คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
อากรศุลกากร

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 8 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2969/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความฟ้องเรียกค่าอากรศุลกากร: เจตนาหลีกเลี่ยงอากร vs. การสำแดงรุ่นรถยนต์ไม่ถูกต้อง
ป.รัษฎากร มาตรา 88 (เดิม) และมาตรา 87 (3) (เดิม) ซึ่งเกี่ยวกับภาษีการค้าได้กำหนดขั้นตอนให้เจ้าพนักงานประเมินต้องแจ้งการประเมินให้ผู้เสียภาษีทราบโดยระบุให้ทำเป็นหนังสือ จึงเป็นหน้าที่ของเจ้าพนักงานประเมินต้องแจ้งการประเมินเป็นหนังสือแก่ผู้เสียภาษีว่าจะต้องเสียภาษีประเภทใด เป็นเงินเท่าใด เพื่อให้ผู้เสียภาษีมีโอกาสตรวจสอบและโต้แย้งโดยการอุทธรณ์การประเมิน ดังนั้น การประเมินภาษีของเจ้าพนักงานจะสมบูรณ์และเกิดหนี้ที่ผู้เสียภาษีอากรต้องชำระก็ต่อเมื่อได้มีหนังสือแจ้งการประเมินแก่ผู้เสียภาษีอากรโดยชอบแล้ว การแจ้งการประเมินเป็นหนังสือจึงต้องกระทำให้เสร็จสมบูรณ์ภายในอายุความ จำเลยยื่นใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้าเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2532 เจ้าพนักงานประเมินของโจทก์ที่ 1 ประเมินให้จำเลยชำระภาษีการค้าเพิ่มเติมเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2533 แต่มิได้แจ้งการประเมินดังกล่าวแก่จำเลย เพิ่งมีหนังสือแจ้งการประเมินในวันที่ 4 สิงหาคม 2542 และส่งให้จำเลยทราบได้ในวันที่ 2 ธันวาคม 2542 จึงเป็นการแจ้งการประเมินเมื่อพ้น 10 ปี นับแต่วันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการการค้า ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 88 ทวิ (2) (เดิม) การประเมินภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลของโจทก์ที่ 1 จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย
การที่จำเลยนำเข้ารถยนต์พิพาทโดยสำแดงรุ่นไม่ถูกต้องไม่ได้เกิดจากการหลีกเลี่ยง หรือพยายามหลีกเลี่ยงอากร สิทธิของโจทก์ที่ 1 ที่จะเรียกเงินอากรที่ขาดเพราะเหตุอันเกี่ยวกับชนิด คุณภาพ ปริมาณ น้ำหนัก หรือราคาแห่งของใด ๆ จึงมีอายุความ 10 ปี นับแต่วันนำของเข้า ตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 10 วรรคสาม จำเลยนำรถยนต์คันพิพาทเข้ามาในราชอาณาจักรเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2532 และยื่นใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้าต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ที่ 1 เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2532 แต่โจทก์ทั้งสองฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2543 จึงเกิน 10 ปี นับแต่วันนำเข้า ฟ้องของโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีศุลกากรจึงขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7355/2542

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประเมินอากรศุลกากร การสำแดงราคาสินค้าต่ำกว่าราคาตลาด และการตรวจค้นยึดเอกสารเพื่อใช้ในการประเมิน
