คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
อำนาจศาล

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 2,218 รายการ

คำวินิจฉัยที่ 2/2568

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจศาลยุติธรรม-ศาลปกครอง: ข้อพิพาทระหว่างเอกชนเกี่ยวกับการจดทะเบียนบริษัท แม้มีเจ้าหน้าที่รัฐเกี่ยวข้อง
คดีนี้ นาย ภ. ในฐานะทายาทโดยธรรมของนาย ต. โจทก์ ยื่นฟ้อง นางสาว ส. ที่ 1 นางสาว พ. ที่ 2 นายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทจังหวัดเพชรบูรณ์ ที่ 3 จำเลย ว่า จำเลยที่ 1 เป็นทายาทโดยธรรมมีสิทธิได้รับทรัพย์มรดกของนาย ต. (เจ้ามรดก) ได้นำแบบพิมพ์หนังสือมอบอำนาจที่มีลายมือชื่อของนาย ต. ซึ่งเสียชีวิตแล้ว ให้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้รับมอบอำนาจ กรอกข้อความยื่นต่อจำเลยที่ 3 พร้อมเอกสารคำขอจดทะเบียนห้างหุ้นส่วน เพื่อให้จำเลยที่ 3 ดำเนินการจดทะเบียนแก้ไขเพิ่มเติมผู้เป็นหุ้นส่วน และแก้ไขเพิ่มเติมหุ้นส่วนผู้จัดการของ หจก. ต. มอเตอร์ จากนาย ต. เป็นจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 ได้ยื่นคำขอจดทะเบียนแปรสภาพ หจก. เป็น บจก. ต่อจำเลยที่ 3 โดยอ้างว่าผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคนได้ตกลงยินยอมให้ หจก. ต. มอเตอร์ แปรสภาพเป็นบริษัทจำกัดได้ ทำให้ได้รับความเสียหาย ขอให้ศาลพิพากษาหรือมีคำสั่งให้เพิกถอนการจดทะเบียนแก้ไขเพิ่มเติมผู้เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการให้กลับคืนดังเดิม และเพิกถอนการจดทะเบียนแปรสภาพ หจก. เป็น บจก.
จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 3 ได้ดำเนินการจดทะเบียนแก้ไขเพิ่มเติมโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว แม้ต่อมาภายหลังจำเลยที่ 1 ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการได้ยื่นคำขอจดทะเบียนแปรสภาพ หจก. เป็น บจก. ต่อจำเลยที่ 3 ก็ตาม โจทก์ไม่อาจฟ้องขอให้เพิกถอนได้ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 3 ให้การว่า หนังสือมอบอำนาจมิได้กระทำในนามส่วนตัว การที่จำเลยที่ 3 จดทะเบียนแก้ไขเปลี่ยนแปลง หจก. จึงไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อสิทธิของโจทก์ในฐานะทายาทโดยธรรมและยังมีผลผูกพันและเป็นมรดกของนาย ต. ที่ตกทอดมายังโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีนี้เป็นคดีพิพาทตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (1) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลจังหวัดเพชรบูรณ์พิจารณาแล้วเห็นว่า ประเด็นสำคัญที่จะต้องวินิจฉัยในคดีนี้มีเพียงว่า การมอบอำนาจให้จดทะเบียน หจก. สมบูรณ์ตามกฎหมายหรือไม่ จึงเป็นการโต้แย้งสิทธิตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แม้จำเลยที่ 3 จะเป็นนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทเป็นคู่ความในคดีก็เป็นเพียงผู้รับจดทะเบียน มิได้มีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับการมอบอำนาจอันเป็นประเด็นสำคัญ ข้อพิพาทจึงเป็นนิติกรรมในทางแพ่ง อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองนครสวรรค์พิจารณาแล้วเห็นว่า จำเลยที่ 3 เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐตามมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 และคำสั่งรับจดทะเบียนดังกล่าวเป็นการใช้อำนาจตามระเบียบสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกลาง ว่าด้วยการจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนและบริษัท พ.