พบผลลัพธ์ทั้งหมด 11 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 98/2548 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
สัญญาทรัสต์รีซีทต่อเนื่องจาก L/C ไม่ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญ หนี้เดิมไม่ระงับ ผู้ค้ำประกันต้องรับผิด
การที่โจทก์เปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตให้จำเลยที่ 1 ตามคำขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตและชำระเงินค่าสินค้าแก่ผู้ขายไปแล้ว เมื่อสินค้าขนส่งมาถึงประเทศไทย จำเลยที่ 1 ยังไม่สามารถชำระเงินค่าสินค้าที่โจทก์ชำระแทนไปก่อนได้ทันที จำเลยที่ 1 จึงขอทำสัญญาทรัสต์รีซีทกับโจทก์ด้วยการขอรับสินค้าไปก่อนแล้วจะชำระราคาภายในวันที่กำหนดไว้ ซึ่งสินค้าตามสัญญาทรัสต์รีซีทดังกล่าวก็คือสินค้าที่ขอให้โจทก์ชำระเงินแทนตามคำขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตนั่นเอง สัญญาทรัสต์รีซีทจึงเป็นเรื่องที่คู่สัญญาตามคำขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตทำความตกลงกันในรายละเอียดเกี่ยวกับการชำระหนี้ที่เกิดขึ้นแล้วตามคำขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิต อันถือว่าสัญญาทรัสต์รีซีทเป็นสัญญาที่ทำต่อเนื่องจากคำขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิต หาใช่เป็นเรื่องที่คู่สัญญามีเจตนาจะก่อหนี้ขึ้นใหม่หรือเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญในมูลหนี้เดิมแต่อย่างใด คงเป็นมูลหนี้ในประเภทและจำนวนเดียวกัน มูลหนี้ตามคำขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตจึงไม่ระงับไปเพราะการแปลงหนี้ใหม่ จำเลยที่ 3 และที่ 4 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ในมูลหนี้ค่าซื้อสินค้าที่โจทก์ชำระแทนจำเลยที่ 1 ไปตามคำขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตและต่อมาทำสัญญาทรัสต์รีซีทไว้ ในฐานะที่จำเลยที่ 3 และที่ 4 ทำสัญญาค้ำประกันการชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 ตามคำขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิต
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4048/2540
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ข้อพิพาทสัญญาขายลดตั๋วเงิน/จำนอง/ค้ำประกัน หนี้ไม่ระงับแม้มีตั๋วใหม่ โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยตามตั๋วใหม่
คำบรรยายฟ้องโจทก์ได้ความชัดว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญาขายลดตั๋วเงินกับโจทก์โดยมีจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ที่ 3ที่ 4 เป็นผู้ทำสัญญาจำนองและสัญญาค้ำประกันความรับผิดของจำเลยที่ 1 แล้วจำเลยที่ 1 ได้ออกตั๋วสัญญาใช้เงินนำมาขายลดแก่โจทก์ เมื่อตั๋วถึงกำหนดชำระจำเลยที่ 1 ไม่ชำระ แต่ได้ออกตั๋วสัญญาใช้เงินฉบับใหม่ชำระหนี้แก่โจทก์แทนตั๋วฉบับเดิม ที่จำเลยที่ 1 ให้การว่า เป็นการออกตั๋วสัญญาใช้เงินฉบับใหม่ชำระหนี้ค่าตั๋วสัญญาใช้เงินฉบับเดิมและโจทก์รับชำระหนี้แล้ว หนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินฉบับเดิมจึงระงับ แต่โจทก์ไม่ยื่นตั๋วสัญญาใช้เงินฉบับใหม่ภายในเวลาที่กำหนด จำเลยทั้งสี่จึงไม่ต้องรับผิดตามตั๋วสัญญาใช้เงินฉบับใหม่นั้นเป็นคำให้การปฎิเสธว่าจำเลยที่ 1 