค้ำประกันของธนาคาร น. จำนวนเงิน 167,324 บาท มามอบให้แก่ผู้ว่าจ้างเพื่อเป็นหลักประกันการปฏิบัติตามสัญญา หลักประกันนี้ผู้ว่าจ้างจะคืนให้เมื่อผู้รับจ้างพ้นจากข้อผูกพันตามสัญญานี้แล้ว และข้อ 16 ระบุว่า ในกรณีที่ผู้ว่าจ้างบอกเลิกสัญญาผู้ว่าจ้างมีสิทธิริบหลักประกันการปฏิบัติตามสัญญาทั้งหมดหรือบางส่วนตามแต่จะเห็นสมควร ส่วนหนังสือค้ำประกันระบุว่า ธนาคารยอมผูกพันชำระเงินให้ตามสิทธิเรียกร้องของผู้ว่าจ้างจำนวนไม่เกิน 167,324 บาท ในกรณีที่ผู้รับจ้างก่อให้เกิดความเสียหายใด ๆ หรือต้องชำระค่าปรับ หรือค่าใช้จ่ายใด ๆ เงินตามหนังสือค้ำประกันดังกล่าวจึงมิใช่เงินที่จำเลยมอบให้โจทก์ทันทีขณะทำสัญญา แต่เป็นเพียงหลักประกันเบื้องต้นเพื่อที่จะให้โจทก์เชื่อได้ว่าจำเลยจะปฏิบัติตามสัญญา และหากจำเลยผิดสัญญาโจทก์จะได้รับชดใช้ค่าเสียหายอย่างน้อยก็คือเงินที่เป็นหลักประกันเงินตามหนังสือค้ำประกันของธนาคารจึงเป็นเงินประกันค่าเสียหายที่เกิดจากการที่จำเลยผิดสัญญา ทั้งตามหนังสือค้ำประกันก็จำกัดวงเงินสูงสุดไว้ มิใช่ว่าธนาคารจะต้องผูกพันชำระเงินเต็มจำนวนตามหนังสือค้ำประกันเสมอไป แต่ขึ้นอยู่กับความเสียหายหรือจำนวนค่าปรับรวมทั้งค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ว่ามีเพียงใด จำนวนเงินที่ริบจึงไม่แน่นอนตายตัว การริบเงินดังกล่าวจึงมิใช่การริบในลักษณะที่เป็นมัดจำแต่เป็นการริบในลักษณะที่เป็นเบี้ยปรับ โดยเฉพาะสัญญาข้อ 17 ก็ให้สิทธิแก่โจทก์ที่จะบังคับค่าปรับหรือค่าเสียหายเอาจากหลักประกันการปฏิบัติตามสัญญา ดังนั้น แม้เงินตามหนังสือค้ำประกันของธนาคารจะเป็นการประกันรวมไปถึงความเสียหายที่เกิดขึ้นภายหลังโจทก์บอกเลิกสัญญาหรือสัญญาสิ้นสุดลงด้วยดังที่โจทก์ฎีกาก็ตามก็ต้องถือว่าเป็นการประกันในลักษณะที่เป็นเบี้ยปรับอันเป็นค่าเสียหายที่เกิดจากการที่จำเลยผิดสัญญาเช่นเดียวกับค่าปรับรายวัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1797/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ หนังสือค้ำประกันสำเร็จรูป: การตีความเจตนาของคู่สัญญาและขอบเขตความรับผิด
สัญญาค้ำประกันที่โจทก์ทำให้ไว้แก่จำเลย ข้อ (1) ระบุว่า "ผู้ค้ำประกันยอมเข้าค้ำประกันหนี้สินทุกชนิดบรรดาที่ห้างหุ้นส่วนจำกัด ก. ได้เป็นหนี้ต่อธนาคารอยู่แล้วก่อนวันทำสัญญานี้ และหรือเป็นหนี้อยู่ในขณะทำสัญญานี้และรวมทั้งหนี้สินที่ลูกหนี้จะได้เป็นหนี้ต่อธนาคารหลังจากวันทำสัญญานี้เป็นต้นไป..." สัญญาค้ำประกันดังกล่าวเป็นแบบฟอร์มของสัญญาสำเร็จรูปที่จำเลยทำขึ้นเพื่อใช้เป็นหนังสือค้ำประกันได้ทุกประเภท ข้อความในสัญญามีลักษณะเขียนครอบคลุมให้ลูกหนี้ต้องรับผิดทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต ซึ่งอาจไม่ตรงกับเจตนาของคู่สัญญา เมื่อปรากฏว่าโจทก์มีเจตนาเพียงค้ำประกันหนี้ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่ห้างหุ้นส่วนจำกัด