ศ. 2561 ประกอบกฎกระทรวงจัดตั้งสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัท แต่งตั้งนายทะเบียน และกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนและบริษัทจำกัด พ.ศ. 2549 จึงเป็นคำสั่งทางปกครองตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 ข้อพิพาทในคดีนี้ประเด็นหลักแห่งคดีจึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐออกคำสั่งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (1) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 ที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้ว คดีนี้แม้โจทก์จะฟ้องนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทจังหวัดเพชรบูรณ์ จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตามบทนิยามมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 แต่เมื่อพิจารณาเนื้อหาของคำฟ้องเป็นกรณีพิพาทระหว่างโจทก์ จำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งเป็นเอกชน โดยโจทก์กล่าวอ้างว่า จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมของนาย ต. นำหนังสือมอบอำนาจของนาย ต. ที่ลงชื่อมอบอำนาจให้จำเลยที่ 2 แต่สิ้นผลแล้วเนื่องจากความตายของผู้มอบอำนาจ กรอกข้อความไปยื่นต่อจำเลยที่ 3 เพื่อให้ดำเนินการจดทะเบียนแก้ไขเพิ่มเติมผู้เป็นหุ้นส่วนและหุ้นส่วนผู้จัดการของ หจก. ต. มอเตอร์ จากนาย ต. เป็นจำเลยที่ 1 และจดทะเบียนแปรสภาพ หจก. เป็น บจก. โดยอ้างว่าผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคนตกลงยินยอมให้แปรสภาพเป็น บจก. ซึ่งการรับจดทะเบียนของจำเลยที่ 3 เป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะจำเลยที่ 1 และที่ 2 กระทำโดยไม่มีอำนาจ ทั้งนี้โดยโจทก์มีเจตนาให้สถานะของ หจก. ต. มอเตอร์ ผู้เป็นหุ้นส่วนและหุ้นส่วนผู้จัดการกลับคืนดังเดิม กรณีจึงเป็นข้อพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งเป็นเอกชนด้วยกัน แม้โจทก์จะฟ้องจำเลยที่ 3 เข้ามาในคดีนี้ด้วย ก็เนื่องจากจำเลยที่ 3 ดำเนินการจดทะเบียนแก้ไขเพิ่มเติมผู้เป็นหุ้นส่วนและหุ้นส่วนผู้จัดการของ หจก. ต. มอเตอร์ และการจดทะเบียนแปรสภาพ หจก. เป็น บจก. ตามคำขอของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ดังนั้น การที่ศาลจะมีคำพิพากษาตามคำขอของโจทก์หรือไม่นั้น จำต้องพิจารณาข้อพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นสำคัญ ทั้งข้อเท็จจริงตามคำฟ้องโจทก์มิได้กล่าวอ้างความไม่ชอบด้วยกฎหมายของการใช้อำนาจของจำเลยที่ 3 ว่ากระทำการโดยไม่มีกฎหมายให้อำนาจ หรือนอกเหนืออำนาจหน้าที่ หรือไม่ถูกต้องตามกฎหมาย หรือโดยไม่ถูกต้องตามรูปแบบขั้นตอน หรือวิธีการอันเป็นสาระสำคัญที่กำหนดไว้สำหรับการกระทำนั้น หรือโดยไม่สุจริต หรือมีลักษณะเป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม หรือมีลักษณะเป็นการสร้างขั้นตอนโดยไม่จำเป็น