ได้ชำระหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินฉบับเดิมแล้วโดยการออกตั๋วสัญญาใช้เงินฉบับใหม่แลกเปลี่ยน การเปลี่ยนเงื่อนไขวันถึงกำหนดใช้เงินจากวันที่กำหนดไว้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินฉบับเดิมเป็นเมื่อทวงถามตามตั๋วสัญญาใช้เงินฉบับใหม่ มิใช่เปลี่ยนสิ่งที่เป็นสาระสำคัญแห่งหนี้เพราะยังเป็นมูลหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินอยู่ คดีนี้โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดตามตั๋วสัญญาใช้เงินฉบับใหม่หนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินฉบับเดิมจะระงับไปหรือไม่อย่างไรไม่ใช่ข้อสำคัญ ตราบใดที่โจทก์ยังไม่ได้รับเงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินฉบับใหม่ก็ไม่ระงับ หนี้ตามหนังสือสัญญาขายลดตั๋วเงินและสัญญาจำนองสัญญาค้ำประกันซึ่งเป็นประกันการชำระหนี้ก็ไม่ระงับไปด้วย คำให้การของจำเลยทั้งสี่ดังกล่าวไม่ใช่เป็นเรื่องจำเลยทั้งสี่เข้าใจผิดหรือหลงข้อต่อสู้ฟ้องโจทก์ได้บรรยายโดยชัดแจ้งถึงสภาพแห่งข้อหา คำขอบังคับและข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาแล้วไม่เป็นฟ้องเคลือบคลุม ก่อนจำเลยที่ 1 ออกตั๋วสัญญาใช้เงินขายลดแก่โจทก์จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาขายลดตั๋วเงินกับโจทก์โดยจำเลยทั้งสี่ได้ทำสัญญาจำนองและสัญญาค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 กับโจทก์มีข้อความสำคัญในสัญญาขายลดตั๋วเงินว่าหากโจทก์ไม่ได้รับเงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินที่จำเลยที่ 1 นำมาขายลดไม่ว่าด้วยเหตุใด ๆ จำเลยที่ 1 สัญญาว่าจะชำระเงินตามตั๋วคืนแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยจนกว่าจะชำระเสร็จ หากจำเลยที่ 1 ไม่ปฎิบัติตามยอมให้โจทก์ฟ้องบังคับได้ข้อตกลงดังกล่าวจึงมีผลบังคับจำเลยที่ 1 ตลอดไปจนกว่าจำเลยที่ 1 จะชำระเงินตามตั๋วที่นำมาขายลดพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์จนครบ โดยมีสัญญาจำนองและสัญญาค้ำประกันของจำเลยทั้งสี่เป็นหลักประกัน หลังจากจำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาขายตั๋วเงินกับโจทก์แล้วจำเลยที่ 1 ได้นำตั๋วสัญญาใช้เงินของจำเลยที่ 1 มาขายลดแก่โจทก์ 1 ฉบับ เป็นเงิน 15,000,000 บาท เมื่อตั๋วถึงกำหนดชำระเงินจำเลยที่ 1 ไม่ใช้เงินแก่โจทก์ แต่ได้ออกตั๋วสัญญาใช้เงินฉบับใหม่จำนวนเงินแลกเปลี่ยนหรือชำระหนี้ตามตั๋วฉบับเดิม เมื่อโจทก์ทวงถามให้จำเลยที่ 1 ใช้เงินตามตั๋วฉบับใหม่จำเลยที่ 1 ก็ไม่ชำระ ดังนั้นเงินจำนวน 15,000,000 บาท ตามตั๋วสัญญาใช้เงินฉบับใหม่โจทก์จึงยังไม่ได้รับชำระคืน หนี้ตามสัญญาขายลดตั๋วเงินและสัญญาจำนองกับค้ำประกันซึ่งเป็นประกันแห่งหนี้ จึงไม่ระงับและยังมีผลผูกพันจำเลยทั้งสี่ จำเลยที่ 1 ให้การว่าไม่เคยได้รับหนังสือทวงถามบอกกล่าวบังคับจำนอง การบอกกล่าวบังคับจำนองไม่ชอบด้วยกฎหมายโดยไม่ได้ระบุข้อเท็จจริงว่าไม่ชอบด้วยกฎหมายอย่างไร ดังนี้ข้อที่จำเลยทั้งสี่ฎีกาว่า โจทก์ไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือมอบอำนาจให้ จ. เป็นผู้บอกกล่าวบังคับจำนอง การบอกกล่าวบังคับจำนองจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงเป็นการยกข้อเท็จจริงซึ่งจำเลยทั้งสี่ไม่ได้กล่าวไว้โดยชัดแจ้งในคำให้การขึ้นอ้างในชั้นฎีกา