คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
อำนาจฟ้องขับไล่

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 3 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 102/2525

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องขับไล่ & นิติกรรมอำพราง: ผู้ให้เช่าไม่จำเป็นต้องเป็นเจ้าของทรัพย์ สัญญาเช่าไม่เป็นนิติกรรมอำพรางสัญญาไถ่
ผู้ให้เช่าหาจำต้องเป็นเจ้าของทรัพย์ที่ให้เช่าเสมอไปไม่ เมื่อจำเลยทำสัญญาเช่าบ้านและที่ดินกับโจทก์ แล้วจำเลยผิดสัญญา โจทก์บอกเลิกสัญญาโดยชอบแล้ว โจทก์มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยได้ จำเลยจะยกเหตุที่โจทก์ไม่ใช่เจ้าของทรัพย์ที่ให้เช่ามาเป็นข้อต่อสู้ไม่ได้
ทรัพย์ที่โจทก์ให้เช่าเป็นของบุตรโจทก์ การฟ้องขับไล่จำเลยจึงไม่ใช่เป็นการจัดการสินสมรสของโจทก์กับสามีอันจะต้องทำร่วมกันตามป.พ.พ. ม.1476
กรณีจะเป็นนิติกรรมอำพรางได้จะต้องปรากฏว่า นิติกรรมที่อำพรางและนิติกรรมที่ถูกอำพรางคู่กรณีจะต้องเป็นบุคคลเดียวกันและต้องทำขึ้นในคราวเดียวกัน จำเลยนำที่ดินและสิ่งปลูกสร้างไปขายฝากโจทก์ร่วมโดยโจทก์เป็นผู้ลงชื่อรับซื้อฝากแทนโจทก์ร่วมต่อมาจำเลยไม่ได้ไถ่ภายในกำหนด ทรัพย์ดังกล่าวจึงเป็นของโจทก์ร่วมต่อมาจำเลยทำสัญญาเช่าจากโจทก์ สัญญาเช่านี้มิได้เป็นนิติกรรมอำพรางสัญญาไถ่ทรัพย์คืน แต่เป็นนิติกรรมที่โจทก์จำเลยมีเจตนาให้มีผลบังคับกันโดยแท้จริง มีผลใช้บังคับได้ตามกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 317/2512 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องขับไล่ของผู้เช่า: สิทธิการอาศัยและการสิ้นสุดสัญญาเช่า
โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยผู้อาศัยออกจากตึกพิพาทที่โจทก์เช่าจาก น.เจ้าของตึก ซึ่งในขณะยื่นคำฟ้องอาจให้เช่าได้ไม่เกินเดือนละสองพันบาท จำเลยมิได้กล่าวแก้เป็นข้อพิพาทด้วยกรรมสิทธิ์หรือยกข้อโต้เถียงในเรื่องแปลความหมายแห่งข้อความในสัญญาอาศัย ที่จำเลยให้การต่อสู้ว่าจำเลยเป็นผู้เช่าตึกโดยจำเลยให้โจทก์ลงชื่อแทนนั้น แม้จะเป็นการโต้เถียงสิทธิการเช่าระหว่างโจทก์และจำเลยว่าใครเป็นผู้เช่าตึกพิพาทจากเจ้าของตึกก็ตาม แต่ก็ไม่เรียกว่าเป็นการกล่าวแก้ข้อพิพาทด้วยกรรมสิทธิ คดีนี้จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 224 ดังนั้น ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์ของจำเลยในประเด็นที่ว่า โจทก์หรือจำเลยเป็นผู้เช่าตึกพิพาทจากเจ้าของตึกซึ่งเป็นปัญหาข้อเท็จจริง โดยผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีนั้นในศาลชั้นต้นมิได้รับรองปัญหาข้อเท็จจริงนี้ว่ามีเหตุอันมิควรอุทธรณ์ จึงเป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติมาตรา 224
