คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
อำนาจช่วง

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 4 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 886/2548 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ หนังสือมอบอำนาจช่วง: การตีความเจตนาผู้มอบอำนาจตาม ป.พ.พ. มาตรา 10 เพื่อให้เกิดผลบังคับใช้
หนังสือมอบอำนาจของโจทก์มีข้อความระบุว่า "ข้าพเจ้า บริษัท ส. โดย ซ. และ ว. กรรมการผู้มีอำนาจดำเนินการแทนบริษัทดังจะกล่าวต่อไปนี้... ข้อ 1 ให้ตัวแทนมีอำนาจฟ้องคดี... ข้อ 9 ... ให้มีอำนาจแต่งตั้งตัวแทนช่วง เพื่อให้มีอำนาจและดำเนินการตามอำนาจดังกล่าวข้างต้นให้ทุกประการ..." และหนังสือมอบอำนาจอีกฉบับมีข้อความว่า "ด้วยหนังสือนี้ข้าพเจ้าบริษัท ส. โดย ว. กรรมการผู้มีอำนาจ ขอแต่งตั้งให้ จ. และหรือ ก. ให้เป็นตัวแทนของบริษัท และให้อำนาจดำเนินการแทนบริษัทดังจะกล่าวต่อไปนี้..." แม้หนังสือมอบอำนาจฉบับหลังจะระบุว่า ว. ผู้มอบอำนาจกระทำการในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจโจทก์ มิได้ระบุว่ากระทำการแทนในฐานะตัวแทนโจทก์ก็ตามแต่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 10 บัญญัติว่า "เมื่อความข้อใดข้อหนึ่งในเอกสารอาจตีความได้สองนัย นัยไหนจะทำให้เป็นผลบังคับได้ ให้ถือเอาตามนัยนั้น ดีกว่าที่จะถือเอานัยที่ไร้ผล" ดังนั้น การที่โจทก์ฟ้องคดีนี้โดยในคำฟ้องระบุว่า จ. และหรือ ก. เป็นผู้รับมอบอำนาจช่วง กับอ้างหนังสือมอบอำนาจทั้งสองฉบับดังกล่าวเป็นพยานหลักฐาน ทั้งใบแต่งทนายความโจทก์ระบุว่า ผู้แต่งทนายความคือโจทก์โดย จ. ผู้รับมอบอำนาจช่วง จึงต้องถือว่า ว. มีเจตนาลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญโจทก์ในหนังสือมอบอำนาจฉบับหลังเพื่อมอบอำนาจช่วงให้ จ. และหรือ ก. ฟ้องคดีนี้ตามที่ได้รับมอบอำนาจจากโจทก์ หาได้กระทำการในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจโจทก์แต่อย่างใดไม่ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6911/2544 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจการมอบอำนาจขอคืนของกลางในคดีอาญา: หนังสือมอบอำนาจครอบคลุมการดำเนินคดีทั้งหมดและมอบอำนาจช่วงได้
การขอคืนของกลางตาม ป.อ. มาตรา 36 เป็นส่วนหนึ่งของคดีอาญา
