พบผลลัพธ์ทั้งหมด 5 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7924/2549
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
สิทธิการเฉลี่ยทรัพย์ของเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในคดีเช่าซื้อ โดยแยกหนี้ค่าเช่าซื้อออกจากหนี้ตามคำพิพากษาตามยอม
หนี้ตามคำพิพากษาตามยอมระหว่างผู้ร้องกับจำเลยเป็นหนี้ที่เกิดจากจำเลยค้างชำระหนี้ค่าเช่าซื้อต่อผู้ร้อง ส่วนการที่ผู้ร้องยึดรถบรรทุกจากจำเลยเป็นการที่ผู้ร้องใช้สิทธิในฐานะเป็นเจ้าของผู้ใช้เช่าซื้อยึดทรัพย์สินจากจำเลยในกรณีจำเลยผิดสัญญา ซึ่งถือว่าเป็นการเลิกสัญญาโดยปริยาย หนี้ตามคำพิพากษาตามยอมจึงเป็นหนี้ที่ผู้ร้องฟ้องเรียกค่าเช่าซื้อที่จำเลยค้างชำระก่อนเลิกสัญญา ส่วนการที่ผู้ร้องยึดรถบรรทุกกลับคืนมาแล้วนำออกจำหน่ายหากมีความเสียหายเกิดขึ้นก็เป็นเรื่องที่จะว่ากล่าวต่อไปในระหว่างผู้ร้องกับจำเลยเพราะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นภายหลังจากการเลิกสัญญา หนี้ทั้งสองกรณีดังกล่าวจึงเป็นหนี้คนละส่วนกัน ไม่อาจนำมาหักกลบลบหนี้กันได้ เมื่อผู้ร้องซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาไม่สามารถเอาชำระได้จากทรัพย์สินอื่นๆ ของจำเลย ผู้ร้องจึงมีสิทธิเข้าเฉลี่ยทรัพย์ในคดีนี้ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 290
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2822/2541 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การค้ำประกันหนี้เช่าซื้อ: การแปลงหนี้และขอบเขตความรับผิดของผู้ค้ำประกัน
จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์พิพาทจากโจทก์โดยจำเลยที่ 2 และที่ 3 ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม และมีข้อตกลงด้วยว่า แม้จำเลยที่ 1 ตกลงแปลงหนี้ด้วยประการใด ๆ จำเลยที่ 2 และที่ 3 ยังคงยอมรับผิดเป็นผู้ค้ำประกันหนี้ที่แปลงด้วย ตามข้อตกลงในสัญญาค้ำประกันมีความหมายเพียงว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 จะยอมรับเป็นผู้ค้ำประกันเฉพาะกรณีที่โจทก์และจำเลยที่ 1 ตกลงแปลงหนี้ใหม่เท่านั้น ดังนั้น แม้ต่อมาจำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อให้แก่โจทก์และจำเลยที่ 1 ได้ทำบันทึกข้อตกลงรับสภาพหนี้ชำระค่าเสียหายให้แก่โจทก์ว่า หากจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาดังกล่าวยอมให้โจทก์ฟ้องร้องบังคับคดีในจำนวนยอดเงิน114,619 บาท บันทึกข้อตกลงรับสภาพหนี้ดังกล่าวมิใช่เป็นสัญญาที่เปลี่ยนสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งหนี้ แต่เป็นเพียงบันทึกข้อตกลงที่จำเลยที่ 1 ยอมรับผิดใช้ค่าเสียหายในจำนวนยอดเงิน 114,619 บาท เท่านั้น ย่อมไม่เป็นการแปลงหนี้ใหม่ จำเลยที่ 2และที่ 3 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดในจำนวนเงินที่จำเลยที่ 1 รับสภาพหนี้ และถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ยินยอมค้ำประกันในหนี้จำนวนดังกล่าว เพราะจำเลยที่ 2และที่ 3 มิได้ลงลายมือชื่อในบันทึกข้อตกลงรับสภาพหนี้เช่นว่านี้ด้วย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6966/2539
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
อายุความหนี้เช่าซื้อ, การรับสภาพหนี้, และการขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลาย
มูลหนี้เดิมเป็นหนี้ค่าเช่าซื้อค้างชำระ มีกำหนดอายุความ 2 ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 165(6) เดิมนับตั้งแต่วันครบกำหนดแต่ละงวดตามสัญญาเช่าซื้ออันเป็นวันที่เจ้าหนี้อาจบังคับตามสิทธิเรียกร้องของตนได้ คืออย่างช้าวันที่ 1 ธันวาคม 2529 และเมื่อนับจนถึงวันที่ 2 ตุลาคม 2533อันเป็นวันทำสัญญารับสภาพหนี้เป็นเวลาเกินกว่า 2 ปีแล้วหนี้ค่าเช่าซื้อตามสัญญาเช่าซื้อจึงขาดอายุความลูกหนี้ไม่อาจทำสัญญารับสภาพหนี้ได้ เพราะตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 172 เดิม ลูกหนี้ จะทำหนังสือรับสภาพหนี้ได้ก่อนอายุความครบบริบูรณ์เท่านั้น แต่การที่ลูกหนี้จะทำหนังสือรับสภาพหนี้ต่อเจ้าหนี้พอถือได้ว่า เป็นเรื่องที่ลูกหนี้ละเสียซึ่งประโยชน์แห่งอายุความและรับสภาพ ความรับผิดโดยสัญญา ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 188 วรรคสามและมาตรา 192 วรรคหนึ่ง เดิม เนื่องจากขณะทำสัญญาดังกล่าวประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/35 ที่ได้ตรวจชำระใหม่ซึ่งบัญญัติให้สิทธิเรียกร้องที่เกิดขึ้นจากการที่ลูกหนี้รับสภาพความรับผิดโดยมีหลักฐานเป็นหนังสือมีกำหนดอายุความ 2 ปีนับแต่วันที่ได้รับสภาพความรับผิดยังไม่ใช้บังคับ สัญญารับสภาพหนี้จึงมีผลใช้บังคับได้ และแม้หากต้องถืออายุความตามสัญญาเช่าซื้ออันเป็นมูลหนี้เดิมคือ 2 ปี เมื่อนับจากวันที่เจ้าหนี้อาจบังคับตามสิทธิเรียกร้องดังที่ระบุไว้ในสัญญารับสภาพหนี้ดังกล่าวคือวันที่ 1 พฤศจิกายน 2533 จนถึงวันที่เจ้าหนี้ฟ้องบังคับตามสัญญาดังกล่าวในวันที่ 16 ตุลาคม 2535 แล้ว ไม่เกินกำหนด2 ปี สิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้จึงไม่ขาดอายุความ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2200/2535
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
หนี้สองประเภท (เงินกู้และเช่าซื้อ) แม้ทวงรวมกันก็ไม่แปรสภาพเป็นหนี้เดียวกัน การยึดทรัพย์สินชำระหนี้ประเภทหนึ่ง ไม่กระทบหนี้อีกประเภท
จำเลยเป็นหนี้โจทก์อยู่ 2 ประเภท คือ หนี้เงินกู้ประเภทหนึ่งและหนี้ค่าเช่าซื้อรถแทรกเตอร์อีกประเภทหนึ่ง โจทก์ได้มีหนังสือทวงถามหนี้ทั้ง 2 ประเภทรวมกันไปยังจำเลย การที่โจทก์ทวงหนี้จำเลยทั้ง 2 ประเภท โดยทำหนังสือทวงถามฉบับเดียวกันจะแปลว่าหนี้ 2 ประเภทนั้นได้แปลงเป็นหนี้ใหม่แล้วหรือแปรสภาพเป็นหนี้เดียวกันแล้วหาได้ไม่เพราะการที่จะถือว่ามีการแปลงหนี้ใหม่จะต้องได้ความว่าคู่กรณีคือ โจทก์และจำเลยได้ทำสัญญาเปลี่ยนสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งหนี้กัน แต่เรื่องนี้โจทก์จำเลยไม่ได้ทำสัญญาเปลี่ยนสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งหนี้ ดังนี้แม้โจทก์ได้ยึดรถแทรกเตอร์จากจำเลยคืนไปอันอาจทำให้หนี้ค่าเช่าซื้อรถแทรกเตอร์ระงับไปก็ตาม ก็ไม่ทำให้หนี้เงินกู้ซึ่งเป็นหนี้อีกประเภทหนึ่งระงับไปด้วย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 326/2534
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ฟ้องบังคับจำนองไม่เคลือบคลุม, อำนาจผู้ชำระบัญชี, ดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้
คำฟ้องที่บรรยายว่าจำเลยจำนองที่ดินไว้กับโจทก์เพื่อประกันส.และว. ซึ่งเป็นลูกหนี้โจทก์ กำหนดไถ่ถอนภายใน 18 เดือนพ้นกำหนดแล้วจำเลยไม่ชำระหนี้ ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินต้นและดอกเบี้ย เป็นคำฟ้องที่ชัดแจ้งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 172 วรรคสองแล้ว ส่วนหนี้ของส.และว.เป็นหนี้อะไร เป็นรายละเอียดที่นำสืบได้ในชั้นพิจารณา ไม่ต้องบรรยายมาในฟ้องโจทก์ฟ้องบังคับตามสัญญาจำนอง มิได้ฟ้องบังคับตามสัญญาเช่าซื้อ จำเลยก็รับว่าเป็นหนี้เกิดจากสัญญาเช่าซื้อ โจทก์จึงไม่ต้องแนบสัญญาเช่าซื้อมาท้ายฟ้องฟ้องของโจทก์ไม่เคลือบคลุม ป.พ.พ. ไม่มีบทบัญญัติว่า ผู้ชำระบัญชีของห้างหุ้นส่วนจะต้องชำระบัญชีให้เสร็จภายในกำหนดเวลาใด ดังนั้น ตราบใดที่การชำระบัญชียังไม่เสร็จ ผู้ชำระบัญชีย่อมมีอำนาจตาม ป.พ.พ. มาตรา 1259ซึ่งรวมทั้งอำนาจว่าต่างในนามห้าง ๆ นั้นในอรรถคดีด้วย ระยะเวลาการชำระบัญชีไม่ใช่อายุความ จะนำบทบัญญัติเรื่องอายุความมาใช้บังคับไม่ได้ สัญญาจำนองระบุไม่คิดดอกเบี้ย แก่กัน แต่เมื่อหนี้ถึงกำหนดและโจทก์มีหนังสือทวงถามและให้ไถ่ถอนจำนองแล้ว จำเลยไม่ชำระจำเลยจึงตกเป็นผู้ผิดนัดต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันผิดนัดตาม ป.พ.พ. มาตรา224 วรรคหนึ่ง.