ในคดีที่ต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่าโจทก์เป็นผู้เช่าตึกพิพาทจากเจ้าของตึกเพื่อตัวโจทก์เอง มิใช่ทำสัญญาเช่าแทนจำเลย และฟังต่อไปว่า โจทก์ได้ให้จำเลยอาศัยตั้งบริษัท เจ.เอ.อยู่ชั่วคราว มิใช่โจทก์ให้บริษัท เจ.เอ.อาศัย ซึ่งในประเด็นเช่นนี้ ศาลชั้นต้นมิได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงผิดกฎหมายหรือปราศจากพยานหลักฐานในสำนวนแต่ประการใด ดังนั้นที่ศาลอุทธรณ์ยกประเด็นที่ว่า โจทก์ได้ให้จำเลยอาศัยหรือไม่ ขึ้นวินิจฉัยว่า โจทก์นำสืบไม่สมฟ้อง ฟังไม่ได้ว่าได้ให้จำเลยอาศัย ข้อเท็จจริงกลายเป็นโจทก์ให้บริษัท เจ.เอ.อาศัย. ศาลฎีกาจึงรับฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยนี้ไม่ได้ เพราะเป็นการวินิจฉัยอุทธรณ์ที่ต้องห้าม ไม่ถือว่าเป็นข้อที่ยกขึ้นกล่าวในชั้นศาลอุทธรณ์
โจทก์เช่าตึกพิพาทจากเจ้าของตึก แล้วโจทก์ให้จำเลยอาศัยสิทธิของโจทก์ ความเกี่ยวพันระหว่างโจทก์และจำเลยไม่เกี่ยวกับสัญญาเช่าระหว่างโจทก์กับเจ้าของตึกพิพาทเลย กฎหมายปิดปากไม่ให้ผู้อาศัยกล่าวอ้างว่า ผู้ให้อาศัยไม่ใช่เจ้าของทรัพย์หรือไม่มีสิทธิในทรัพย์ที่เขาให้ตนอาศัย
การอาศัยต้องถือเป็นสัญญาที่ก่อให้เกิดบุคคลสิทธิ มิใช่สิทธิอาศัยอันเป็นทรัพย์สิทธิตามที่บัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 4 บุคคลสิทธินี้ก่อให้เกิดสิทธิและหน้าที่ระหว่างผู้ให้อาศัยและผู้อาศัย ถ้าผู้ให้อาศัยไม่ประสงค์จะให้ผู้อาศัยอยู่ในตึกพิพาทเมื่อใด ผู้ให้อาศัยก็มีสิทธิจะขับไล่ผู้อาศัยออกไปได้ทันที และผู้อาศัยก็มีหน้าที่จะต้องออกไปด้วย
สัญญาเช่ามีว่า เมื่อสิ้นระยะเวลาเช่าแล้ว ถ้าผู้เช่ายังคงอยู่ในสถานที่เช่าต่อมา ก็ให้ถือว่าเช่ากันเป็นรายเดือนจนกว่าผู้ให้เช่าหรือผู้เช่าจะบอกกล่าวล่วงหน้าหนึ่งเดือนเลิกสัญญา ดังนี้ เมื่อไม่ปรากฏว่าเจ้าของตึกผู้ให้โจทก์เช่าได้บอกเลิกสัญญาเช่ากับโจทก์ผู้เช่า จึงต้องถือว่าสัญญาเช่าระหว่างเจ้าของตึกกับโจทก์ยังไม่ระงับจำเลยอาศัยตึกพิพาทที่โจทก์เช่าอยู่ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 604/2506 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องขับไล่หลังบอกเลิกสัญญาเช่า แม้มีเวนคืนที่ดินบางส่วน สิทธิในที่ดินชานคลองยังคงอยู่
เดิมที่พิพาทเป็นของกรมชลประทานโจทก์ จำเลยเช่าที่นี้จากโจทก์เพื่อปลูกสร้างอาคาร ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2486 มีพระราชบัญญัติออกมาเวนคืนที่ดินเพื่อขยายทาวหลวง ที่พิพาทบางส่วนถูกเวนคืนตามพระราชบัญญัตินี้ด้วย แต่เรือนโรงของจำเลยก็ยังคงปลูกอยู่ในที่พิพาทโดยสัญญาเช่าระหว่างโจทก์จำเลยตลอดมาจนถึง พ.ศ. 2495 แล้วโจทก์จึงบอกเลิกสัญญา เมื่อที่พิพาทยังอยู่ในความดูแลรักษาของโจทก์ โจทก์บอกเลิกการเช่าแล้วจำเลยไม่ยอมออกไป โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยได้ตลอดถึงที่พิพาทส่วนที่ถูกเวนคืนให้แก่กรมทางหลวงแผ่นดินแล้วนั้นด้วย เมื่อจำเลยรับว่าได้เข้าอยู่ในที่พิพาทโดยเช่าจากโจทก์ เมื่อโจทก์บอกเลิกการเช่าแล้ว จำเลยก็ต้องส่งมอบที่พิพาทคืนให้โจทก์ จำเลยไม่มีทางจะโต้เถียงอำนาจของโจทก์ผู้ให้เช่า