ตามพระราชบัญญัติศุลกากรฯ มาตรา 112 ในกรณีที่มีปัญหาค่าอากรสำหรับของที่นำเข้ามาในราชอาณาจักร ผู้นำเข้าสามารถนำหนังสือค้ำประกันของธนาคารมาวางแทนการวางเงินเพิ่มเติมเป็นประกันก็ได้ และนำสินค้าออกไปจากอารักขาของศุลกากร ทั้งนี้ ก็เพื่อความสะดวกแก่ผู้นำเข้าเองโดยไม่ต้องนำของนั้นไปยังศุลกสถานหรือเก็บไว้ในที่มั่นคงแห่งใด ส่วนการที่พนักงานเจ้าหน้าที่จะชักตัวอย่างของไว้วินิจฉัยปัญหาเพื่อเปรียบเทียบราคาตลาดกับสินค้าที่มีชนิด คุณภาพ ปริมาณ น้ำหนัก อย่างเดียวกัน แม้พนักงานเจ้าหน้าที่จะมิได้ชักตัวอย่างสินค้าไว้ ก็เป็นภาระของพนักงานเจ้าหน้าที่ที่จะต้องพิสูจน์ให้ได้ความว่าจำเลยที่ 1 สำแดงราคาสินค้าพิพาทต่ำกว่าราคาตลาด หามีผลทำให้การปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นไปโดยมิชอบไม่
จำเลยทั้งสองมิได้ให้การว่า การที่พนักงานเจ้าหน้าที่เข้าตรวจค้นสำนักงานจำเลยที่ 1 แล้วยึดเอกสารมาประเมินสินค้านั้น เป็นกรณีไม่มีเหตุที่จะออกหมายค้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 69 หมายค้นที่ออกไม่ชอบด้วยกฎหมาย พยานหลักฐานที่ได้มาจากการตรวจค้นจึงไม่อาจใช้เป็นพยานหลักฐานได้การที่จำเลยทั้งสองเพิ่งยกขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์ว่า พนักงานเจ้าหน้าที่เข้าตรวจค้นสำนักงานจำเลยที่ 1 แล้วยึดเอกสารมาประเมินราคาสินค้า เป็นการไม่ชอบ จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ในการพิจารณาสืบพยานนั้น เป็นดุลพินิจของศาลในการจดบันทึกคำพยานข้อความที่จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ขอให้ศาลจดบันทึกนั้นเป็นรายละเอียดที่มีอยู่ในเอกสารแล้วศาลจึงไม่จำต้องบันทึกอีก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2226/2534 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความขอคืนเงินอากรศุลกากร และการประเมินราคาที่ชอบด้วยกฎหมาย
การขอคืนเงินอากรในจำนวนที่เสียไว้เกินจำนวนที่พึงต้องเสียจริงภายในสองปีนับแต่วันนำของเข้า ตาม พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 10 วรรคท้าย นั้น จะต้องโต้แย้งหรือแจ้งความต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ว่าจะขอคืนเงินอากรในจำนวนที่เห็นว่าเสียไว้เกินจำนวนที่พึงเสียจริงก่อนการส่งมอบ มิฉะนั้นย่อมไม่มีสิทธิขอคืนไม่ว่าจะอยู่ในระยะเวลา 2 ปี หรือไม่ การขอคืนหนังสือค้ำประกันมิใช่การขอคืนเงินอากร จึงไม่ต้องห้ามด้วยบทบัญญัติของมาตรา 10 วรรคท้าย แห่ง พ.ร.บ.ศุลกากรพ.ศ. 2469 จึงต้องบังคับด้วยอายุความทั่วไป 10 ปี ตาม ป.พ.พ.มาตรา 164.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3349/2530 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เงินเพิ่มอากรศุลกากร: การเรียกเก็บเงินเพิ่มตามมาตรา 112 ตรี และการไม่อุทธรณ์ดอกเบี้ย
เจ้าพนักงานประเมินได้ส่งแบบแจ้งการประเมินอากรขาเข้าและภาษีการค้าแก่จำเลย ให้จำเลยนำเงินค่าภาษีมาชำระภายในกำหนด 30 วันตามพระราชบัญญัติศุลกากร มาตรา 112 ทวิ มิฉะนั้นจะถูกเรียกเงินอีกร้อยละ 20 ของค่าอากรที่ต้องชำระหรือชำระเพิ่มเติมมาตรา 112 ตรี จำเลยได้รับแบบแจ้งการประเมินดังกล่าวแล้ว ไม่นำเงินค่าภาษีมาชำระภายในกำหนด กรมศุลกากรมีคำสั่งทั่วไปกรมศุลกากรที่ 3/2525 ข้อ 1.5 มีใจความว่า ถ้าผู้นำของเข้าหรือผู้ส่งของออกนำเงินภาษีอากรมาชำระเกินกำหนด 3เดือน ขึ้นไปนับแต่วันที่ครบกำหนด 30 วัน จากวันที่ได้รับแจ้งให้เรียกเงินเพิ่ม 20 เปอร์เซ็นต์ ทุกรายคำสั่งทั่วไปของกรมศุลกากรดังกล่าว อธิบดีกรมศุลกากรก็ต้องเป็นผู้ออกคำสั่งนั้นทั้งตามมาตรา 112 ตรี ไม่ได้กำหนดไว้โดยชัดแจ้งว่าให้อธิบดีกรมศุลกากร หรือผู้ที่อธิบดีมอบหมาย ต้องทำเป็นหนังสือเรียกเงินเพิ่มร้อยละ 20 จากผู้นำของเข้าโดยตรงทุกรายดังนั้น การส่งแบบแจ้งการประเมินดังกล่าว ฟังได้ว่าเจ้าพนักงานประเมินกระทำไปในฐานะผู้ที่อธิบดีมอบหมาย ทั้งไม่ปรากฏว่า การใช้ดุลพินิจของพนักงานประเมินที่กระทำในฐานะผู้ที่อธิบดีมอบหมายเป็นการไม่ชอบ และทางฝ่ายจำเลยก็มิได้มีพฤติการณ์อย่างใดที่สมควรจะให้งดเรียกเงินเพิ่มตามมาตรา 112 ตรี ซึ่งเป็นคนละเรื่องกับการเรียกเงินเพิ่มร้อยละ 1 ต่อเดือนของค่าอากรที่ต้องนำมาชำระตามมาตรา 112 จัตวา จำเลยจึงต้องรับผิดในเงินเพิ่มร้อยละ 20
ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยรับผิดชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจากยอดเงินภาษีอากรที่ต้องชำระเพิ่ม รวมกับเงินเพิ่มอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือนของภาษีอากรที่ต้องชำระเพิ่มนับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์นั้นเป็นการไม่ชอบ ถึงแม้คู่ความจะมิได้อุทธรณ์ฎีกาขึ้นมาแต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาเห็นสมควรยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5)
พระราชบัญญัติศุลกากร พุทธศักราช 2469 มาตรา 112 ตรีบัญญัติให้เรียกเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 20 ของจำนวนค่าอากรที่ต้องชำระและมาตรา 112 จัตวา บัญญัติให้เรียกเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือนของเงินค่าอากรที่ต้องชำระเพิ่มเช่นนี้แล้ว แสดงให้เห็นอย่างชัดแจ้งว่ากฎหมายได้บัญญัติทางแก้สำหรับกรณีลูกหนี้ผิดนัดไม่ชำระหนี้ภาษีอากรที่ค้างชำระไว้โดยเฉพาะแล้วจะนำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 ว่าด้วยดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดมาเรียกร้องเอากับลูกหนี้ซ้ำอีกหาได้ไม่
โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยชำระภาษีอากรเพิ่มเติม กับเงินเพิ่มอัตราร้อยละ 20 ของอากรที่ต้องเสีย และเงินเพิ่มอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือนของภาษีอากรที่ต้องเสียเพิ่มจนถึงวันฟ้อง รวมเป็นเงินที่จำเลยต้องชำระทั้งสิ้น 290,961 บาท 53 สตางค์คำขอท้ายฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จดังนี้ถือได้ว่าโจทก์มิได้ขอให้จำเลยชำระเงินเพิ่มอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือนของภาษีอากรที่ต้องเสียเพิ่มนับตั้งแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ ศาลจึงพิพากษาให้ไม่ได้.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2859/2530 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความฟ้องขอคืนอากรศุลกากร: ต้องฟ้องภายใน 2 ปีนับจากวันนำเข้า และแจ้งความก่อนส่งมอบของ
สิทธิในการเรียกร้องหรือในการฟ้องคดีเพื่อเรียกคืนเงินอากรเพราะเหตุที่ได้เสียไว้เกินจำนวนที่พึงต้องเสียนั้น จะต้องฟ้องเสียภายในสองปีนับแต่วันที่นำของเข้า และถ้า เป็นการเรียกร้องหรือฟ้องคดีเพื่อขอคืนอากรเพราะเหตุอันเกี่ยวกับชนิด คุณภาพ ปริมาณ น้ำหนักหรือราคาแห่งของใด ๆ หรือเกี่ยวกับอัตราอากรสำหรับของใด ๆ นอกจากจะต้องเรียกร้องหรือฟ้องคดีภายในสองปีแล้ว ยังจะต้องแจ้งความไว้ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก่อนส่งมอบของว่าจะยื่นคำเรียกร้องด้วย โจทก์นำสินค้าเข้าเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2521 แต่โจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2529 เป็นเวลาล่วงเลยเกินกว่าสองปีนับแต่วันที่นำสินค้าเข้าแล้ว ทั้งโจทก์มิได้แจ้งความไว้ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก่อนส่งมอบสินค้าว่าโจทก์จะยื่นคำเรียกร้องขอคืนอากร ดังนั้นคดีของโจทก์ขาดอายุความแล้วตามนัยที่กล่าวข้างต้น.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1401/2530 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความการเรียกร้องคืนเงินอากรศุลกากร: ฟ้องข้ามปีขาดอายุความ
สิทธิในการเรียกร้องหรือฟ้องคดีเพื่อเรียกคืนเงินอากรเพราะเหตุที่ได้เสียไว้เกินจำนวนที่พึงต้องเสียนั้น พ.ร.บ. ศุลกากรพุทธศักราช 2469 มาตรา 10 วรรคห้า บัญญัติว่า จะต้องฟ้องภายใน 2 ปีนับแต่วันที่นำของเข้า และถ้า เป็นการเรียกร้องหรือฟ้องคดีเพื่อขอคืนอากรเพราะเหตุอันเกี่ยวกับชนิด คุณภาพ ปริมาณน้ำหนักหรือราคาแห่งของใด ๆ หรือเกี่ยวกับอัตราอากรสำหรับของใด ๆ นอกจากจะต้องเรียกร้องหรือฟ้องคดีภายใน 2 ปีแล้ว ยังจะต้องแจ้งความไว้ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก่อนการส่งมอบว่าจะยื่นคำเรียกร้องด้วย บทบัญญัติมาตรา 10 แห่ง พ.ร.บ. ศุลกากร พุทธศักราช 2469หาได้หมายความว่าเมื่อโจทก์ทวงถามค่าอากรที่เสียเกินภายในสองปีแล้วโจทก์มีสิทธิที่จะฟ้องเรียกคืนได้ภายใน 10 ปีไม่.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12751/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประเมินอากรศุลกากร การไม่อุทธรณ์ถือเป็นการยอมรับ และฟ้องซ้ำซ้อนที่ไม่เป็นผล
ตามคำฟ้องคดีอาญาหมายเลขดำที่ 716/2553 ของศาลอาญากรุงเทพใต้ โจทก์ในคดีดังกล่าวฟ้องขอให้จำเลยในคดีนี้รับผิดข้อหาร่วมกันนำหรือพาสินค้าหลบหนีภาษีอากรเข้ามาในราชอาณาจักรโดยสำแดงเท็จเพื่อหลีกเลี่ยงภาษีศุลกากรตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 ซึ่งมีปัญหาว่าจำเลยได้กระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ สำหรับคดีนี้มีปัญหาว่า จำเลยต้องรับผิดชำระค่าอากร เงินเพิ่มอากร ภาษีมูลค่าเพิ่ม เบี้ยปรับ และเงินเพิ่มหรือไม่เพียงใด จะเห็นได้ว่า คำพิพากษาในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 716/2553 ของศาลอาญากรุงเทพใต้ ย่อมมีผลเฉพาะในส่วนอาญาที่ขอให้ลงโทษจำเลยเท่านั้น ศาลในคดีอาญาไม่อาจพิพากษาบังคับให้จำเลยชำระค่าอากร เงินเพิ่มอากร ภาษีมูลค่าเพิ่ม เบี้ยปรับและเงินเพิ่มได้ มูลคดีของโจทก์ทั้งสองในคดีนี้เป็นเรื่องทางแพ่งโดยเฉพาะ มิใช่เรื่องเดียวกับคดีอาญาในความหมายที่บัญญัติไว้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง (1) ฟ้องโจทก์ทั้งสองคดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้อน
ตามมาตรา 112 ฉ แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 บัญญัติว่า ผู้นำของเข้ามีสิทธิอุทธรณ์การประเมินอากรของพนักงานเจ้าหน้าที่ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตามแบบที่อธิบดีกรมศุลกากรกำหนด ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งการประเมิน กฎหมายให้สิทธิผู้นำของเข้าอุทธรณ์การประเมินเช่นนี้ หากผู้นำของเข้าไม่อุทธรณ์ก็ถือว่าผู้นำของเข้าพอใจการประเมิน การประเมินนั้นเป็นที่ยุติ ผู้นำของเข้าจะนำคดีมาฟ้องเพื่อให้เพิกถอนการประเมินหรือต่อสู้คดีในศาลว่าการประเมินนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมายไม่ได้ จำเลยซึ่งเป็นผู้นำของเข้ามิได้อุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ จำเลยจึงไม่มีสิทธิต่อสู้ว่าการประเมินไม่ชอบด้วยกฎหมายเนื่องจากจำเลยมิได้สำแดงราคาสินค้าเป็นเท็จ จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องชำระค่าอากรตามฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4905/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ พิกัดอัตราอากรศุลกากรและผลกระทบต่อภาษีมูลค่าเพิ่ม ศาลฎีกามีอำนาจวินิจฉัยได้แม้ไม่มีการอุทธรณ์
พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 10 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "บรรดาค่าภาษีนั้น ให้เก็บตามบทพระราชบัญญัตินี้และตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราศุลกากร การเสียค่าภาษีให้เสียแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ในเวลาที่ออกใบขนสินค้าให้" มาตรา 10 ทวิ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ความรับผิดในอันจะต้องเสียค่าภาษีสําหรับของที่นําเข้าเกิดขึ้นในเวลาที่นําของเข้าสําเร็จ" วรรคสอง บัญญัติว่า "ภายใต้บังคับมาตรา 87 และมาตรา 88 การคํานวณค่าภาษีให้ถือตามสภาพของ ราคาของและพิกัดอัตราศุลกากรที่เป็นอยู่ในเวลาที่ความรับผิดในอันจะต้องเสียค่าภาษีเกิดขึ้น..." และ พ.ร.ก.พิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ.2530 มาตรา 15 วรรคสาม บัญญัติเรื่องการตีความพิกัดศุลกากรว่า "การตีความให้ถือตามหลักเกณฑ์การตีความพิกัดอัตราศุลกากรในภาค 1 ท้ายพระราชกำหนดนี้ ประกอบกับคำอธิบายพิกัดศุลกากรระบบฮาร์โมไนซ์ของคณะมนตรีความร่วมมือทางศุลกากรที่จัดตั้งขึ้นตามอนุสัญญาว่าด้วยการจัดตั้งคณะมนตรีความร่วมมือทางศุลกากร ซึ่งทำเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ.2493 และประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีอนุสัญญาดังกล่าวแล้วเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2515" เห็นว่า สินค้าพิพาทประกอบด้วยเส้นลวดกลมพันเป็นเกลียว มีชั้นพลาสติกคลุมด้านนอก และมีท่อพลาสติกด้านในตรงตามคำอธิบายพิกัดศุลกากรระบบฮาร์โมไนซ์ตอนที่ 83.07 ดังกล่าว ทั้งจำเลยที่ 1 เคยพิจารณาว่าท่อชิ้นนอก (ลวดเหล็กม้วนวนเป็นเกลียว) หรือ Outer Spring นำมาผลิตเป็นสายคลัตซ์รถยนต์ จัดเข้าประเภทพิกัด 8307.10.00 ซึ่งโจทก์นำสืบโดยจำเลยที่ 1 ไม่ได้ถามค้านหรือนำสืบให้เห็นเป็นอย่างอื่นว่า Outer Spring มีโครงสร้างคล้ายกับ Outer Shield หรือสินค้าพิพาท แต่ชั้นที่ 2 ชั้นกลางจะเป็นลวดเหล็กทับแบนม้วนวนเป็นเกลียวและ Outer Spring จะทำแรงดึงและดันได้น้อยกว่า Outer Shield หรือสินค้าพิพาทที่มีเส้นลวดเหล็กทรงกลมหลายเส้นพันรอบหลอดที่เป็นพลาสติก ดังนั้น ลักษณะของสินค้าที่พิพาทกันเรื่องอากรขาเข้าคดีนี้ จึงตรงกับลักษณะลวดที่ขดเป็นเกลียวแน่น และมีลักษณะการใช้งานไม่ต่างกับสินค้าที่จำเลยที่ 1 เคยวินิจฉัยว่าจัดเข้าประเภทพิกัด 8307.10.00 นอกจากนี้ศุลกากรของประเทศอื่นซึ่งใช้กฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราศุลกากรระบบฮาร์โมไนซ์เช่นเดียวกับประเทศไทย ได้แก่ สาธารณรัฐอินโดนีเซียและสหราชอาณาจักรเคยวินิจฉัยสินค้าชนิดเดียวกับสินค้าพิพาทว่าเป็นประเภทพิกัด 8307.10.00 ประกอบกับเมื่อสินค้าพิพาทเป็นของผสมหรือของรวมที่มีวัตถุหรือสารนั้นรวมอยู่กับวัตถุหรือสารอื่นๆ ตามหลักเกณฑ์การตีความพิกัดอัตราศุลกากรในภาค 1 ข้อ 2 (ข) ซึ่งระบุให้จำแนกประเภทของของที่ประกอบด้วยวัตถุหรือสารมากกว่าหนึ่งชนิดขึ้นไปให้จำแนกตามหลักเกณฑ์ ข้อ 3 โดยข้อ 3 (ก) ระบุว่า "ถ้าประเภทหนึ่งระบุลักษณะของของไว้โดยเฉพาะและประเภทอื่นระบุไว้อย่างกว้างๆ ให้จัดของนั้นเข้าประเภทที่ระบุไว้โดยเฉพาะ..." เห็นว่า สินค้าพิพาทเป็นท่อพลาสติกที่มีเส้นลวดเหล็กพันรอบ และมีพลาสติกอยู่ชั้นนอกสุดจึงถือเป็นหลอดหรือท่อที่อ่อนงอได้ ทำด้วยโลหะสามัญ ตามประเภทพิกัด 83.07 โดยเข้าประเภทพิกัดย่อย 8307.10 ทำด้วยเหล็กหรือเหล็กกล้า และเป็นกรณีที่ประเภทพิกัดศุลกากรได้ระบุลักษณะของของไว้โดยเฉพาะแล้วตามข้อ 3 (ก) อนึ่ง เนื่องจากคดีนี้เป็นกรณีที่ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรได้วินิจฉัยให้โจทก์เสียอากรขาเข้าลดลง ย่อมส่งผลให้ฐานในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มลดลง แม้ ป.รัษฎากร มาตรา 30 จะบัญญัติถึงหลักเกณฑ์ วิธีการ และระยะเวลาในการอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ก็ตาม แต่ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 79/2 บัญญัติว่า "ฐานภาษีสำหรับการนำเข้าสินค้าให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้ (1) ฐานภาษีสำหรับการนำเข้าสินค้าทุกประเภท ได้แก่ มูลค่าสินค้าของสินค้านำเข้าโดยให้ใช้ราคา ซี.ไอ.เอฟ. ของสินค้าบวกด้วยอากรขาเข้า ภาษีสรรพสามิต ตามที่กำหนดในมาตรา 77/1 (19) ค่าธรรมเนียมพิเศษตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน และภาษีและค่าธรรมเนียมอื่นตามที่จะได้กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา ..." เมื่อการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มต้องอาศัยมูลค่าของฐานภาษีคือราคาสินค้าบวกด้วยอากรขาเข้าที่โต้แย้งกันในคดีนี้ว่าเป็นอากรเท่าใดเพื่อใช้เป็นฐานภาษี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอาศัยอำนาจตาม ป.รัษฎากร มาตรา 4 ประกาศแต่งตั้งให้ข้าราชการพลเรือนสามัญตั้งแต่ระดับ 3 ขึ้นไป สังกัดจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าพนักงานประเมินตาม ป. รัษฎากร มาตรา 16 และจำเลยที่ 1 ใช้อำนาจตาม ป.รัษฎากร เป็นผลกระทบต่อสถานภาพ สิทธิ และหน้าที่ของโจทก์ โจทก์ไม่เห็นด้วยกับการประเมินดังกล่าว และ ป.รัษฎากร มาตรา 83/10 บัญญัติว่า "ในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (1) สำหรับสินค้าที่นำเข้า ให้กรมศุลกากรเรียกเก็บเพื่อกรมสรรพากร ..." ดังนั้น เมื่อศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรมีคำพิพากษาวินิจฉัยในเรื่องพิกัดอัตราศุลกากรอันมีผลให้อากรขาเข้าลดลง ภาษีมูลค่าเพิ่มที่โจทก์มีความรับผิดตามการประเมินของจำเลยที่ 1 ก็ต้องลดลงไปโดยผลของกฎหมายด้วย เมื่อโจทก์ใช้สิทธิอุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 โต้แย้งเกี่ยวกับพิกัดอัตราอากรศุลกากรซึ่งเป็นผลให้กระทบจำนวนเงินที่ต้องนำมารวมกับมูลค่าของเพื่อเป็นฐานภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว กรณีนี้จึงไม่จำต้องอุทธรณ์การประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตามประมวลรัษฎากรอีก ฐานภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการนำเข้าตามการประเมินได้รวมอากรขาเข้าที่ไม่ถูกต้องและโจทก์ได้อุทธรณ์การประเมินอากรขาเข้าแล้วศาลฎีกาจึงมีอำนาจพิพากษาไปถึงฐานภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการนำเข้าที่โจทก์มีหน้าที่ต้องเสียภาษีตามกฎหมาย ปัญหานี้แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ฎีกาแต่เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 26