หรือสร้างภาระให้เกิดกับประชาชนเกินสมควร หรือเป็นการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบ อันจะเข้าลักษณะเป็นคดีปกครองที่อยู่ในอำนาจของศาลปกครอง ตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (1) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 เมื่อคดีนี้ข้อพิพาทสำคัญเป็นกรณีพิพาทระหว่างเอกชนกับเอกชนด้วยกัน คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 986/2549 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจศาล: กรณีคดีปกครอง ศาลชั้นต้นต้องสอบถามโจทก์ก่อน หากเคยฟ้องศาลปกครองแล้วจึงส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาด
เมื่อศาลชั้นต้นเห็นว่าเป็นคดีปกครองซึ่งไม่อยู่ในอำนาจศาลยุติธรรมก่อนมีคำสั่งไม่รับฟ้อง ศาลชั้นต้นจะต้องสอบถามโจทก์เสียก่อนว่า โจทก์เคยฟ้องคดีต่อศาลปกครองแล้วและศาลปกครองไม่รับฟ้องเนื่องจากเห็นว่าคดีไม่อยู่ในอำนาจศาลปกครองมาก่อนหรือไม่ หากมีกรณีดังกล่าว ศาลชั้นต้นจะต้องดำเนินการตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลฯ มาตรา 12 วรรคสอง โดยต้องส่งเรื่องไปให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลเพื่อพิจารณาวินิจฉัย หรือหากปรากฏว่าโจทก์ฟ้องคดีนี้ต่อศาลชั้นต้นเป็นศาลแรก และศาลชั้นต้นเห็นว่าเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจของศาลปกครอง ศาลชั้นต้นต้องแจ้งให้โจทก์ไปฟ้องคดีต่อศาลปกครองซึ่งเป็นศาลต่างระบบที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีโดยระบุไว้ในคำสั่งไม่รับฟ้องเสียก่อน และศาลต้องแนะนำโจทก์ให้แจ้งต่อศาลปกครองด้วยว่าเคยยื่นฟ้องคดีนี้ต่อศาลชั้นต้นแล้วและศาลชั้นต้นไม่รับฟ้อง นอกจากนี้ในกรณีที่ศาลชั้นต้นไม่รับฟ้องเนื่องจากเห็นว่าคดีอยู่ในอำนาจของศาลปกครอง หากโจทก์อุทธรณ์คำสั่งไม่รับฟ้องของศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นต้องมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ เนื่องจากโจทก์จะต้องฟ้องคดีต่อศาลระบบอื่นที่มีอำนาจ หากศาลในคดีหลังเห็นว่าคดีไม่อยู่ในอำนาจ ศาลนั้นก็ต้องดำเนินการตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลฯ มาตรา 12 วรรคสอง ต่อไปเสียก่อนเช่นเดียวกัน ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นตรวจคำฟ้องแล้วเห็นว่าคำฟ้องของโจทก์มีลักษณะเป็นคดีปกครอง แล้วมีคำสั่งไม่รับฟ้องทันทีโดยมิได้สอบถามโจทก์เสียก่อนว่าโจทก์เคยฟ้องคดีต่อศาลปกครองแล้วและศาลปกครองไม่รับฟ้องหรือไม่ หากโจทก์ยังไม่เคยฟ้องคดีต่อศาลปกครอง ศาลต้องแจ้งให้โจทก์ไปฟ้องคดีต่อศาลปกครองโดยระบุไว้ในคำสั่งไม่รับฟ้องดังกล่าวว่าให้โจทก์แจ้งต่อศาลปกครองว่าเคยยื่นฟ้องคดีนี้ต่อศาลชั้นต้นแล้วและศาลชั้นต้นไม่รับฟ้อง การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฟ้องทันทีโดยมิได้ดำเนินการดังกล่าว ครั้นเมื่อโจทก์อุทธรณ์ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนจึงเป็นการไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 986/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจศาล: คดีปกครอง - การส่งเรื่องระหว่างศาล และการแจ้งให้ฟ้องต่อศาลปกครอง
