คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
หักค่าใช้จ่าย

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 29 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6220/2549 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิหักค่าใช้จ่ายภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา: ผู้เสียภาษีมีสิทธิเลือกหักค่าใช้จ่ายจากเงินได้ประเภทใดประเภทหนึ่งเต็มจำนวนได้
ป.รัษฎากรฯ มาตรา 42 ทวิ เป็นบทบัญญัติให้สิทธิแก่ผู้มีเงินได้พึงประเมินที่จะได้รับประโยชน์ในการหักค่าใช้จ่ายจากเงินได้ของตน ทั้งที่เป็นเงินได้เนื่องจากการจ้างแรงงานไม่ว่าจะเป็นเงินเดือน ค่าจ้าง ตามมาตรา 40 (1) และเงินได้เนื่องจากหน้าที่หรือตำแหน่งงานที่ทำหรือจากการรับทำงานให้ไม่ว่าจะเป็นค่านายหน้า เบี้ยประชุม ตามมาตรา 40 (2) โดยยอมให้หักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาได้ร้อยละ 40 แต่จะหักค่าใช้จ่ายจากเงินได้ทั้งสองประเภทดังกล่าวรวมกันได้ไม่เกิน 60,000 บาท โดยมิได้กำหนดหลักเกณฑ์และรายละเอียดเป็นการบังคับว่าต้องหักจากเงินได้พึงประเมินประเภทใด ในสัดส่วนเท่าใด หรือต้องถัวเฉลี่ยกันอย่างไร ดังนี้ จึงหาใช่ว่ากรณีมีเงินได้พึงประเมินทั้งสองประเภทจะต้องถัวเฉลี่ยกันดังที่จำเลยเข้าใจและยึดเป็นแนวปฏิบัติไม่ เมื่อกฎหมายเปิดช่องไว้เช่นนี้จึงเท่ากับมอบอำนาจในการตัดสินใจให้แก่ผู้มีเงินได้พึงประเมินว่าควรเลือกหักค่าใช้จ่ายในเงินได้ประเภทใดอย่างไร ในกรณีที่ผู้นั้นมีเงินได้พึงประเมินที่อาจหักค่าใช้จ่ายได้ทั้งสองประเภท ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์ในการบรรเทาภาระภาษีตามเจตนารมณ์ของกฎหมายในส่วนนี้ ดังเช่นกรณีที่โจทก์เลือกหักค่าใช้จ่ายจากเงินได้ตามมาตรา 40 (1) เต็มจำนวน 60,000 บาท ตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 42 ทวิ วรรคหนึ่ง เพียงประเภทเดียว ไม่ประสงค์จะหักค่าใช้จ่ายตามสิทธิจากเงินได้ในมาตรา 40 (2) ซึ่งสามีโจทก์มีหน้าที่และความรับผิดชอบในการยื่นรายการและเสียภาษีในส่วนเงินได้พึงประเมินของโจทก์ผู้เป็นภริยาตามความในมาตรา 57 ตรี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6220/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิการหักค่าใช้จ่ายภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ผู้มีเงินได้เลือกหักจากประเภทใดก็ได้ตามกฎหมาย
ป.รัษฎากร มาตรา 42 ทวิ เป็นบทบัญญัติให้สิทธิแก่ผู้มีเงินได้พึงประเมินที่จะได้รับประโยชน์ในการหักค่าใช้จ่ายจากเงินได้ของตน ทั้งที่เป็นเงินได้เนื่องจากการจ้างแรงงานตามมาตรา 40 (1) และเงินได้เนื่องจากหน้าที่หรือตำแหน่งงานที่ทำหรือจากการรับทำงานให้ตามมาตรา 40 (2) โดยยอมให้หักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาได้ร้อยละ 40 แต่จะหักค่าใช้จ่ายจากเงินได้ทั้งสองประเภทรวมกันได้ไม่เกิน 60,000 บาท โดยมิได้กำหนดหลักเกณฑ์และรายละเอียดเป็นการบังคับว่าต้องหักจากเงินได้พึงประเมินประเภทใด ในสัดส่วนเท่าใด หรือต้องถัวเฉลี่ยกันอย่างไร ผู้มีเงินได้พึงประเมินจึงมีสิทธิที่จะเลือกว่าควรหักค่าใช้จ่ายจากเงินได้ประเภทใด จำนวนเท่าใด ในกรณีที่มีเงินได้พึงประเมินที่อาจหักค่าใช้จ่ายได้ทั้งสองประเภทเพื่อประโยชน์ในการบรรเทาภาระภาษีของตน ดังนั้น กรณีที่โจทก์แยกยื่นรายการและเสียภาษีต่างหากจากสามีตามมาตรา 57 เบญจ เฉพาะส่วนที่เป็นเงินได้พึงประเมินประเภทเงินเดือนตามมาตรา 40 (1) โดยมีเงินได้พึงประเมินอื่นด้วย โจทก์จึงมีสิทธิเลือกหักค่าใช้จ่ายจากเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) ประเภทเดียวเต็มจำนวน 60,000 บาท ตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 42 ทวิ วรรคหนึ่ง ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3668/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจศาลภาษีในการขยายเวลาฟ้องคดี และการหักค่าใช้จ่ายทางภาษีตามหลักเกณฑ์สิทธิ
ระยะเวลา 30 วัน ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 30 (2) เป็นระยะเวลาที่เกี่ยวด้วยวิธีพิจารณาความแพ่ง อันกำหนดไว้ใน ป.รัษฎากร ตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร มาตรา 17 ประกอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 23 ดังนั้น เมื่อศาลภาษีอากรกลางเห็นว่าคำร้องของโจทก์ที่ขอขยายระยะเวลามีพฤติการณ์พิเศษ ศาลภาษีอากรกลางย่อมมีอำนาจที่จะอาศัยบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวอนุญาตให้โจทก์ขยายระยะเวลายื่นฟ้องจำเลยออกไปได้
