คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
อุทยาน

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 3 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2676/2521

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การริบทรัพย์สินของผู้ที่ไม่ได้รู้เห็นเป็นใจกับการกระทำความผิดตามกฎหมายอุทยานและสัตว์ป่า
พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2504 มาตรา 29 และพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2503 มาตรา 47ซึ่งแก้ไขโดยประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่228 ลงวันที่ 18 ตุลาคม 2515 ข้อ 18 บัญญัติในทำนองเดียวกันว่า"บรรดาอาวุธเครื่องมือ เครื่องใช้ ฯลฯ ซึ่งบุคคลได้ใช้ในการกระทำความผิด ฯลฯ ให้ริบเสียทั้งสิ้น โดยมิต้องคำนึงว่าเป็นของผู้กระทำความผิด และมีผู้ถูกลงโทษตามคำพิพากษาของศาลหรือไม่" นั้น แม้จะบัญญัติให้ริบทรัพย์สินของบุคคลอื่นได้ด้วยก็ตาม แต่มิได้บัญญัติมีข้อความระบุถึงกรณีที่เจ้าของทรัพย์สินแท้จริงมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิด จะตีความว่าบทบัญญัติดังกล่าวมีความมุ่งหมายให้ริบทรัพย์ของบุคคลอื่นที่มิได้รู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิดด้วยหาได้ไม่ กรณีจึงตกอยู่ในบังคับตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 36 ผู้ร้องซึ่งเป็นเจ้าของแท้จริงมีสิทธิร้องขออาวุธปืนของกลางคืนได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14487/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบุกรุกพื้นที่ป่าสงวน-อุทยานฯ การครอบครองหลังประกาศเขตป่า การชดใช้ค่าเสียหาย
ที่ดินพิพาทตั้งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติและอุทยานแห่งชาติ ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 895 (พ.ศ.2523) ออกตามความในพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2523 และ พระราชกฤษฎีกากำหนดบริเวณที่ดินให้เป็นอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2524 ซึ่งกฎกระทรวงและแผนที่แนบท้ายกฎกระทรวง พระราชกฤษฎีกาและแผนที่แนบท้ายพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว จึงมีผลบังคับใช้เป็นกฎหมาย ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2523 และวันที่ 24 ธันวาคม 2524 ตามลำดับ แม้จะมีพื้นที่บางส่วน เช่น ที่ดินพิพาท ปรากฏว่าอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินก็ตามก็ไม่มีผลทำให้กฎหมายทั้งสองฉบับดังกล่าวไม่ชอบหรือไม่มีสภาพบังคับเพราะเหตุผลและวัตถุประสงค์ ในการออกกฎหมายแต่ละฉบับแตกต่างกัน อำนาจในการดูแลจัดการหรือดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายแต่ละฉบับขึ้นกับเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานต่างกัน และตราบใดที่สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมในพื้นที่ที่ดินพิพาทตั้งอยู่ ยังมิได้นำที่ดินพิพาทไปดำเนินการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ที่ดินพิพาทก็ยังคงมีสภาพเป็นป่าสงวนแห่งชาติ ตาม พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 มาตรา 26 (4) เมื่อข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมที่ที่ดินพิพาทตั้งอยู่ จะนำที่ดินพิพาทไปดำเนินการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ดังนั้น ที่ดินพิพาทจึงอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติและอุทยานแห่งชาติทับลาน
มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2541 มีสาระสำคัญว่า รัฐบาลมีนโยบายแก้ไขปัญหาที่ดินในพื้นที่ป่าไม้ โดยรัฐบาลต้องการแก้ไขปัญหาการครอบครองที่ทำกินของราษฎรในพื้นที่ป่าไม้ ได้กำหนด ให้มีการตรวจพิสูจน์การครอบครองที่ดินของราษฎรในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ เพื่อพิสูจน์ว่าราษฎรอยู่อาศัยและทำกินมาก่อน ให้กรมป่าไม้จัดทำขอบเขตที่อยู่อาศัยและทำกินให้ชัดเจน ห้ามขยายพื้นที่เพิ่มเติมโดยเด็ดขาด...ฯลฯ ส่วนกรณีราษฎรอยู่อาศัยและทำกินหลังวันประกาศสงวนหวงห้ามเป็นพื้นที่ป่าไม้ตามกฎหมายครั้งแรก ให้กรมป่าไม้พิจารณาดำเนินการเคลื่อนย้ายราษฎรออกจากพื้นที่ป่าอนุรักษ์นั้น แล้วทำการปลูกป่าเพื่อฟื้นฟูสภาพแวดล้อม ที่ดินพิพาทถูกกำหนดให้เป็นที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติ โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2523 ตามสำเนากฎกระทรวงฉบับที่ 895 (พ.ศ.2523) ออกตามความในพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 และแผนที่แนบท้าย ดังนั้นราษฎรที่จะได้รับประโยชน์อยู่อาศัยและทำกินในเขตป่าสงวนแห่งชาติตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว จะต้องเป็นผู้อยู่อาศัยและทำกินมาก่อนวันที่ 1 พฤศจิกายน 2523 แต่จำเลยรับโอนที่ดินพิพาทจาก ว. เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2540 จำเลยปลูกบ้านพักอาศัยเมื่อปลายปี 2540 เป็นบ้านไม้ชั้นเดียว 1 หลัง แล้วเสร็จในปี 2545 จึงเป็นเวลาภายหลังจากที่มีการประกาศกำหนดให้ที่ดินพิพาทอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ การกระทำของจำเลยเป็นการบุกรุกเข้าไปยึดถือ ครอบครอง ก่นสร้าง แผ้วถางที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติและอุทยานแห่งชาติทับลาน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 431/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การล่าสัตว์ในเขตป่าสงวนและอุทยานฯ ศาลฎีกาแก้ไขบทลงโทษให้ถูกต้องตามกฎหมาย
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยล่าสัตว์ป่าไม่ว่าจะเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองหรือสัตว์ป่าสงวนหรือมิใช่ ด้วยการใช้นกกางเขนดงอันเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองจำพวกนกใส่กรงแขวนไว้บนต้นไม้เพื่อล่อดักจับสัตว์ป่าในเขตป่ากรุงชิงซึ่งเป็นป่าสงวนแห่งชาติอันเป็นการกระทำด้วยประการใด ๆ ให้เป็นอันตรายแก่สัตว์ป่าภายในเขตอุทยานแห่งชาติ และเป็นการเก็บหาของป่าหรือกระทำด้วยประการใด ๆ อันเป็นการเสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติ กับมีคำขอท้ายฟ้องขอให้ลงโทษตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา 14, 31 และ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 มาตรา 4, 19, 43, 45 เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง การกระทำของจำเลยย่อมเป็นความผิดฐานกระทำด้วยประการใด ๆ อันเป็นการเสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติ ตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา 14, 31 วรรคหนึ่ง และฐานกระทำให้เป็นอันตรายแก่สัตว์ป่าภายในเขตอุทยานแห่งชาติด้วยประการใด ๆ ตาม พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 มาตรา 19 (3), 43 แต่ศาลล่างทั้งสองมิได้ปรับบทลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 และ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 มาตรา 19 (3), 43 มาด้วย เป็นการไม่ชอบ และความผิดฐานกระทำด้วยประการใด ๆ อันเป็นการเสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติ ฐานกระทำให้เป็นอันตรายแก่สัตว์ป่าภายในเขตอุทยานแห่งชาติด้วยประการใด ๆ ฐานนำเครื่องมือสำหรับล่าสัตว์หรืออาวุธใด ๆ เข้าไปภายในเขตอุทยานแห่งชาติ และฐานล่าสัตว์ป่าคุ้มครอง ถือว่าเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ที่ศาลล่างทั้งสองลงโทษจำเลยในความผิดฐานนำเครื่องมือสำหรับล่าสัตว์หรืออาวุธใด ๆ เข้าไปในเขตอุทยานแห่งชาติต่างกรรมกับความผิดฐานอื่นมานั้น เป็นการไม่ถูกต้องเช่นกัน ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขปรับบทลงโทษจำเลยให้ถูกต้องได้ ตาม ป.วิ.อ มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 โดยไม่เพิ่มโทษจำเลย