คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
เข้าเป็นคู่ความ

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 3 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 878/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การขายสิทธิเรียกร้องในคดีล้มละลายโดยเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์และการเข้าเป็นคู่ความของผู้ซื้อ
เมื่อโจทก์ตกเป็นบุคคลล้มละลาย เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ย่อมมีอำนาจหน้าที่รวบรวมและจำหน่ายทรัพย์สินของโจทก์ตามวิธีการที่บัญญัติไว้ในหมวด 4 ส่วนที่ 4 แห่ง พ.ร.บ.ล้มละลายฯ ซึ่งมาตรา 123 บัญญัติให้อำนาจแก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ที่จะขายทรัพย์สินที่รวบรวมได้มาตามวิธีที่สะดวกและเป็นผลดีที่สุด โดยมีเงื่อนไขว่าการขายโดยวิธีอื่นนอกจากการขายทอดตลาดต้องได้รับความเห็นชอบของกรรมการเจ้าหนี้ การที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ประกาศขายสิทธิเรียกร้องของโจทก์โดยวิธีอื่นตามมติของที่ประชุมเจ้าหนี้เป็นการดำเนินการตามบทกฎหมายดังกล่าว สิทธิของผู้ซื้อทรัพย์สินที่ได้มาจากการขายสิทธิเรียกร้องของโจทก์ซึ่งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ดำเนินการ โดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายจึงควรได้รับความรับรอง คุ้มครอง และบังคับตาม กรณีหาใช่เป็นเรื่องซื้อขายความหรือแสวงหาประโยชน์จากการที่ผู้อื่นเป็นความกันโดยมิชอบอันจะเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนไม่ ดังนั้น หากผู้ร้องเป็นผู้ซื้อทรัพย์สินและได้มาซึ่งสิทธิเรียกร้องของโจทก์รวมถึงสิทธิที่จะได้รับชำระหนี้จากจำเลย ซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาในคดีนี้จากการขายดังกล่าว ย่อมถือได้ว่าผู้ร้องเป็นผู้มีสิทธิเรียกร้องเกี่ยวเนื่องด้วยการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งในอันที่จะร้องขอเข้ามาเป็นคู่ความในชั้นบังคับคดีเพื่อยังให้ได้รับความคุ้มครองและบังคับตามสิทธิของตนที่มีอยู่ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (1) ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3009/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิการเข้าเป็นคู่ความของผู้ซื้อสิทธิเรียกร้องในคดีล้มละลาย โดยไม่ต้องเสียค่าขึ้นศาลเพิ่มเติม
เมื่อโจทก์ตกเป็นบุคคลล้มละลาย เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ย่อมมีอำนาจหน้าที่รวบรวมและจำหน่ายทรัพย์สินของโจทก์ตามวิธีการที่บัญญัติไว้ในหมวด 4 ส่วนที่ 4 แห่ง พ.ร.บ.ล้มละลายฯ ซึ่งมาตรา 123 บัญญัติให้อำนาจแก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ที่จะขายทรัพย์สินที่รวบรวมได้มาตามวิธีที่สะดวกและเป็นผลดีที่สุดโดยมีเงื่อนไขว่าการขายโดยวิธีอื่นนอกจากการขายทอดตลาด ต้องได้รับความเห็นชอบของกรรมการเจ้าหนี้ การที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ขายสิทธิเรียกร้องของโจทก์โดยวิธีอื่นตามมติของที่ประชุมเจ้าหนี้ในคดีล้มละลายเป็นการดำเนินการตามบทกฎหมายดังกล่าว สิทธิของผู้ซื้อทรัพย์สินโดยสุจริตจากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงควรได้รับความรับรอง คุ้มครอง และบังคับตาม ดังนั้น เมื่อผู้ร้องเป็นผู้ซื้อทรัพย์สินและได้มาซึ่งสิทธิเรียกร้องของโจทก์รวมถึงสิทธิที่จะได้รับชำระหนี้จากจำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาในคดีนี้จากการขายดังกล่าว ย่อมถือได้ว่าผู้ร้องเป็นผู้มีสิทธิเรียกร้องเกี่ยวเนื่องด้วยการบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง และมีสิทธิร้องขอเข้ามาเป็นคู่ความในชั้นบังคับคดี เพื่อยังให้ได้รับความรับรองคุ้มครอง และบังคับตามสิทธิของตนที่มีอยู่ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (1) ได้ หาจำต้องมีผู้ใดมาโต้แย้งสิทธิเสียก่อนหรือต้องร้องขอเข้ามาเป็นคู่ความฝ่ายที่สามแต่อย่างใดไม่
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอเข้ามาเป็นคู่ความแทนที่โจทก์ในชั้นบังคับคดีโดยอาศัยเหตุที่ผู้ร้องเป็นผู้ซื้อและได้รับโอนสิทธิเรียกร้องของโจทก์ที่มีต่อจำเลยตามคำพิพากษามาจากการขายในคดีล้มละลาย กรณีมิใช่เป็นเรื่องที่มีผู้ร้องพิพาทกับจำเลยในมูลหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงิน สัญญาจำนอง และสัญญาค้ำประกัน ซึ่งเป็นมูลหนี้ที่โจทก์กับจำเลยพิพาทกันและศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาไปแล้ว ทั้งการที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอเข้ามาเป็นคู่ความในชั้นบังคับคดี เพื่อยังให้ได้รับความรับรอง คุ้มครองและบังคับตามสิทธิของผู้ร้องที่มีอยู่โดยอาศัยเหตุดังกล่าว มิได้เรียกร้องสิ่งใดขึ้นใหม่นอกเหนือไปจากสิทธิเรียกร้องที่โจทก์มีอยู่ตามคำพิพากษา ดังนั้น เมื่อโจทก์เสียค่าขึ้นศาลอย่างคดีมีทุนทรัพย์ไว้แล้วในชั้นที่โจทก์ยื่นฟ้องคดี จึงไม่มีเหตุที่ผู้ร้องจะต้องเสียค่าขึ้นศาลอีก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5153/2546 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การสิ้นสุดสิทธิของคู่ความเมื่อถึงแก่ความตาย และการเข้าเป็นคู่ความแทนที่ไม่ชอบ
โจทก์ฟ้องคดีนี้ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ช. ตามคำสั่งศาล ซึ่งเป็นสิทธิเฉพาะตัวของผู้จัดการมรดก เมื่อโจทก์ถึงแก่ความตาย สิทธิและหน้าที่ของโจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกย่อมสิ้นสุดลง หาได้ตกทอดไปยังทายาทของโจทก์ไม่ ส. เป็นเพียงทายาทของโจทก์เท่านั้น ไม่ปรากฏว่า ส. เป็นผู้ปกครองที่พิพาทหรือมีอำนาจจัดการทรัพย์มรดกของ ช. แต่อย่างใด ส. ย่อมไม่อาจเข้าเป็นคู่ความแทนที่โจทก์ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 อนุญาตให้ ส. เข้าเป็นคู่ความแทนที่โจทก์จึงเป็นการไม่ชอบ