คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
หนี้สุทธิ

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 1 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1201/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบังคับคดีตามสัญญาประนีประนอมยอมความ การยึดทรัพย์ และการคำนวณหนี้สุทธิที่ค้างชำระ
สัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์และจำเลยทั้งสิบข้อ 8 ตกลงกันว่า หากจำเลยทั้งสิบผิดนัดชำระหนี้ยอมโอนที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตามเอกสารแนบท้ายส่วนที่เหลือทั้งหมดแก่โจทก์เพื่อเป็นการชำระหนี้ โดยตีมูลค่าเท่ากับมูลค่าคงเหลือจากการปลอดจำนอง คล้ายกับเป็นการโอนทรัพย์สินตีใช้หนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 656 วรรคสองและวรรคสาม แต่ผลจากการทำสัญญาประนีประนอมยอมความทำให้จำเลยทั้งสิบพ้นจากการถูกบังคับคดีโดยได้รับการขยายระยะเวลาชำระหนี้เงินกู้และหนี้อุปกรณ์ต่าง ๆ ออกไปเป็นระยะเวลา 3 ปีกว่า ทำให้โจทก์ไม่สามารถบังคับเอาทรัพย์สินของจำเลยทั้งสิบในช่วงเวลาดังกล่าว นอกจากนั้นจำเลยที่ 1 ยังสามารถประกอบธุรกิจจัดสรรที่ดินต่อไปรวมถึงการโอนขายที่ดินในโครงการแก่ผู้ซื้อโดยปลอดจำนองเป็นรายแปลงและมีโอกาสหาเงินผ่อนชำระหนี้แก่โจทก์ ส่วนโจทก์แม้จะได้รับดอกเบี้ยแต่ต้องแบกรับความเสี่ยงหากท้ายที่สุดจำเลยทั้งสิบไม่สามารถชำระหนี้ได้ จึงเป็นธรรมดาที่โจทก์ต้องหาวิธีลดความเสี่ยงโดยตกลงว่าเมื่อครบกำหนดเวลาแล้ว หากจำเลยทั้งสิบไม่อาจชำระหนี้ก็ต้องโอนทรัพย์จำนองส่วนที่เหลือจากการขายทั้งหมดแก่โจทก์ หากบังคับจำนองรายแปลงอาจจะยุ่งยากและขายไม่ได้ สัญญาประนีประนอมระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสิบมิใช่การทำสัญญาตีใช้หนี้ที่จำเลยเพียงเอาสิ่งของหรือทรัพย์สินไปชำระหนี้แก่โจทก์ หากแต่เป็นการประนีประนอมยอมความโดยแต่ละฝ่ายต่างยอมสละสิทธิบางอย่างของตนเพื่อแลกกับประโยชน์ที่จะได้มา ซึ่งทั้งสองฝ่ายต่างพิจารณาแล้วเห็นว่าคุ้มค่าและเป็นธรรม ไม่มีฝ่ายใดได้เปรียบหรือเสียเปรียบแก่กัน ดังนั้น แม้ว่าในปัจจุบันราคาท้องตลาดทรัพย์ที่ต้องโอนชำระหนี้แก่โจทก์เพิ่มสูงขึ้นกว่าราคาตลาดที่ตกลงกันไว้ก็ตาม ฝ่ายจำเลยจะกลับมาอ้างว่าต้องตีราคาใหม่ตามราคาท้องตลาดปัจจุบันเพื่อให้ตนเองได้รับประโยชน์เพิ่มขึ้นจากที่ทำสัญญาไว้ย่อมเป็นการเอาเปรียบและไม่เป็นธรรมแก่โจทก์ ทั้งไม่ปรากฏว่าโจทก์ไม่สุจริตในการทำสัญญาประนีประนอมยอมความหรือการใช้สิทธิบังคับชำระหนี้แต่ประการใด กรณีจึงไม่อยู่ในบังคับ ป.พ.พ. มาตรา 656 วรรคสองและวรรคสาม อีกทั้งการทำสัญญาประนีประนอมยอมความเป็นการระงับข้อพิพาทตาม ป.วิ.พ. มาตรา 138 ซึ่งกระทำต่อหน้าศาลและคู่ความได้ตรวจสอบแล้วไม่มีฝ่ายใดคัดค้านว่าสัญญาประนีประนอมยอมความหรือสัญญาข้อหนึ่งข้อใดฝ่าฝืนต่อกฎหมายจนกระทั่งศาลมีคำพิพากษาตามยอม หลังจากนั้นไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสิบอุทธรณ์ว่าถูกอีกฝ่ายฉ้อฉลหลอกลวงหรือคำพิพากษาขัดต่อกฎหมายดังที่ยกขึ้นเป็นเหตุขอให้เพิกถอนการบังคับแต่ประการใด คำพิพากษาดังกล่าวย่อมถึงที่สุดและผูกพันคู่ความตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง และมาตรา 147
หมายบังคับคดีระบุชัดเจนว่าให้จำเลยทั้งสิบปฏิบัติตามคำพิพากษาและสัญญาประนีประนอมยอมความที่แนบรายละเอียดเกี่ยวกับจำนวนหนี้ที่จำเลยทั้งสิบต้องรับผิด แม้ระหว่างปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความจำเลยทั้งสิบชำระเงินบางส่วน ซึ่งต้องนำไปหักดอกเบี้ยก่อนตาม ป.พ.พ. มาตรา 329 ก่อน เหลือเท่าใดจึงจะเป็นจำนวนหนี้ที่โจทก์สามารถบังคับคดียึดทรัพย์สินจำเลยทั้งสิบได้ การคำนวณดังกล่าวเป็นขั้นตอนของเจ้าพนักงานบังคับคดีที่จะดำเนินการต่อไป และเมื่อทราบจำนวนหนี้สุทธิก็สามารถยึดอายัดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสิบโดยไม่ต้องรอให้จดทะเบียนรับโอนที่ดินและสิ่งปลูกสร้างส่วนที่เหลือเสร็จสิ้นก่อนเพราะตามคำพิพากษารวมถึงสัญญาประนีประนอมยอมความมิได้กำหนดเงื่อนไขว่าโจทก์จะต้องจดทะเบียนรับโอนทรัพย์สินส่วนที่เหลือเสร็จสิ้นก่อนจึงจะบังคับเอากับทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสิบได้ การยื่นหมายบังคับคดีของโจทก์ไม่ได้ข้ามขั้นตอนกฎหมาย การออกหมายบังคับคดีชอบด้วยกฎหมาย