คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
อายัดเงินฝาก

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 7 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1638/2546

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การอายัดเงินฝากเพื่อบังคับคดีจากสัญญาทำไม้และกองทุนดูแลป่า: ศาลต้องไต่สวนก่อน
โจทก์ฟ้องว่าโจทก์ให้สัมปทานทำไม้แก่จำเลยโดยมีเงื่อนไขว่า จำเลยต้องนำเงินเข้าฝากและถอนเป็นกองทุนเพื่อดูแลและป้องกันไฟป่า ซึ่งจำเลยก็ได้ปฏิบัติตามโดยนำเงินเข้าฝากเป็นกองทุนที่ธนาคาร ท. แม้ต่อมาสัมปทานดังกล่าวจะสิ้นสุดลง โจทก์อ้างว่าจำเลยยังมีความผูกพันที่จะต้องส่งมอบเงินกองทุนดังกล่าวแก่โจทก์ และที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ก็เพื่อบังคับให้จำเลยส่งมอบเงินกองทุนนั้นให้แก่โจทก์ทั้งตามคำขอให้กำหนดวิธีการคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาของโจทก์ก็กล่าวอ้างว่าจำเลยอาจถอนเงินจากบัญชีเงินฝากไปจำหน่ายจ่ายโอนได้ ซึ่งเมื่อโจทก์ชนะคดีจะไม่สามารถบังคับคดีเอาจากเงินฝากและทรัพย์สินอื่นของจำเลยได้ หากเป็นดังที่โจทก์กล่าวอ้าง คำร้องของโจทก์ที่ขอให้ศาลมีคำสั่งอายัดเงินฝากในธนาคาร ท. ย่อมมีมูลที่จะนำวิธีคุ้มครองตามที่โจทก์ขอมาใช้ได้ จึงชอบที่ศาลชั้นต้นจะไต่สวนคำร้องของโจทก์เสียก่อน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 753/2541

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การอายัดเงินฝากที่เป็นทรัพย์มรดก แม้ชื่อผู้ฝากไม่ใช่เจ้ามรดก คุ้มครองสิทธิทายาทจากความเสียหาย
การที่โจทก์ฟ้องอ้างว่า ระหว่างยังมีชีวิตเจ้ามรดกมอบหมายให้จำเลยซึ่งเป็นบุตรคนหนึ่งดูแลทรัพย์สินและจัดหาผลประโยชน์จากทรัพย์สินแทน เจ้ามรดกมีทรัพย์สินเป็นเงินสดและที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง เจ้ามรดกลงชื่อจำเลยในบัญชีเงินฝากและในโฉนดที่ดิน โดยแสดงเจตนาว่าทรัพย์สินของเจ้ามรดกนั้นจำเลยมีชื่อเพียงในฐานะผู้ครอบครองแทนเจ้ามรดกมีเจตนาที่จะแบ่งทรัพย์สินของตนให้บุตรทุกคนเท่ากันเมื่อเจ้ามรดกถึงแก่ความตาย โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดก และทายาทคนอื่นเรียกให้จำเลยส่งมอบทรัพย์สินที่จำเลย ครอบครองอยู่เข้ากองมรดกเพื่อแบ่งปันแก่ทายาท แต่จำเลยปฏิเสธคำฟ้องดังกล่าวย่อมครอบคลุมรวมทั้งทรัพย์มรดกที่มีชื่อและไม่มีชื่อเจ้ามรดก มิได้จำกัดแต่เฉพาะทรัพย์ที่มีชื่อเจ้ามรดกปรากฏอยู่เท่านั้น และโดยที่ในชั้นพิจารณามีประเด็นต้องวินิจฉัยว่าเงินฝากในธนาคารเป็นเงินที่เจ้ามรดกยกให้จำเลยหรือเพียงให้จำเลยจัดการแทน ซึ่งหากเป็นกรณีเพียงให้จำเลยจัดการแทน แม้บัญชีดังกล่าวจะมีจำเลยคนเดียวเป็นผู้ฝาก เงินดังกล่าวก็เป็นทรัพย์มรดกซึ่งโจทก์และทายาทอื่นมีสิทธิอยู่ด้วย เมื่อพฤติการณ์ส่อแสดงว่าจำเลยอาจโอนเงินดังกล่าวไปให้พ้นจากอำนาจศาลเพื่อขัดขวางการบังคับคดี โจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะยื่นคำร้องขอให้อายัดเงินฝากดังกล่าว อันเป็นวิธีการขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 255 วรรคสอง (ข) ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 768/2539 เวอร์ชัน 5 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การอายัดเงินฝากที่ไม่ถูกต้องและค่าธรรมเนียมที่เกิดขึ้น แม้ผู้ขออายัดทราบว่าไม่ใช่ของจำเลย
