คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
เครื่องจักร

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 55 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7683-7693/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การปรับปรุงกระบวนการผลิตด้วยการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีเครื่องจักร ไม่ถือเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม
การที่จำเลยนำผงชูรสกึ่งสำเร็จรูปที่ซื้อมาใช้ในการผลิตผงชูรสสำเร็จรูปแทนการผลิตผงชูรสกึ่งสำเร็จรูปจากกากน้ำตาลด้วยตนเองดังที่เคยกระทำมา เป็นการตัดทอนขั้นตอนการผลิตเดิมตั้งแต่การหมักกากน้ำตาล เลี้ยงเชื้อ ต้มน้ำตาล ในกระบวนการผลิตขั้นตอนที่ 1 ของขั้นตอนเพาะเชื้อ ถึงกระบวนการในห้องแยกน้ำแยกเนื้อผงชูรสกึ่งสำเร็จรูปที่ห้องเอสดีซีซึ่งอยู่ในกระบวนการผลิตขั้นตอนที่ 2 ออก การปรับปรุงกระบวนการผลิตโดยตัดทอนขั้นตอนการผลิตด้วยวิธีนี้จำเลยไม่ได้นำเครื่องจักรมาใช้ จำเลยมีวัตถุประสงค์ผลิตผงชูรส การนำน้ำที่เหลือจากการผลิตมารีไซเคิลเป็นเพียงการนำของเหลือที่จะทิ้งมาใช้อีกครั้ง สิ่งที่ได้เป็นผงชูรสกึ่งสำเร็จรูปจำนวนไม่มากเมื่อเทียบกับกำลังการผลิตต่อวันของจำเลย และเป็นการทำให้น้ำที่เหลือจากการผลิตสะอาดขึ้นก่อนปล่อยเป็นน้ำทิ้ง ซึ่งไม่ใช่วัตถุประสงค์ในการผลิตของจำเลย ผงชูรสกึ่งสำเร็จรูปที่ได้จากการรีไซเคิลน้ำเป็นเพียงผลพลอยได้เท่านั้น การที่จำเลยนำเครื่องโม่มาใช้ในการรีไซเคิลน้ำจึงไม่ใช่การที่นายจ้างปรับปรุงกระบวนการผลิตเนื่องจากการนำเครื่องจักรมาใช้ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 121 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3031/2548 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกสัญญาซื้อขายเครื่องจักร, สิทธิเรียกร้องค่าเสียหาย, การคืนเงิน, และค่าใช้จ่ายในการส่งมอบ
ตาม ป.พ.พ. มาตรา 386 บัญญัติถึงสิทธิเลิกสัญญาของคู่สัญญาว่าอาจเกิดขึ้นได้ 2 กรณีคือ เกิดจากข้อสัญญาหรือเกิดจากบทบัญญัติของกฎหมายซึ่งใช้บังคับได้แก่สัญญาทุกประเภทรวมถึงสัญญาซื้อขาย
แม้ตามสัญญาซื้อขายกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ซื้อขายจะได้โอนไปเป็นของผู้ซื้อโดยผลแห่งสัญญาแล้วหรือไม่ก็ตาม แต่ตราบใดที่คู่สัญญาฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดยังมีภาระหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามสัญญาแล้วไม่ปฏิบัติ ย่อมถือเป็นการผิดสัญญา คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งยังมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้