โจทก์สามารถเพิ่มทุนได้ด้วยการออกหุ้นใหม่ โดยมติพิเศษของที่ประชุมผู้ถือหุ้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1220 เมื่อมีมติพิเศษให้เพิ่มทุนแล้ว โจทก์ยังอยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายที่จะต้องไปยื่นคำขอจดทะเบียนเพื่อเพิ่มทุนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1228 ดังนั้น จึงต้องถือว่าวันที่ซึ่งนายทะเบียนรับจดทะเบียนเป็นวันที่โจทก์เพิ่มทุนและรับชำระเต็มมูลค่าหุ้น
โจทก์ยื่นอุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์โต้แย้งว่าจำเลยมิได้หักค่าใช้จ่ายในการ ดำเนินงานและดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ เท่ากับโจทก์อุทธรณ์ว่าเจ้าพนักงานประเมินประเมินไม่ชอบ ไม่นำค่าใช้จ่ายมารวมเป็นต้นทุนขายเพื่อคำนวณกำไรสุทธิ เมื่อปรากฏว่าโจทก์ได้ส่งหลักฐานรายจ่ายในชั้นพิจารณาอุทธรณ์ทั้งเจ้าหน้าที่พิจารณาอุทธรณ์และคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ต่างมิได้โต้แย้งหรือปฏิเสธความถูกต้องของเอกสารนั้น จึงเชื่อได้ว่าเอกสารดังกล่าวแสดงรายจ่ายอันแท้จริงของโจทก์ เมื่อจำเลยไม่นำค่าใช้จ่ายตามรายการดังกล่าวไปหักให้ย่อมเป็นการไม่ชอบ การประเมินภาษีเงินได้และคำวินิจฉัยอุทธรณ์จึงไม่ถูกต้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2166/2544 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เงินค่าเสียหายจากการผิดสัญญาเป็นเงินได้พึงประเมิน การหักค่าใช้จ่ายต้องมีเหตุผลความเชื่อมโยงโดยตรงกับรายได้
โจทก์ที่ 2 ฟ้องบริษัท ค. ขอให้ชำระค่าเสียหายจากการผิดสัญญาจะซื้อขายที่ดิน ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความโดยบริษัท ค. ยอมชำระเงินจำนวน 48 ล้านบาทให้แก่โจทก์ที่ 2 เงินดังกล่าวเป็นค่าเสียหายจากการผิดสัญญาถือเป็นเงินได้พึงประเมิน ตามมาตรา 40 (8)
ค่าใช้จ่ายที่โจทก์ที่ 2 ชำระไปไม่เกี่ยวกับการจะซื้อจะขายที่ดินดังกล่าว จึงมิใช่รายจ่ายเพื่อกิจการโดยเฉพาะ ไม่อาจนำมาหักเป็นค่าใช้จ่ายได้ ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 46 และ พ.ร.ฎ.ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการกำหนดค่าใช้จ่ายที่ยอมให้หักจากเงินได้พึงประเมิน (ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2502 มาตรา 8 ทวิ ซึ่งให้นำ ป.รัษฎากร มาตรา 65 ตรี มาใช้บังคับโดยอนุโลม
ค่าภาษีอากรที่คณะบุคคลชำระแก่จำเลย แม้โจทก์ที่ 2 จะเป็นผู้จัดการของคณะบุคคลและต้องรับผิดชอบในเงินภาษีอากรของคณะบุคคลด้วย ก็ไม่อาจถือได้ว่าเงินภาษีที่คณะบุคคลชำระดังกล่าวเป็นของโจทก์ที่ 2 เป็นส่วนตัว โจทก์ทั้งสองไม่อาจนำมาหักกลบลบหนี้กับหนี้ที่โจทก์ทั้งสองจะต้องชำระแก่จำเลยได้
ป.รัษฎากรบัญญัติเกี่ยวกับเงินเพิ่มไว้เป็นจำนวนแน่นอนมิได้ให้ดุลพินิจศาลงดหรือลดลงได้เช่นเบี้ยปรับ จึงไม่อาจงดหรือลดลงได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2166/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ภาษีอากร: การหักค่าใช้จ่ายและสิทธิในการขอคืนภาษี ต้องเป็นไปตามกฎหมายกำหนด
โจทก์ที่ 2 มิได้ร่วมลงทุนกับผู้อื่นซื้อที่ดิน เงินที่โจทก์ที่ 2ได้รับ 48,000,000 บาท เนื่องจากผู้ขายผิดสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินเป็นของโจทก์ที่ 2 แต่ผู้เดียว เป็นเงินได้พึงประเมินตามประมวลรัษฎากร มาตรา 40(8) การหักค่าใช้จ่ายต้องเป็นไปตามมาตรา 46 ซึ่งให้นำมาตรา 65 ตรี มาใช้บังคับด้วยเงินจำนวน 7,570,000 บาท ที่โจทก์ที่ 2 จ่ายให้แก่ ส.กับพวกเป็นค่าใช้จ่ายที่เป็นค่าเสียหายจัดสรรคืน ซึ่งไม่เกี่ยวกับการจะซื้อจะขายที่ดินอันเป็นผลให้โจทก์ที่ 2 ได้รับเงิน48,000,000 บาท มิใช่รายจ่ายเพื่อกิจการโดยเฉพาะไม่อาจนำมาหักเป็นค่าใช้จ่ายได้ตามมาตรา 46 ประกอบมาตรา 65 ตรี
คณะบุคคลชำระเงินภาษีอากรจำนวน 5,857,461 บาท แก่กรมสรรพากรจำเลยไปแล้ว แม้โจทก์ที่ 2 จะเป็นผู้จัดการของคณะบุคคลและต้องรับผิดชอบในเงินจำนวนดังกล่าวด้วย ก็ไม่อาจถือได้ว่าเงินจำนวนดังกล่าวเป็นของโจทก์ที่ 2 เป็นส่วนตัวโจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นสามีภริยาไม่อาจนำมาหักกลบลบหนี้กับหนี้ที่โจทก์ทั้งสองจะต้องชำระแก่จำเลยได้
