คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
เงื่อนเวลา

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 36 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3682/2543

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาเช่า - การบอกเลิกสัญญา - เงื่อนเวลา - การก่อสร้างอาคาร - การเช่าช่วง - สิทธิและหน้าที่ของคู่สัญญา
สัญญาเช่าที่ดินกำหนดอัตราค่าเช่าเดือนละ 9,000 บาท แต่คำพิพากษาศาลชั้นต้นกำหนดค่าเสียหายที่โจทก์ไม่ได้ใช้ที่ดินที่ให้จำเลยเช่าเดือนละ 20,000 บาท จำเลยมิได้อุทธรณ์โต้แย้งคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่าโจทก์ไม่ได้เสียหายในการไม่ได้ใช้ที่ดินถึงเดือนละ 20,000 บาท ตามที่ศาลชั้นต้นกำหนด กลับอุทธรณ์โต้แย้งว่าศาลชั้นต้นจะนำข้อเท็จจริงที่จำเลยนำที่ดินไปให้บุคคลอื่นเช่าช่วงในอัตราค่าเช่าเดือนละ 150,000 บาท มาเป็นเกณฑ์ในการคิดคำนวณค่าเสียหายให้แก่โจทก์ไม่ได้ จะต้องกำหนดค่าเสียหายตามอัตราค่าเช่าที่กำหนดในสัญญาเช่า โดยจำเลยมิได้อุทธรณ์โต้แย้งว่าโจทก์ไม่อาจนำที่ดินให้ผู้อื่นเช่าในอัตราค่าเช่าเดือนละ 20,000 บาท ได้ จึงมีเหตุผลเชื่อได้ว่าขณะฟ้องคดีนี้ที่ดินที่จำเลยเช่าอาจให้เช่าได้เกินเดือนละ 10,000 บาท โจทก์จึงไม่ต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 248 วรรคสอง ศาลฎีกาไม่จำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวน
จำเลยทำสัญญาเช่าที่ดินจากโจทก์เพื่อก่อสร้างสำนักงานและโรงงาน โดยมีข้อตกลงว่าเมื่อครบกำหนดตามสัญญาเช่ายอมให้สิ่งปลูกสร้างตกเป็นของโจทก์ โดยมิได้กำหนดระยะเวลาก่อสร้างไว้
หลังจากทำสัญญาเช่าแล้ว จำเลยไม่ยอมก่อสร้างอาคารลงในที่ดินที่เช่า โจทก์ได้บอกกล่าวให้จำเลยทำการก่อสร้างหลายครั้ง จำเลยก็เพิกเฉย โจทก์จึงบอกเลิกสัญญาเช่า กรณีดังกล่าวนิติกรรมส่วนที่โจทก์จะได้รับประโชน์ตอบแทนตามสัญญานั้นเป็นนิติกรรมที่มีเงื่อนเวลาเริ่มต้นกำหนดไว้ คือ กรรมสิทธิ์ในสิ่งปลูกสร้างจะตกเป็นของโจทก์ต่อเมื่อครบกำหนดสัญญาเช่าแล้ว โจทก์จึงไม่อาจทวงถามให้จำเลยปฏิบัติตามนิติกรรมนั้นก่อนถึงเวลาที่กำหนด ตามนัยแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 191 วรรคหนึ่ง ได้ และการที่โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างในที่ดินก่อนที่จะครบกำหนดเวลาเช่านั้น แม้จำเลยจะไม่ปฏิบัติตาม โจทก์ก็ไม่อาจอาศัยบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 387 มาบอกเลิกสัญญาเช่าแก่จำเลยได้ เพราะโจทก์มิได้ปฏิบัติผิดสัญญาเนื่องจากตามสัญญามิได้กำหนดระยะเวลาไว้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5760/2540

