พบผลลัพธ์ทั้งหมด 5 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1086/2533
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
อำนาจฟ้องคดีละเมิด: เงินงบประมาณของรัฐ เงินไม่ใช่ของโจทก์ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง
สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด แม่ฮ่องสอน ขึ้นต่อสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นราชการบริหารสาธารณสุขส่วนภูมิภาค เงินที่กล่าวหาว่ามีการยักยอกคดีนี้เป็นเงินงบประมาณของ กระทรวงสาธารณสุข ซึ่ง จัดสรรไปให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเบิกจ่ายโดย ผ่านคลังจังหวัด แม่ฮ่องสอน เงินที่ถูก ยักยอกจึงไม่ใช่เงินของจังหวัด แม่ฮ่องสอน โจทก์ แต่ เป็นของ กระทรวงสาธารณสุข เจ้าของเงินงบประมาณประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 218 ลง วันที่ 29 กันยายน 2515 ข้อ 50กำหนดให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นหัวหน้าบังคับบัญชาบรรดาข้าราชการฝ่ายบริหารส่วนภูมิภาคในเขตจังหวัดและรับผิดชอบในราชการจังหวัดและอำเภอนั้นและข้อ 55 ระบุถึง อำนาจบังคับบัญชาเท่านั้น ไม่ได้รวมถึง การเป็นเจ้าของเงินงบประมาณที่เสียหายด้วย โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2584/2527
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
อำนาจฟ้องคดีแพ่ง: เงินถูกยักยอกไม่ใช่เงินงบประมาณของกรมตำรวจ, กรมตำรวจจึงไม่ใช่ผู้เสียหาย
กองบังคับการตำรวจรถไฟเป็นหน่วยงานราชการในสังกัดของกรมตำรวจโจทก์แต่บรรดาค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ของกองบังคับการตำรวจรถไฟ เช่น เงินเดือน ค่าเบี้ยเลี้ยงค่ารักษาพยาบาล ค่าเล่าเรียนบุตรของเจ้าหน้าที่ตำรวจรถไฟนั้นการรถไฟแห่งประเทศไทยเป็นผู้มีหน้าที่จ่ายจากเงินงบประมาณของการรถไฟแห่งประเทศไทยทั้งสิ้นโดยกรมตำรวจโจทก์ไม่มีหน้าที่จัดสรรเงินงบประมาณเพื่อการนี้ให้แก่กองบังคับการตำรวจรถไฟแต่อย่างใด ดังนั้น เมื่อการรถไฟแห่งประเทศไทยเป็นผู้จ่ายเงินตามฎีกาเบิกเงินค่าเบี้ยเลี้ยง เงินต่าง ๆ รวม 33 ครั้งจำนวน 168 ฎีกาตามที่กองบังคับการตำรวจรถไฟเป็นผู้ตั้งฎีกาเบิกเพื่อนำไปจ่ายให้แก่เจ้าหน้าที่ตำรวจรถไฟตามสิทธิแต่ร้อยตำรวจเอก บ. สมุห์บัญชีของกองบังคับการตำรวจรถไฟได้ทุจริตเบียดบังยักยอกเงินตามฎีกาทั้งหมดไปเป็นประโยชน์ส่วนตนเสียเช่นนี้การรถไฟแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นเจ้าของเงินงบประมาณที่เบิกจ่ายเป็นค่าเบี้ยเลี้ยงหรือเงินต่าง ๆ ดังกล่าวจึงถือว่าเป็นผู้เสียหายในเรื่องนี้ไม่ใช่กรมตำรวจโจทก์ แม้ฎีกาเบิกเงินได้แนบใบเบิกเงินค่าเบี้ยเลี้ยงของเจ้าหน้าที่ตำรวจรถไฟผู้ขอเบิกและตามหลักฐานระบุว่าได้รับเงินไปครบถ้วนโดยลงนามรับเงินแล้วก็ตามแต่เมื่อปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจรถไฟผู้ขอเบิกยังมิได้รับเงินที่เบิกไปตามที่ ลงนามไว้ในใบเบิกเพราะเงินนั้นถูกยักยอกไปเสียก่อนการรถไฟแห่งประเทศไทยจึงยังมิได้จ่ายเงินให้แก่เจ้าหน้าที่ตำรวจรถไฟผู้ขอเบิกแม้จะมีการตั้งฎีกาเบิกและสมุห์บัญชีกองบังคับการตำรวจรถไฟรับเงินจำนวนที่เบิกไปจากกองคลังเงินการรถไฟแล้วเงินจำนวนนั้นก็ยังคงเป็นของการรถไฟแห่งประเทศไทยอยู่ หาใช่เงินของกรมตำรวจโจทก์ไม่เมื่อมีการเบียดบังไปเป็นประโยชน์ส่วนตน จึงไม่ใช่เป็นการเบียดบังเอาเงินของกรมตำรวจโจทก์โจทก์ไม่ใช่เจ้าของเงิน จึงไม่ถือว่าโจทก์เป็นผู้เสียหายอันจะมีอำนาจฟ้องเรียกคืนเงินดังกล่าวจากจำเลยได้ กรณีนี้แม้ได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดในคดีอาญาที่ร้อยตำรวจเอกบ.เป็นจำเลยให้ร้อยตำรวจเอก บ. คืนหรือใช้เงินจำนวนที่ยักยอกไปให้แก่กองบังคับการตำรวจรถไฟ กรมตำรวจก็ตามแต่คำพิพากษาถึงที่สุดในคดีอาญาดังกล่าว หามีผลผูกพันจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในคดีนี้ซึ่งมิใช่เป็นคู่ความในคดีอาญาให้จำต้องถือตามไม่เมื่อข้อเท็จจริงในคดีแพ่งนี้รับฟังได้ว่า เงินจำนวนตามฟ้องที่ถูกร้อยตำรวจเอก บ.สมุห์บัญชีกองบังคับการ ตำรวจรถไฟทุจริตเบียดบัง ยักยอกไปเป็นประโยชน์ส่วนตนมิใช่เป็นเงินงบประมาณของกรมตำรวจโจทก์โจทก์ย่อมไม่ใช่ผู้เสียหายที่จะมีอำนาจฟ้องร้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้ร่วมรับผิดในเงินจำนวนนี้กับร้อยตำรวจเอกบ. จำเลยในคดีอาญานั้นได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2009/2526
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การขาดบัญชีเงินงบประมาณ ไม่พอฟังว่าทุจริต ต้องมีหลักฐานชัดเจน
จากการตรวจสอบบัญชี หลักฐานการเบิกจ่ายเงินงบประมาณซึ่งอยู่ในความดูแลรับผิดชอบของจำเลย คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินเสนอต่อทางจังหวัดว่า เงินขาดบัญชีไป 1 ล้านบาทเศษ ซึ่งโจทก์ยึดถือกล่าวหาจำเลยเป็นคดีนี้ แต่คณะกรรมการที่ทางจังหวัดตั้งขึ้นตรวจสอบปรากฏว่าจำนวนเงินขาดไปเพียง 1 แสนบาทเศษ ทั้งยังพบหลักฐานการจ่ายเงิน ซึ่งเป็นใบสำคัญคู่จ่ายที่จำเลยยังมิได้ลงไว้ในหลักฐานการเบิกจ่ายเงินในบัญชีเป็นจำนวน 8 แสนบาทเศษ ถ้าหากมีการอนุมัติการจ่ายถูกต้องและลงบัญชีให้ครบถ้วนแล้ว เงินก็จะไม่ขาดบัญชี การที่เงินขาดบัญชีไปน่าจะเกิดจากความบกพร่องในการทำบัญชีไม่เรียบร้อยมิใช่การทุจริตเกิดขึ้น ดังนี้ จำเลยไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3895/2555
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การโอนข้าราชการไปเป็นข้าราชการส่วนท้องถิ่น ไม่ถือว่าออกจากราชการ จึงไม่มีสิทธิได้รับบำเหน็จจากเงินงบประมาณ