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 มาตรา 7(3) ประกอบมาตรา 9 กำหนดให้ผู้จะฟ้องขอคืนค่าภาษีอากรที่ชำระไปจะต้องยื่นคำร้องต่อกรมสรรพากรจำเลยเพื่อสั่งคืนตามหลักเกณฑ์วิธีการและภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้เสียก่อน ถ้าจำเลยไม่ยอมคืนจึงจะนำคดีมาฟ้องต่อศาลได้ เมื่อโจทก์ยังมิได้ดำเนินการดังกล่าว โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องให้จำเลยคืนค่าภาษีอากรแก่โจทก์ ไม่ว่าโจทก์จะถูกโต้แย้งสิทธิแล้วหรือไม่ก็ตาม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3613/2540

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การยื่นขอชำระภาษีล่าช้าและสิทธิในการหักค่าใช้จ่าย: หลักเกณฑ์และขอบเขต
ปัญหาว่า การที่โจทก์ยื่นแบบขอชำระภาษีอากรตามประกาศ กระทรวงการคลัง เรื่อง ขยายเวลายื่นรายการการชำระภาษีอากรหรือนำส่งภาษีอากรตามประมวลรัษฎากรลงวันที่ 28 พฤศจิกายน 2534 แล้วทำให้โจทก์ไม่ต้องรับผิดชำระเบี้ยปรับและเงินเพิ่มแก่จำเลยที่ 1หรือไม่นั้น โจทก์ได้ยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องเพื่อเพิ่มเติมปัญหาดังกล่าวขึ้นเป็นประเด็นในศาลภาษีอากรกลางแม้ศาลภาษีอากรกลางได้ยกคำร้องดังกล่าวของโจทก์ไปแล้วก็ตามแต่เมื่อปรากฏว่าเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2539กระทรวงการคลังได้มีประกาศ เรื่อง ขยายเวลายื่นรายการการชำระภาษีอากรหรือนำส่งภาษีอากรตาม ประมวลรัษฎากรเพื่อให้โอกาสผู้มีหน้าที่เสียภาษีอากรที่ได้ยื่นรายการและชำระภาษีอากรไว้ไม่ครบถ้วนได้ยื่นรายการเพื่อเสียภาษีอากรให้ถูกต้องตามแบบชำระภาษีอากรที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด และโจทก์ได้ยื่นแบบขอชำระภาษีอากรดังกล่าวแล้ว คดีจึงมีปัญหาข้อกฎหมายที่จะต้องวินิจฉัยว่า การที่โจทก์ยื่นแบบขอชำระภาษีอากรดังกล่าวทำให้โจทก์ไม่ต้องรับผิดชำระเบี้ยปรับและเงินเพิ่มในคดีนี้ต่อจำเลยที่ 1 หรือไม่ ซึ่งเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จะเป็นปัญหาที่ศาลภาษีอากรกลางมิได้ยกเป็นประเด็นขึ้นวินิจฉัยมาก่อนก็ตาม โจทก์ย่อมมีสิทธิยกปัญหาดังกล่าวขึ้นในชั้นอุทธรณ์ได้ ตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคสอง ประกอบด้วย พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 มาตรา 29 ตามประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง ขยายเวลายื่นรายการ ชำระภาษีอากรหรือนำส่งภาษีอากรตาม ประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 28 พฤศจิกายน 2534 ข้อ 2 นั้น ผู้ยื่นขอ ชำระภาษีอากรตามประกาศกระทรวงการคลังจะได้รับผลประโยชน์โดยไม่ต้องเสียเบี้ยปรับหรือเงินเพิ่มเฉพาะภาษีอากรส่วนที่ชำระหรือนำส่งนั้นเท่านั้นแต่ในกรณีของโจทก์คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์คงเรียกเก็บเงินเพิ่มสำหรับการประเมินภาษีในปี 2528(ครึ่งปี) และปี 2529(ครึ่งปี) และสำหรับปี 2529 คงเรียกเก็บเบี้ยปรับร้อยละ50 ส่วนเงินเพิ่มเป็นไปตามที่เจ้าพนักงานประเมินทำการประเมินเรียกเก็บ เบี้ยปรับและเงินเพิ่มที่เรียกเก็บจากโจทก์จึงเป็นเบี้ยปรับและเงินเพิ่มจากภาษีอากรที่โจทก์ยังคงยื่นเสียไว้ไม่ครบถ้วนจากการที่โจทก์ยื่นขอชำระภาษีไว้ดังกล่าวแล้วหาใช่เบี้ยปรับและเงินเพิ่มสำหรับภาษีอากรส่วนที่โจทก์ได้ชำระไว้ตามประกาศกระทรวงการคลังดังกล่าวไม่ ตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการกำหนดค่าใช้จ่ายที่ยอมให้หักจากเงินได้พึงประเมิน(ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2502 มาตรา 8(5) ประกอบด้วยพระราชกฤษฎีกาออกตามความใน ประมวลรัษฎากรว่าด้วยการกำหนดค่าใช้จ่ายที่ยอมให้หักจากเงินได้พึงประเมิน(ฉบับที่ 70) พ.