พบผลลัพธ์ทั้งหมด 3 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7688/2542
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การอุทธรณ์คำสั่งที่ไม่รับอุทธรณ์คดี และหน้าที่การปฏิบัติตามมาตรา 234 ว.พ.พ. แม้ยังไม่ได้อุทธรณ์คำพิพากษา
แม้จำเลยจะอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้พิจารณาคดีใหม่ มิได้อุทธรณ์คำพิพากษาก็ตาม หากศาลอุทธรณ์มีคำสั่งให้พิจารณาคดีใหม่คำพิพากษาของศาลชั้นต้นย่อมจะถูกยกไปในตัว ดังนั้น เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์คำขอให้พิจารณาคดีใหม่หากจำเลยยังประสงค์จะอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นจำเลยก็ต้องปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 234โดยต้องนำเงินมาชำระตามคำพิพากษาหรือหาประกันให้ต่อศาลภายในกำหนดสิบห้าวันนับแต่วันที่ศาลได้มีคำสั่ง หาใช่ไม่ต้องนำเงินมาชำระหรือประกันให้ไว้ต่อศาลไม่แต่เมื่อจำเลยได้ยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่รับอุทธรณ์ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเพียงว่า "รับอุทธรณ์คำสั่ง สำเนาให้โจทก์แก้" โดยที่มิได้สั่งเกี่ยวกับเรื่องที่จำเลยไม่วางเงินหรือหาประกันมาวางเพื่อชำระหนี้ตามคำพิพากษา จึงมีเหตุน่าเชื่อว่าจำเลยไม่มีเจตนาหลีกเลี่ยงหรือฝ่าฝืนที่จะไม่ปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 234 ศาลชอบที่จะมีคำสั่งให้จำเลยปฏิบัติตามบทกฎหมายดังกล่าวให้ถูกต้องเสียก่อนยังไม่ควรด่วนยกคำร้องอุทธรณ์คำสั่งของจำเลยเสีย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1043/2541
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
เงินทดแทนกรณีเสียชีวิตจากการทำงาน: ผลกระทบจากการยกเลิกกฎหมายเดิม และหน้าที่ปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าหน้าที่
พระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2537 เป็นต้นไป เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2538 ป.บุตรโจทก์ที่ 1และเป็นบิดาโจทก์ที่ 2 และที่ 3 ถึงแก่ความตายเนื่องจากการทำงานให้จำเลยผู้เป็นนายจ้างปัญหาว่าจำเลยจะต้องรับผิดจ่ายเงินทดแทนให้แก่โจทก์หรือไม่ จึงต้องพิจารณาจากบทบัญญัติของพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537 เนื่องจากพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537 มาตรา 3 ให้ยกเลิกข้อ 2(6) และข้อ 3 แห่งประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 103ลงวันที่ 16 มีนาคม 2515 ซึ่งเกี่ยวกับเงินทดแทน การที่ศาลแรงงานวินิจฉัยว่าลักษณะงานที่จำเลยจ้าง ป.ทำในคดีนี้เป็นงานเกษตรกรรมที่มิได้จ้าง ป. ให้ทำงานตลอดปีและไม่มีงานอื่นรวมอยู่ด้วย กรณีจึงมิได้อยู่ในบังคับของกฎหมายคุ้มครองแรงงานตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 103 ลงวันที่ 16 มีนาคม 2515 จำเลยไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสาม เมื่อเป็นการนำกฎหมายในส่วนที่ถูกยกเลิกไปแล้วมาบังคับ คำวินิจฉัยของศาลแรงงานดังกล่าวย่อมไม่ชอบข้อนี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาเห็นสมควรยกขึ้นวินิจฉัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(5),246ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 มาตรา 31 เมื่อปัญหาว่าจำเลยต้องปฏิบัติตามคำสั่งพนักงานเจ้าหน้าที่ เรื่องเงินทดแทน เพราะจำเลยมิได้นำคดีไปสู่ศาลแรงงานภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนเป็นที่สุดตามอุทธรณ์โจทก์ทั้งสามหรือไม่นั้น เป็นข้อเท็จจริงซึ่งศาลแรงงานต้องวินิจฉัยในประเด็นที่ว่า จำเลยได้รับแจ้งผลการพิจารณาอุทธรณ์ของคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนแล้วหรือไม่เสียก่อนเมื่อศาลแรงงานยังมิได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงดังกล่าวมาจึงไม่มีข้อเท็จจริงที่ศาลฎีกาจะวินิจฉัยข้อกฎหมายตามอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสาม จึงให้ย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานวินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทดังกล่าว ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 243 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31,56 วรรคสอง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9403-9495/2538
