คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
เงินประกันการทำงาน

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 5 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8000/2549 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เงินประกันการทำงานนายจ้างต้องจัดทำบัญชีแยกรายบุคคลและคืนเงินให้ลูกจ้างตามกฎหมาย
ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 10 วรรคสอง กำหนดให้ในกรณีที่นายจ้างเรียกหรือรับเงินประกัน หรือทำสัญญาประกันกับลูกจ้างเพื่อชดใช้ความเสียหายที่ลูกจ้างเป็นผู้กระทำ เมื่อนายจ้างเลิกจ้าง หรือลูกจ้างลาออก หรือสัญญาประกันสิ้นอายุให้นายจ้างคืนเงินประกันพร้อมดอกเบี้ย ถ้ามี ให้แก่ลูกจ้างภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่นายจ้างเลิกจ้างหรือวันที่ลูกจ้างลาออก หรือวันที่สัญญาประกันสิ้นอายุแล้วแต่กรณี และเพื่อให้สามารถดำเนินการตามบทบัญญัติดังกล่าว จึงได้มีประกาศกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการเรียกหรือรับเงินประกันการทำงาน หรือเงินประกันความเสียหายในการทำงานจากลูกจ้าง กำหนดจำนวนเงินและวิธีการเก็บรักษา โดยข้อ 7 กำหนดให้นายจ้างนำเงินประกันฝากไว้กับธนาคารพาณิชย์หรือสถาบันการเงินอื่น โดยจัดให้มีบัญชีเงินฝากของลูกจ้างแต่ละคนและให้แจ้งชื่อธนาคารพาณิชย์หรือสถาบันการเงินอื่น ชื่อบัญชี และเลขที่บัญชีให้ลูกจ้างทราบเป็นหนังสือภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่รับเงินประกัน ดังนั้น เพื่อใช้ลูกจ้างได้รับเงินประกันคืนภายในเจ็ดวันพร้อมดอกเบี้ย นายจ้างจึงต้องนำเงินประกันฝากไว้กับธนาคารพาณิชย์หรือสถาบันการเงินอื่นโดยจัดให้มีบัญชีเงินฝากของลูกจ้างแต่ละคน และคืนเงินประกันในบัญชีเงินฝากนั้นพร้อมดอกเบี้ย ถ้ามี แก่ลูกจ้างต่อไปโดยนายจ้างจะเก็บรักษาเงินประกันวิธีอื่นหรือนำไปจัดหาผลประโยชน์อื่นใดนอกจากนี้มิได้ เมื่อโจทก์ไม่ได้แยกบัญชีเงินฝากของลูกจ้างแต่ละคนไว้และนำดอกเบี้ยของลูกจ้างแต่ละคนโอนมารวมกันไว้ที่กองทุนสวัสดิการพนักงานทั้งการจ่ายเงินปันผลแก่ลูกจ้างทุกสิ้นปีก็เป็นการปันผลคืนสู่ลูกจ้างในรูปแบบของสินค้ามิใช่ดอกเบี้ย จึงเป็นการปฏิบัติไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 10 วรรคสอง และวิธีการตามประกาศกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการเรียกหรือรับเงินประกันการทำงาน หรือเงินประกันความเสียหายในการทำงานจากลูกจ้าง ข้อ 7
อุทธรณ์ของโจทก์เป็นการกล่าวอ้างว่าศาลแรงงานกลางมีคำสั่งไม่ให้สืบพยานโจทก์ในประเด็นที่จำเลยกับพวกกระทำละเมิดสิทธิของโจทก์โดยการข่มขู่และขัดขวางการปฏิบัติงานของพนักงานโจทก์ ระหว่างพิจารณาก่อนที่ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดี เมื่อไม่ปรากฏว่าศาลแรงงานกลางได้มีคำสั่งดังกล่าวในสำนวน อุทธรณ์ของโจทก์จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงต้องห้ามตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯ มาตรา 54 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6157/2546

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเรียกเก็บเงินประกันการทำงาน: ผู้จัดการอาคารชุดมีหน้าที่ควบคุมเงิน ถือเป็นงานที่นายจ้างเก็บเงินประกันได้
อุทธรณ์ของโจทก์ที่อ้างว่างานที่โจทก์ทำไม่เข้าลักษณะงานตามประกาศกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการเรียกหรือรับเงินประกันการทำงานหรือเงินประกันความเสียหายในการทำงานจากลูกจ้าง ซึ่งออกตามมาตรา 6 และมาตรา 10 แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 จำเลยที่ 1 ต้องคืนเงินประกัน การทำงานที่เก็บไปให้แก่โจทก์นั้น แม้มิใช่ข้อที่ว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลแรงงานกลาง แต่เป็นการอุทธรณ์เกี่ยวกับหลักเกณฑ์ที่นายจ้างจะเรียกหรือรับเงินประกันการทำงานหรือเงินประกันความเสียหายจากการทำงานตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 อันเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน โจทก์มีสิทธิยกขึ้นอุทธรณ์ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคสอง ประกอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31
