คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
หนี้ค่าปรับ

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 6 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6748/2541 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ หนี้ค่าปรับและค่าจ้างจากการบอกเลิกสัญญาก่อสร้างหลังศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้: สิทธิในการรับชำระหนี้
แม้เหตุผิดนัดผิดสัญญาทำให้เจ้าหนี้มีสิทธิรับชำระเงินค่าปรับเป็นรายวันจากลูกหนี้ซึ่งมีมาก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดก็ตาม แต่ตามสัญญาได้กำหนดให้ลูกหนี้ผู้ผิดนัดผิดสัญญาต้องเสียค่าปรับแก้เจ้าหนี้เป็นรายวันทุกวันที่ยังผิดนัดผิดสัญญาอยู่ มูลหนี้ในเงินค่าปรับจึงเกิดขึ้นเป็นรายวันดังนี้ มูลหนี้ในเงินค่าปรับเป็นรายวันตามสัญญาส่วนที่เกิดขึ้นภายหลังวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดเจ้าหนี้จึงไม่มีสิทธิขอรับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ได้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 94
ตามสัญญาก่อสร้างระบุว่า ถ้าผู้ว่าจ้างบอกเลิกสัญญาแล้ว ผู้รับจ้างยอมให้ผู้ว่าจ้างเรียกเอาค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นเพราะจ้างบุคคลอื่นทำงานต่อไปจนงานแล้วเสร็จบริบูรณ์เห็นได้ว่า การที่เจ้าหนี้จะมีสิทธิเรียกเอาค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นเพราะจ้างบุคคลอื่นทำการที่ว่าจ้างได้ เจ้าหนี้จะต้องใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาก่อน เมื่อเจ้าหนี้เพิ่งบอกเลิกสัญญาภายหลังจากศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดแล้ว มูลหนี้ในเงินค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นจึงเกิดขึ้นภายหลังจากศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดเป็นหนี้ที่ต้องห้ามมิให้เจ้าหนี้ขอรับชำระหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลายฯ มาตรา 94
เมื่อปรากฏว่าธนาคารได้ชำระเงินตามหนังสือค้ำประกันแก่เจ้าหนี้แล้ว สิทธิของเจ้าหนี้ที่จะได้รับชำระหนี้เงินค่าปรับเป็นรายวันจึงต้องลดลงตามจำนวนเงินที่เจ้าหนี้ได้รับชำระจากธนาคารผู้ค้ำประกัน ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จะไม่มีฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกปัญหาดังกล่าวขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(5)ประกอบมาตรา 246 มาตรา 247 และพระราชบัญญัติล้มละลายฯ มาตรา 153

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1064/2522 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ หนี้ค่าปรับรายวันในคดีล้มละลาย: สิทธิการรับชำระหนี้หลังมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์
เจ้าหนี้ผู้ขอรับชำระหนี้ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้เงินค่าปรับและค่างานที่สูงขึ้นที่ลูกหนี้ (จำเลย) ผิดสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างทางและค้างชำระอยู่ แม้จะปรากฏว่าเหตุผิดสัญญาที่ทำให้เจ้าหนี้มีสิทธิได้รับการชำระเงินค่าปรับจากลูกหนี้มีมาก่อนวันที่ศาลมีคำสั่ง พิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้ก็ตาม แต่ตามสัญญาได้กำหนดให้ลูกหนี้ผู้ผิดสัญญาต้องเสียค่าปรับแก่เจ้าหนี้เป็นรายวัน ไปทุกวันที่ยังผิดสัญญาอยู่ มูลหนี้เงินค่าปรับดังกล่าวจึงเกิดขึ้นเป็นรายวันไป ฉะนั้น มูลหนี้ค่าปรับเป็นรายวันตามสัญญาส่วนที่เกิดขึ้นภายหลังวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ เจ้าหนี้จึงไม่มีสิทธิขอรับชำระได้จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้เพราะเป็นการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติของมาตรา 94 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7223/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ หนี้ค่าปรับนายประกันในคดีอาญา ยื่นคำขอรับชำระหนี้หลังศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ และเกินกำหนดเวลา ย่อมไม่อาจรับชำระได้