สัญญาซื้อขายมิได้ระบุถึงข้อตกลงในการเลิกสัญญาไว้ และตามข้อความในสัญญาก็ไม่ปรากฏว่าคู่สัญญาประสงค์จะไม่ให้มีการบอกเลิกสัญญาต่อกันในกรณีที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ปฏิบัติตามสัญญา ดังนั้น สิทธิบอกเลิกสัญญาของคู่สัญญาจึงต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายคือมาตรา 387 ซึ่งบัญญัติว่า ถ้าคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งไม่ชำระหนี้ อีกฝ่ายหนึ่งจะกำหนดระยะเวลาพอสมควร แล้วบอกกล่าวให้ฝ่ายนั้นชำระหนี้ภายในระยะเวลานั้นก็ได้ ถ้าฝ่ายนั้นไม่ชำระหนี้ภายในระยะเวลาที่กำหนดให้ อีกฝ่ายหนึ่งจะเลิกสัญญาเสียก็ได้
จำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระหนี้ตามสัญญาซื้อขายในงวดแรกและงวดที่สองโจทก์มีหนังสือบอกกล่าวทวงถามให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ที่ค้างชำระดังกล่าวแก่โจทก์ภายใน 15 วัน จำเลยที่ 1 ได้รับหนังสือดังกล่าวแล้ว ไม่ชำระหนี้ภายในระยะเวลาที่โจทก์กำหนดให้ โจทก์จึงมีสิทธิตามกฎหมายที่จะบอกเลิกสัญญาแก่จำเลยที่ 1 โดยไม่ต้องคำนึงว่ากรรมสิทธิ์ในเครื่องจักรที่ซื้อขายได้โอนไปเป็นของจำเลยที่ 1 แล้วหรือไม่
ผลของการเลิกสัญญาต้องเป็นไปตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 391 คือ คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม โดยในกรณีคืนเงินให้บวกดอกเบี้ยนับตั้งแต่เวลาที่ได้รับเงินไว้ ส่วนในกรณีที่เป็นการงานอันได้กระทำให้และเป็นการยอมให้ใช้ทรัพย์นั้น ให้คืนด้วยการใช้เงินตามควรค่าแห่งการนั้น ๆ นอกจากนี้มาตราดังกล่าวยังได้บัญญัติรับรองถึงการใช้สิทธิเลิกสัญญาว่าไม่กระทบกระทั่งถึงสิทธิเรียกร้องค่าเสียหาย ดังนั้น จำเลยที่ 1 ต้องส่งมอบเครื่องจักรตามสัญญาซื้อขายคืนแก่โจทก์ และต้องชดใช้ค่าที่ได้ใช้สอยเครื่องจักรดังกล่าวในขณะที่ตนได้ครอบครองอยู่จนกว่าจะส่งมอบเครื่องจักรคืนแก่โจทก์ รวมทั้งต้องชำระค่าเสียหายจากการเสื่อมราคาของเครื่องจักรด้วย ส่วนโจทก์ก็ต้องคืนเงินค่าเครื่องจักรและเงินดอกเบี้ยที่จำเลยที่ 1 ได้ชำระให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยนับตั้งแต่วันที่โจทก์ได้รับเงินจำนวนนั้นไว้
เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีหน้าที่ตามคำพิพากษาที่จะต้องส่งมอบเครื่องจักรแก่โจทก์ ณ ภูมิลำเนาของโจทก์ โจทก์จึงไม่อาจเข้าไปรื้อถอนเครื่องจักรและขนส่งเครื่องจักรไปยังภูมิลำเนาของโจทก์ด้วยตนเองได้ หากจำเลยทั้งสามไม่ยอมส่งมอบเครื่องจักร โจทก์ก็ชอบที่จะดำเนินการบังคับตามกฎหมายหรือเรียกร้องให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ราคาเครื่องจักรแก่ตน ไม่มีบทบัญญัติในกฎหมายใดให้อำนาจแก่โจทก์ในการเข้าไปรื้อถอนและขนส่งเครื่องจักรแทนจำเลยทั้งสามด้วยตนเองโดยขอให้ศาลบังคับจำเลยทั้งสามให้ออกค่าใช้จ่าย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3693/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาซื้อขายเครื่องจักร: ผู้ซื้อต้องชำระราคาตามสัญญา แม้เครื่องจักรมีข้อบกพร่องที่ไม่กระทบต่อการใช้งานตามวัตถุประสงค์