ในชั้นตรวจคำฟ้อง เมื่อศาลชั้นต้นเห็นว่าเป็นคดีปกครองซึ่งไม่อยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรม ก่อนมีคำสั่งไม่รับฟ้อง ศาลชั้นต้นจะต้องสอบถามโจทก์เสียก่อนว่า โจทก์เคยฟ้องคดีต่อศาลปกครองแล้วและศาลปกครองไม่รับฟ้องเนื่องจากเห็นว่าคดีไม่อยู่ในอำนาจศาลปกครองมาก่อนหรือไม่ หากมีกรณีดังกล่าว ศาลชั้นต้นจะต้องดำเนินการตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. 2542 มาตรา 12 วรรคสอง กล่าวคือ ศาลชั้นต้นต้องส่งเรื่องไปให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลเพื่อพิจารณาวินิจฉัย หรือหากปรากฏว่าโจทก์ฟ้องคดีนี้ต่อศาลชั้นต้นเป็นศาลแรก และศาลชั้นต้นเห็นว่าเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจของศาลปกครอง ศาลชั้นต้นต้องแจ้งให้โจทก์ไปฟ้องคดีต่อศาลปกครองซึ่งเป็นศาลต่างระบบที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีโดยระบุไว้ในคำสั่งไม่รับฟ้องเสียก่อน และศาลต้องแนะนำโจทก์ให้แจ้งต่อศาลปกครองด้วยว่า เคยยื่นฟ้องคดีนี้ต่อศาลชั้นต้นแล้ว และศาลชั้นต้นไม่รับฟ้อง นอกจากนี้ในกรณีที่ศาลชั้นต้นไม่รับฟ้องเนื่องจากเห็นว่าคดีอยู่ในอำนาจของศาลปกครอง หากโจทก์อุทธรณ์คำสั่งไม่รับฟ้องของศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นต้องมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ เนื่องจากโจทก์จะต้องฟ้องคดีต่อศาลระบบอื่นที่มีอำนาจ หากศาลในคดีหลังเห็นว่าคดีไม่อยู่ในอำนาจ ศาลนั้นก็ต้องดำเนินการตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. 2542 มาตรา 12 วรรคสอง ต่อไปเสียก่อนเช่นเดียวกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8979/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การขยายระยะเวลาวางค่าธรรมเนียมศาล: ศาลไม่อำนาจขยายหากมีเพียงเหตุผลทางการเงินและภาวะเศรษฐกิจ
จำเลยที่ 1 และที่ 6 อุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้ขยายระยะเวลาวางเงินค่าธรรมเนียมศาลแก่จำเลยที่ 1 และที่ 6 ไม่ได้อุทธรณ์ในเนื้อหาแห่งคดี ซึ่งผลของการอุทธรณ์ไม่ทำให้คำพิพากษาศาลชั้นต้นต้องถูกยกไปด้วย อันมิใช่เป็นกรณีที่จะต้องวางเงินค่าธรรมเนียมซึ่งต้องใช้แก่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่ง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 229
การที่จำเลยที่ 1 และที่ 6 อ้างว่า เงินค่าธรรมเนียมมีจำนวนสูง จำเลยที่ 1 และที่ 6 ได้พยายามติดต่อขอยืมเงินจากบุคคลภายนอกไว้แล้ว แต่บุคคลภายนอกซึ่งรับปากจะให้ยืมเงินประสบปัญหาธุรกิจไม่สามารถให้ยืมเงินได้ ประกอบกับปัจจุบันภาวะเศรษฐกิจตกต่ำนั้น ยังถือไม่ได้ว่าเป็นกรณีมีพฤติการณ์พิเศษตามความหมายของ ป.วิ.พ. มาตรา 23 ที่ศาลจะมีอำนาจสั่งขยายระยะเวลาการวางเงินค่าฤชาธรรมเนียมให้ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8457/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การอุทธรณ์คำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเนื่องจากเกินกำหนดเวลา และอำนาจศาลในการวินิจฉัยข้อกฎหมายเพื่อความสงบเรียบร้อย
ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับอุทธรณ์ของจำเลยเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2545 จำเลยชอบที่จะยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่รับอุทธรณ์ภายในวันที่ 15 สิงหาคม 2544 จำเลยยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2545 เกินกำหนดเวลาที่กฎหมายกำหนด จึงเป็นอุทธรณ์คำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยอุทธรณ์คำสั่งของจำเลยจึงเป็นการไม่ชอบ ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบ มาตรา 246 และมาตรา 247 และถือไม่ได้ว่าเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 1 จำเลยจึงไม่มีสิทธิฎีกา ตามมาตรา 249 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8343/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การริบของกลางในคดีครอบครองยาเสพติด: ศาลไม่อาจริบอุปกรณ์เสพหากไม่ได้ฟ้องฐานเสพ
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานมีกัญชาไว้ในครอบครองเพียงกระทงเดียวมิได้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานเสพกัญชา โจทก์จะขอให้ศาลสั่งริบบ้องกัญชาที่จำเลยมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิดฐานเสพกัญชาหาได้ไม่ แม้จำเลยจะรับสารภาพว่ามีบ้องกัญชาดังกล่าวไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิดฐานเสพกัญชา ศาลก็ไม่มีอำนาจสั่งริบเพราะไม่ใช่เครื่องมือ เครื่องใช้หรือวัตถุอื่นซึ่งได้ใช้ในการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฯ มาตรา 102 และไม่ใช่ทรัพย์สินที่กฎหมายบัญญัติไว้ว่าผู้ใดทำหรือมีไว้เป็นความผิดหรือได้มาโดยกระทำความผิดซึ่งหมายถึงเฉพาะความผิดที่กระทำในคดีนี้ตาม ป.อ. มาตรา 32, 33 (1) จึงไม่อาจริบได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8077-8078/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ขอบเขตการนำ ป.วิ.พ. มาอนุโลมใช้ในคดีแรงงาน และการรับฟังพยานนอกเหนือจากคำให้การเดิม
พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 45 วรรคหนึ่ง ให้อำนาจศาลแรงงานเรียกพยานหลักฐานมาสืบได้เอง และตามข้อกำหนดศาลแรงงานว่าด้วยการดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลแรงงาน (ฉบับที่ 3) ข้อ 6 ได้กำหนดวิธีการยื่นบัญชีระบุพยานของศาลแรงงานเป็นการเฉพาะแล้ว จึงไม่อาจนำ ป.วิ.พ. มาตรา 87 (2) และมาตรา 88 มาอนุโลมใช้ในการดำเนินคดีแรงงาน ส่วนบทบัญญัติตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 17 วรรคสาม ใช้บังคับแก่กรณีที่นายจ้างซึ่งเป็นฝ่ายบอกเลิกสัญญาจ้าง หากไม่ได้ระบุเหตุผลที่อ้างว่าลูกจ้างกระทำความผิดที่จะเป็นไปตามกรณีที่บัญญัติไว้ในมาตรา 119 (1) ถึง (6) ในหนังสือบอกเลิกสัญญาจ้างให้ลูกจ้างทราบแล้ว จะยกเหตุดังกล่าวขึ้นอ้างในภายหลังไม่ได้เท่านั้น ไม่บังคับรวมถึงการนำพยานมาเบิกความในชั้นพิจารณาคดีที่จะเกินกว่าที่พยานนั้นเคยให้ถ้อยคำในชั้นสอบสวนแต่อย่างใด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8049/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจศาลแขวง: คดีครอบครองปรปักษ์มีทุนทรัพย์พิจารณาจากราคาที่ดิน แม้โจทก์อ้างครอบครองนานกว่า 20 ปี