โจทก์เป็นผู้ขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีอายัดเงินฝากไปยังธนาคาร เจ้าพนักงานบังคับคดีมีหนังสือแจ้งอายัดไปยังธนาคารแล้ว แม้ก่อนที่หนังสือแจ้งอายัดดังกล่าวจะไปถึงธนาคาร โจทก์ทราบว่าเงินฝากที่โจทก์ขออายัดนั้นไม่ใช่ของจำเลย แต่มีชื่อและนามสกุลพ้องกันกับของจำเลย โจทก์จึงขอให้ธนาคารงดการอายัดไว้ก่อนโดยโจทก์จะไประงับการอายัดต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีตามที่โจทก์กล่าวอ้างในคำร้องและฎีกาก็ตาม แต่ก็ปรากฏตามคำร้องของโจทก์เองว่า โจทก์ได้ถอนการอายัดต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีภายหลังจากที่เจ้าพนักงานบังคับคดีมีหนังสืออายัดไปยังธนาคารแล้ว ทั้งตามคำร้องของโจทก์ก็ไม่ปรากฏว่า ขณะที่โจทก์ขอถอนการอายัดนั้น ธนาคารยังมิได้รับหนังสืออายัดจากเจ้าพนักงานบังคับคดีแต่อย่างใด ดังนั้นที่โจทก์ฎีกาว่าโจทก์ได้ถอนการอายัดเสียก่อนที่หนังสืออายัดของเจ้าพนักงานบังคับคดีจะไปถึงธนาคาร จึงเป็นการกล่าวอ้างนอกเหนือจากที่กล่าวในคำร้อง ไม่อาจรับฟังได้ กรณีต้องถือว่าได้มีการอายัดโดยชอบแล้วตาม ป.วิ.พ. มาตรา 311 เมื่อโจทก์ถอนการอายัดจึงต้องเสียค่าธรรมเนียมอายัดแล้วไม่มีการขายหรือจำหน่าย ตามตาราง 5 (4) ท้าย ป.วิ.พ.
การที่ปรากฏว่าบัญชีเงินฝากที่อายัดนั้นไม่ใช่ของจำเลย และธนาคารมีหนังสือแจ้งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีทราบภายหลังที่ได้รับหนังสืออายัดแล้วโจทก์จะยกเป็นข้ออ้างให้พ้นความรับผิดในค่าฤชาธรรมเนียมเจ้าพนักงานบังคับคดีหาได้ไม่ หากโจทก์ผู้ขออายัดไม่ชำระ เจ้าพนักงานบังคับคดีย่อมขอหมายบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของโจทก์ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 295 ตรี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3432/2530 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาค้ำประกัน-อายัดเงินฝาก: สิทธิถอนเงินยังอยู่กับจำเลย ผู้ร้องไม่มีสิทธิหักเงินโดยอัตโนมัติ
การที่สัญญาค้ำประกันระหว่างผู้ร้องกับจำเลยมีความข้อ 6 ระบุว่าเมื่อลูกหนี้ผู้กู้ผิดสัญญากับผู้ร้อง จำเลยผู้ค้ำประกันยินยอมให้ผู้ร้องหักเงินจากบัญชีเงินฝากประจำที่จำเลยมีอยู่กับผู้ร้องเพื่อชำระหนี้ได้ ข้อ 7 ระบุให้จำเลยถอนเงินคืนไปได้ต่อเมื่อจำนวนหนี้ที่ผู้กู้เป็นหนี้ผู้ร้องลดลงเหลือไม่เกินราคาหลักทรัพย์ที่ผู้ร้อง ประเมินเป็นหลักประกัน และข้อ 8 ระบุให้ผู้ร้องมีสิทธิเพียงยึดถือสมุดคู่ฝากเงินที่จำเลยฝากไว้นั้นเป็นประกันตลอดไปจนกว่าผู้ร้องจะได้รับชำระหนี้ จากผู้กู้ครบถ้วน และจำเลยยินยอมให้ผู้ร้องหักเงินจากบัญชีเงินฝากดังกล่าวชดใช้ความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการที่จำเลยเป็นลูกหนี้ผู้ร้องรวมตลอดถึงลูกหนี้ซึ่งจำเลยเป็นผู้ค้ำประกันได้ทันทีนั้น