มูลหนี้ที่จะนำมาขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายได้จะต้องเป็นหนี้เงินที่มูลแห่งหนี้ได้เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ แม้ว่าหนี้นั้นยังไม่ถึงกำหนดชำระหรือมีเงื่อนไขก็ตาม ทั้งเจ้าหนี้ต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายในกำหนดเวลา 2 เดือน นับแต่วันโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 91 ประกอบมาตรา 94 สำหรับมูลหนี้ในคดีนี้คือมูลหนี้ตามสัญญาประกันที่ลูกหนี้ที่ 2 ได้ทำสัญญาประกันต่อศาลในการขอปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยในคดีอาญาของศาลแขวงธนบุรี ในวงเงินประกัน 330,000 บาท โดยมีที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เป็นหลักประกัน ต่อมาปรากฏว่าเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2549 ลูกหนี้ที่ 2 ไม่ส่งตัวจำเลยมาศาลเพื่อฟังคำพิพากษาศาลฎีกาตามกำหนดนัดซึ่งถือว่าลูกหนี้ที่ 2 ผิดสัญญาประกันต่อศาล ศาลแขวงธนบุรีมีคำสั่งปรับเงินลูกหนี้ที่ 2 เต็มตามสัญญาประกัน มูลแห่งหนี้เงินจึงเกิดขึ้นในวันดังกล่าวภายหลังจากวันที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ที่ 2 เด็ดขาดแล้วเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2546 และมิใช่กรณีที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แพ้คดีในคดีที่เข้าว่าคดีแพ่งอันเกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้ซึ่งค้างพิจารณาอยู่ในศาลในขณะที่มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ ที่เจ้าหนี้มีสิทธิขอรับชำระหนี้นับจากวันคดีถึงที่สุดตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 25 ประกอบมาตรา 93 ดังนี้ เมื่อเจ้าหนี้นำมูลหนี้ค่าปรับนายประกันในคดีอาญาของศาลแขวงธนบุรีมายื่นคำขอรับชำระหนี้เมื่อพ้นกำหนดเวลา 2 เดือน นับแต่วันโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ทั้งหนี้เงินดังกล่าวเกิดขึ้นหลังวันที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ที่ 2 เด็ดขาด ย่อมต้องห้ามมิให้ขอรับชำระหนี้ตามมาตรา 91 ประกอบมาตรา 94
แม้ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกามีการแก้ไขเพิ่มเติม ป.วิ.อ. มาตรา 119 วรรคสอง โดย พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม ป.วิ.อ. (ฉบับที่ 30) พ.ศ.2558 ก็ตาม ก็เป็นบทบัญญัติในส่วนการบังคับหลักประกันที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ซึ่งเจ้าหนี้และเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะต้องว่ากล่าวกันต่อไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 119

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15496/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความหนี้ค่าปรับจากสัญญาประกันในคดีอาญา และการรับฟังพยานหลักฐานในคดีล้มละลาย
เจ้าหนี้ขอรับชำระหนี้ในมูลหนี้ค่าปรับตามสัญญาประกันในคดีอาญาของศาลแขวงดุสิต โดยแนบสำเนาคำร้องขอให้ปล่อยชั่วคราว สำเนาสัญญาประกัน สำเนารายงานกระบวนพิจารณา และสำเนาหมายบังคับคดี ซึ่ง ป. ผู้รับมอบอำนาจเจ้าหนี้ลงชื่อรับรองความถูกต้องของสำเนาเป็นหลักฐานไว้ท้ายคำขอรับชำระหนี้ เมื่อต้นฉบับเอกสารดังกล่าวอยู่ในความควบคุมของศาลแขวงดุสิต สำเนาเอกสารที่ ป. ซึ่งเป็นข้าราชการตำแหน่งนิติกร 5 ในหน่วยงานของรัฐดังกล่าวรับรองความถูกต้องย่อมรับฟังแทนต้นฉบับได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 93 (3)