ตามหนังสือมอบอำนาจของผู้ร้องระบุไว้ชัดเจนให้ผู้รับมอบอำนาจมีอำนาจดำเนินคดีแทนทั้งทางแพ่ง ทางอาญา และล้มละลายจนกว่าคดีถึงที่สุด ผู้รับมอบอำนาจจึงมีอำนาจยื่นคำร้องขอคืนของกลางแทนผู้ร้องได้ นอกจากนี้ในหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวยังระบุให้ผู้รับมอบอำนาจตั้งตัวแทนหรือผู้รับมอบอำนาจช่วงให้ดำเนินการแทนได้ภายในขอบเขตที่ได้ระบุไว้ในหนังสือมอบอำนาจ และปรากฏในหนังสือมอบอำนาจช่วงผู้รับมอบอำนาจได้มอบอำนาจให้ อ. ผู้รับมอบอำนาจช่วงดำเนินการยื่นเรื่องราวลงชื่อในเอกสารต่าง ๆ เกี่ยวกับการขอรับรถจักรยานยนต์ของกลางคืน อันหมายถึงการยื่นคำร้องขอรถจักรยานยนต์ของกลางคืนต่อศาลนั่นเอง ถือได้ว่า ผู้ร้องได้มอบอำนาจให้ อ. ผู้รับมอบอำนาจช่วงยื่นคำร้องต่อศาลขอคืนของกลางได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8242/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การมอบอำนาจฟ้องคดี: อำนาจช่วงที่เกินขอบเขตหนังสือมอบอำนาจทำให้ไม่มีอำนาจฟ้อง
หนังสือมอบอำนาจของ ก. ผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ได้มอบอำนาจให้ ธ. ฟ้องคดีและให้มีอำนาจมอบอำนาจช่วงได้ และเมื่อ ธ. ผู้รับมอบอำนาจได้มอบอำนาจช่วงให้ จ. ฟ้องคดีแล้ว ย่อมเป็นการอยู่ในขอบเขตตามหนังสือมอบอำนาจของ ก. แต่ส่วนที่ จ. ผู้รับมอบอำนาจช่วงจะมอบอำนาจช่วงให้บุคคลอื่นต่อไปในการฟ้องคดีนี้อีกต่อหนึ่งย่อมอยู่นอกเขตแห่งหนังสือมอบอำนาจของ ก. ดังนั้น ส. ผู้รับมอบอำนาจช่วงจาก จ. จึงไม่มีอำนาจฟ้องคดี และเมื่อโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องก็ย่อมไม่มีฟ้องของโจทก์และตัวโจทก์ที่จำเลยที่ ๒ จะฟ้องแย้งได้ จำเลยที่ ๒ จึงไม่มีสิทธิฟ้องแย้ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2105-2106/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีและการมอบอำนาจช่วง: การตีความขอบเขตอำนาจตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
โจทก์ทำหนังสือมอบอำนาจ ระบุให้ พ. มีอำนาจกระทำการต่างๆ แทนโจทก์รวมทั้งมีอำนาจดำเนินคดีแทนโจทก์และให้มอบอำนาจช่วงได้ด้วย โดยแยกรายละเอียดดังกล่าวเป็นข้อๆ ไว้ ดังนั้น ผู้รับมอบอำนาจของโจทก์จึงไม่ถูกจำกัดอำนาจในการยื่นฟ้องคดีต่อศาลตาม ป.พ.พ. มาตรา 801 วรรคสอง (5) เพราะหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวได้ระบุให้อำนาจแก่ผู้รับมอบอำนาจของโจทก์ไว้แจ้งชัดแล้ว ทั้งเป็นการมอบอำนาจทั่วไปให้ดำเนินคดีแทนโจทก์ มิใช่เป็นการมอบอำนาจเฉพาะการตามมาตรา 800 ที่จะต้องระบุชื่อผู้ซึ่งจะต้องถูกฟ้องคดีตามที่มอบอำนาจไว้ นอกจากนี้การมอบอำนาจทั่วไปให้ดำเนินคดีนั้น เมื่อไม่ปรากฏข้อจำกัดแจ้งชัดจากโจทก์ผู้มอบอำนาจเอง ก็ย่อมหมายถึงให้ดำเนินคดีต่างๆ ที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะได้เกิดขึ้นก่อนหรือหลังวันทำหนังสือมอบอำนาจฉบับนี้ด้วย ดังนั้น พ. ซึ่งมีอำนาจดำเนินคดีแทนโจทก์โดยสมบูรณ์ในขณะที่ยื่นฟ้อง จึงมีอำนาจมอบอำนาจช่วงตามหนังสือมอบอำนาจช่วงให้ ม. ได้