ถือว่าข้อเท็จจริงดังกล่าวไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง จำเลยที่ 1 ได้ออกตั๋วสัญญาใช้เงินฉบับใหม่ชำระหนี้แทนตั๋วสัญญาใช้เงินฉบับเดิม แม้ตั๋วสัญญาใช้เงินฉบับเดิมจะไม่ได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้ในตั๋ว แต่เมื่อโจทก์ฟ้องและศาลพิพากษาให้จำเลยทั้งสี่รับผิดใช้เงินแก่โจทก์ตามตั๋วสัญญาใช้เงินฉบับใหม่ จำเลยทั้งสี่ต้องรับผิดใช้ดอกเบี้ยแก่โจทก์ตามอัตราที่กำหนดไว้ในตั๋วสัญญาใช้เงินฉบับใหม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5704/2539
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ฟ้องไม่เคลือบคลุม, หนี้ยังไม่ระงับ, ดอกเบี้ยไม่ชอบ ศาลอุทธรณ์พิพากษาถูกต้อง
โจทก์ฟ้องให้จำเลยทั้งสองรับผิดในจำนวนหนี้ที่จำเลยทั้งสองเป็นหนี้โจทก์ตามบัญชีเดินสะพัดเมื่อบรรยายฟ้องก็กล่าวถึงเวลาขอเปิดบัญชีในวงเงินที่กำหนดและมีการเบิกจ่ายเงินและชำระหนี้กันเป็นระยะเวลาหลายปีจนถึงผลสุดท้ายก็มียอดหนี้ของจำเลยทั้งสองรวมทั้งดอกเบี้ยแม้เอกสารการ์ดบัญชีที่แสดงว่าเป็นหนี้กันอยู่จะแนบมาพร้อมฟ้องเพียงบางส่วนก็นับว่าชัดแจ้งพอที่จะเข้าใจข้อหาและจำนวนหนี้ได้ดีฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม จำเลยทั้งสองมิได้ต่อสู้คดีไว้ว่าจะต้องรับผิดไม่เกิน200,000บาทตามสัญญาเท่านั้นเพิ่งยกขึ้นโต้แย้งในชั้นอุทธรณ์ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยจำเลยทั้งสองมิได้โต้แย้งว่าคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในส่วนนี้ไม่ถูกต้องประการใดบ้างกลับโต้แย้งว่าจำเลยทั้งสองไม่ต้องรับผิดเกิน200,000บาทจึงเป็นฎีกาที่ไม่ชัดแจ้ง เมื่อหนี้ยังไม่ระงับจำเลยทั้งสองต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยตามสัญญาแต่ดอกเบี้ยที่คิดมาในฟ้องศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าโจทก์คิดดอกเบี้ยไม่ชอบสมควรให้คิดใหม่โดยพิพากษาให้ยกฟ้องและไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะนำคดีมาฟ้องใหม่ซึ่งเป็นอำนาจศาลอุทธรณ์ที่จะพิพากษาได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 414/2536
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การคืนหนังสือค้ำประกันโดยความผิดพลาดไม่ปลดหนี้ผู้ค้ำประกัน หากหนี้ยังไม่ระงับ
โจทก์คืนหนังสือค้ำประกันของจำเลยที่ 3 รวม 5 ฉบับ ให้แก่จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 เป็นผู้รับไปด้วยความเข้าใจผิดของพนักงานโจทก์ โจทก์มิได้มีเจตนาประสงค์จะปลดหนี้ให้แก่จำเลยทั้งสาม แม้จำเลยที่ 3 จะได้รับเวนคืนหนังสือค้ำประกันดังกล่าวซึ่งเป็นเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งหนี้ ซึ่งเข้าข้อสันนิษฐานตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 327 วรรคสาม ว่าหนี้นั้นเป็นอันระงับสิ้นไปแล้วก็ตาม แต่ข้อสันนิษฐานดังกล่าวมิใช่ข้อสันนิษฐานเด็ดขาด เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยที่ 1ยังมิได้ชำระหนี้ที่จำเลยที่ 3 เป็นผู้ค้ำประกันแก่โจทก์ และหนี้ดังกล่าวหาได้ระงับไปด้วยเหตุประการอื่นใดไม่ จำเลยที่ 1ยังคงต้องชำระหนี้นั้นต่อโจทก์ จำเลยที่ 3 จึงไม่หลุดพ้นจากความรับผิดในหนี้ดังกล่าวตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 