ถือไม่ได้ว่าจำเลยได้โอนสิทธิเรียกร้องเงินในบัญชีเงินฝากดังกล่าวให้ผู้ร้องแล้ว เพราะจำเลยยังคงมีสิทธิถอนเงินคืนไปได้เมื่อมีกรณีตามสัญญาข้อ 7 และการที่ผู้ร้องจะหักเงินจากบัญชีเงินฝากดังกล่าวได้นั้น จะต้องเป็นกรณีที่ลูกหนี้ผู้กู้ผิดสัญญากับผู้ร้องตามสัญญาข้อ 6 หรือจำเลยหรือลูกหนี้ผู้กู้ก่อความเสียหายแก่ผู้ร้องตามสัญญาข้อ 8 เท่านั้น โจทก์จึงมีสิทธิอายัดเงินในบัญชีเงินฝากดังกล่าวเพื่อบังคับชำระหนี้ตามคำพิพากษาของตนได้
ส่วนที่ผู้ร้องฎีกาว่า ศาลแพ่งได้พิพากษาให้ลูกหนี้ผู้กู้ซึ่งผิดนัดไม่ชำระหนี้รวม 3 รายกับจำเลยในฐานะผู้ค้ำประกันร่วมกันชำระหนี้แก่ผู้ร้องแล้วและการขออายัดของเจ้าพนักงานบังคับคดีมีขึ้นหลังจากที่ผู้ร้องเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของลูกหนี้ผู้กู้และจำเลยแล้วนั้น ก็เป็นข้อเท็จจริงที่เพิ่งอ้างขึ้นใหม่ในชั้นฎีกา จึงต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1209/2530

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การอายัดเงินฝากก่อนและหลังคำพิพากษา: ผลกระทบต่อธนาคารและโจทก์เมื่อคำสั่งอายัดเดิมยกเลิก
การที่ศาลมีคำสั่งอายัดเงินฝากของจำเลยที่ 1 ในครั้งแรกเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2524 นั้น เป็นคำสั่งอายัดในคดีอื่น ซึ่งจำเลยที่ 3 ในคดีนี้เป็นโจทก์ และขณะนั้นจำเลยที่ 1 มีเงินฝากประจำอยู่ที่ธนาคารกรุงไทย จำกัด สาขาตราด จำนวน 2,000,000 บาทแต่จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีไว้กับธนาคารโดยยินยอมให้นำเงินฝากประจำ 1,000,000 บาทมาเป็นประกัน หลังจากที่ศาลมีคำสั่งอายัดเงินฝากครั้งแรกแล้วนั้น แม้จำเลยที่ 1จะมาขอเบิกเงินและธนาคารได้จ่ายให้ไป ก็เป็นการจ่ายไปก่อนที่ศาลจะมีคำสั่งอายัดในคดีนี้ ซึ่งสั่งอายัดเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2525 ทั้งยังปรากฏว่าในคดีนั้น ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ได้พิพากษาให้จำเลยชนะคดี คำสั่งอายัดชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษาย่อมเป็นอันยกเลิกไป ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 260 การที่ธนาคารจ่ายเงินให้แก่จำเลยไปก่อนที่จะมีคำสั่งอายัดทรัพย์ในคดีนี้ จะถือว่าเป็นความผิดของธนาคารเป็นเหตุให้โจทก์คดีนี้ต้องเสียหายหาได้ไม่.(ที่มา-เนติ)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6083/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เงินฝากถูกอายัดเป็นหลักประกันการปล่อยชั่วคราว ห้ามนำไปหักกลบลบหนี้อื่น แม้คดีอาญาจะยกฟ้อง