โจทก์มิใช่พนักงานการเงิน แต่โจทก์เป็นผู้จัดการอาคารชุด มีสิทธิรับเงินจากลูกค้าและออกใบเสร็จรับเงิน ในนามตนเอง ควบคุมกำกับดูแลการจัดเก็บเงินและค่าใช้จ่ายต่างๆ ควบคุมการนำส่งทางการเงินและบัญชี ควบคุมพนักงานการเงินให้จัดเก็บเงินให้ถูกต้องตามความเป็นจริง และมีอำนาจตรวจสอบความถูกต้องทางการเงินด้วย โจทก์จึงเป็นผู้มีหน้าที่ควบคุมเงินของนายจ้างอันเป็นงานตามประกาศกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการเรียกหรือรับเงินประกันการทำงานหรือเงินประกันความเสียหายในการทำงานจากลูกจ้าง ลงวันที่ 19 สิงหาคม 2541 ข้อ 4 (6) นายจ้างเรียกเก็บเงินประกันการทำงานจากโจทก์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3034/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเรียกเก็บเงินประกันการทำงานชอบด้วยกฎหมาย หากเข้าหลักเกณฑ์ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน และประกาศกระทรวงแรงงาน
อ. เป็นผู้จัดการสถานีมีหน้าที่รับผิดชอบควบคุมทรัพย์สินภายในร้านสะดวกซื้อของโจทก์ จึงเข้าลักษณะงานที่โจทก์จะเรียกเงินประกันความเสียหายในการทำงานได้อ. ได้รับค่าจ้างเฉลี่ยรายวันวันละ 233.33 บาท ขณะที่โจทก์ได้รับเงินประกัน ซึ่งโจทก์สามารถเรียกได้ไม่เกิน 60 เท่าของอัตราค่าจ้างรายวันโดยเฉลี่ยที่ลูกจ้างได้รับอยู่ในวันที่นายจ้างรับเงินประกันคิดเป็นเงิน 13,999.80 บาท การที่โจทก์หักค่าจ้างของ อ. ไว้เป็นเงินประกัน 9,415 บาท และโจทก์ได้นำเงินไปฝากไว้กับบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์อันเป็นสถาบันการเงินในนาม อ. จึงเป็นการปฏิบัติที่ชอบด้วยบทบัญญัติ มาตรา 10 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 แล้ว แม้โจทก์ไม่ได้แจ้งชื่อสถาบันการเงิน ชื่อบัญชี และเลขที่บัญชีให้ อ. ทราบ ซึ่งเป็นการไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และวิธีการตามประกาศกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม ก็ไม่มีผลกระทบต่อการเรียกเก็บเงินประกันที่โจทก์เรียกเก็บโดยชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8029/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อตกลงการคืนเงินประกันการทำงานขัดต่อกฎหมายคุ้มครองแรงงานเมื่อลูกจ้างลาออกและไม่ก่อให้เกิดความเสียหาย
พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 10 วรรคสอง หมายความว่า เมื่อนายจ้างเลิกจ้างหรือลูกจ้างลาออกหรือสัญญาประกันสิ้นอายุ และลูกจ้างไม่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่นายจ้าง นายจ้างจะต้องคืนเงินประกันทั้งหมด แก่ลูกจ้าง ข้อตกลงในสัญญาจ้างในข้อที่โจทก์(ลูกจ้าง) ไม่ขอรับเงินประกันทั้งหมดคืนขัดต่อมาตรา 10 วรรคสอง อันเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ย่อมตกเป็นโมฆะ เมื่อการผิดสัญญาของโจทก์(ลูกจ้าง) ไม่ก่อให้เกิดความเสียหายใด ๆ แก่จำเลย(นายจ้าง) จำเลย(นายจ้าง)จะต้องคืนเงินประกันการทำงานทั้งหมดแก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5331/2550 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การคืนเงินประกันการทำงาน: กฎหมายแรงงานคุ้มครองลูกจ้าง แม้มีข้อตกลงอื่น
จำเลยหักเงินประกันการทำงานของโจทก์ไว้ 20,000 บาท โดยจำเลยมีประกาศเรื่องระเบียบการค้ำประกันพนักงาน กำหนดการคืนเงินประกันการทำงานแก่พนักงานที่ลาออกภายใน 4 เดือน หลังจากวันทำงานสุดท้าย และประกาศ เรื่องระเบียบการค้ำประกันพนักงาน กำหนดการคืนเงินประกันการทำงานแก่พนักงานที่ลาออกภายใน 6 เดือน หลังจากวันทำงานสุดท้าย ซึ่งจำเลยอ้างสิทธิตามประกาศดังกล่าว จึงยังไม่คืนเงินประกันการทำงานแก่โจทก์ แต่เมื่อประกาศดังกล่าวขัดต่อ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 10 วรรคสอง ที่กำหนดให้นายจ้างคืนเงินประกันการทำงานแก่ลูกจ้างภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ลูกจ้างลาออก อันเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน จำเลยจึงต้องคืนเงินประกันการทำงานให้แก่โจทก์ภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่โจทก์ลาออก
เมื่อโจทก์ฟ้องคดีก่อนพ้นกำหนดเจ็ดวันนับแต่วันที่โจทก์ลาออก ยังถือไม่ได้ว่าเป็นกรณีที่จำเลยจงใจไม่จ่ายเงินดังกล่าวแก่โจทก์ หรือไม่จ่ายเงินดังกล่าวโดยปราศจากเหตุผลอันสมควร จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดเสียเงินเพิ่มให้แก่โจทก์ร้อยละสิบห้าของเงินที่ค้างจ่ายทุกระยะเวลาเจ็ดวันตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 9 วรรคสอง