การที่จะถือว่าข้าราชการพลเรือนสามัญออกจากราชการต้องเป็นไปตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2535 มาตรา 112 เท่านั้น การที่จำเลยโอนจากการเป็นข้าราชการพลเรือนไปเป็นข้าราชการส่วนท้องถิ่นจึงไม่ต้องด้วยบทบัญญัติดังกล่าว นอกจากนี้ การโอนไปเป็นข้าราชการส่วนท้องถิ่นของจำเลยยังคงนับอายุราชการต่อเนื่อง จำเลยไม่อาจขอสละสิทธิที่จะไม่นับอายุราชการต่อเนื่องเพื่อขอรับเงินบำเหน็จได้ กรณีจึงถือไม่ได้ว่าจำเลยได้ออกจากราชการ แม้ตาม พ.ร.บ.กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ.2539 มาตรา 44 จะบัญญัติให้สมาชิกภาพของสมาชิกกองทุนบำเหน็จบำนาญสิ้นสุดลงเมื่อผู้นั้นออกจากราชการ และมาตรา 45 จะบัญญัติให้สมาชิกกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการมีสิทธิได้รับบำเหน็จบำนาญ ฯ เมื่อสมาชิกภาพของสมาชิกสิ้นสุดลง และตามมาตรา 3 (เดิม) จะมิได้บัญญัติให้ข้าราชการส่วนท้องถิ่นอยู่ในบทนิยามของคำว่า "ข้าราชการ" อันจะเป็นสมาชิกกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการได้ก็ตาม แต่กรณีดังกล่าวคงมีผลเพียงทำให้สมาชิกภาพของสมาชิกกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการของจำเลยสิ้นสุดลงอันจะมีสิทธิได้รับเงินสะสม เงินสมทบ เงินประเดิม เงินชดเชย และผลประโยชน์ตอบแทนเงินดังกล่าวซึ่งเป็นเงินที่จ่ายจากกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในพ.ร.บ.กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ.2539 มาตรา 37 เท่านั้น หาได้มีผลทำให้สถานะความเป็นข้าราชการของจำเลยสิ้นสุดลงอันจะทำให้มีสิทธิที่จะได้รับบำเหน็จที่จะต้องจ่ายจากเงินงบประมาณด้วยไม่ แม้โจทก์ทั้งสองจะจ่ายเงินบำเหน็จให้แก่จำเลยแล้ว แต่เมื่อจำเลยยังไม่มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว โจทก์ทั้งสองย่อมมีสิทธิเรียกให้จำเลยคืนเงินบำเหน็จพร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันผิดนัดได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2539/2554
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การใช้เอกสารสิทธิปลอมเบิกจ่ายเงินงบประมาณ แม้ข้อเท็จจริงต่างจากฟ้อง ก็ลงโทษตามพยานหลักฐานได้
จำเลยเป็นลูกจ้างประจำตำแหน่งคนงาน ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่จัดทำใบสำคัญคุมใบยืม คุมเบิกจ่ายวัสดุสำนักงาน โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยนำใบเสร็จรับเงิน (บิลเงินสด) ปลอมไปใช้อ้างแสดงต่อเจ้าพนักงานของผู้เสียหายจนหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง และตั้งฎีกาเบิกเงินจากเงินงบประมาณของผู้เสียหายให้แก่จำเลยและจำเลยรับเงินจำนวนดังกล่าวไปเป็นของตนโดยทุจริต ซึ่งแตกต่างกับข้อเท็จจริงที่ปรากฏในทางพิจารณาว่า จำเลยนำใบเสร็จรับเงิน (บิลเงินสด) ปลอม ไปใช้ประกอบการจัดทำงบเดือนสำหรับการตรวจสอบของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ข้อแตกต่างนี้มิใช่ข้อสาระสำคัญและจำเลยไม่ได้หลงต่อสู้ ศาลย่อมลงโทษจำเลยตามข้อเท็จจริงที่พิจารณาได้ความได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสอง