คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
อากร

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 53 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2080/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ลำดับการชำระหนี้อากรและภาษีมูลค่าเพิ่ม เงินเพิ่มเป็นส่วนหนึ่งของหนี้ภาษี, ป.พ.พ. มาตรา 328
ตาม พ.ร.บ.ศุลกากรฯ มาตรา 112 จัตวา วรรคสาม กำหนดให้เงินเพิ่มถือเป็นเงินอากร และตาม ป.รัษฎากรฯ มาตรา 89/2 กำหนดให้เงินเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นภาษีมูลค่าเพิ่ม เงินเพิ่มดังกล่าวจึงมิใช่ดอกเบี้ยหรือค่าฤชาธรรมเนียมตาม ป.พ.พ. มาตรา 329 วรรคหนึ่ง และมาตราดังกล่าวก็มิใช่บทกฎหมายใกล้เคียงที่จะนำมาปรับใช้แก่คดีนี้ โจทก์จึงไม่อาจนำเงินค้ำประกันมาหักชำระหนี้เงินเพิ่มก่อน กรณีเป็นเรื่องลูกหนี้ต้องผูกพันต่อเจ้าหนี้ในอันจะกระทำการเพื่อชำระหนี้เป็นการอย่างเดียวกันโดยมูลหนี้หลายราย หนี้ถึงกำหนดชำระพร้อมกันหนี้สินรายที่ตกหนักที่สุดแก่ลูกหนี้ย่อมได้รับการปลดเปลื้องไปก่อนตาม ป.พ.พ. มาตรา 328 วรรคสอง โจทก์ต้องนำเงินค้ำประกันมาชำระค่าอากร และภาษีมูลค่าเพิ่มก่อน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4540/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดหลายกรรมต่างกันจากการทำไม้, ครอบครองไม้หวงห้าม และช่วยซ่อนเร้นของหลีกเลี่ยงอากร
การทำไม้เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ฯ มาตรา 11 วรรคหนึ่ง ซึ่งมีบทกำหนดโทษตามมาตรา 73 วรรคสอง (2) และการมีไม้หวงห้ามอันยังมิได้แปรรูปไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ฯ มาตรา 69 วรรคสอง (2) ส่วนการช่วยซ่อนเร้นหรือรับไว้ด้วยประการใดๆ ซึ่งของอันตนรู้ว่านำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงอากร ข้อห้าม ข้อจำกัด เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ศุลกากรฯ มาตรา 27 ทวิ ลักษณะของความผิดในแต่ละข้อหาอาศัยเจตนาในการกระทำความผิดแตกต่างแยกจากกันได้แม้ไม้หวงห้ามที่จำเลยที่ 1 ร่วมกันทำไม้และมีไว้ในครอบครองจะเป็นจำนวนเดียวกันก็ตามการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน
พ.ร.บ.ศุลกากรฯ มาตรา 27 ทวิ กำหนดโทษปรับไว้เป็นเงินสี่เท่าราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรแล้ว ไม่ใช่สี่เท่าของค่าอากร ดังนั้น การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 นำราคาเลื่อยยนต์ของกลางมารวมคำนวณกับค่าอากร จึงต้องด้วยบทบัญญัติของกฎหมายแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1390/2546 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความฟ้องคืนค่าอากรและการประเมินราคาศุลกากร: พิจารณาแยกแต่ละเที่ยวสินค้า
ตาม พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 10 วรรคท้าย ผู้ที่เสียเงินอากรไว้เกินจำนวนที่ต้องเสีย ต้องยื่นคำร้องขอเงินอากรที่เสียไว้เกินไว้ภายใน 2 ปี แต่คดีนี้โจทก์ขอคืนค่าอากรที่ถูกพนักงานเจ้าหน้าที่เรียกเก็บเพิ่มตามมาตรา 112, 112 ทวิ โดยอ้างว่าโจทก์ไม่ต้องเสียอากรเพิ่มตามที่พนักงานเจ้าหน้าที่ประเมิน ไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้ จึงมีอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30
แม้โจทก์จะนำใบขนสินค้าทั้ง 12 เที่ยว จำนวน 12 ใบขน ซึ่งมีจำนวนเงินแต่ละใบขนแตกต่างกันมาพ้องรวมเป็นคดีเดียวกัน แต่ก็ต้องถือว่าการฟ้องแต่ละใบขนสินค้าหรือแต่ละเที่ยวเป็นข้อหาแยกต่างหากจากกัน สิทธิในการอุทธรณ์จึงต้องด้วยพิจารณาตามจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทตามใบขนสินค้าแต่ละเที่ยวที่โจทก์นำเข้า

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 675/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิการขอคืนอากรหลังชำระหลังได้รับมอบสินค้า และอายุความของคดีภาษีอากร
ตามพระราชบัญญัติศุลกากรฯ มาตรา 10 วรรคห้ากำหนดให้โจทก์จะต้องโต้แย้งหรือแจ้งความไว้ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก่อนส่งมอบสินค้าว่าจะยื่นคำเรียกร้องขอคืนอากรได้ก็ต่อเมื่อโจทก์ชำระค่าอากรเพิ่มตามที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยเรียกให้ชำระเพิ่มในวันนำเข้านั้นเอง แต่คดีนี้โจทก์ได้วางหนังสือค้ำประกันของธนาคารเป็นประกันค่าอากรอันเป็นการดำเนินการเพื่อให้สินค้าออกจากอารักขาของจำเลยตามพระราชบัญญัติศุลกากรฯ มาตรา 112 และต่อมาพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยได้ประเมินราคาเพิ่มและแจ้งการประเมินให้โจทก์ชำระอากรขาเข้า และโจทก์ได้ชำระหลังจากที่ได้รับมอบสินค้าแล้ว กรณีจึงไม่ต้องด้วยมาตรา 10 วรรคห้า โจทก์จึงไม่สิ้นสิทธิในการเรียกร้องขอคืนเงินอากร แม้โจทก์จะมิได้ฟ้องคดีภายใน 2 ปีนับแต่วันนำเข้า แต่พระราชบัญญัติศุลกากรฯ ก็มิได้บัญญัติเกี่ยวกับกำหนดอายุความเรื่องนี้ไว้โดยเฉพาะ จึงต้องใช้อายุความ 10 ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3033/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การชำระอากรหลังนำของไปจากอารักขาของศุลกากร ไม่ตัดสิทธิเรียกร้องคืนเงินอากรที่ชำระเพิ่ม
โจทก์นำน้ำมันดิบเข้ามาทางเรือ เรือเข้าเทียบท่าและสูบน้ำมันดิบผ่านท่อส่งเข้าสู่ถังเก็บภายในโรงกลั่นของโจทก์ โดยท่าเรือและถังเก็บดังกล่าวได้รับอนุมัติจากกรมศุลกากรจำเลยให้เป็นท่าเรือที่ขนถ่ายและเก็บรักษาน้ำมันดิบได้ หลังจากโจทก์สูบน้ำมันดิบเข้าสู่ถังเก็บแล้วโจทก์ได้ขอผ่อนผันการวางประกันอากรเพิ่มเพื่อให้ตรวจปล่อยสินค้าไปก่อน และได้มีการตรวจปล่อยสินค้าไป ในเดือนเดียวกับที่โจทก์นำเข้าอีก 2 ถึง 4 เดือนต่อมาโจทก์จึงชำระอากรขาเข้าเพิ่มตามจำนวนที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยประเมิน การที่โจทก์ชำระอากรขาเข้าเพิ่มจึงเป็นการชำระหลังนำของไปจากอารักขาของศุลกากรแล้วกรณีจึงไม่ต้องด้วยพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 10 วรรคห้า แม้โจทก์มิได้แจ้งความไว้ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ว่าจะเรียกร้องเงินอากรที่ชำระเพิ่มคืนก็ไม่ตัดสิทธิโจทก์ในการฟ้องคดีโจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 283/2543

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การนำเข้าอาวุธปืนพกเพื่อจำหน่ายข้าราชการ มิใช่ยุทธภัณฑ์ที่ได้รับการยกเว้นอากร
การที่จำเลยเป็นผู้จัดซื้ออาวุธปืนพกโดยนำเข้ามาในราชอาณาจักรตามความต้องการของข้าราชการในสังกัดแล้วให้ต้นสังกัดของข้าราชการดังกล่าวหักเงินเดือนของข้าราชการผู้ประสงค์จะมีอาวุธปืนพกไว้ประจำกายใช้หนี้จนครบจำนวนนั้น เป็นกรณีที่จำเลยนำเข้าอาวุธปืนพกเพื่อจำหน่ายให้แก่ข้าราชการของจำเลยเป็นการส่วนตัวไม่เกี่ยวกับราชการ จึงไม่ถือว่าเป็นยุทธภัณฑ์ที่ใช้ในราชการอันจะได้รับการยกเว้นภาษีอากรตามพระราชกำหนดพิกัดอัตราภาษีศุลกากร พ.ศ. 2530 มาตรา 5 จำเลยจึงต้องรับผิดเสียภาษีอากรให้แก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7355/2542 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การวางประกันค่าอากร, การตรวจค้นเอกสาร, และดุลพินิจศาลในการบันทึกคำพยาน
ตาม พ.ร.บ. ศุลกากรฯ มาตรา 112 ในกรณีที่มีปัญหาค่าอากรสำหรับของที่นำเข้ามาในราชอาณาจักร ผู้นำเข้าสามารถนำหนังสือค้ำประกันของธนาคารมาวางแทนการวางเงินเพิ่มเติมเป็นประกันก็ได้ และนำสินค้าออกไปจากอารักขาของศุลกากร ทั้งนี้ ก็เพื่อความสะดวกแก่ผู้นำเข้าเองโดยไม่ต้องนำของนั้นไปยังศุลกสถานหรือเก็บไว้ในที่มั่นคงแห่งใด ส่วนการที่พนักงานเจ้าหน้าที่จะชักตัวอย่างของไว้วินิจฉัยปัญหาก็เพื่อเปรียบเทียบราคาตลาดกับสินค้าที่มีชนิด คุณภาพ ปริมาณ น้ำหนักอย่างเดียวกัน หากพนักงานเจ้าหน้าที่มิได้ชักตัวอย่างสินค้าไว้ ก็เป็นภาระของพนักงานเจ้าหน้าที่ ที่จะต้องพิสูจน์ให้ได้ความว่าจำเลยที่ 1 สำแดงราคาสินค้าพิพาทต่ำกว่าราคาตลาด หามีผลทำให้การปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นไปโดยมิชอบไม่
จำเลยทั้งสองมิได้ให้การว่า การที่พนักงานเจ้าหน้าที่เข้าตรวจค้นสำนักงานจำเลยที่ 1 แล้วยึดเอกสาร มาประเมินสินค้านั้น เป็นกรณีไม่มีเหตุที่จะออกหมายค้นตาม ป.วิ.อ. มาตรา 69 หมายค้นที่ออกไม่ชอบด้วยกฎหมาย พยานหลักฐานที่ได้มาจากการตรวจค้นจึงไม่อาจใช้เป็นพยานหลักฐานได้ การที่จำเลยทั้งสองเพิ่งยกขึ้นอ้างใน ชั้นอุทธรณ์ว่า พนักงานเจ้าหน้าที่เข้าตรวจค้นสำนักงานจำเลยที่ 1 แล้วยึดเอกสารมาประเมินราคาสินค้า เป็นการไม่ชอบ จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ในการพิจารณาสืบพยานนั้น เป็นดุลพินิจของศาลในการจดบันทึกคำพยาน ข้อความที่จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ ขอให้ศาลจดบันทึกนั้นเป็นรายละเอียดที่มีอยู่ในเอกสารแล้ว ศาลจึงไม่จำต้องบันทึกอีก ที่ศาลภาษีอากรกลางใช้ดุลพินิจ ไม่บันทึกจึงชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 534/2542

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การลงโทษจำเลยในคดีครอบครองป่าสงวนและหลีกเลี่ยงอากร ศาลยืนตามโทษเดิมเนื่องจากความร้ายแรงของคดี
ตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27 ทวิกำหนดโทษปรับแก่ผู้กระทำผิดเป็นเงินสี่เท่าราคาของซึ่ง ได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้ว เมื่อฟ้องโจทก์ระบุว่าเครื่องเลื่อยยนต์ของกลางมีราคา 5,000 บาท เมื่อรวมกับค่าอากรขาเข้าจำนวน 1,500 บาทแล้ว เป็นเงิน 6,500 บาท ดังนั้น โทษปรับก่อนลดจึงเป็นเงิน 26,000 บาท จำเลยยึดถือครอบครองแผ้วถางป่าสงวนแห่งชาติเป็นเนื้อที่ 23 ไร่เศษ ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐเป็นเงินถึง 3,540,000 บาท และใช้เครื่องเลื่อยยนต์ในการกระทำ ความผิด พฤติการณ์แห่งคดีนับว่าร้ายแรง ทั้งการตัดไม้ทำลายป่า นอกจากส่งผลเสียหายแก่ป่าไม้ซึ่งเป็นทรัพยากรสำคัญของ ประเทศชาติแล้ว ยังเป็นการทำลายแหล่งต้นน้ำลำธาร ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อคุณภาพของสิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพสมควรที่จะปราบปรามอย่างเด็ดขาดเพื่อป้องปรามมิให้ผู้อื่นกระทำความผิดเช่นนี้อีกการไม่รอ การลงโทษจำคุกให้จำเลยนั้นจึงเป็นการลงโทษที่เหมาะสม แก่ความผิดของจำเลยแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4450/2542

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาซื้อขาย-จ้างทำของ: การตีความเจตนาของคู่สัญญาและการชำระภาษี
การตีความในสัญญาจะต้องพิจารณาถึงเจตนาอันแท้จริงของคู่สัญญาประกอบกับถ้อยคำสำนวนในสัญญาด้วย แม้ตามสัญญาระบุว่าเป็นสัญญาซื้อขายเครื่องชุมสายโทรศัพท์และอุปกรณ์พร้อมทั้งการติดตั้ง แต่ในตัวสัญญามิได้ระบุค่าเครื่องชุมสายโทรศัพท์และอุปกรณ์ประกอบแยกออกต่างหากจากราคาค่าแรงงานติดตั้ง และให้ถือว่าภาคผนวกแนบท้ายสัญญาเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาและได้กำหนดรายละเอียดราคาไว้ในภาคผนวกแล้ว แสดงว่าคู่สัญญาซื้อขายมีเจตนาที่จะแยกค่าเครื่องชุมสายโทรศัพท์ออกต่างหากจากค่าแรงงานติดตั้งและค่าฝึกอบรมตั้งแต่การกำหนดราคาและการชำระราคา สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาเกี่ยวกับซอฟท์แวร์เป็นคนละประเภทกับกรรมสิทธิ์ในเครื่องชุมสายโทรศัพท์ กรรมสิทธิ์ในเครื่องชุมสายโทรศัพท์เป็นทรัพย์สิทธิซึ่งมีวัตถุแห่งสิทธิเป็นตัวทรัพย์ ส่วนสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาวัตถุแห่งสิทธิเป็นสิทธิเด็ดขาดของผู้สร้างสรรค์ที่จะหวงกันมิให้ผู้อื่นเข้าใช้สิทธิที่เจ้าของงานสร้างสรรค์ หรือเจ้าของสิทธิมีอยู่แต่เพียงผู้เดียว ดังนั้น ผู้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในเครื่องชุมสายโทรศัพท์กับซอฟท์แวร์ซึ่งเป็นชุดคำสั่งที่ใช้กับเครื่องชุมสายโทรศัพท์สามารถทำงานได้ตามโปรแกรมที่กำหนดไว้อาจเป็นคนละคนกันก็ได้ การที่คู่สัญญาได้แยกราคาค่าเครื่องชุมสายโทรศัพท์ออกจากราคาค่าแรงงานติดตั้งและค่าฝึกอบรมอย่างชัดเจน แสดงว่าเจตนาทำสัญญาซื้อขายเครื่องชุมสายโทรศัพท์และอุปกรณ์ประกอบ กับสัญญาจ้างทำของคือติดตั้งเครื่องชุมสายโทรศัพท์แยกต่างหากจากกันเป็นสองลักษณะสัญญาในฉบับเดียวกันเมื่อโจทก์ได้ชำระภาษีการค้าในส่วนของสัญญาจ้างทำของ จำเลยจึงไม่มีอำนาจแจ้งให้โจทก์เสียภาษีการค้าอีก ตามประมวลรัษฎากร ฯ มาตรา 107 วรรคหนึ่ง ผู้มีหน้าที่เสียภาษีอากรสามารถตกลงกับคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่ง ซึ่งไม่มีหน้าที่เสียอากรให้เสียอากรแทนตนได้ แม้กฎหมายจะบัญญัติให้คู่สัญญาตกลงกันให้อีกฝ่ายหนึ่งเป็นผู้เสียอากรได้ แต่ในกรณีที่คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งซึ่งรับที่จะเสียอากรตามสัญญาไม่ยอมเสียอากรโดยปิดแสตมป์ในตราสารหรือในสัญญาจำเลยก็ยังคงมีอำนาจประเมินเรียกเก็บค่าอากรและค่าเพิ่มอากรจากผู้มีหน้าที่ต้องเสียอากรตามประมวลรัษฎากร

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1467/2542 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจประเมินอากรใหม่ระหว่างการพิจารณาอุทธรณ์: ศุลกากรมีสิทธิประเมินราคาสินค้าใหม่ได้หากพบราคาต่ำกว่าตลาด
ตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 112 ทวิ วรรคสามไม่ได้บัญญัติว่า เมื่อมีการอุทธรณ์การประเมิน อธิบดีหรือผู้ที่อธิบดีมอบหมายมีอำนาจเพียงยกอุทธรณ์หรือเพิกถอนการประเมินเท่านั้น และไม่มีบทบัญญัติกฎหมายใดห้ามมิให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทำการประเมินอากรใหม่ แต่ตามมาตรา 10 วรรคแรก และมาตรา 10 วรรคสาม กลับมีบทบัญญัติแสดงว่าภายในอายุความ หากพนักงานเจ้าหน้าที่ของกรมศุลกากรตรวจพบว่าจำเลยสำแดงราคาสินค้าไม่ถูกต้อง ก็มีสิทธิประเมินราคาสินค้าตามราคาที่แท้จริงในท้องตลาดได้ ดังนั้น ในกรณีที่มีการวางเงินประกันค่าอากรเมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ประเมินอากรอันจะพึงเสียและได้แจ้งให้จำเลยผู้นำเข้าทราบแต่จำเลยผู้นำเข้าอุทธรณ์การประเมินตามมาตรา 112 ทวิ ถ้าในระหว่างการพิจารณาอุทธรณ์ พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจพบว่าราคาสินค้าที่จำเลยสำแดงไว้ต่ำกว่าราคาอันแท้จริงในท้องตลาด พนักงานเจ้าหน้าที่ก็มีอำนาจประเมินราคาสินค้าใหม่ให้สูงกว่าราคาเดิม แล้วประเมินอากรขาเข้า ภาษีการค้า และภาษีบำรุงเทศบาลใหม่ได้ เมื่อจำเลยผู้นำเข้ามิได้อุทธรณ์การประเมินครั้งหลังภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งการประเมิน การประเมินจึงเป็นที่สุด
of 6