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาเงินกู้: การผิดนัดชำระหนี้รายเดือนไม่ตัดสิทธิผู้ให้กู้ในการเรียกร้องหนี้ทั้งหมดก่อนกำหนด
ตามสัญญากู้เงินฉบับพิพาทมีข้อตกลงว่า จำเลยทั้งสองจะต้องชำระหนี้เป็นรายเดือนทุก ๆ เดือน ภายในวันที่ 5 ของเดือนแต่ถึงอย่างไรก็ดีจำเลยทั้งสองจะต้องชำระหนี้ให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 19 พฤษภาคม 2541 และในตอนท้ายของสัญญายังระบุว่าไม่เป็นการตัดสิทธิของผู้ให้กู้ที่จะเรียกร้องให้ผู้กู้ชำระหนี้ตามสัญญาทั้งหมดหรือแต่บางส่วนก่อนกำหนดที่กล่าวมาก็ได้ตามแต่ผู้ให้กู้จะเห็นสมควร โดยมิพักต้องชี้แจงแสดงเหตุ กับมีข้อตกลงต่อท้ายสัญญาอีกว่า ถ้าผู้กู้ผิดไม่ชำระต้นเงินหรือดอกเบี้ยตามข้อตกลงแห่งสัญญากู้เงินฉบับพิพาทให้ถือว่าผู้กู้ผิดนัดทั้งหมดยินยอมให้คิดดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ 13.5 ต่อปี หรือเท่ากับอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมที่ธนาคารพาณิชย์ จะสามารถเรียกเก็บจากผู้กู้ได้ตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้นตามการแก่กรณี ทั้งนี้จนกว่าผู้กู้จะชำระหนี้คืนให้แก่ธนาคารผู้ให้กู้เสร็จสิ้นเชิง ดังนั้น เมื่อจำเลยทั้งสองผิดนัดไม่ชำระหนี้ให้โจทก์ตามที่ได้ตกลงไว้ในข้อตกลง ต่อท้ายสัญญากู้เงินจึงฟังได้ว่าจำเลยทั้งสองเป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์ ย่อมมีสิทธิฟ้องบังคับเอาแก่จำเลยทั้งสองได้ ส่วนการที่จำเลยทั้งสองชำระหนี้บางส่วนหลังจากที่ตกเป็นฝ่าย ผิดสัญญาแล้ว ก็เป็นสิทธิของโจทก์ที่จะรับชำระหนี้ได้ กรณีมิใช่การสละประโยชน์แห่งเงื่อนเวลาตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 192

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 448/2540 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การผิดสัญญาและการสละสิทธิเรียกร้อง การรับชำระหนี้ภายหลังไม่ได้เป็นการสละเงื่อนเวลา
การที่จำเลยไม่ชำระหนี้ให้ตรงตามเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญาถือว่าจำเลยผิดสัญญาโจทก์มีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้แต่ที่โจทก์ยอมรับชำระหนี้ภายหลังที่จำเลยผิดสัญญาแล้วจะถือว่าโจทก์ไม่ถือเอาเงื่อนเวลาในการชำระหนี้เป็นสาระสำคัญหรือสละเงื่อนเวลานั้นจำเลยไม่มีพยานมาสืบให้เห็นว่าเป็นอย่างที่จำเลยอ้างทั้งเมื่อพิจารณาข้อตกลงในสัญญาเงินกู้ข้อ17ที่กำหนดว่าการไม่ดำเนินการหรือความล่าช้าในการดำเนินการใช้สิทธิของผู้ให้กู้คือโจทก์มิได้แสดงว่าโจทก์สละสิทธิตามที่ระบุไว้ในสัญญาจึงถือไม่ได้ว่าโจทก์ไม่ถือเงื่อนเวลาในการชำระหนี้เป็นสาระสำคัญและสละเงื่อนเวลาอันจะถือว่าจำเลยไม่ผิดสัญญาเมื่อจำเลยผิดสัญญาโจทก์ย่อมมีสิทธิบอกเลิกสัญญาและเรียกเงินกู้คืนได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9400/2539

