คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
เขตปฏิรูป

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 2 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10865/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิในที่ดินปฏิรูปเกษตรกรรม, การเพิกถอนสิทธิ, ฟ้องขับไล่, เขตปฏิรูปที่ดิน, สาธารณสมบัติ
คำขอท้ายฟ้องของโจทก์ที่ขอให้พิพากษาว่า การออกหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. 4 - 01 ก.) ในที่ดินพิพาททั้งสองแปลงไม่ชอบด้วยกฎหมาย และให้จำเลยที่ 5 เพิกถอน ส.ป.ก. 4 - 01 สำหรับที่ดินพิพาททั้งสองแปลงนั้น เมื่อหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดินที่จำเลยที่ 5 ออกให้แก่โจทก์ถูกเพิกถอนแล้วทั้งสองฉบับ ไม่มีข้อโต้แย้งสิทธิหรือหน้าที่ของโจทก์เกิดขึ้นตามกฎหมายแพ่ง โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55
โจทก์บรรยายฟ้องว่า การที่จำเลยที่ 4 กล่าวหาว่าโจทก์บุกรุกทุ่งสงวนเลี้ยงสัตว์ควนหินตั้งอันเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์ ทั้ง ๆ ที่ที่ดินดังกล่าวโจทก์ครอบครองทำประโยชน์ต่อเนื่องมาเป็นเวลาช้านานถือเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ในการที่โจทก์พึงมีสิทธิที่จะได้รับเอกสารสิทธิ น.ส. 3 ก. ตามประมวลกฎหมายที่ดิน หากไม่มีการโต้แย้งสิทธิโดยกล่าวหาว่าโจทก์บุกรุกที่สาธารณประโยชน์ โจทก์คงได้รับเอกสาร น.ส. 3 ก. ตามที่ได้ยื่นคำขอและคงไม่มีเหตุที่โจทก์จะต้องไปยื่นขอ ส.ป.ก. 4 - 01 นั้น เมื่อโจทก์ยื่นคำขอยกเลิกเรื่องออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์เองเนื่องจากได้นำที่ดินพิพาทไปขอออกหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. 4 - 01) แล้ว การที่จำเลยที่ 4 ดำเนินคดีต่อโจทก์จึงหาได้เป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์แต่อย่างใดไม่
การที่โจทก์ถูกเพิกถอนหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. 4 - 01 ก.) ข้อโต้แย้งสิทธิของโจทก์คือโจทก์ขาดคุณสมบัติเนื่องจากโจทก์ไม่ได้เป็นเกษตรกร แต่ตามคำฟ้องโจทก์มิได้กล่าวอ้างยืนยันว่าโจทก์เป็นเกษตรกรแต่อย่างใด ส่วนที่โจทก์อ้างว่า ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์นั้น การที่โจทก์สมัครใจยื่นคำขอเข้าทำประโยชน์ในที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินนั้นถือว่า โจทก์ยอมรับว่าจำเลยที่ 5 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาททั้งสองแปลงตาม พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 มาตรา 36 ทวิ เพราะหากที่ดินพิพาทยังเป็นของโจทก์อยู่จำเลยที่ 5 ไม่อาจนำมาดำเนินการปฏิรูปที่ดินได้ จนกว่าจะได้จัดซื้อหรือเวนคืนมาเป็นของจำเลยที่ 5 เสียก่อน ที่จำเลยที่ 5 อ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยที่ 5 จึงมิได้เป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์แต่อย่างใดเช่นกัน
กรณีที่จะเป็นฟ้องซ้ำตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148 นั้น จะต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์ 3 ประการ ประการแรกคู่ความคดีหลังเป็นคู่ความเดียวกันกับคดีแรก ประการที่สอง คำพิพากษาหรือคำสั่งในคดีแรกต้องถึงที่สุดก่อนฟ้องคดีหลัง ประการที่สาม ประเด็นข้อพิพาทในคดีแรกและคดีหลังเป็นอย่างเดียวกันทั้งได้มีการวินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นแห่งคดีแรกแล้ว จะขาดหลักเกณฑ์ประการใดประการหนึ่งไม่ได้ หลังจากจำเลยที่ 5 มีหนังสือแจ้งการสิ้นสิทธิเข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทให้โจทก์และบริวารออกจากที่ดินพิพาท โจทก์จึงนำคดีไปฟ้องจำเลยที่ 5 ต่อศาลปกครองนครศรีธรรมราช และศาลดังกล่าวมีคำสั่งรับฟ้องในส่วนของจำเลยที่ 5 ที่ขอให้พิพากษาหรือมีคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งหรือมติของจำเลยที่ 5 ที่สั่งให้โจทก์และบริวารออกไปจากที่ดินพิพาท ดังนี้ประเด็นข้อพิพาทของศาลดังกล่าวมีเพียงว่า คำสั่งของจำเลยที่ 5 ดังกล่าวชอบหรือไม่ ส่วนคดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมมีประเด็นข้อพิพาทว่า ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์หรือไม่ จึงเป็นคนละประเด็นและคนละเขตอำนาจศาลกัน จึงไม่เข้าหลักเกณฑ์ตามข้อกฎหมายดังที่กล่าวมา ฟ้องแย้งของจำเลยที่ 5 จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำ
เดิมที่ดินพิพาททั้งสองแปลง จำเลยที่ 5 เคยออกหนังสืออนุญาตให้โจทก์เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. 4 - 01 ก.) ต่อมาคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมพิจารณาคุณสมบัติของโจทก์แล้วเห็นว่าโจทก์ขาดคุณสมบัติเนื่องจากโจทก์ไม่ได้เป็นเกษตรกร จำเลยที่ 5 จึงมีอำนาจเพิกถอนหนังสืออนุญาตให้โจทก์เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. 4 - 01 ก.) ในที่ดินพิพาททั้งสองแปลงมีผลทำให้โจทก์ไม่มีสิทธิอยู่อาศัยในที่ดินพิพาททั้งสองแปลงดังกล่าว ที่โจทก์อ้างว่า หากเห็นว่าโจทก์ไม่มีคุณสมบัติการเป็นเกษตรกร จำเลยที่ 5 ก็ชอบที่จะเพิกถอนและเรียกคืนหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. 4 - 01 ก.) เท่านั้น ไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่โจทก์นั้นหาได้ไม่ เพราะที่ดินพิพาททั้งสองแปลงเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 5 แต่ข้อเท็จจริงได้ความจาก ว. และ ส. อดีตเจ้าหน้าที่ปฏิรูปที่ดินจังหวัดภูเก็ต พยานจำเลยเบิกความยืนยันว่า ที่ดินพิพาทแปลงแรกอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินทั้งแปลง ส่วนที่ดินพิพาทแปลงที่ 2 ตั้งอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินเพียงบางส่วนเนื้อที่ 4 ไร่ 33 ตารางวา และอยู่นอกเขตปฏิรูปที่ดินเนื้อที่ 5 ไร่ 14 ตารางวา เป็นทุ่งสงวนเลี้ยงสัตว์มีสภาพเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภทสำหรับพลเมืองใช้ประโยชน์ร่วมกัน ซึ่งอยู่ในความดูแลของจำเลยที่ 4 ดังนั้น จำเลยที่ 4 และที่ 5 จึงมีสิทธิฟ้องแย้งขับไล่โจทก์ออกจากที่ดินพิพาทดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4049/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดิน: สิทธิการครอบครองเดิมไม่ผูกพัน สำนักงานปฏิรูปที่ดินมีอำนาจจัดสรร
ที่ดินที่โจทก์อ้างว่ามีสิทธินั้นเป็นที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดิน ซึ่งตาม พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 มาตรา 19 (7) บัญญัติให้คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมมีอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบในการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขในการคัดเลือกเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร ซึ่งจะมีสิทธิได้รับที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ดังนี้ บุคคลหรือเกษตรกรที่จะเข้ามาอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินได้ ต้องได้รับการพิจารณาและอนุมัติจากคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมก่อน ฉะนั้นแม้โจทก์จะครอบครองที่ดินมาก่อนทางราชการประกาศเขตปฏิรูปที่ดินก็ตาม แต่เมื่อทางราชการประกาศให้เขตที่ดินดังกล่าวตั้งอยู่เป็นเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมแล้วที่ดินรวมทั้งต้นยางพาราซึ่งเป็นส่วนควบของที่ดินย่อมตกเป็นของสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมตาม พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 มาตรา 36 ทวิ ซึ่งคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมมีอำนาจจัดให้บุคคลใดเข้าถือครองและทำประโยชน์ตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขในการคัดเลือกที่คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมกำหนด การกระทำของจำเลยหาเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ไม่โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความใดยกขึ้นอ้าง ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบด้วยมาตรา 246 และมาตรา 247