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ข้อตกลงสภาพการจ้างโดยปริยาย การเปลี่ยนแปลงเงื่อนไข และหน้าที่ปฏิบัติตามข้อตกลง
การตกลงอันจะก่อให้เกิดสัญญาจ้างแรงงานซึ่งรวมถึงข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างนั้นหาได้จำต้องเฉพาะการตกลงโดยชัดแจ้งไม่อาจมีการตกลงโดยปริยายก็ได้ จำเลยเคยจ่ายเงินพิเศษแก่ลูกจ้างปีละ15วันแล้วได้เปลี่ยนมาเป็นการจ่ายคูปองค่าอาหารเดือนละ190บาทแทนลูกจ้างของจำเลยหาได้ทักท้วงหรือโต้แย้งคัดค้านประการใดไม่ตรงกันข้ามกลับยอมรับเอาผลการเปลี่ยนแปลงโดยยอมรับเอาคูปองค่าอาหารแทนเงินพิเศษตลอดมาจึงมีผลผูกพันจำเลยและลูกจ้าง จำเลยผู้เป็นนายจ้างจ่ายคูปองค่าอาหารให้แก่ลูกจ้างคนละ190บาทต่อเดือนนั้นคูปองค่าอาหารที่จ่ายให้มีลักษณะเป็นสวัสดิการอันเป็นสภาพการจ้างอย่างหนึ่งเมื่อลูกจ้างยอมรับเอาและจำเลยก็ได้จ่ายคูปองค่าอาหารให้แก่ลูกจ้างตลอดมาจึงเป็นข้อตกลงระหว่างจำเลยผู้เป็นนายจ้างกับลูกจ้างเกี่ยวกับสภาพการจ้างมีผลเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์พ.ศ.2518บัญญัติให้ทำเป็นหนังสือมี2กรณี คือกรณีแรกข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่สถานประกอบกิจการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ยี่สิบคนขึ้นไปจะต้องจัดให้มีตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา10วรรคแรกซึ่งข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างในกรณีนี้จะต้องมีข้อความดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา11ส่วนกรณีที่สองข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่เกิดจากการแจ้งข้อเรียกร้องของนายจ้างหรือลูกจ้างและสามารถตกลงกันได้ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา18ซึ่งข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างดังกล่าวนอกจากจะต้องทำเป็นหนังสือแล้วนายจ้างหรือผู้แทนนายจ้างและผู้แทนลูกจ้างหรือกรรมการของสหภาพแรงงานแล้วแต่กรณีจะต้องลงลายมือชื่อและต้องนำไปจดทะเบียนอีกด้วย จำเลยผู้เป็นนายจ้างตกลงจ่ายคูปองค่าอาหารโดยมิได้มีการแจ้งข้อเรียกร้องและมิใช่ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่นายจ้างต้องจัดให้มีตามกฎหมายจึงไม่จำต้องทำเป็นหนังสือดังนี้จำเลยจะยกเบิกการจ่ายคูปองค่าอาหารซึ่งเป็นการแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างโดยที่มิได้มีการแจ้งข้อเรียกร้องแก่ลูกจ้างตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์พ.ศ.2518มาตรา13หาได้ไม่ ที่จำเลยอุทธรณ์ว่าก่อนที่จำเลยจะยกเลิกจ่ายคูปองค่าอาหารจำเลยได้ตกลงกับตัวแทนลูกจ้างแล้วนั้นเป็นการโต้เถียงข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานฟังมาว่าไม่ได้มีการเจรจาสองฝ่ายให้ยกเลิกการจ่ายคูปองค่าอาหารอุทธรณ์ของจำเลยดังกล่าวเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ.2522มาตรา54 จำเลยผู้เป็นนายจ้างจ่ายเงินโบนัสและคูปองค่าอาหารให้แก่ลูกจ้างแยกต่างหากจากกันแม้จำเลยจะเพิ่มเงินโบนัสแก่ลูกจ้างแต่การที่จำเลยยกเลิกการจ่ายคูปองอาหารอันเป็นผลให้ลูกจ้างไม่ได้รับคูปองอาหารย่อมไม่เป็นคุณแก่ลูกจ้างจำเลยจะแก้ไขยกเลิกโดยลำพังโดยที่มิได้ดำเนินการตามมาตรา13แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์พ.ศ.2518หาได้ไม่ คำพิพากษาศาลแรงงานกล่าวไว้ในส่วนของคำวินิจฉัยว่าจำเลยต้องจ่ายค่าอาหารแก่โจทก์แต่พิพากษาให้จำเลยจ่ายอาหารแก่โจทก์นั้นเป็นข้อผิดพลาดเล็กน้อยและเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างจำเลยตกลงจ่ายคูปองค่าอาหารแก่ลูกจ้างเดือนละ190บาทซึ่งจำเลยมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามแม้จะไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ในประเด็นข้อนี้ศาลฎีกาเห็นสมควรเพื่อความเป็นธรรมแก่คู่ความจึงให้จำเลยปฏิบัติตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างจ่ายคูปองค่าอาหารเดือนละ190บาทแก่โจทก์ทุกคน