ก. ขอให้จำเลยออกหนังสือค้ำประกันการยื่นซองประกวดราคาก่อสร้างหรือค้ำประกันการปฏิบัติตามสัญญาก่อสร้างเท่านั้น มิได้มีเจตนาที่ค้ำประกันหนี้สินอย่างอื่นที่ห้างหุ้นส่วนจำกัด ก. มีต่อจำเลย การที่จำเลยนำเงินฝากประจำของโจทก์ไปหักชำระหนี้เงินกู้และหนี้เบิกเงินเกินบัญชีของห้างหุ้นส่วนจำกัด ก. จึงก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5181/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ หนังสือค้ำประกันครอบคลุมหนี้ทั้งปวงของผู้ค้ำและลูกหนี้ร่วม การบังคับตามหนังสือประกันทำได้แม้ลูกหนี้คนหนึ่งพ้นความรับผิด
จำเลยอุทธรณ์และได้รับอนุญาตให้ทุเลาการบังคับในระหว่างอุทธรณ์ โดยจำเลยทั้งสองนำหนังสือค้ำประกันของธนาคาร ก. ที่ออกให้เพื่อค้ำประกันเฉพาะจำเลยที่ 1 มาวางเป็นหลักประกันพร้อมทำหนังสือประกันต่อศาลชั้นต้น กรณีดังกล่าวถือว่านอกจากจำเลยที่ 1 จะเป็นลูกหนี้ร่วมกับจำเลยที่ 2 ตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นแล้ว จำเลยที่ 1 ยังมีฐานะเป็นผู้ค้ำประกันหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลยทั้งสองตามหนังสือประกันที่ทำต่อศาล เมื่อปรากฏว่าต่อมาศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้ให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 1 และศาลฎีกาพิพากษายืน ก็เพียงแต่เป็นผลให้ความรับผิดของจำเลยที่ 1 ที่จะต้องชำระเงินแก่โจทก์ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นระงับสิ้นไป แต่ความรับผิดตามหนังสือประกันหาได้ระงับไปด้วยไม่ เพราะไม่มีข้อความใดระบุว่าหนังสือประกันดังกล่าวให้มีผลบังคับเฉพาะในชั้นอุทธรณ์ ทั้งไม่ใช่เป็นการทำหนังสือประกันเพื่อได้รับการทุเลาการบังคับเฉพาะจำเลยคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นกรณีที่จำเลยทั้งสองยอมรับผิดร่วมกันในฐานะผู้ค้ำประกันเพื่อชำระหนี้แทนจำเลยทั้งสองหรือจำเลยคนใดคนหนึ่งหากไม่ชำระหนี้ตามคำพิพากษา ดังนั้น เมื่อปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ยังมีหน้าที่ต้องรับผิดชำระหนี้แก่โจทก์ตามคำพิพากษา แต่จำเลยที่ 2 ไม่ชำระ โจทก์ก็มีสิทธิบังคับเอาจากหลักทรัพย์ที่จำเลยทั้งสองนำมาวางเป็นหลักประกันตามสัญญาค้ำประกันได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3636/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ลำดับการชำระหนี้ค่าอากรและเงินเพิ่มจากหนังสือค้ำประกัน เมื่อลูกหนี้มีหนี้หลายรายการถึงกำหนดชำระพร้อมกัน
เงินเพิ่มตาม พ.ร.บ.ศุลกากรฯ มาตรา 112 จัตวา มิใช่ดอกเบี้ยตาม ป.พ.พ. มาตรา 329 วรรคหนึ่ง ทั้งมาตราดังกล่าวมิใช่บทกฎหมายใกล้เคียงอันจะนำมาปรับใช้แก่คดีนี้ได้ โจทก์ไม่อาจนำเงินที่ผู้ค้ำประกันชำระมาหักชำระหนี้เพิ่มค่าอากรก่อนได้ กรณีนี้เป็นเรื่องลูกหนี้ต้องผูกพันต่อเจ้าหนี้ในอันจะกระทำการเพื่อชำระหนี้เป็นการอย่างเดียวกันโดยมูลหนี้หลายราย หนี้ถึงกำหนดชำระพร้อมกัน หนี้ค่าอากรเป็นรายที่ตกหนักที่สุดย่อมได้รับการปลดเปลื้องไปก่อนตาม ป.