698จำเลยที่ 3 จะอ้างธรรมเนียมปฏิบัติของธนาคารพาณิชย์ว่าเมื่อจำเลยที่ 3 ได้รับเวนคืนต้นฉบับหนังสือค้ำประกันจากจำเลยที่ 2ผู้เป็นลูกค้าโดยสุจริต แม้ไม่ได้รับเวนคืนจากโจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้จำเลยที่ 3 ก็หลุดพ้นจากความรับผิดในฐานะผู้ค้ำประกันแล้วหาได้ไม่ เพราะกรณีไม่ต้องด้วยบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยความระงับสิ้นไปแห่งการค้ำประกันดังที่บัญญัติไว้โดยเฉพาะแล้วในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 698 ถึงมาตรา 701 ส่วนที่จำเลยที่ 3 อ้างว่าไม่อาจไล่เบี้ยเอาแก่จำเลยที่ 1 สำหรับหลักประกันที่ได้คืนให้แก่จำเลยที่ 1 เมื่อยกเลิกหนังสือค้ำประกันดังกล่าวได้ เพราะความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของโจทก์ก็เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 3 ต้องไปว่ากล่าวกันต่างหากต่อไปหาได้เกี่ยวข้องกับการหลุดพ้นจากความรับผิดของจำเลยที่ 3ในฐานะผู้ค้ำประกันแต่อย่างใดไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2217/2533
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ลูกหนี้ร่วมรับผิดตามคำพิพากษา แม้มีการชำระหนี้บางส่วนโดยลูกหนี้ร่วมคนอื่น หนี้ยังไม่ระงับ
หนี้ตาม คำพิพากษาที่ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันรับผิดต่อ โจทก์โดยจำกัดวงเงินให้จำเลยที่ 3 ร่วมรับผิดนั้น จำเลยที่ 3 ต้องผูกพันชำระหนี้ในส่วนที่ตนต้อง รับผิดจนกว่าจะชำระหนี้ส่วนที่ต้องรับผิดจนครบหรือจนกว่าโจทก์จะได้ รับชำระหนี้ทั้งหมดเสร็จสิ้นแล้วเมื่อปรากฏว่าจำเลยที่ 3 ชำระหนี้ส่วนที่ตนต้อง รับผิดยังไม่ครบและโจทก์ยังมิได้รับชำระหนี้เสร็จสิ้น จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นลูกหนี้ร่วมจึงต้อง ชำระหนี้ในส่วนที่ตน ยังต้อง รับผิด ตาม นัยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 291.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 512/2522
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
สัญญาเล่นแชร์: ความรับผิดของหัวหน้าวงแชร์แม้เช็คไม่ผ่าน – หนี้ไม่ระงับแม้ไม่ฟ้องผู้ออกเช็ค
โจทก์จำเลยทั้งสองกับพวกได้เล่นแชร์กัน โดยจำเลยทั้งสองได้ทำหนังสือสัญญาให้โจทก์มีใจความว่า จำเลยทั้งสองเป็นหัวหน้าก่อตั้งวงแชร์ หากจำเลยทั้งสองหรือสมาชิกแชร์วงนี้ไม่ชำระหนี้ ประพฤติผิดสัญญาหรือก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์จะด้วยเหตุใดก็ตาม จำเลยขอรับผิดชอบชดใช้หนี้ให้แก่โจทก์แทนจนครบถ้วน ดังนั้น เมื่อปรากฏว่าลูกวงแชร์จ่ายเช็คชำระค่าแชร์ให้แก่โจทก์ 2 ฉบับธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คดังกล่าว โจทก์จึงยังไม่ได้รับชำระหนี้ หนี้เดิมตามสัญญาเล่นแชร์จึงยังไม่ระงับไป และแม้โจทก์จะมิได้ดำเนินการใด ๆ กับผู้ออกเช็คจนเช็คขาดอายุความ ก็หาเป็นเหตุให้จำเลยทั้งสองพ้นความรับผิดตามสัญญาเล่นแชร์ที่ทำไว้กับโจทก์ไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1791/2517
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
สัญญาซื้อขาย, เช็คลงวันที่ล่วงหน้า, และผลของการไม่นำเช็คไปขึ้นเงิน: หนี้ยังไม่ระงับ