จำเลยให้การยอมรับว่า จำเลยได้ทำสัญญาซื้อเครื่องจักรพิพาทจากโจทก์และยังค้างชำระราคาเครื่องจักรพิพาทแก่โจทก์จริงตามฟ้อง แต่จำเลยได้ยกข้อต่อสู้ขึ้นใหม่ว่า เครื่องจักรพิพาทที่โจทก์ส่งมอบแก่จำเลยมีความบกพร่องไม่สามารถห่อเทียนไขด้วยฟิล์มหดได้ดีเหมือนกับห่อด้วยแรงงานคนตามที่ตกลงซื้อขายกัน จำเลยจึงมีภาระการพิสูจน์หรือมีหน้าที่นำสืบก่อน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 754/2543 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การตีความพิกัดอัตราศุลกากรสำหรับอุปกรณ์เครื่องจักรและส่วนประกอบที่นำเข้า การระบุประเภทสินค้าที่ถูกต้องตามกฎหมาย
พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 10 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ค่าภาษีให้เก็บตามบทบัญญัตินี้และตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราศุลกากร ซึ่ง พ.ร.ก. พิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 มาตรา 4 วรรคหนึ่ง ก็บัญญัติว่า ของที่นำเข้าหรือ พาเข้ามาหรือส่งหรือพาออกไปนอกราชอาณาจักรนั้น ให้เรียกเก็บและเสียอากรตามที่กำหนดไว้ในพิกัดอัตราอากรท้ายพระราชกำหนดนี้ ดังนั้น สินค้าที่นำเข้าถูกจัดอยู่ในประเภทสินค้าตามพิกัดอัตราภาษีศุลกากรหมวดใด ก็ต้องเสียภาษีไปตามประเภทสินค้าที่ถูกระบุไว้ในหมวดนั้น มิใช่พิจารณาจากวัตถุประสงค์ของผู้นำสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักร ที่นำสินค้าที่นำเข้าไปใช้กับกิจการใดเป็นสำคัญ
พิกัดอัตราอากรขาเข้าหมวด 17 เป็นสินค้าประเภทยานบก อากาศยาน ยานน้ำ และเครื่องอุปกรณ์การขนส่งที่เกี่ยวข้องมีหมายเหตุข้อ 2 บัญญัติว่า คำว่า "ส่วนประกอบ" และ "ส่วนประกอบและอุปกรณ์ประกอบ" ไม่ให้ใช้กับของดังต่อไปนี้ ไม่ว่าจะเป็นของที่บ่งชี้ได้ว่าใช้กับของในหมวดนี้หรือไม่ก็ตาม ? (ฉ) เครื่อง จักรไฟฟ้าหรือเครื่องอุปกรณ์ไฟฟ้า (ตอนที่ 85) สินค้าพิพาทซึ่งเป็นอุปกรณ์ส่วนหนึ่งของเครื่องกำเนิดไฟฟ้ากระแสสลับ มีชื่อสินค้าซึ่งเป็นอุปกรณ์ส่วนหนึ่งของเครื่องกำเนิดไฟฟ้ากระแสสลับ มีชื่อสินค้าตรงกับรายการสินค้าตามพิกัดอัตราศุลกากรในหมวดที่ 16 ตอนที่ 85 เครื่องจักรไฟฟ้า เครื่องอุปกรณ์ไฟฟ้า และส่วนประกอบของเครื่องดังกล่าวประเภทที่ 85.01 ประเภทย่อย 8501.620 เครื่องกำเนิดไฟฟ้ากระแสสลับ (อัลเทอร์เนเตอร์) (AC GENERATOR) ที่ให้กำลังเกิน 75 เควีเอ แต่ไม่เกิน 375 เควีเอ สินค้าพิพาทจึงจัดอยู่ในพิกัดอัตราศุลกากร หมวดที่ 16 ประเภทย่อย 8501.620 และไม่อยู่ในหมวด 17 ประเภทย่อย 8607.990 ซึ่งเป็นรายการส่วนประกอบของรถหัวจักรรถไฟหรือรถรางหรือรถที่เดินบนราง
รายการสินค้าตามพิกัดอัตราศุลกากรประเภทที่ 85.04 มีหม้อแปลงไฟฟ้า เครื่องเปลี่ยนไฟฟ้าชนิดอยู่คงที่ เช่น เครื่องกลับกระแสไฟฟ้าและตัวเหนี่ยวนำ สินค้าพิพาทเป็นเครื่องกลับกระแสไฟฟ้าหรือเครื่องแปลงกระแสไฟฟ้า (RECTIFIER) แม้จะเป็นส่วนประกอบของหัวรถจักรของรถไฟก็ต้องจัดอยู่ในประเภทที่ 85.04 ประเภทพิกัดย่อย 8504.400 เครื่องเปลี่ยนไฟฟ้าชนิดอยู่คงที่เพราะตามหมายเหตุข้อ 2 (ฉ) ของหมวด 17 คำว่า "ส่วนประกอบ" และ "ส่วนประกอบและอุปกรณ์ประกอบ" มิให้ใช้กับเครื่องจักรไฟฟ้าหรืออุปกรณ์ไฟฟ้า (ตอนที่ 85)