พ.พ. มาตรา 328 วรรคสอง ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้นำเงินของผู้ค้ำประกันไปหักชำระค่าอากรก่อนเป็นการชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2420/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิการรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายจากหนังสือค้ำประกันที่มีเงื่อนไข แม้ยังมิได้ใช้สิทธิเรียกร้อง
ตามคำขอของ ส. ที่ขอให้ธนาคารเจ้าหนี้ออกหนังสือสัญญาค้ำประกัน 20 ฉบับ มีข้อความเช่นเดียวกันว่า ธนาคารเจ้าหนี้ได้ออกหนังสือสัญญาค้ำประกันไว้ต่อบุคคลภายนอกเพื่อเป็นประกันหนี้ของ ส. กำหนดเวลาค้ำประกัน 1 ปี ตั้งแต่วันออกหนังสือสัญญาค้ำประกันแต่ละฉบับเป็นต้นไป และปรากฏว่ามีหนังสือสัญญาค้ำประกัน 2 ฉบับ รวม 800,000 บาท เท่านั้นที่มีการเวนคืนหนังสือค้ำประกันแล้ว ส่วนหนังสือสัญญาค้ำประกันอีก 18 ฉบับ รวม 13,444,800 บาท ไม่ได้มีการยกเลิกสัญญาหรือเวนคืนหนังสือสัญญาค้ำประกัน ธนาคารเจ้าหนี้จึงยังคงผูกพันต้องรับผิดตามหนังสือสัญญาค้ำประกันจำนวน 18 ฉบับ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 680 วรรคหนึ่ง แม้เจ้าหนี้ยังมิได้ใช้สิทธิเรียกร้องให้ธนาคารเจ้าหนี้ชำระหนี้แทน ส. ทั้งลูกหนี้ที่ 2 ได้ตกลงทำสัญญาไว้กับธนาคารเจ้าหนี้ตามหนังสือสัญญาค้ำประกันว่า หากธนาคารเจ้าหนี้ได้ชำระหนี้แทน ส. ไป ลูกหนี้ที่ 2 ยินยอมชำระหนี้ให้แก่ธนาคารเจ้าหนี้ภายในวงเงินไม่เกิน 15,000,000 บาท ดังนี้ แม้หนี้ตามหนังสือสัญญาค้ำประกันที่ลูกหนี้ที่ 2 ทำไว้กับธนาคารเจ้าหนี้จะเป็นหนี้ที่มีเงื่อนไข แต่มูลหนี้เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ที่ 2 เด็ดขาด ธนาคารเจ้าหนี้จึงมีสิทธินำหนี้ดังกล่าวมายื่นขอรับชำระหนี้ได้ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2543 มาตรา 94

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 992/2546 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ หนังสือค้ำประกันที่ไม่ติดอากรแสตมป์ใช้เป็นพยานหลักฐานได้ ผู้ค้ำประกันต้องรับผิดตามสัญญา
หนังสือค้ำประกันที่จำเลยที่ 2 ทำขึ้นให้ไว้แก่โจทก์มีจำเลยที่ 2 ฝ่ายเดียวลงลายมือชื่อไว้เป็นหลักฐาน จึงเป็นเพียงหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้ค้ำประกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 680 วรรคสอง เท่านั้น มิใช่หนังสือสัญญาค้ำประกันระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 อันจะถือเป็นตราสารที่ต้องปิดอากรแสตมป์บริบูรณ์ตามความมุ่งหมายแห่งประมวลรัษฎากร มาตรา 103,104 และ 118 แม้มิได้ปิดอากรแสตมป์ก็ใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 992/2546

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ หนังสือค้ำประกันที่ไม่ติดอากรแสตมป์ ใช้เป็นหลักฐานได้ หากเป็นเพียงเอกสารลงลายมือชื่อผู้ค้ำประกัน
หนังสือค้ำประกันที่จำเลยที่ 2 ทำให้ไว้แก่โจทก์ จำเลยที่ 2 ฝ่ายเดียวลงลายมือชื่อไว้เป็นหลักฐาน จึงเป็นเพียงหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้ค้ำประกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 680 วรรคสอง เท่านั้น มิใช่หนังสือสัญญาค้ำประกันระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 อันจะถือเป็นตราสารที่ต้องปิดอากรแสตมป์บริบูรณ์ตามความมุ่งหมายแห่ง ประมวลรัษฎากรฯ มาตรา 103,104 และ 118 แต่อย่างใด ดังนั้น แม้หนังสือค้ำประกันดังกล่าวจะมิได้ปิดอากรแสตมป์ก็ใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6664/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ หนังสือค้ำประกันบังคับคดี: ความรับผิดของผู้ค้ำประกันยังคงอยู่จนกว่าจำเลยชำระหนี้หรือศาลมีคำสั่งกลับ
ผู้ร้องทำหนังสือประกันไว้ต่อศาลชั้นต้นเพื่อค้ำประกันการบังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นในระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นบางส่วนโดยยังคงให้จำเลยรับผิดต่อโจทก์แต่จำเลยไม่ชำระและจำเลยฎีกา ซึ่งศาลฎีกาพิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์บางส่วน และยังคงให้จำเลยรับผิดต่อโจทก์ เช่นนี้ ผู้ร้องจึงยังต้องรับผิดตามเนื้อความในหนังสือประกันดังกล่าว ความรับผิดของผู้ร้องตามหนังสือประกันดังกล่าวจะสิ้นไปต่อเมื่อศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกาพิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์ หรือในระหว่างฎีกาได้มีการทำหนังสือประกันขึ้นใหม่ หรือเมื่อโจทก์มิได้ขอให้ศาลออกหมายบังคับคดีและไม่แถลงต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีขอให้ยึดทรัพย์สินของจำเลยและผู้ร้องภายใน 10 ปีนับแต่วันที่ศาลฎีกามีคำพิพากษาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 271
ผู้ร้องขอให้เพิกถอนการอายัดที่ดินที่ผู้ร้องนำมาวางเป็นหลักประกันและศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ตรวจคืนโฉนดที่ดินที่นำมาวางเป็นหลักประกันให้แก่ผู้ร้องไปทั้งที่ผู้ร้องยังคงต้องรับผิดตามเนื้อความในหนังสือประกันอยู่ ซึ่งต่อมาภายหลังเมื่อเห็นว่าเป็นการมิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ในข้อที่มุ่งหมายจะยังให้การเป็นไปด้วยความยุติธรรม ศาลชั้นต้นย่อมมีอำนาจสั่งเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบนั้นเสียทั้งหมดหรือบางส่วน หรือสั่งแก้ไขหรือมีคำสั่งในเรื่องนั้นอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่เห็นสมควรได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 วรรคหนึ่ง ฉะนั้น การที่ศาลชั้นต้นนัดพร้อมและสอบถามโจทก์ จำเลยกับผู้ร้องแล้วมีคำสั่งยกคำร้องของผู้ร้อง จึงเป็นการสั่งตามอำนาจที่ศาลชั้นต้นมีอยู่ตามมาตราดังกล่าวหาใช่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำไม่
of 8