จำเลยตกลงซื้อที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจากโจทก์ โดยให้โจทก์อาศัยอยู่ในสิ่งปลูกสร้างอีก 6 เดือน โจทก์ยอมให้จำเลยชำระราคาบางส่วน ราคาส่วนที่เหลือจำเลยจ่ายเช็คลงวันที่ล่วงหน้า 6 เดือนให้โจทก์ไว้ ต่อมาโจทก์จำเลยขอให้เจ้าพนักงานที่ดินทำสัญญาซื้อขายจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินให้จำเลย ระบุว่าโจทก์ได้รับเงินค่าที่ดินเสร็จเรียบร้อยแล้ว แต่เมื่อโจทก์นำเช็คไปขอรับเงิน ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน อ้างว่าเช็คพ้นกำหนดการจ่ายเงิน ดังนี้ โจทก์จำเลยยังเจตนาจะผูกพันกันตามสัญญาซื้อขายฉบับเดิมต่อไปตามเงื่อนไขเรื่องให้โจทก์มีสิทธิอยู่อาศัยในสิ่งปลูกสร้างแลกเปลี่ยนกับการผ่อนระยะเวลา การชำระค่าที่ดินที่ยังมิได้ชำระ การทำสัญญาซื้อขายจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นเพียงพิธีการโอนกรรมสิทธิ์ให้ถูกต้องตามกฎหมายเท่านั้น หาได้มีเจตนาจะแปลงหนี้หรือยกเลิกสัญญาฉบับเดิมไม่ เมื่อจำเลยมิได้เสียหายเนื่องจากการที่โจทก์มิได้นำเช็คไปรับเงินตามกำหนดและไม่มีข้อตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่นกรณีจึงต้องด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 321 และ 1005 จำเลยต้องรับผิดชำระราคาที่ดินที่ยังเหลืออยู่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8334/2563
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
สิทธิการเข้าสวมสิทธิเรียกร้องของผู้รับจำนอง แม้โจทก์ไม่บังคับคดีใน 10 ปี ไม่ทำให้สิทธิจำนองระงับ
ผู้ร้องเคยยื่นคำร้องขอสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนโจทก์ฉบับแรก ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องโดยวินิจฉัยว่า โจทก์ไม่ได้ร้องขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษาภายใน 10 ปี โจทก์จึงไม่มีสิทธิบังคับคดีแก่จำเลยทั้งสองอีกต่อไป กรณีไม่มีเหตุอนุญาตให้ผู้ร้องเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแทนโจทก์ ส่วนฉบับที่สอง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งจำหน่ายคดี โดยมิได้วินิจฉัยในเนื้อหาแห่งคดีเนื่องจากผู้ร้องทิ้งคำร้อง คำสั่งศาลชั้นต้นทั้งสองคำสั่งดังกล่าวถือไม่ได้ว่าเป็นคำสั่งยกคำร้องเพราะฟังไม่ได้ว่าผู้ร้องรับโอนสิทธิเรียกร้องจากโจทก์เดิมโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ทั้งคำร้องของผู้ร้องฉบับที่สามอ้างข้อเท็จจริงเพิ่มเติมว่า แม้คดีนี้จะยังไม่มีการบังคับคดีภายใน 10 ปี นับแต่วันมีคำพิพากษาหรือคำสั่งก็ตาม แต่ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้เข้าสวมสิทธิแทนโจทก์เดิมยังมีสิทธิจะได้รับชำระหนี้ในฐานะผู้รับจำนองตาม ป.พ.พ. มาตรา 745 การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องฉบับที่สามนี้ จึงเป็นการร้องขอเข้าสวมสิทธิในฐานะผู้รับจำนอง ถือว่าการร้องขอเข้าสวมสิทธิของผู้ร้องในฉบับที่สามนี้เป็นการร้องขอเข้าสวมสิทธิโดยอาศัยเหตุที่มาคนละเหตุกัน ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยตามคำร้องฉบับที่สามจึงอาศัยเหตุที่ต้องวินิจฉัยแตกต่างจากคำร้องฉบับแรก การยื่นคำร้องฉบับที่สามของผู้ร้องจึงไม่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ ไม่ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144 วรรคหนึ่ง