ศ. 2520 มาตรา 4 การประกอบกิจการของโจทก์ยอมให้หักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาร้อยละ 70แต่ถ้าโจทก์แสดงหลักฐานต่อเจ้าพนักงานประเมินและพิสูจน์ได้ว่ามีค่าใช้จ่ายมากกว่านั้น ก็ยอมให้หักค่าใช้จ่ายตามความจำเป็นและสมควร แต่ถ้าตามหลักฐานที่นำมาพิสูจน์นั้นมีรายจ่ายที่หักได้ตามกฎหมายน้อยกว่าอัตราค่าใช้จ่ายที่กำหนดดังกล่าว ก็ให้ถือว่ามีค่าใช้จ่ายเพียงเท่าหลักฐานที่นำมาพิสูจน์ และตามประมวลรัษฎากร มาตรา 40(8)เงินได้พึงประเมินของโจทก์เป็นเงินได้จากการประกอบธุรกิจของโจทก์ทั้งหมดก่อนหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนตามกฎหมาย เมื่อหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนตามกฎหมายแล้วจึงเป็นเงินได้สุทธิที่จะนำไปคำนวณเสียภาษีตามประมวลรัษฎากร มาตรา 48 ดังนั้น การคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในกรณีนี้ต้องเริ่มมาจากเงินได้จากการประกอบธุรกิจของโจทก์ทั้งหมดก่อน แล้วจึงนำค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนตามกฎหมายมาหักออก มิใช่คำนวณมาจากกำไรสุทธิ สำหรับค่าใช้จ่ายนั้นเมื่อโจทก์ไม่นำค่าใช้จ่ายเหมาจ่ายที่กฎหมายกำหนดไว้มาหัก แต่จะหักตามความจำเป็นและสมควร โจทก์ก็มีหน้าที่จะต้องนำหลักฐานมาพิสูจน์ การที่โจทก์นำสืบอ้างว่าโจทก์มีกำไรจากการประกอบกิจการร้อยละ 10 นั้น ไม่เพียงพอจะถือว่ากำไรร้อยละ 10 ของโจทก์นั้นเป็นเงินได้สุทธิที่จะนำมาคำนวณเสียภาษี เมื่อโจทก์ไม่นำหลักฐานมาพิสูจน์ให้เห็นว่ารายได้ทั้งหมดของโจทก์จะต้องมีรายจ่ายที่จะหักได้ตามกฎหมาย เป็นอะไรบ้าง จำนวนเท่าใด โจทก์ต้องการให้หักค่าใช้จ่ายอีกเท่าใด การที่เจ้าพนักงานประเมินและคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์พิจารณาหักค่าใช้จ่ายให้เท่าที่ตรวจพบจึงเป็นการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ที่ชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1809/2540 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประเมินภาษี การหักค่าใช้จ่าย และการอุทธรณ์คำวินิจฉัยของเจ้าพนักงานประเมินภายใต้กฎหมายภาษีอากร
รายจ่ายส่วนลดที่โจทก์อ้าง ผู้ซื้อที่ดินชำระเกินมาเนื่องจากที่ดินมีเนื้อที่น้อยกว่าที่ตกลงไว้ในสัญญานั้น โจทก์ไม่มีหลักฐานการจ่ายเงินส่วนลดประกอบการลงบัญชีโดยให้ผู้รับส่วนลดเซ็นชื่อเป็นหลักฐานประกอบ จึงต้องฟังว่ารายจ่ายดังกล่าวโจทก์กำหนดขึ้นเองโดยไม่มีการจ่ายจริง ต้องห้ามมิให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิตาม ป.รัษฎากร มาตรา 65 ตรี (9)
รายจ่ายส่วนตัวของหุ้นส่วนผู้จัดการ และของบริษัทในเครือรวมทั้งหุ้นส่วนอื่น ๆ เป็นรายจ่ายที่ไม่เกี่ยวกับกิจการของโจทก์เนื่องจากเป็นรายจ่ายของบุคคลอื่น จึงมิใช่รายจ่ายเพื่อหากำไรหรือเพื่อกิจการโดยเฉพาะของโจทก์
ส่วนรายจ่ายค่ารับรองเกินสมควรและรายจ่ายค่าธรรมเนียมที่ดินของบุคคลอื่นไม่ใช่รายจ่ายของโจทก์ โจทก์ไม่มีหลักฐานมาพิสูจน์ได้ว่ารายจ่ายดังกล่าวมิใช่รายจ่ายตาม ป.รัษฎากร มาตรา 65 ตรี (3)(4)(9)(13)และ (18) ตามที่จำเลยนำสืบ ข้อเท็จจริงจึงต้องฟังว่า รายจ่ายดังกล่าวเป็นรายจ่ายต้องห้ามตาม ป.รัษฎากร มาตรา 65 ตรี (3) (4) (9) (13)และ (18) ซึ่งโจทก์ได้นำมารวมคำนวณกำไรสุทธิโดยไม่ชอบ
สำหรับรายจ่ายค่าการกุศลที่เกินกว่าร้อยละ 1 ของกำไรสุทธินั้น เมื่อโจทก์ยอมรับว่ารายจ่ายการกุศลเกินกว่าร้อยละ 1 ของกำไรสุทธิจริงข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่ารายจ่ายดังกล่าวต้องห้ามมิให้ถือว่าเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิตาม ป.รัษฎากร มาตรา 65 ตรี (6)
ผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์ได้ให้ถ้อยคำไว้ต่อเจ้าพนักงานประเมินยอมรับว่าค่าจ้างแรงงานลูกจ้างรายวันของโจทก์ในปี 2518 ถึง 2520 นั้น โจทก์ไม่ได้หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายไว้ กับเบิกความยอมรับในชั้นศาลว่า โจทก์คงหักภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากเงินเดือนของลูกจ้างประจำในปี 2518 ถึง 2522 และนำส่งให้แก่จำเลย ส่วนค่าแรงงานลูกจ้างรายวันนั้นโจทก์ไม่ได้หักค่าภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ณ ที่จ่ายไว้ ผู้รับมอบอำนาจของโจทก์จึงยอมให้เจ้าพนักงานประเมินทำการประเมินค่าภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่ายจากค่าแรงงานส่วนนี้ในอัตราร้อยละ 3 เนื่องจากโจทก์ไม่สามารถพิสูจน์ค่าจ้างแรงงานรายวันเป็นรายบุคคลได้ ดังนั้น การที่เจ้าพนักงานประเมินประเมินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย ในอัตราดังกล่าวตามความยินยอมของผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์จึงถือได้ว่า โจทก์พอใจตามการประเมินนั้นแล้ว โจทก์จะกลับมาอุทธรณ์คัดค้านต่อศาลว่า การประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ไม่ชอบขอให้ศาลเพิกถอนการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ในส่วนนี้อีกไม่ได้ และปัญหาดังกล่าวนี้เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.พ.มาตรา 142 (5) ประกอบด้วยมาตรา 246, 247 และ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรกลาง พ.ศ.2528 มาตรา 29
โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการรายรับสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2520 และปี 2522 ไว้เกินไปกว่าจำนวนที่ปรากฏในบัญชี โจทก์จึงไม่ต้องเสียภาษีการค้าในปี 2520 และปี 2522 แต่เจ้าพนักงานประเมินกลับประเมินให้โจทก์เสียเบี้ยปรับ 1 เท่า ของจำนวนภาษีตาม ป.รัษฎากร มาตรา 89 (3)เป็นเงินเบี้ยปรับ 6,405 บาท และเสียเงินเพิ่มตามมาตรา 89 ทวิ เป็นเงินจำนวน128,034.73 บาท จึงเป็นการไม่ชอบเพราะโจทก์ไม่มีจำนวนภาษีการค้าที่ต้องเสียเนื่องจากเหตุเสียคลาดเคลื่อนน้อยไปกว่าจำนวนที่ต้องเสีย สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2522 แล้ว ก็ย่อมจะไม่ต้องรับผิดเสียเงินเพิ่มและเบี้ยปรับอีก เมื่อปรากฏว่าโจทก์ได้นำรายรับตามที่โจทก์ลงไว้ในสมุดเงินสดไปยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีการค้าของเดือนมกราคมถึงเดือนกรกฎาคม 2522 แก่จำเลยไว้แล้ว แต่เจ้าพนักงานประเมินคงตรวจพบแต่เพียงว่า รายรับของโจทก์สำหรับเดือนมกราคมถึงเดือนเมษายน 2522 ตามสมุดเงินสดนั้น คลาดเคลื่อนต่อความจริง กล่าวคือรายรับบางส่วนเป็นรายรับของรอบระยะเวลาบัญชีปี 2521 กรณีเป็นเรื่องที่จะต้องนำรายรับที่โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีคลาดเคลื่อนดังกล่าวไปแก้ไขปรับปรุงรายการในแบบแสดงรายการการค้าของรอบระยะเวลาบัญชีปี 2521แล้วประเมินภาษีการค้า เบี้ยปรับ เงินเพิ่มของรอบระยะเวลาบัญชีปี 2521 หาใช่เหตุที่จะมาประเมินให้โจทก์เสียเบี้ยปรับและเงินเพิ่มสำหรับภาษีการค้ารอบระยะเวลาบัญชีปี 2522 ไม่ ดังนั้น การที่เจ้าพนักงานประเมิน ประเมินให้โจทก์เสียเบี้ยปรับและเงินเพิ่มของภาษีการค้ารอบระยะเวลาบัญชีปี 2522 จึงไม่ถูกต้องเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย
เจ้าพนักงานประเมินประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่ายจากโจทก์ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 20 โจทก์จึงอาจต้องรับผิดเสียเงินเพิ่มอีกร้อยละ 20 แห่งเงินภาษีอากรที่เพิ่มขึ้นตามที่ป.รัษฎากร มาตรา 22 ซึ่งใช้บังคับอยู่ในขณะนั้นบัญญัติไว้ กฎหมายดังกล่าวให้ดุลพินิจแก่เจ้าพนักงานประเมินที่อาจจะใช้ดุลพินิจกำหนดให้โจทก์รับผิดเสียเงินเพิ่มน้อยกว่าร้อยละ 20 แห่งเงินภาษีอากรที่เพิ่มขึ้นก็ได้ เมื่อเจ้าพนักงานประเมินทำการประเมินกำหนดจำนวนเงินเพิ่มตามอัตราที่ไม่เกินกว่าที่กฎหมายบัญญัติไว้แล้ว โจทก์มีสิทธิอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ และเมื่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์วินิจฉัยแล้ว โจทก์มีสิทธิอุทธรณ์ต่อศาลได้ตาม ป.รัษฎากร มาตรา29 และ 30 ตามลำดับ ดังนั้น ศาลจึงมีอำนาจวินิจฉัยว่าอัตราเงินเพิ่มที่เจ้าพนักงานประเมินได้ใช้ดุลพินิจกำหนดไว้และคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์วินิจฉัยมานั้นเหมาะสมแล้ว หรือหากไม่เหมาะสมศาลย่อมมีอำนาจใช้ดุลพินิจลดลงให้แก่โจทก์ได้
โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลขาดไปจำนวนมากและไม่ได้ให้ความร่วมมือในการตรวจสอบไต่สวนจึงไม่มีเหตุสมควรที่จะลดเงินเพิ่มให้แก่โจทก์ ส่วนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่ายนั้นผู้รับมอบอำนาจของโจทก์ให้ความร่วมมือในการตรวจสอบไต่สวนโดยยินยอมให้เจ้าพนักงานประเมินประเมินค่าภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย จากค่าแรงงานลูกจ้างรายวันของโจทก์ได้ในอัตราร้อยละ 3 เป็นประโยชน์แก่การตรวจสอบไต่สวนจึงมีเหตุสมควรลดเงินเพิ่ม ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณที่จ่ายให้แก่โจทก์โดยให้โจทก์รับผิดเสียเงินเพิ่มเพียงร้อยละ 10 แห่งเงินภาษีอากรที่เพิ่มขึ้น
ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 30 คงวางเกณฑ์เกี่ยวกับกำหนดเวลาการอุทธรณ์คำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ต่อศาลเท่านั้น มิได้วางเกณฑ์ว่าการอุทธรณ์คำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาต่อศาลจะอ้างเหตุตามบทกฎหมายบทอื่นเพื่อชี้ว่าการประเมินภาษีการค้าสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมายขึ้นมาใหม่ไม่ได้ ดังนั้น โจทก์จึงยกข้ออ้างตามป.รัษฎากร มาตรา 88 ทวิ (1) ขึ้นอุทธรณ์ต่อศาลได้ แม้จะมิได้ยกเป็นข้ออ้างในการอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ไว้แต่ต้นก็ตาม
ป.รัษฎากร มาตรา 87 ตรี เป็นบทกฎหมายที่บัญญัติให้อำนาจแก่เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจออกหมายเรียกบุคคลผู้มีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการการค้าหรือพยานกับมีอำนาจสั่งบุคคลเหล่านั้นให้นำบัญชีเอกสารหรือหลักฐานอื่นอันควรแก่เรื่องมาตรวจสอบไต่สวนได้ แต่จะต้องให้เวลาล่วงหน้าไม่น้อยกว่าเจ็ดวันนับแต่วันได้รับหมายเรียกไม่ได้บัญญัติว่าจะต้องออกหมายเรียกภายในกำหนดเวลา5 ปี นับแต่วันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการการค้าหรือวันที่ยื่นแบบแสดงรายการการค้าแล้วแต่วันใดจะเป็นวันหลัง ถ้ามีการยื่นแบบแสดงรายการการค้าหรือภายใน 10 ปี นับแต่วันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการการค้าในกรณีที่ผู้มีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการการค้ามิได้ยื่นแบบแสดงรายการการค้าหรือยื่นแบบแสดงรายการการค้าเท็จโดยมีเจตนาหลีกเลี่ยงการเสียภาษีตามหมวดนี้ หรือยื่นแบบแสดงรายการการค้าโดยแสดงรายรับขาดไปเกินกว่าร้อยละยี่สิบห้าของยอดรายรับที่แสดงในแบบแสดงรายการการค้า ทั้งมิได้กำหนดให้ทำการประเมินหลังจากออกหมายเรียกบุคคลผู้มีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการการค้ามาตรวจสอบไต่สวนแล้วภายในกำหนดเวลาเท่าใด แต่มี ป.รัษฎากร มาตรา 88 ทวิ บัญญัติว่า การประเมินให้กระทำได้ภายในกำหนดเวลาดังต่อไปนี้
(1) ห้าปีนับแต่วันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการการค้า หรือวันที่ยื่นแบบแสดงรายการการค้าแล้วแต่วันใดจะเป็นวันหลังถ้ามีการยื่นแบบแสดงรายการการค้า
(1) สิบปีนับแต่วันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการการค้าในกรณีที่ผู้มีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการการค้ามิได้ยื่นแบบแสดงรายการการค้าหรือยื่นแบบแสดงรายการการค้าเท็จโดยมีเจตนาหลีกเลี่ยงการเสียภาษีตามหมวดนี้หรือยื่นแบบแสดงรายการการค้าโดยแสดงรายรับขาดไปเกินกว่าร้อยละยี่สิบห้าของยอดรายรับที่แสดงในแบบแสดงรายการการค้า ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นกรณีที่เจ้าพนักงานประเมินจะได้ออกหมายเรียกบุคคลผู้มีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการการค้ามาตรวจสอบไต่สวนหรือไม่ การประเมินก็จะต้องกระทำภายในกำหนดเวลาที่ ป.รัษฎากรมาตรา 88 ทวิ บัญญัติไว้ทั้งสิ้น เมื่อปรากฏว่า เจ้าพนักงานประเมินทำการประเมินภาษีการค้าสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2517 ถึงปี 2521 พ้นกำหนดห้าปีนับแต่วันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการการค้า จึงเป็นการไม่ชอบด้วยป.รัษฎากร มาตรา 88 ทวิ (1) และมิใช่กรณีโจทก์มิได้ยื่นแบบแสดงรายการการค้า หรือยื่นแบบแสดงรายการการค้าเท็จโดยมีเจตนาหลีกเลี่ยงการเสียภาษีตามหมวดนี้หรือยื่นแบบแสดงรายการการค้าโดยแสดงรายรับขาดไปเกินกว่าร้อยละยี่สิบห้าของยอดรายรับที่แสดงในแบบแสดงรายการการค้า อันจะทำการประเมินได้ภายในสิบปี นับแต่วันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการการค้า

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 47/2539

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การหักค่าใช้จ่ายตามประมวลรัษฎากรมาตรา 40(8) และการปรับใช้กับนิติบุคคล แม้พระราชกฤษฎีกาฯ จะกำหนดเฉพาะบุคคลธรรมดา
กรณีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความใน ประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการกำหนดค่าใช้จ่ายที่ยอมให้หักจากเงินได้พึงประเมิน (ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2502 มาตรา 8(25) ยอมให้หักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาร้อยละ 80 เว้นแต่ผู้มีเงินได้จากกิจการดังกล่าวแสดงหลักฐานต่อเจ้าพนักงานประเมินและพิสูจน์ได้ว่ามีค่าใช้จ่ายมากกว่านั้นก็ยอมให้หักค่าใช้จ่ายตามความจำเป็นและสมควร แต่ถ้าตามหลักฐานที่นำมาพิสูจน์นั้น ปรากฏว่ารายจ่ายที่หักได้ตามกฎหมายน้อยกว่าอัตราค่าใช้จ่ายที่กำหนดดังกล่าว ก็ให้ถือว่ามีค่าใช้จ่ายเพียงเท่าหลักฐานที่นำมาพิสูจน์ ซึ่งหมายความว่า หากผู้มีเงินได้พิสูจน์โดยมีหลักฐานแสดงว่ามีค่าใช้จ่ายมากกว่าร้อยละ 80 ก็หักค่าใช้จ่ายให้ผู้มีเงินได้มากกว่าร้อยละ 80 ได้ แต่ถ้าหลักฐานที่ผู้มีเงินได้นำมาแสดงนั้นบ่งชี้ว่าผู้มีเงินได้มีค่าใช้จ่ายน้อยกว่าร้อยละ 80 ก็ต้องหักค่าใช้จ่ายให้ผู้มีเงินได้น้อยกว่าร้อยละ 80 ดังนั้น เมื่อปรากฏว่าโจทก์ไม่สามารถแสดงหลักฐานและพิสูจน์ได้ว่าโจทก์มีค่าใช้จ่ายเท่าใดแน่จึงต้องหักค่าใช้จ่ายให้ร้อยละ 80 แม้ตามบทบัญญัติแห่งพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2502 จะใช้บังคับแก่บุคคลธรรมดา แต่ก็สามารถนำมาปรับใช้แก่กรณีของนิติบุคคลเช่นกรณีของโจทก์ได้โดยไม่ขัดต่อประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ซึ่งบัญญัติว่าเงินได้ที่ต้องเสียภาษีตามความในส่วนนี้ คือ กำไรสุทธิ ฯลฯ แต่อย่างใด เนื่องจากการประกอบกิจการของโจทก์เป็นการประกอบกิจการค้าประเภทซื้อมาขายไปโจทก์มิได้เป็นผู้ผลิตซึ่งตามปกติแล้วต้องมีต้นทุนซื้อมาและจะต้องหักต้นทุนซื้อให้ การที่จำเลยทั้งสี่นำรายรับทั้งหมดมาถือเป็นรายได้จึงไม่ถูกต้อง
ตามคำอุทธรณ์ของโจทก์ที่มีต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1ได้อุทธรณ์ถึงการประเมินที่ไม่ถูกต้องและไม่ชอบธรรมของเจ้าพนักงานประเมินของจำเลยที่ 1 ว่า รายจ่ายทุกประเภทรวมทั้งค่าใช้จ่ายโจทก์ได้จ่ายไปจริงสมเหตุผลทางการค้าและเพื่อกิจการของโจทก์ รายการขายแต่ละรายการได้ผ่านการบันทึกบัญชีถูกต้องทุกรายการตามความเป็นจริง รายการขายตามใบส่งของที่ออกแทนนั้น เป็นรายการขายเดี่ยวและเป็นการขายจริงตามเอกสารทางบัญชีมีการลงบัญชีไว้ถูกต้องทุกรายการ ข้อความตามอุทธรณ์ของโจทก์เท่ากับโจทก์อุทธรณ์ว่าไม่ต้องรับผิดตามหนังสือแจ้งประเมินภาษีทั้งหมด ดังนั้นในส่วนการขอให้หักต้นทุนซื้อซึ่งทำให้ไม่ต้องรับผิดเสียภาษีในส่วนที่เป็นต้นทุนเพราะมิใช่กำไรสุทธิ จึงถือเป็นเหตุผลหรือรายละเอียดประกอบการอุทธรณ์ไม่จำเป็นต้องเป็นเหตุผลที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในชั้นคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เพราะไม่มีบทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร บังคับไว้ ฟ้องโจทก์จึงไม่ต้องห้ามตามมาตรา 30 แห่งประมวลรัษฎากร
โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสี่โดยบรรยายฟ้องอย่างชัดแจ้งว่ารายการขายสินค้าที่เจ้าพนักงานประเมินอ้างว่า ขายต่ำกว่าความเป็นจริง จำเลยยอมให้หักต้นทุนสินค้า แต่รายการที่หาว่าขายสินค้าโดยมิได้ลงบัญชีขาย จำเลยไม่ยอมให้หักต้นทุนสินค้าให้โจทก์การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินของจำเลยที่ 1 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์จึงไม่ชอบและไม่ถูกต้อง ขอให้เพิกถอนการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ตามหนังสือแจ้งการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ทั้งสองฉบับเมื่อศาลภาษีอากรกลางได้พิจารณาและวินิจฉัยว่า การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินของจำเลยที่ 1 ไม่ถูกต้องเป็นการประเมินที่ไม่ชอบและได้มีคำพิพากษาให้เพิกถอนการประเมินตามหนังสือแจ้งการประเมิน และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ทั้งสองฉบับนั้น การที่ศาลภาษีอากรกำหนดให้หักต้นทุนซื้อในกรณีที่โจทก์ขายสินค้าไม่ลงบัญชีโดยหักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาให้ร้อยละ 80 ทั้งสองรอบระยะเวลาบัญชี จึงเป็นการชี้ถึงสิทธิของโจทก์ตามกฎหมาย มิได้เป็นการพิพากษาเกินคำฟ้องและคำขอของโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2034/2536

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การหักค่าใช้จ่ายในการประเมินภาษีนิติบุคคลตามอัตราที่กำหนดใน พร.ก. แม้ใช้กับบุคคลธรรมดา แต่ต้องใช้กับนิติบุคคลด้วย