พิกัดอัตราศุลกากรประเภทที่ 90.32 ระบุรายการสินค้าเป็นอุปกรณ์และเครื่องอุปกรณ์สำหรับบังคับหรือควบคุมโดยอัตโนมัติ (AUTOMATIC REGULATING OR CONTROLLING INSTRUMENT AND ARRARATUS) อันได้แก่เครื่องปรับแรงเคลื่อนไฟฟ้าโดยอัตโนมัติสำหรับใช้กับความดันไฟฟ้าตั้งแต่ 11,000 โวลต์ขึ้นไป และส่วนประกอบของเครื่องดังกล่าว สินค้าพิพาทเป็นตัวบังคับและตัวควบคุมทางไฟฟ้ารวมทั้งอุปกรณ์สำหรับควบคุมทางไฟฟ้า จึงจัดอยู่ในพิกัดอัตราศุลกากรประเภทที่ 90.32 ประเภทย่อยที่ 9032.890
มอเตอร์ที่ใช้แรงดันของน้ำมันโฮดรอลิก (OIL MOTOR) มีชื่อระบุไว้ชัดเจนในพิกัดอัตราศุลกากร หมวดที่ 16 ประเภทที่ 84.12 ส่วนประกอบย่อยที่ 8412.290 ประเภทพิกัดย่อย 8607.190 ซึ่งอยู่ในหมวด 17 ตอนที่ 86 ระบุรายการสินค้าคือส่วนประกอบของหัวรถจักรของรถไฟหรือรถรางหรือรถที่เดินบนรางซึ่งเป็นคนละประเภทกับสินค้าพิพาท ที่เป็นมอเตอร์ที่ใช้แรงดันของน้ำมันไฮดรอลิกประกอบกับหมายเหตุข้อ 2 (จ) ของหมวด 17 ระบุคำว่า "ส่วนประกอบ" และ "ส่วนประกอบและอุปกรณ์ประกอบ" ไม่ให้ใช้กับเครื่องจักรและอุปกรณ์ตามประเภทที่ 84.01 ถึง 84.79 และส่วนประกอบของเครื่องดังกล่าวของตามประเภทที่ 84.81 หรือ 84.82 หรือ 84.83 เฉพาะที่เป็นส่วนประกอบของเครื่องยนต์หรือมอเตอร์ประกอบกับหมายเหตุข้อ 1 (ต) ในหมวดที่ 16 ที่ระบุว่า หมวด 16 ไม่คลุมถึงของในหมวด 17 สินค้าพิพาทจึงต้องจัดอยู่ในประเภทย่อยที่ 8607.190 ไม่ได้ ต้องจัดอยู่ในประเภทย่อยที่ 8402.290

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3683/2543 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเสียภาษีอากรจากวัตถุดิบและเครื่องจักรนำเข้าที่ไม่ได้ใช้ตามเงื่อนไขบัตรส่งเสริมการลงทุน
จำเลยได้รับบัตรส่งเสริมของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนซึ่งกำหนดเงื่อนไขไว้ในข้อ 3 ว่าวัตถุดิบหรือวัสดุจำเป็นที่คณะกรรมการอนุมัติให้ยกเว้นหรือลดหย่อนอากรขาเข้า และภาษีการค้านั้นจะต้องใช้เฉพาะในกิจการส่วนที่ได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการให้ได้รับยกเว้นหรือลดหย่อนอากรขาเข้าและหรือภาษีการค้าเท่านั้น หากจะจำหน่ายจ่ายโอนหรือนำไปใช้ในการอื่นจะต้องได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการก่อน และในข้อ 13.4 ก็กำหนดให้จำเลยนำผลิตภัณฑ์ที่ผลิตหรือประกอบส่งออกไปจำหน่ายนอกราชอาณาจักรทั้งสิ้น หากจำเลยมิได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ได้รับตามบัตรส่งเสริมดังกล่าว จำเลยก็ย่อมไม่อาจถือประโยชน์ที่ได้รับตามบัตรส่งเสริมได้ เมื่อจำเลยมีวัตถุดิบและวัสดุจำเป็นที่นำเข้าคงเหลือที่ไม่ได้ใช้ผลิต ผสม หรือประกอบผลิตภัณฑ์เพื่อการส่งออกภายในระยะเวลาหนึ่งปีตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ จึงไม่อยู่ในเงื่อนไขที่จำเลยจะได้รับยกเว้นหรือลดหย่อนอากรขาเข้าและภาษีการค้าตามบัตรส่งเสริมการลงทุนดังกล่าว
ตามมาตรา 41 วรรคหนึ่ง และวรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุน พ.ศ. 2520 บัญญัติว่า คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนมีอำนาจอนุญาตให้ผู้รับการส่งเสริมจำหน่ายเครื่องจักรที่ได้รับยกเว้นหรือลดหย่อนภาษีอากรได้โดยการอนุญาตจะทำเป็นหนังสือหรือแก้ไขบัตรส่งเสริมโดยระบุเงื่อนไขและรายละเอียดในการอนุญาตไว้ด้วยก็ได้ และวรรคสามบัญญัติว่า ห้ามมิให้นำกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราศุลกากรมาใช้บังคับแก่ผู้ได้รับการส่งเสริมซึ่งได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการตามมาตรานี้ แต่ตามทางนำสืบของโจทก์ไม่ปรากฏหลักฐานว่าจำเลยประสงค์จะจำหน่ายเครื่องจักรและได้มีหนังสืออนุญาตให้จำเลยจำหน่ายเครื่องจักรหรือมีการแก้ไขบัตรส่งเสริมจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ทั้งคดีก็ไม่ได้ความแน่ชัดว่าจำเลยได้จำหน่ายจ่ายโอนเครื่องจักรดังกล่าวไปแล้วหรือไม่ กรณีเช่นนี้จะถือว่าจำเลยได้ปฏิบัติผิดเงื่อนไขโดยการจำหน่ายเครื่องจักรแล้วหาได้ไม่ โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีอำนาจฟ้องให้จำเลยชำระค่าภาษีอากรขาเข้าและภาษีการค้าในส่วนนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1516/2540 เวอร์ชัน 4 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อพิพาทสิทธิในเครื่องจักรและชื่อทางการค้า: สัญญาลงทุน, ค่าเสียหายจากการไม่คืนทรัพย์, การคุ้มครองชื่อทางการค้า
เครื่องจักรผลิตน้ำผลไม้พร้อมอุปกรณ์ตามฟ้องเป็นของโจทก์และโจทก์ส่งมาให้จำเลยทั้งสี่เพื่อร่วมลงทุน เมื่อจำเลยทั้งสี่ไม่ให้โจทก์เข้าร่วมลงทุนในกิจการของจำเลยที่ 1 ตามที่ตกลงกัน จำเลยทั้งสี่จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญาต้องคืนเครื่องจักรพร้อมอุปกรณ์ตามฟ้องให้แก่โจทก์ หากคืนไม่ได้ก็ต้องใช้ราคาแทนและเมื่อโจทก์เรียกให้จำเลยส่งคืน จำเลยปฏิเสธ โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกค่าขาดประโยชน์จากการไม่ได้ใช้ทรัพย์ได้ จนถึงวันที่จำเลยส่งมอบเครื่องจักรหรือใช้ราคาทรัพย์แก่โจทก์
โจทก์จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลในประเทศญี่ปุ่นตั้งแต่ปี 2496ประกอบธุรกิจผลิตน้ำผลไม้และขนมต่าง ๆ เมื่อโจทก์ตกลงร่วมทุนกับ ว. โจทก์อนุญาตให้ ว.จดทะเบียนนิติบุคคลผลิตน้ำผลไม้แล้ว ส่วนใหญ่ส่งไปขายให้แก่ลูกค้าของโจทก์ในต่างประเทศ โดยโจทก์ยอมให้ ว.ใช้ชื่อโตราย่าของโจทก์ได้ก่อนฟ้องโจทก์แจ้งให้จำเลยระงับการใช้ชื่อคำว่า "โตราย่า" ของโจทก์แล้วแม้โจทก์จะเลิกผลิตน้ำผลไม้มานาน 4 ปีแล้ว แต่เมื่อโจทก์ยังให้คนอื่นผลิตโดยใช้ชื่อโจทก์ การที่จำเลยมีเจตนาแสวงหาประโยชน์จากชื่อของโจทก์ ทำให้ลูกค้าของโจทก์สับสนว่าโจทก์เกี่ยวข้องกับจำเลยหรือจำเลยเป็นสาขาของโจทก์ในประเทศไทย โจทก์ย่อมมีสิทธิห้ามจำเลยที่ 1 ระงับการใช้ชื่อ "โตราย่า" ของโจทก์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5325/2538 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การอัดกลีบผ้าโดยใช้เครื่องจักรเพื่อประดิษฐ์ดอกไม้เทียมเข้าข่ายเป็นค้าที่รังเกียจหรือไม่
การอัดกลีบตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร หมายถึงการอัดกลีบผ้าหรือสิ่งอื่นใดเพื่อให้เป็นจีบหรือเป็นกลีบแม้การอัดกลีบแล้วผ้าที่ได้อัดกลีบนั้นจะเปลี่ยนสภาพจากผ้า ที่ใช้สอยเป็นสิ่งประดิษฐ์อย่างอื่นด้วย เช่น ประดิษฐ์เป็นกลีบดอกไม้หรือใบไม้ ถ้าหากเป็นการอัดกลีบโดยใช้เครื่องจักรแล้วก็ถือได้ว่าเป็นการค้าซึ่งเป็นที่รังเกียจหรืออาจเป็นอันตรายแก่สุขภาพ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5325/2538

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การอัดกลีบผ้าด้วยเครื่องจักรเพื่อประดิษฐ์ดอกไม้เทียมเข้าข่ายเป็นค้าซึ่งเป็นที่รังเกียจหรืออันตรายต่อสุขภาพตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร
ตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครเรื่องควบคุมการค้าซึ่งเป็นที่รังเกียจหรืออาจเป็นอันตรายแก่สุขภาพ(ฉบับที่2)พ.ศ.2526ข้อ4(107)ระบุไว้ว่าการซักรีดอัดกลีบกัดสีผ้าโดยใช้เครื่องจักรเป็นการค้าซึ่งเป็นที่รังเกียจหรืออาจเป็นอันตรายแก่สุขภาพการอัดกลีบตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครดังกล่าวหมายถึงการอัดกลีบผ้าหรือสิ่งอื่นใดเพื่อให้เป็นจีบหรือเป็นกลีบแม้การอัดกลีบแล้วผ้าที่ได้อัดกลีบนั้นจะเปลี่ยนสภาพจากผ้าที่ใช้สอยเป็นสิ่งประดิษฐ์อย่างอื่นด้วยเช่นประดิษฐ์เป็นกลีบดอกไม้หรือใบไม้ถ้าหากเป็นการอัดกลีบโดยใช้เครื่องจักรแล้วก็ถือได้ว่าเป็นการค้าซึ่งเป็นที่รังเกียจหรืออาจเป็นอันตรายแก่สุขภาพแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4908/2538

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การลดค่ารายปีโรงเรือนติดตั้งเครื่องจักร และการประเมินค่ารายปีตามดัชนีราคาผู้บริโภคที่สมเหตุสมผล
พ.ร.บ. ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 13, 18
โรงเรือนรายการที่ 9 ในแบบ ภ.ร.ด.2 เป็นโรงซ่อมเครื่องจักร ช่างไม้ ซ่อมไฟฟ้า ห้องทดลอง ซึ่งมีเครื่องจักรเป็นเครื่องทดลองเครื่องซ่อมเครื่องจักร เครื่องซ่อมเครื่องช่างไม้ และมีอุปกรณ์การซ่อมไฟฟ้าตั้งอยู่ดังนั้น โรงเรือนดังกล่าวจึงมิใช่เป็นโรงเรือนธรรมดา แต่เป็นโรงเรือนที่ติดตั้งเครื่องจักรที่ใช้ในการซ่อมเครื่องจักร เครื่องมือและอุปกรณ์ของเครื่องจักรที่ใช้กระทำหรือกำเนิดสินค้า ถือได้ว่าเป็นโรงเรือนที่ติดตั้งส่วนควบที่สำคัญมีลักษณะเป็นเครื่องจักรกลไกเพื่อใช้ในการดำเนินการอุตสาหกรรมของโจทก์ ได้รับการลดค่ารายปีลงเหลือ 1 ใน 3 ตามความในมาตรา 13 แห่ง พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 แล้ว บทบัญญัติดังกล่าวมิได้จำกัดไว้แต่เพียงว่าต้องเป็นเครื่องที่ใช้กระทำหรือเครื่องกำเนิดสินค้าโดยตรงเท่านั้น จึงจะได้รับการลดค่ารายปี
