พบผลลัพธ์ทั้งหมด 2 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 476/2514
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การบังคับคดีและการหักกลบลบหนี้: ทรัพย์สินที่ยึดมีมูลค่าไม่พอชำระหนี้ และหนี้โจทก์สูงกว่าจำเลย
ข้อเท็จจริงของคดีนี้โจทก์จำเลยแถลงรับกันอยู่ว่าหนี้ตามคำพิพากษาถึงที่สุด ซึ่งโจทก์มีสิทธิบังคับคดีเอากับจำเลยมีทุนทรัพย์เพียง 316,350 บาทซึ่งคดียังไม่ถึงที่สุด ทั้งปรากฏชัดว่าบรรดาทรัพย์สินของจำเลยที่โจทก์นำยึดไว้นั้นทุกรายการมีผู้ร้องขัดทรัพย์อยู่ จึงไม่เป็นการแน่นอนว่าโจทก์จะบังคับคดีเอากับทรัพย์สินที่ยึดไว้แล้วได้มากน้อยเพียงใด ประกอบกับหนี้ของโจทก์ที่จะบังคับกับจำเลยมีจำนวนแน่นอนและสูงกว่าหนี้ที่จำเลยฟ้องเรียกร้องจากโจทก์อยู่เป็นจำนวนถึง 90,000 บาทเศษ เฉพาะหุ้นที่โจทก์นำยึดขอขายทอดตลาด จำเลยก็รับว่ามีราคาน้อยเพียง 3,000 บาทเท่านั้นจึงเป็นที่เห็นได้ชัดว่าแม้จำเลยจะเป็นฝ่ายชนะคดีโจทก์ก็ไม่สามารถที่จะหักกลบลบหนี้กันได้ดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 293 ข้อเท็จจริงที่ ปรากฏในสำนวนจึงมีพอที่ศาลจะสั่งได้ไม่จำเป็นต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นดำเนินการพิจารณาใหม่อีก
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7378/2552
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การชำระหนี้ด้วยที่ดินสูงกว่าหนี้เดิมทำให้สัญญาเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 656
การกู้ยืมเงินโดยผู้ให้กู้ยืมยอมรับเอาที่ดินเป็นการชำระหนี้แทนเงินที่กู้ยืมนั้น ป.พ.พ. มาตรา 656 วรรคสอง บัญญัติให้หนี้เป็นอันระงับไปเพราะการชำระเช่นนั้นให้ต้องคิดเป็นจำนวนเท่ากับราคาท้องตลาดแห่งสิ่งของหรือทรัพย์สินนั้นในเวลา และ ณ สถานที่ส่งมอบในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2541 ซึ่งเป็นวันจดทะเบียนโอนที่ดินตีราคาที่ดิน 590,000 บาท ซึ่งเป็นราคาประเมินของกรที่ดิน แม้โจทก์จำเลยจะมิได้นำสืบถึงราคาซื้อขายในท้องตลาดที่แท้จริงซึ่งเป็นราคาที่ดินเป็นหลักในการคำนวณ ณ เวลาที่ส่งมอบ แต่ก็เห็นได้ว่าราคาประเมินในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมของกรมที่ดินในเบื้องต้นพอจะอนุมานได้ว่าน่าจะใกล้เคียงกับราคาท้องตลาดและไม่แตกต่างกันมาก เว้นแต่จะมีเหตุผลพิเศษสำหรับที่ดินบางแปลงเป็นการเฉพาะรายเท่านั้น ราคาที่ดินขณะจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์จึงสูงกว่าภาระหนี้เงินกู้พร้อมดอกเบี้ยค้างชำระตามที่จำเลยอ้าง ซึ่งมีอยู่ประมาณ 230,000 บาท จำเลยก็รับว่ามีส่วนต่างอยู่ประมาณ 300,000 บาท ดังนี้ ความตกลงดังกล่าวย่อมตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 656 วรรคท้าย ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนเพราะเป็นการเอารัดเอาเปรียบผู้กู้และทำให้ผู้ให้กู้ได้เปรียบในทางทรัพย์สินเงินทอง แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาและเป็นปัญหาที่มิได้ว่ากันมาโดยชอบในศาลล่างศาลฎีกาก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 247 เมื่อการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทตกเป็นโมฆะ จำเลยจึงไม่ได้ที่ดินไปทางทะเบียน