คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
หุ้นกู้ด้อยสิทธิ

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 1 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1669/2546

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้หุ้นกู้ด้อยสิทธิหลังถูกระงับการดำเนินกิจการ และผลกระทบของ พรบ.ฟื้นฟูฯ ต่อดอกเบี้ย
โจทก์ได้รับอนุมัติให้จัดตั้งกองทุนรวม โจทก์จะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขและวิธีการจัดการกองทุนรวมตามมาตรา 117 ถึงมาตรา 132 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ภายใต้การควบคุมของคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) ส่วนที่มาตรา 124 บัญญัติให้กองทุนรวมที่ได้จดทะเบียนแล้วเป็นนิติบุคคลนั้น ก็โดยมีวัตถุประสงค์ให้กองทุนรวมนั้นเป็นเจ้าของทรัพย์สินในนามของตนเองได้และเป็นการแยกทรัพย์สินของกองทุนรวมออกจากทรัพย์สินของบริษัทหลักทรัพย์โจทก์ซึ่งเป็นผู้จัดการกองทุน เพื่อรักษาคุ้มครองผลประโยชน์ของประชาชนที่ร่วมลงทุนในกองทุนรวม มาตรา 124 วรรคสอง ส่วนสุดท้ายก็บัญญัติสอดคล้องกับมาตรา 125 โดยให้บริษัทหลักทรัพย์เป็นผู้รับผิดชอบในการดำเนินการของกองทุนรวมโจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยให้ไถ่ถอนหุ้นกู้ที่โจทก์ซื้อจากจำเลยได้ ไม่ต้องให้กองทุนรวมฟ้องเอง
การที่บริษัทจำเลยซึ่งเป็นผู้ขายหุ้นกู้ด้อยสิทธิแก่โจทก์จะบังคับให้เป็นไปตามสิทธิเรียกร้องของโจทก์ที่เป็นเจ้าหนี้ในหุ้นกู้ด้อยสิทธิกับการจะได้รับชำระหนี้ตามสิทธิเรียกร้องก่อนเจ้าหนี้อื่นซึ่งเป็นเจ้าหนี้สามัญหรือไม่เพียงใด เป็นคนละเรื่องคนละตอนกันเมื่อจำเลยถูกระงับการดำเนินกิจการชั่วคราว และแผนฟื้นฟูกิจการของจำเลยมิได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการปรส. จำเลยจึงต้องเลิกกิจการและชำระบัญชีตามพระราชกำหนดการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน พ.ศ. 2540 มาตรา 30 วรรคหนึ่ง โจทก์จึงมีสิทธิที่จะให้จำเลยไถ่ถอนหุ้นกู้ได้ตามเงื่อนไขในหนังสือชี้ชวน ทั้งตามพระราชกำหนดการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน พ.ศ. 2540 มาตรา 26 ห้ามมิให้บุคคลใดฟ้องบริษัทที่ถูกระงับการดำเนินกิจการเป็นคดีล้มละลายในระหว่างดำเนินการตามแผนเพื่อแก้ไขฟื้นฟูที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการปรส. เท่านั้น เมื่อโจทก์ได้มีหนังสือแจ้งให้จำเลยไถ่ถอนหุ้นกู้ จำเลยกลับเพิกเฉย ย่อมเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 แล้ว แม้จำเลยยังอยู่ในระหว่างชำระบัญชี ยังไม่มีการชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้สามัญก็ตาม
พระราชกำหนดการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2541 มาตรา 5ที่บัญญัติว่านับแต่วันที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับดอกเบี้ยหรือค่าป่วยการอื่นแทนดอกเบี้ยอันเกิดจากหนี้ที่บริษัทถูกระงับการดำเนินกิจการตามพระราชกำหนดการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน พ.ศ. 2540 มาตรา 30 ได้ก่อขึ้น มิให้ถือว่าเป็นหนี้ที่จะขอรับชำระได้นั้นเป็นกรณีที่เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อคณะกรรมการดำเนินการและชำระบัญชีที่คณะกรรมการองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.) แต่งตั้งตามมาตรา 30 วรรคหนึ่ง เมื่อโจทก์ไม่ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อคณะกรรมการดังกล่าวแต่ได้ยื่นฟ้องต่อศาลและศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาก่อนวันที่พระราชกำหนดการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2541 มีผลใช้บังคับ โจทก์จึงยังมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยจากจำเลยตั้งแต่วันที่ 23 พฤษภาคม 2541 ซึ่งเป็นวันที่พระราชกำหนดการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2541 มีผลใช้บังคับต่อไปได้