คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
เขตการค้าเสรี

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 1 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4726/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจศุลกากรในการตีความพิกัดอัตราศุลกากรและการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีตามข้อตกลงเขตการค้าเสรี
การจะจัดสินค้าพิพาทว่าอยู่ในประเภทพิกัดใดต้องใช้หลักเกณฑ์การตีความพิกัดอัตราศุลกากรในภาค 1 ท้าย พ.ร.ก.พิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 ประกอบคำอธิบายพิกัดศุลกากรระบบฮาร์โมไนซ์ (Explanatory Notes : EN) และบัญชีท้าย พ.ร.ก.พิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 ภาค 2 พิกัดอัตราอากรขาเข้า อันเป็นอำนาจหน้าที่ของจําเลยที่ 1 ที่จะต้องตรวจสอบและตีความพิกัดอัตราศุลกากรสำหรับสินค้าพิพาทว่าอยู่ในประเภทพิกัดใด และสามารถใช้สิทธิพิเศษทางภาษีได้หรือไม่ เมื่อเจ้าหน้าที่ของจําเลยที่ 1 โต้แย้งพิกัดอัตราศุลกากรสำหรับสินค้าพิพาทที่สำแดงตามหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า (Form E) ว่าไม่ถูกต้อง และจําเลยที่ 1 พิจารณาแล้วเห็นว่าสินค้าพิพาทไม่สามารถใช้สิทธิประโยชน์การยกเว้นอากรและลดอัตราอากรศุลกากรสำหรับเขตการค้าเสรีอาเซียน - จีน ตามสำแดงได้ จึงเป็นการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของจําเลยที่ 1 โดยจําเลยที่ 1 ไม่ได้มีความผูกพันตามบทกฎหมายที่จะต้องถือพิกัดอัตราศุลกากรของสินค้าตามที่ระบุไว้ในหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าหรือจะต้องถือเอาพิกัดอัตราศุลกากรของสินค้าตามประเทศอื่นแต่อย่างใด และตามกฎข้อ 5 ของระเบียบปฏิบัติเกี่ยวกับหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าสำหรับกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้าของความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน - จีน เอกสารแนบ ก ท้ายประกาศกรมศุลกากรที่ 3/2555 ได้กำหนดวิธีการขอหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า (Form E) เพื่อให้มีการตรวจสอบถิ่นกำเนิดของสินค้า ซึ่งแสดงให้เห็นว่าหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า (Form E) คือ หนังสือที่หน่วยงานที่มีอำนาจในการออกได้รับรองว่าสินค้านั้นมีสถานที่ผลิตและส่งออกจากประเทศสมาชิกในเขตการค้าเสรีอาเซียน - จีน โดยผ่านเกณฑ์ถิ่นกำเนิดและได้ถิ่นกำเนิดภายใต้ความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน - จีน ส่วนพิกัดอัตราศุลกากรที่ระบุในหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า (Form E) มิได้มีกฎข้อใดให้ต้องรับฟังยุติตามนั้น จึงเป็นเพียงข้อมูลประกอบการพิจารณาของจําเลยที่ 1 เท่านั้น สำหรับการโต้แย้งเกี่ยวกับการจําแนกประเภทพิกัดของสินค้าตามกฎข้อ 25 ของระเบียบปฏิบัติดังกล่าว ต้องเป็นการโต้แย้งระหว่างหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องของประเทศภาคีผู้นําเข้าและส่งออก มิใช่การโต้แย้งระหว่างเอกชนผู้นําเข้าและหน่วยราชการของประเทศภาคีผู้นําเข้าดังเช่นกรณีของโจทก์ จําเลยที่ 1 จึงมีอำนาจพิจารณาและกำหนดประเภทพิกัดสินค้าของโจทก์ได้