ในขณะที่จำเลยยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวนางหรือนางสาว ว. จำเลยในคดีอาญาของศาลแขวงธนบุรี จำเลยนำหนังสือรับรองยอดเงินฝากประจำของธนาคารผู้คัดค้าน ซึ่งระบุยืนยันว่าจะไม่ให้มีการถอนเงินออกจากบัญชีดังกล่าวจนกว่าจะได้รับคำสั่งเปลี่ยนแปลงจากศาลมาประกอบในการขอปล่อยชั่วคราว และศาลแขวงธนบุรีมีหนังสือแจ้งอายัดเงินฝาก ไปยังธนาคารผู้คัดค้าน ธนาคารผู้คัดค้านได้รับแจ้งอายัดสมุดเงินฝากของจำเลยไว้แล้ว และธนาคารผู้คัดค้านจะระงับการจำหน่ายจ่ายโอนและการเปลี่ยนแปลงกรรมสิทธิ์ในสมุดเงินฝากของจำเลยดังกล่าวไว้ตามคำสั่งศาลจนกว่าจะได้รับแจ้งการเปลี่ยนแปลงเป็นหนังสือจากศาลเป็นอย่างอื่น ย่อมเป็นการแสดงเจตนาโดยชัดแจ้ง ว่าเงินในบัญชีเงินฝากประจำของจำเลยดังกล่าวได้นำไปใช้เป็นหลักประกันการขอปล่อยชั่วคราวนางหรือนางสาว ว. และธนาคารผู้คัดค้านยังมีภาระผูกพันที่จะต้องระงับการจำหน่ายจ่ายโอนและการเปลี่ยนแปลงกรรมสิทธิ์ในสมุดเงินฝากประจำของจำเลยดังกล่าวไว้ตามคำสั่งศาลแขวงธนบุรีจนกว่าจะได้รับแจ้งการเปลี่ยนแปลงเป็นหนังสือจากศาล เมื่อธนาคารผู้คัดค้านยังไม่ได้รับแจ้งการเปลี่ยนแปลงเป็นหนังสือจากศาลแขวงธนบุรีหนังสืออายัดของศาลจึงยังมีผลผูกพันธนาคารผู้คัดค้านอยู่ ธนาคารผู้คัดค้านไม่มีสิทธินำเงินในสมุดเงินฝากประจำของจำเลยดังกล่าวไปหักกลบลบหนี้กับบัญชีเครดิตของจำเลยที่เป็นลูกหนี้ของธนาคารผู้คัดค้านได้ เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีมีหนังสือแจ้งอายัดเงินฝากและขอให้ส่งเงินมาให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดีตามกฎหมาย ธนาคารผู้คัดค้านจึงต้องปฏิบัติและส่งเงินมาตามคำสั่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8311-8312/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การอายัดเงินฝากจากทรัพย์มรดก: สิทธิทายาท & การแบ่งทรัพย์สิน
ผู้ร้องทั้งสองไม่มีหลักฐานเอกสารแสดงการแบ่งปันทรัพย์มรดกของผู้ตายให้แก่จำเลยซึ่งเป็นทายาทผู้ตาย ถึงแม้ผู้ร้องที่ 1 จะได้โอนที่ดินพร้อมบ้านไม้สองชั้น 2 คูหา ให้ผู้ร้องที่ 2 ไปแล้วก็เป็นเพียงการโอนไปซึ่งทรัพย์มรดกส่วนหนึ่งเท่านั้นแต่ในทรัพย์มรดกอื่นกลับไม่ปรากฏว่าผู้ร้องที่ 1 ได้จัดการประการใดหรือโอนให้จำเลยไป ดังนี้ เมื่อเงินฝากในบัญชีเงินฝากกึ่งหนึ่งยังเป็นของผู้ตาย ย่อมตกทอดไปยังจำเลยและผู้ร้องที่ 2 ซึ่งเป็นทายาทผู้ตาย จำเลยจึงมีส่วนเป็นเจ้าของรวมในเงินฝากดังกล่าว ผู้ร้องทั้งสองจึงไม่มีสิทธิร้องขอให้เพิกถอนการอายัดเงินดังกล่าวของพนักงานบังคับคดี
ตามคำร้องขอให้เพิกถอนการอายัดของผู้ร้องทั้งสองซึ่งอ้างว่าเงินฝากที่เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ทำการอายัดเป็นทรัพย์มรดกตกได้แก่ผู้ร้องทั้งสอง ขอให้เพิกถอนการอายัดเงินฝากดังกล่าวนั้น เป็นกรณีมีปัญหาว่า จะอายัดเงินฝากดังกล่าวได้หรือไม่ เพียงใด แม้ผู้ร้องทั้งสองจะมีคำขอให้คืนเงินฝากดังกล่าวแก่ผู้ร้องทั้งสองด้วยแต่หากศาลมีคำพิพากษาให้เพิกถอนการอายัด ย่อมทำให้เงินฝากดังกล่าวกลับคืนไปตามเดิมเท่านั้น จึงเป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์ และเมื่อเป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์ผู้ร้องทั้งสองจึงต้องเสียค่าขึ้นศาลทั้งสามศาลสำนวนละ 200 บาท ในแต่ละชั้นศาลตามตาราง 1 ข้อ 2 (ก) ท้าย ป.วิ.พ. แต่ผู้ร้องทั้งสองเสียค่าขึ้นศาลอย่างคดีมีทุนทรัพย์ในแต่ละชั้นศาลจึงต้องคืนค่าขึ้นศาลแต่ละสำนวนในส่วนที่เกิน 200 บาท ให้แก่ผู้ร้องทั้งสอง