คำฟ้องของโจทก์กล่าวอ้างว่าโจทก์ได้ครอบครองทำประโยชน์ในที่พิพาท โดยทำนาทุกปีด้วยเจตนาเป็นเจ้าของตลอดมา แต่ปรากฏตามคำฟ้องว่า จำเลยได้โต้แย้งว่าที่พิพาทเป็นของจำเลยและห้ามโจทก์เข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่พิพาท คำขอท้ายฟ้องโจทก์ขอให้ศาลพิพากษาว่าโจทก์เป็นเจ้าของผู้มีสิทธิครอบครองในที่พิพาท และห้ามจำเลยเข้าเกี่ยวข้องอีกต่อไป สภาพแห่งคำฟ้องและคำขอบังคับจึงเป็นเรื่องที่โจทก์ฟ้องเรียกเอาที่ดินที่พิพาทที่จำเลยปฏิเสธว่าไม่ใช่ที่ดินของโจทก์ แต่เป็นทรัพย์มรดกที่ตกทอดแก่จำเลยมาเป็นของโจทก์ ซึ่งหากศาลพิพากษาให้โจทก์ชนะคดี โจทก์ย่อมได้ไปซึ่งสิทธิครอบครองหรือความเป็นเจ้าของในที่พิพาท จึงเป็นคดีมีทุนทรัพย์ โดยทุนทรัพย์เท่ากับราคาที่ดินพิพาท เมื่อมีราคาไม่เกินสามแสนบาท จึงอยู่ในอำนาจศาลแขวงที่จะพิจารณาพิพากษาตาม พ.ร.บ.พระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 17 ประกอบมาตรา 25 (4)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 772/2549 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจศาลในการบังคับคดี: ต้องยื่นฟ้องต่อศาลที่มีอำนาจบังคับคดีหรือศาลที่ออกหมายบังคับคดีเท่านั้น
คำฟ้องของโจทก์เกี่ยวเนื่องกับการบังคับคดีของศาลแพ่งซึ่งออกหมายบังคับคดีส่งไปให้ศาลจังหวัดเพชรบุรีบังคับคดีแทน จำต้องมีคำวินิจฉัยของศาลก่อนที่การบังคับคดีจะดำเนินการไปได้โดยครบถ้วนและถูกต้อง กรณีจึงต้องด้วยบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. มาตรา 7 (2) ประกอบมาตรา 15 วรรคท้ายและมาตรา 302 วรรคหนึ่งและวรรคท้าย โดยโจทก์จะต้องเสนอคำฟ้องหรือคำร้องขอต่อศาลที่มีอำนาจในการบังคับคดีคือศาลแพ่งหรืออาจยื่นต่อศาลจังหวัดเพชรบุรีซึ่งเป็นศาลที่ออกหมายบังคับคดีและบังคับคดีแทนเท่านั้น โจทก์จะนำคดีมาฟ้องที่ศาลแพ่งธนบุรีโดยอ้างเหตุจำเลยทั้งสามมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลตาม ป.วิ.พ. มาตรา 4 (1) หาได้ไม่ เพราะบทบัญญัติแห่งมาตรา 4 ดังกล่าวอยู่ภายใต้บังคับบทบัญญัติมาตรา 7 ศาลแพ่งธนบุรีจึงไม่มีอำนาจรับคดีไว้พิจารณาพิพากษา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7721/2549 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความคดีข่มขืน, ภาวะเสียเปรียบ, และอำนาจศาลในการลงโทษตามความผิดที่ปรากฏ
การกระทำผิดของจำเลยเป็นการกระทำต่อเนื่องมาโดยตลอดตั้งแต่เดือนเมษายน 2545 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2546 ผู้เสียหายไปแจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2546 เป็นการร้องทุกข์ภายในกำหนด 3 เดือนนับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดแล้ว คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
ผู้เสียหายทำงานเป็นลูกจ้างอยู่ในบ้านของจำเลยและถูกจำเลยข่มขู่ว่าหากไม่ยิมยอมให้จำเลยกระทำชำเราจะส่งตัวผู้เสียหายให้เจ้าพนักงานตำรวจดำเนินคดีในข้อหาหลบหนีเข้าเมือง ผู้เสียหายอยู่ในภาวะเสียเปรียบไม่อาจต่อสู้ขัดขืนจำเลยซึ่งเป็นนายจ้างของตนได้ ถือไม่ได้ว่าผู้เสียหายยินยอมให้จำเลยกระทำชำเรา
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 277 วรรคแรก แต่เมื่อทางพิจารณาได้ความว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 276 วรรคแรก อันเป็นความผิดที่รวมการกระทำตามที่โจทก์ฟ้องอยู่ด้วยแล้ว ศาลย่อมมีอำนาจลงโทษจำเลยตามความผิดที่พิจารณาได้ความตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย ได้
of 222