ดัชนีราคาผู้บริโภคซึ่งกองระดับราคากรมเศรษฐกิจการพาณิชย์กระทรวงการคลัง เป็นผู้จัดทำขึ้นเฉพาะหมวดเคหสถาน แบ่งออกเป็น 2 ส่วนส่วนที่ 1 เป็นค่าเช่าเคหสถาน ส่วนที่ 2 เป็นราคาวัสดุก่อสร้าง การสำรวจค่าเช่าเคหสถานจะดำเนินการสำรวจเดือนละ 1 ครั้ง การจัดกลุ่มสำรวจในกรุงเทพมหานครจัดกลุ่มตามชื่อเขตต่าง ๆ ระหว่างปี 2522 ถึงปี 2532 ดัชนีดังกล่าวมีอัตราเพิ่มขึ้นเป็นรายปีตั้งแต่ปี 2522 ถึงปี 2532 และกรมเศรษฐกิจการพาณิชย์เป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่โดยตรงในเรื่องการตรวจสอบระดับราคาผู้บริโภคตามหมวดต่าง ๆ ดังกล่าวรวมทั้งค่าเช่าเคหสถาน และได้บันทึกข้อมูลไว้เป็นหลักฐานเพื่อใช้อ้างอิง การเปลี่ยนแปลงอัตราค่าเช่าและค่ารายปีที่ปรากฏในดัชนี ราคาผู้บริโภคหมวดเคหสถานนี้ จึงเป็นอัตราที่มีเหตุผลและตาม พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 18 ที่บัญญัติว่า "ค่ารายปีของปีที่ล่วงแล้วนั้นท่านให้เป็นหลักสำหรับการคำนวณค่าภาษีซึ่งจะต้องเสียในปีต่อมา" นั้นมีความหมายเพียงว่า ให้นำค่ารายปีของปีที่ล่วงมาแล้วมาเป็นหลักหรือเป็นเกณฑ์ในการคำนวณภาษีในปีต่อมาเท่านั้น แต่มิใช่เป็นการบังคับให้ต้องถือตามนั้นเสมอไป อีกทั้งในคดีนี้การประเมินค่ารายปีสำหรับโรงเรือนของโจทก์ในปี 2531โจทก์กับจำเลยที่ 1 ยังโต้แย้งกันอยู่ ยังไม่ยุติว่าจะถูกต้องเพียงใด จึงไม่อาจที่จะนำค่ารายปีของปี 2531 มาเป็นหลักในการคำนวณภาษีของปี 2532 ได้ดังนั้น การที่โจทก์นำค่ารายปีสำหรับโรงเรือนของโจทก์ในปี 2522 ในปี 2527และในปี 2529 ซึ่งโจทก์กับจำเลยที่ 1 ไม่ได้โต้แย้งและยุติแล้วมาเป็นหลักในการคำนวณภาษีตามดัชนีราคาผู้บริโภคดังกล่าวข้างต้น จึงไม่เป็นการขัดต่อบทบัญญัติแห่งมาตรา 18 ดังกล่าวข้างต้น โรงเรือนทั้ง 5 รายการที่พิพาทเป็นโรงเก็บสินค้า มีลักษณะการใช้ประโยชน์เช่นเดียวกัน ซึ่งเมื่อได้พิจารณาถึงสภาพของโรงเรือนและลักษณะการใช้สอยแล้วเห็นว่ามีสภาพและลักษณะคล้ายคลึงกัน คือเป็นโรงใช้สำหรับเก็บสินค้า ค่ารายปีจึงควรเท่ากัน การที่จำเลยทั้งสองคำนึงเฉพาะสภาพหรือลักษณะที่เป็นโรงหรือเป็นตึกโดยไม่คำนึงถึงข้ออื่น แล้วประเมินค่ารายปีสำหรับโรงเรือนที่เป็นตึกสูงกว่าโรงเรือนที่เป็นโรงสีจึงไม่ชอบด้วยเหตุผล

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4896/2538 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การลดค่ารายปีภาษีโรงเรือนสำหรับโรงเรือนติดตั้งเครื่องจักร และการใช้ดัชนีราคาผู้บริโภคคำนวณค่ารายปี