การที่โจทก์เดิมไม่บังคับคดีภายในกำหนดสิบปีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 (เดิม) ก็มีผลเพียงทำให้โจทก์เดิมหมดสิทธิบังคับคดีในคดีดังกล่าวแต่ไม่เป็นเหตุให้หนี้จำนองระงับสิ้นไป ทรัพยสิทธิจำนองยังคงมีอยู่และสามารถใช้ยันต่อลูกหนี้จำนองหรือต่อบุคคลภายนอกที่รับโอนทรัพย์สินจำนองนั้นต่อไปได้ แต่ทั้งนี้โจทก์เดิมจะบังคับดอกเบี้ยเกินกว่าห้าปีไม่ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 745 ประกอบกับการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาย่อมไม่กระทบกระเทือนถึงบุริมสิทธิของผู้รับจำนองซึ่งอาจร้องขอให้บังคับคดีเหนือทรัพย์นั้นได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 287 (เดิม) เมื่อผู้ร้องเป็นผู้รับโอนสิทธิการรับจำนอง ผู้ร้องจึงมีสิทธิร้องขอสวมสิทธิแทนโจทก์เดิมได้
การที่โจทก์เดิมไม่บังคับคดีภายในกำหนดสิบปีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 (เดิม) ก็มีผลเพียงทำให้โจทก์เดิมหมดสิทธิบังคับคดีในคดีดังกล่าวแต่ไม่เป็นเหตุให้หนี้จำนองระงับสิ้นไป ทรัพยสิทธิจำนองยังคงมีอยู่และสามารถใช้ยันต่อลูกหนี้จำนองหรือต่อบุคคลภายนอกที่รับโอนทรัพย์สินจำนองนั้นต่อไปได้ แต่ทั้งนี้โจทก์เดิมจะบังคับดอกเบี้ยเกินกว่าห้าปีไม่ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 745 ประกอบกับการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาย่อมไม่กระทบกระเทือนถึงบุริมสิทธิของผู้รับจำนองซึ่งอาจร้องขอให้บังคับคดีเหนือทรัพย์นั้นได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 287 (เดิม) เมื่อผู้ร้องเป็นผู้รับโอนสิทธิการรับจำนอง ผู้ร้องจึงมีสิทธิร้องขอสวมสิทธิแทนโจทก์เดิมได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4977/2563
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ฟ้องซ้ำ-สิทธิบังคับจำนอง: คดีถึงที่สุดแล้ว แม้หนี้ไม่ระงับ สิทธิยังคงมี แต่ฟ้องซ้ำไม่ได้
เดิมธนาคาร น. เป็นโจทก์ฟ้องเรียกให้จำเลยชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืมและสัญญาจำนองอันเป็นการใช้สิทธิในฐานะเจ้าหนี้สามัญและเจ้าหนี้จำนองเต็มตามสิทธิที่ธนาคาร น. มีอยู่ ต่อมาศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระหนี้พร้อมดอกเบี้ยแก่ธนาคาร น. และให้ธนาคาร น. มีสิทธิบังคับจำนองเอาแก่ห้องชุดทรัพย์จำนองได้โดยให้นําออกขายทอดตลาดนําเงินมาชำระหนี้ หากได้เงินไม่พอ ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยบังคับชำระหนี้ หลังจากนั้นธนาคาร น. โอนสิทธิเรียกร้องที่มีต่อจำเลยให้แก่บริษัท บ. และบริษัท บ.โอนสิทธิเรียกร้องที่มีต่อจำเลยให้แก่โจทก์อีกทอดหนึ่ง และศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้โจทก์เข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแทนธนาคาร น. เมื่อในคดีก่อนโจทก์มิได้ร้องขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษาจนล่วงพ้นระยะเวลา 10 ปี ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 (เดิม) โจทก์จึงสิ้นสิทธิที่จะบังคับคดีตามคำพิพากษาต่อไป แต่โจทก์นำคดีมาฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้อีก ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า