ลูกหนี้ที่ 1 ผิดสัญญาประกันต่อศาลในคดีอาญาของศาลแขวงดุสิต และศาลมีคำสั่งปรับลูกหนี้ที่ 1 ตามสัญญาประกันเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2538 ซึ่งกรณีผิดสัญญาประกันต่อศาล ป.วิ.อ. มาตรา 119 วรรคหนึ่ง ให้ศาลมีอำนาจสั่งบังคับตามสัญญาประกันโดยมิต้องฟ้อง ดังนี้ สิทธิเรียกร้องในมูลหนี้ค่าปรับที่เจ้าหนี้นำมาขอรับชำระหนี้จึงเป็นสิทธิเรียกร้องที่เกิดขึ้นโดยคำพิพากษาของศาลที่ถึงที่สุด มีอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/32 เมื่อคำสั่งปรับผู้ประกันถึงที่สุดโดยไม่มีผู้ใดอุทธรณ์ในวันที่ 18 พฤศจิกายน 2538 เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2550 จึงเกินระยะเวลา 10 ปี นับแต่วันที่คำสั่งศาลถึงที่สุด สิทธิเรียกร้องในมูลหนี้ค่าปรับดังกล่าวเป็นอันขาดอายุความถือเป็นหนี้ที่จะฟ้องร้องให้บังคับคดีไม่ได้อันต้องห้ามมิให้ขอรับชำระหนี้ ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 94 (1) ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จะไม่มีฝ่ายใดยกขึ้นอุทธรณ์ ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 247 และ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 28

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10207/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ หนี้ค่าปรับจากการผิดสัญญาประกันหลังศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ ไม่สามารถนำมาขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายได้
เจ้าหนี้ไม่มีประกันที่อาจขอรับชำระหนี้ได้ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 27 มาตรา 91 และมาตรา 94 นั้น ต้องเป็นเจ้าหนี้ในหนี้เงินที่มูลแห่งหนี้ได้เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ แม้ว่าหนี้นั้นยังไม่ถึงกำหนดชำระหรือมีเงื่อนไขก็ตาม ผู้ร้องขอรับชำระหนี้ในมูลหนี้ที่ลูกหนี้ทำสัญญาประกันการปล่อยชั่วคราวจำเลยในคดีอาญา ซึ่งมีวัตถุแห่งหนี้เป็นกรณีให้ลูกหนี้กระทำการคือให้ลูกหนี้ผู้ประกันนำตัวจำเลยในคดีอาญามาศาลตามนัดหรือหมายเรียกของศาลแขวงชลบุรี และเมื่อลูกหนี้ยังมิได้ผิดสัญญาที่ต้องกระทำการดังกล่าว ลูกหนี้ก็ไม่มีความรับผิดใช้เงินค่าปรับตามที่ศาลมีอำนาจบังคับตามสัญญา หนี้ตามสัญญาประกันในส่วนที่ให้ลูกหนี้กระทำการและยังมิได้ผิดสัญญาจึงมิใช่หนี้เงินที่ต้องขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลาย เมื่อต่อมาหลังจากศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์แล้ว ลูกหนี้ผิดสัญญาประกันและศาลแขวงชลบุรีมีคำสั่งปรับลูกหนี้ ถือว่ามูลหนี้ค่าปรับซึ่งเป็นหนี้เงินที่ลูกหนี้จะต้องชำระตามสัญญาประกันเกิดขึ้นเมื่อศาลมีคำสั่งปรับ แต่เป็นหนี้ที่มิได้เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ ไม่อาจนำหนี้ค่าปรับมาขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายได้ แม้ผู้ร้องจะเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในหนี้ค่าปรับตาม ป.วิ.อ. มาตรา 119 วรรคสอง แต่ผู้ร้องก็ยังไม่อาจบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้จนกว่าลูกหนี้จะพ้นจากการล้มละลายแล้ว เพราะเมื่อศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดแล้ว อำนาจจัดการกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้ตกแก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่ผู้เดียว ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 22 ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิขอรับชำระหนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2680/2551 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาประกันภัย: การผิดสัญญา, ภูมิลำเนา, และการคิดดอกเบี้ยจากหนี้ค่าปรับ
