คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
อายัดสิทธิ

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 3 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5443/2531

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การยึดสัญญาเช่าซื้อเป็นประกันหนี้ การแจ้งความเท็จและการอายัดสิทธิ ไม่ทำให้เกิดความเสียหายต่อผู้ยึดถือ
จำเลยกู้ยืมเงินโจทก์โดยมอบหนังสือสัญญาเช่าซื้อห้องแฟลตให้โจทก์ยึดถือไว้เป็นประกัน ต่อมาจำเลยไปแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนว่าหนังสือสัญญาเช่าซื้อนั้นหายไป เพื่อเป็นหลักฐานไปขอคู่ฉบับสัญญาเช่าซื้อจากผู้ให้เช่าซื้อ แล้วนำคู่ฉบับสัญญาดังกล่าวไปขอโอนสิทธิให้ผู้อื่นแต่ถูกศาลสั่งอายัดเสียก่อน ดังนี้โจทก์มิใช่คู่สัญญาไม่มีสิทธิตามสัญญาเช่าซื้อแต่ประการใดโจทก์มีสิทธิเพียงยึดถือหนังสือสัญญาเช่าซื้อไว้เป็นประกันหนี้เงินกู้เท่านั้น โจทก์มิได้สูญเสียสิทธิในการยึดถือหนังสือสัญญาเช่าซื้อ ค่าของหนังสือสัญญาเช่าซื้อที่โจทก์ยึดถือก็มิได้ลดน้อยลงเพราะแม้จำเลยจะได้คู่ฉบับสัญญาเช่าซื้อมาเนื่องจากการแจ้งความเท็จแต่ศาลก็ได้มีคำสั่งอายัดการโอนคู่ฉบับสัญญาดังกล่าวแล้วโจทก์จึงไม่เสียหายโดยพฤตินัยหรือโดยนิตินัย และไม่มีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4872/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การโอนสิทธิเรียกร้องและการอายัดสิทธิ: ผลกระทบต่อการบังคับคดี
การที่จำเลยโอนสิทธิเรียกร้องที่จะได้รับเงินจากผู้ร้องตามสัญญาประนีประนอมยอมความในคดีก่อนของศาลชั้นต้นให้แก่บริษัท ท. โดยบริษัทดังกล่าวมีหนังสือแจ้งการโอนสิทธิเรียกร้องให้ผู้ร้องทราบแล้ว การโอนสิทธิเรียกร้องรายนี้ย่อมสมบูรณ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 306 วรรคหนึ่ง และหากการโอนสิทธิเรียกร้องรายนี้ยังไม่มีการยกเลิกกันโดยชอบ สิทธิของจำเลยที่จะได้รับชำระหนี้จากผู้ร้องซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาในคดีก่อนนั้นย่อมตกเป็นของบริษัท ท. จำเลยจึงไม่มีสิทธิที่จะรับเงินตามคำพิพากษาในคดีนั้นจากผู้ร้องแล้ว โจทก์จึงไม่มีสิทธิอายัดสิทธิเรียกร้องดังกล่าวได้ การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีมีคำสั่งอายัดสิทธิเรียกร้องดังกล่าวไปยังผู้ร้องจึงเป็นการไม่ชอบ ผู้ร้องมีสิทธิยื่นคำร้องให้เพิกถอนคำสั่งอายัดดังกล่าวได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4535/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบังคับคดีค่าปรับ: ยึดทรัพย์/อายัดสิทธิ แม้มีการกักขังแทนค่าปรับ
ตาม ป.อ. มาตรา 29 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ผู้ใดต้องโทษปรับและไม่ชำระค่าปรับภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ศาลพิพากษา ผู้นั้นจะต้องถูกยึดทรัพย์สินหรืออายัดสิทธิเรียกร้องในทรัพย์สินเพื่อใช้ค่าปรับหรือมิฉะนั้นจะต้องถูกกักขังแทนค่าปรับ แต่ถ้าศาลเห็นเหตุอันควรสงสัยว่าผู้นั้นจะหลีกเลี่ยงไม่ชำระค่าปรับ ศาลจะสั่งเรียกประกันหรือจะสั่งให้กักขังผู้นั้นแทนค่าปรับไปพลางก่อนก็ได้" ดังนี้ เมื่อจำเลยที่ 2 ไม่ชำระค่าปรับภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ศาลพิพากษา ศาลชั้นต้นย่อมมีอำนาจบังคับเอาค่าปรับจากจำเลยที่ 2 โดยวิธียึดทรัพย์สินหรืออายัดสิทธิเรียกร้องในทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 ได้อยู่แล้ว ส่วนกรณีที่ศาลชั้นต้นกักขังจำเลยที่ 2 แทนค่าปรับด้วยนั้นก็เป็นกรณีที่ศาลเห็นเหตุอันควรสงสัยว่าจำเลยที่ 2 จะหลีกเลี่ยงไม่ชำระค่าปรับ จึงให้กักขังแทนค่าปรับไปพลางก่อนซึ่งย่อมมีอำนาจกระทำได้อีกเช่นกัน ทั้งนี้ โดยการยึดทรัพย์สินหรืออายัดสิทธิเรียกร้องในทรัพย์สินของผู้ต้องโทษปรับดังเช่นจำเลยที่ 2 นี้ ป.อ. มาตรา 29/1 บัญญัติถึงวิธีการในการบังคับคดีดังกล่าวรวมทั้งการตรวจสอบหาทรัพย์สินของผู้ต้องโทษปรับไว้ในวรรคหนึ่งถึงวรรคสามและโดยเฉพาะอย่างยิ่ง มาตรา 29/1 วรรคสี่ ก็บัญญัติไว้ชัดเจนว่า "บทบัญญัติมาตรานี้ไม่กระทบต่อการที่ศาลจะมีคำสั่งตามมาตรา 29 วรรคหนึ่ง" จึงเห็นได้ว่าศาลชั้นต้นย่อมมีอำนาจบังคับชำระค่าปรับทั้งโดยวิธีการยึดทรัพย์สินหรืออายัดสิทธิเรียกร้องในทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 และอาจใช้วิธีสั่งกักขังจำเลยที่ 2 แทนค่าปรับไปพลางก่อน ตามมาตรา 29 วรรคหนึ่ง ดังที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นไปด้วยกันได้ มิได้ถูกจำกัดว่าจะต้องใช้เพียงวิธีใดวิธีหนึ่งเพียงวิธีเดียวเท่านั้นแต่อย่างใด ดังนั้น แม้ศาลชั้นต้นจะสั่งให้กักขังจำเลยที่ 2 แทนค่าปรับไว้แล้วก็ตาม ศาลชั้นต้นก็ยังมีอำนาจออกหมายบังคับคดีเพื่อยึดทรัพย์สินหรืออายัดสิทธิเรียกร้องในทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 เพื่อใช้ค่าปรับได้ตาม ป.อ. มาตรา 29 และ มาตรา 29/1 ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้นำเงินที่จำเลยที่ 2 วางประกันการปล่อยชั่วคราวจำนวน 200,000 บาท ชำระค่าปรับตามคำพิพากษากับออกหมายบังคับคดียึดห้องชุดของจำเลยที่ 2 แม้อยู่ในระหว่างจำเลยที่ 2 ถูกกักขังแทนค่าปรับ ก็เป็นการดำเนินการในการบังคับชำระค่าปรับโดยชอบด้วยกฎหมายดังกล่าวแล้ว จำเลยที่ 2 ไม่มีสิทธิขอให้คืนเงินหรือปล่อยทรัพย์แต่อย่างใด