การที่โจทก์ในฐานะผู้สืบสิทธิของธนาคาร น. โจทก์ในคดีก่อน นําคดีมาฟ้องจำเลยในคดีนี้อีก ถือว่าโจทก์และจำเลยคดีนี้เป็นคู่ความเดียวกับโจทก์และจำเลยในคดีก่อน เมื่อคดีก่อนศาลได้วินิจฉัยชี้ขาดให้โจทก์ได้รับชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินและให้มีสิทธิบังคับจำนองห้องชุดทรัพย์จำนองเต็มตามสิทธิของโจทก์ และคดีถึงที่สุดแล้ว การที่โจทก์มาฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ขอให้บังคับจำเลยไถ่ถอนทรัพย์จำนองเดียวกันอีก คดีนี้จึงมีประเด็นเดียวกับคดีก่อนว่า โจทก์มีสิทธิบังคับจำนองทรัพย์จำนองหรือไม่ เป็นการรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน ฟ้องโจทก์จึงเป็นฟ้องซ้ำตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148 ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 7 แต่อย่างไรก็ตามไม่ปรากฏว่าหนี้จำนองห้องชุดพิพาทได้ระงับสิ้นไป สิทธิของโจทก์ในฐานะเจ้าหนี้ผู้รับจำนองห้องชุดพิพาทจึงยังคงมีอยู่และใช้ยันต่อลูกหนี้จำนองหรือต่อบุคคลภายนอกที่รับโอนทรัพย์จำนองต่อไปได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 319/2561
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การชำระหนี้บางส่วนโดยผู้ค้ำประกัน ไม่ปลดหนี้ลูกหนี้ชั้นต้นและผู้ค้ำประกันรายอื่น
ป.พ.พ. บรรพ 2 หมวด 5 ความระงับแห่งหนี้ ส่วนที่ 1 ถึงส่วนที่ 5 บัญญัติให้หนี้เป็นอันระงับไปต่อเมื่อได้มีการชำระหนี้ มีการปลดหนี้ มีการหักกลบลบหนี้ มีการแปลงหนี้ใหม่หรือหนี้เกลื่อนกลืนกัน การที่โจทก์ยอมรับชำระหนี้เพียงบางส่วนจาก บ. ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกัน ย่อมเป็นประโยชน์แก่โจทก์เฉพาะเท่าที่ปลดหนี้ให้ บ. เท่านั้น เมื่อการชำระหนี้นั้นยังไม่ครบจำนวน ทั้งไม่ปรากฏเหตุอื่นที่อาจทำให้หนี้ดังกล่าวทั้งหมดระงับสิ้นไป แต่ยังมีหนี้ที่โจทก์เรียกให้จำเลยที่ 1 ชำระอีก การที่โจทก์ยอมรับชำระหนี้บางส่วนจาก บ. เป็นเพียงโจทก์ยอมรับชำระหนี้บางส่วนจากผู้ค้ำประกัน เมื่อยังมีหนี้ส่วนที่เหลือ จำเลยที่ 1 ลูกหนี้ชั้นต้นต้องรับผิดต่อเจ้าหนี้จนครบจำนวน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 685 จำเลยที่ 1 จึงไม่อาจหลุดพ้นจากความรับผิดไปกับ บ. ด้วย สำหรับจำเลยที่ 2 ซึ่งมีฐานะเป็นผู้ค้ำประกันเช่นเดียวกับ บ. เมื่อได้ความว่า ทั้งจำเลยที่ 2 และ บ. ต่างทำสัญญาค้ำประกันหนี้รายเดียวกันย่อมต้องรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ตาม ป.พ.พ. มาตรา 682 วรรคสอง เมื่อบทบัญญัติในลักษณะค้ำประกันมิได้กำหนดความรับผิดของผู้ค้ำประกันที่มิได้ค้ำประกันร่วมกัน แต่ต้องรับผิดร่วมกันดังกล่าวไว้จึงต้องใช้หลักทั่วไป ตาม ป.พ.พ. มาตรา 229, 293 และ 296 แม้โจทก์จะยอมรับการชำระหนี้และปลดหนี้ให้ บ. คงเป็นประโยชน์แก่โจทก์เพียงเท่าส่วนของ บ. ชำระให้โจทก์และที่ปลดไป ซึ่งทำให้โจทก์ไม่อาจใช้สิทธิไล่เบี้ยเอาจากจำเลยที่ 2 ในส่วนที่ปลดไปได้เท่านั้น หาทำให้จำเลยที่ 2 หลุดพ้นจากความรับผิดในหนี้ส่วนที่เหลือไม่ เมื่อได้ความว่า บ. ชำระหนี้ให้โจทก์ไปเพียง 4,050,000 บาท ยังไม่ครบตามภาระหนี้ที่จำเลยทั้งสองมีต่อโจทก์ จำเลยทั้งสองต้องรับผิดต่อโจทก์ตามจำนวนยอดหนี้ที่ค้างชำระในต้นเงิน ดอกเบี้ยและเบี้ยปรับ