จำเลยทำสัญญาประกันผู้ต้องหากับพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาล ส. โดยมี อ. เป็นผู้รับสัญญาเป็นตัวแทนคู่สัญญากับจำเลย อ. จึงมิได้กระทำในฐานะส่วนตัว เมื่อจำเลยไม่ส่งผู้ต้องหาแก่โจทก์ตามกำหนดนัด แม้ อ. ยังเป็นพนักงานสอบสวนอยู่ที่สถานีตำรวจนครบาล ส. ก็ตาม แต่เมื่อ ธ. เป็นผู้กำกับการสถานีตำรวจนครบาล ส. ในขณะยื่นฟ้องและเป็นหัวหน้าพนักงานสอบสวนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 18 จึงมีอำนาจแต่งตั้งพนักงานอัยการเป็นทนายความฟ้องและดำเนินคดีแก่จำเลยได้โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้อง
คำร้องขอประกันและสัญญาประกันผู้ต้องหาที่จำเลยทำกับโจทก์อยู่ในเอกสารฉบับเดียวกัน คำร้องดังกล่าวมีข้อความว่า จำเลยขอประกัน จ. ซึ่งต้องหาว่าออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมายโดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็ค และธนาคารปฏิเสธการใช้เงินตามเช็ค ฉ้อโกง... ฟังได้ว่าจำเลยเจตนาประกันตัวผู้ต้องหาในความผิดฐานฉ้อโกงด้วย เมื่อโจทก์พิจารณาคำร้องขอประกันของจำเลยและอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหา จำเลยจะอ้างว่าประกันผู้ต้องหาเฉพาะความผิดต่อ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากใช้เช็คฯ ซึ่งระบุไว้ในสัญญาประกันและจะเรียกหลักประกันเกิน 1 ใน 3 ของจำนวนเงินตามเช็คหาได้ไม่ เมื่อการกระทำความผิดทั้ง 2 ฐานเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท การที่โจทก์ใช้ดุลพินิจกำหนดจำนวนเงินให้จำเลยรับผิดตามสัญญาประกันเป็นเงิน 975,000 บาท อันเป็นการพิจารณาให้ประกันในความผิดฐานฉ้อโกงที่มีโทษหนักที่สุดเพียงบทเดียว ซึ่งไม่เกิน 3 ใน 4 ของจำนวนเงิน 1,300,000 บาท ที่ผู้เสียหายถูกผู้ต้องหาฉ้อโกงไปตามหลักเกณฑ์ จึงชอบแล้ว สัญญาประกันไม่เป็นโมฆะ
แม้จำเลยจะอยู่กับครอบครัวที่บ้านเลขที่ 44/16 แต่บ้านเลขที่ 62/2 ซึ่งเป็นที่ทำการพรรคฯ ซึ่งจำเลยได้แจ้งย้ายเข้าไปอยู่เพื่อสมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตั้งแต่ปี 2529 จนบัดนี้ยังไม่แจ้งย้ายไปอยู่แห่งใหม่ โดยจำเลยอยู่ที่บ้านเลขที่ 62/2 ในวันเสาร์ อาทิตย์และจันทร์ ที่ทำการพรรคดังกล่าวเป็นที่ทำการสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคฯ มีเจ้าหน้าที่หมุนเวียนประจำอยู่ กับจำเลยได้แจ้งที่อยู่ให้พนักงานสอบสวนว่าเป็นที่อยู่สะดวกแก่การติดต่อดังนี้ บ้านเลขที่ 62/2 จึงเป็นทั้งภูมิลำเนาและเป็นหลักแหล่งที่ทำการตามปกติของจำเลย กรณีถือได้ว่าจำเลยมีถิ่นที่อยู่หลายแห่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 38 การที่โจทก์มีหนังสือให้จำเลยส่งตัวผู้ต้องหาแก่โจทก์โดยส่งไปยังบ้านเลขที่ 62/2 จึงเป็นการส่งตามภูมิลำเนาของจำเลยแล้ว เมื่อมีผู้รับหนังสือแทนโดยชอบและจำเลยไม่ส่งผู้ต้องหาให้แก่โจทก์ตามกำหนดนัด จำเลยจึงผิดสัญญา
ตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคแรก นั้น โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยได้ทันทีที่จำเลยตกเป็นลูกหนี้ผิดนัด แต่การที่จำเลยไม่ส่งผู้ต้องหาให้แก่โจทก์ตามกำหนดนัดเป็นเพียงก่อให้เกิดหนี้ต้องใช้เงินแก่โจทก์ตามสัญญาเท่านั้น จำเลยจะตกเป็นลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้ในเงินค่าปรับก็ต่อเมื่อโจทก์ได้เตือนให้จำเลยชำระหนี้แล้วตาม ป.พ.พ. มาตรา 204 วรรคแรก