แม้พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการกำหนดค่าใช้จ่ายที่ยอมให้หักจากเงินได้พึงประเมิน (ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2502จะใช้บังคับแก่กรณีภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาก็ตาม แต่เมื่อจำเลยนำพระราชกฤษฎีกา ฉบับดังกล่าวมาใช้เป็นเกณฑ์หักค่าใช้จ่ายเพื่อประเมินภาษีเงินได้ของโจทก์ซึ่งเป็นนิติบุคคล จำเลยก็ต้องหักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาให้แก่โจทก์ตามอัตราที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกาฉบับดังกล่าวด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6105/2534

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประเมินภาษี การหลีกเลี่ยงภาษี การหักค่าใช้จ่าย และเบี้ยปรับ: ข้อพิพาทเกี่ยวกับการประเมินภาษีที่ถูกต้องตามกฎหมาย
กรณีที่จะได้รับประโยชน์ตาม พ.ร.ก. แก้ไขเพิ่มเติม ป.รัษฎากร(ฉบับที่ 14) มาตรา 30 นั้น ผู้เสียภาษีจะต้องยื่นคำขอเสียภาษีอากรและได้ชำระภาษีอากรตามจำนวนที่จะต้องเสียภายในระยะเวลาและหลักเกณฑ์ที่อธิบดีกำหนดโจทก์ยื่นคำขอเสียภาษีอากรแล้ว โจทก์ผ่อนชำระภาษีเป็นรายเดือนตามแบบผ่อนชำระภาษีอากร แต่โจทก์มิได้ผ่อนชำระงวดแรกในกำหนด จึงเป็นกรณีที่โจทก์มิได้ชำระภาษีอากรตามเงื่อนไขและภายในเวลาที่กำหนดไว้ต้องถือว่าโจทก์มิได้ชำระภาษีอากรภายในเวลาและหลักเกณฑ์ที่อธิบดีกำหนด ดังนี้โจทก์จึงหมดสิทธิที่จะได้รับประโยชน์ตามมาตรา 30 โจทก์อุทธรณ์ขอให้เพิกถอนการประเมินทั้งภาษีเงินได้นิติบุคคลภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย และภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายตามมาตรา 3 เตรส แม้โจทก์ยกขึ้นมาเป็นข้อโต้แย้งการประเมินของเจ้าพนักงานตามคำอุทธรณ์เฉพาะในเรื่องภาษีเงินได้นิติบุคคลแต่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีการพิจารณาถึงภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย และภาษีเงินได้ หัก ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 3 เตรสด้วย แสดงว่าภาษีสองประเภทนี้ได้ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มาแล้วตามมาตรา 30 แห่ง ป.รัษฎากร โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องต่อศาลได้ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หัก ณ ที่จ่าย โจทก์ยอมรับว่ามิได้มีการหักภาษีเงินได้เมื่อจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้างของโจทก์ และโจทก์จึงยินยอมให้เจ้าพนักงานประเมินคำนวณภาษี หัก ณ ที่จ่าย เป็นการเหมาพร้อมเงินเพิ่มและโจทก์ก็มิได้โต้แย้งจำนวนเงินค่าจ้างแรงงานที่เจ้าพนักงานตรวจพบ ดังนั้น การประเมินจึงมิใช่การประเมินที่มิชอบด้วยกฎหมาย ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 3 เตรส นั้น เมื่อโจทก์รับซื้อข้าวโพดและข้าวซึ่งเป็นพืชผลในทางการเกษตร โจทก์จ่ายเงินค่าซื้อสินค้าทางการเกษตรโจทก์จึงมีหน้าที่ที่จะต้องหักภาษี ณที่จ่าย เพื่อนำส่งเจ้าพนักงานตามกฎหมาย เมื่อโจทก์มิได้หักภาษีณ ที่จ่าย และนำส่ง ดังนั้นการที่เจ้าพนักงานประเมินภาษีจากเงินจำนวนที่ตรวจพบ จึงเป็นการประเมินที่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย และนำส่งตามกฎหมาย แต่โจทก์ไม่หักไว้และนำส่ง โจทก์จึงมีหน้าที่ต้องชำระเงินเพิ่มจนกว่าโจทก์จะชำระภาษีในส่วนนี้เสร็จ แต่ไม่เกินจำนวนภาษีที่จะต้องเสียหรือนำส่งตามมาตรา 27 มิใช่ชำระเงินเพิ่มเพียงวันที่มีผู้มีหน้าที่เสียภาษีต้องยื่นแบบแสดงรายการ ค่าโทรศัพท์ และค่ากระแสไฟฟ้า เป็นกรณีที่จะต้องมีเอกสารหลักฐานเก็บไว้แต่โจทก์ไม่มีมาแสดงและจำเลยก็ยังโต้แย้งอยู่ตลอดจนค่าดำเนินการตามพิธีศุลกากร และอากรขาเข้าสำหรับสินค้าที่โจทก์สั่งเข้ามา ไม่ปรากฏหลักฐานว่า โจทก์จ่ายให้ใคร อย่างไรเมื่อใด จึงเป็นรายจ่ายซึ่งพิสูจน์ไม่ได้ว่าใครเป็นผู้รับ ต้องห้ามมิให้นำมาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ ตามมาตรา 65 ตรี (18) โจทก์ส่งข้าวสาร ไปขายต่างประเทศ โดยไม่ลงบัญชี และสั่งสินค้ากากถั่วเหลืองมาจากต่างประเทศเพื่อขายไม่ลงบัญชี ส่วนที่ลงบัญชีโจทก์แสดงต้นทุนซื้อสูงกว่าความเป็นจริง พฤติการณ์ในการกระทำของโจทก์แสดงให้เห็นว่ามีเจตนาหลีกเลี่ยงภาษีอากรที่ตนมีหน้าที่ต้องชำระ โจทก์มีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องปฏิบัติเกี่ยวกับการหักภาษีณ ที่จ่าย โจทก์ละเลยโดยไม่มีเหตุผล เมื่อกฎหมายให้โอกาสโจทก์ก็ใช้สิทธิตามกฎหมาย แต่ต่อมาไม่ปฏิบัติตาม ดังนี้ไม่มีเหตุอันควรที่จะงดหรือลดเบี้ยปรับให้แก่โจทก์.
of 3