โรงเรือนตามรายการที่ 9 มีเครื่องจักรเป็นเครื่องทดลองเครื่องซ่อมเครื่องจักรกล เครื่องซ่อมเครื่องช่างไม้ และมีอุปกรณ์การซ่อมเครื่องไฟฟ้าตั้งอยู่ ดังนั้น โรงเรือนดังกล่าวจึงมิใช่เป็นโรงเรือนธรรมดา แต่เป็นโรงเรือนที่ติดตั้งเครื่องจักรที่ใช้ในการซ่อมเครื่องจักร เครื่องมือและอุปกรณ์ของเครื่องจักรที่ใช้ในการทำหรือกำเนิดสินค้า ถือได้ว่าเป็นโรงเรือนที่ติดตั้งส่วนควบที่สำคัญมีลักษณะเป็นเครื่องจักรกลไกเพื่อใช้ในการดำเนินการอุตสาหกรรมของโจทก์ มีสิทธิได้ลดค่ารายปีลงเหลือหนึ่งในสามตามความในมาตรา 13 แห่งพ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 แล้ว บทบัญญัติดังกล่าวมิได้จำกัดไว้แต่เพียงว่าต้องเป็นเครื่องจักรที่ใช้กระทำหรือกำเนิดสินค้าเท่านั้น หากเป็นโรงเรือนที่ติดตั้งส่วนควบที่สำคัญเป็นเครื่องจักรหรือกลไก เพื่อใช้ในการดำเนินการอุตสาหกรรมแม้จะไม่ใช่เป็นเครื่องกระทำหรือกำเนิดสินค้าก็อยู่ในความหมายของบทบัญญัติดังกล่าว
ดัชนีราคาผู้บริโภคซึ่งกองระดับราคา กรมเศรษฐกิจการพาณิชย์กระทรวงพาณิชย์ เป็นผู้จัดทำขึ้นแบ่งออกเป็น 7 หมวด คือ หมวดอาหาร หมวดเครื่องนุ่งห่ม หมวดเคหสถาน หมวดการตรวจรักษา หมวดยานพาหนะ หมวดการบันเทิง-การอ่าน-และการศึกษา และหมวดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ และกรมเศรษฐกิจการพาณิชย์ เป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่โดยตรงในเรื่องการตรวจสอบระดับราคาผู้บริโภคตามหมวดต่าง ๆ ดังกล่าว รวมทั้งค่าเช่าเคหสถาน และได้บันทึกข้อมูลไว้เป็นหลักฐานเพื่อใช้อ้างอิง การเปลี่ยนแปลงอัตราค่าเช่า และค่ารายปีที่ปรากฎในดัชนีราคาผู้บริโภค หมวดเคหสถานจึงเป็นอัตราที่มีเหตุผล และที่ พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 18 บัญญัติว่า "ค่ารายปีของปีที่ล่วงแล้วนั้นท่านให้เป็นหลักสำหรับการคำนวณค่าภาษีซึ่งจะต้องเสียในปีต่อมา" นั้น มีความหมายเพียงว่า ให้นำค่ารายปีของปีที่ล่วงมาแล้วมาเป็นหลักหรือเป็นเกณฑ์ในการคำนวณภาษีในปีต่อมาเท่านั้น มิใช่เป็นการบังคับให้ต้องนำมาเป็นหลักเสมอไป ในคดีนี้สำหรับโรงเรือนตามรายการในตารางที่ 2 และที่ 3 การประเมินค่ารายปีในปี 2529โจทก์ยอมรับและไม่ได้โต้แย้งนั้น โจทก์ได้นำค่ารายปีของปี 2529 มาเป็นหลักในการคำนวณค่ารายปีของปี 2530 แล้ว ส่วนโรงเรือนอื่นนอกจากนี้ การประเมินค่ารายปีในปี 2529 โจทก์จำเลยยังโต้แย้งกันอยู่ไม่ยุติ จึงไม่อาจที่จะนำค่ารายปีของปี 2529 มาเป็นหลักในการคำนวณภาษีของปี 2530 ได้ ดังนั้น การที่โจทก์นำค่ารายปีโรงเรือนของโจทก์ในปี 2522 และในปี 2527 สำหรับโรงเรือนที่เหลือซึ่งโจทก์จำเลยไม่ได้โต้แย้งและยุติแล้วตามลำดับมาเป็นหลักในการคำนวณตามดัชนีราคาผู้บริโภคดังกล่าวข้างต้นจึงไม่เป็นการขัดต่อมาตรา 18 ดังกล่าวข้างต้นดังนั้นหลักเกณฑ์ที่จำเลยที่ 1 นำมาคำนวณค่ารายปียังไม่มีเหตุผลเพียงพอที่จะฟังได้ว่าเป็นการเหมาะสมถูกต้อง และเมื่อไม่มีหลักเกณฑ์อื่นที่เหมาะสมพอจะใช้เป็นหลักในการคำนวณได้ การที่โจทก์นำดัชนีราคาผู้บริโภคซึ่งเป็นข้อมูลของทางราชการมาเป็นหลักในการคำนวณในคดีนี้ ย่อมเป็นวิธีที่ถือได้ว่าเหมาะสมและมีเหตุอันสมควร การกำหนดค่ารายปีและการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินของโจทก์ประจำปี 2530 ของพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 และคำชี้ขาดของจำเลยที่ 2 จึงเป็นการไม่ชอบ
of 6