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การผ่อนผันเงื่อนเวลาในสัญญาประนีประนอมยอมความ และผลต่อการผิดสัญญา
แม้จำเลยทั้งสองจะมิได้ไปแถลงขอให้งดการบังคับคดีแก่โจทก์ไว้ภายใน 7 วัน ตามสัญญาประนีประนอมยอมความก็ตามแต่โจทก์ก็ได้มีหนังสือแจ้งให้จำเลยทั้งสองปฏิบัติตามสัญญาภายใน 7 วัน นับแต่วันที่จำเลยทั้งสองได้รับหนังสือถือได้ว่าโจทก์ได้สละประโยชน์แห่งเงื่อนเวลาซึ่งเป็นข้อสาระสำคัญตามสัญญาแล้ว เมื่อจำเลยที่ 1 ได้ไปแถลงขอ งดการบังคับคดีภายในกำหนดเวลาที่โจทก์ผ่อนผันให้ใหม่ จึงเป็นการปฏิบัติตามข้อผ่อนผันของโจทก์หรือถือว่าจำเลยทั้งสองได้ปฏิบัติตามข้อกำหนดตามสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวแล้วฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองผิดสัญญาประนีประนอมยอมความดังที่โจทก์อ้าง ทั้งไม่ปรากฏความเสียหายแก่โจทก์ในส่วนเกี่ยวกับการงดการบังคับคดี กรณีจึงไม่มีเหตุที่โจทก์จะเรียกร้องบังคับให้คืนเงินและบังคับคดีตามข้อสัญญาประนีประนอมยอมความกับจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 192 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5126-5127/2538 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การสละประโยชน์แห่งเงื่อนเวลา การคืนเงินประกัน การปฏิเสธโดยไม่ยกเงื่อนเวลา
ป.พ.พ. มาตรา 192 วรรคท้าย (ที่ตรวจชำระใหม่) ไม่ได้บัญญัติว่า การสละประโยชน์แห่งเงื่อนเวลาจะต้องทำโดยชัดแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษร ดังนั้น เมื่อมีพฤติการณ์ที่ถือได้ว่าจำเลยสละประโยชน์แห่งเงื่อนเวลาแล้วก็บังคับได้ตามนั้น
ระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยที่กำหนดว่าจำเลยจะคืนเงินประกันให้แก่ลูกจ้างหลังจากลูกจ้างพ้นสภาพจากการเป็นลูกจ้างของจำเลยภายในสามสิบวัน เป็นเงื่อนเวลาในการที่ลูกจ้างของจำเลยจะเรียกเงินประกันคืนซึ่งเป็นประโยชน์แก่จำเลย จำเลยมีสิทธิยกประโยชน์แห่งเงื่อนเวลานั้นขึ้นปฏิเสธที่จะคืนเงินประกันให้แก่โจทก์ลูกจ้างของจำเลยได้เมื่อโจทก์เรียกเงินประกันคืนก่อนกำหนดดังกล่าว แต่เมื่อโจทก์เรียกเงินประกันคืนก่อนกำหนด จำเลยก็หาได้ยกประโยชน์แห่งเงื่อนเวลาขึ้นปฏิเสธไม่ จำเลยกลับปฏิเสธว่าโจทก์ก่อความเสียหายให้แก่จำเลย พฤติการณ์เช่นนี้ถือได้ว่า จำเลยได้สละเสียซึ่งประโยชน์แห่งเงื่อนเวลานั้นแล้ว จำเลยจึงไม่อาจยกประโยชน์แห่งเงื่อนเวลาดังกล่าวขึ้นเป็นข้อต่อสู้โจทก์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5126-5127/2538

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การสละประโยชน์แห่งเงื่อนเวลาในสัญญาจ้าง กรณีเรียกคืนเงินประกันก่อนกำหนด
ระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานกำหนดว่าจำเลยจะคืนเงินประกันให้หลังจากลูกจ้างพ้นสภาพจากการเป็นลูกจ้างภายใน30วันเป็นเงื่อนเวลาซึ่งเป็นประโยชน์แก่จำเลยในการปฏิเสธที่จะคืนเงินประกันให้โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นลูกจ้างได้เมื่อโจทก์ทั้งสองเรียกเงินคืนก่อนกำหนดแต่จำเลยหาได้ยกประโยชน์แห่งเงื่อนเวลาขึ้นปฏิเสธไม่กลับปฏิเสธว่าโจทก์ทั้งสองก่อความเสียหายให้แก่จำเลยถือว่าจำเลยสละประโยชน์แห่งเงื่อนเวลานั้นแล้วตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา192วรรคท้ายและการสละประโยชน์แห่งเงื่อนเวลานี้ไม่จำต้องทำเป็นลายลักษณ์อักษรจำเลยจึงไม่อาจยกประโยชน์แห่งเงื่อนเวลามาเป็นข้อต่อสู้โจทก์ทั้งสองได้อีก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 141/2538

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาจะซื้อขายที่ดิน: เงื่อนเวลาไม่ใช่เงื่อนไขบังคับก่อน, สิทธิฟ้องบังคับตามสัญญา
ข้อสัญญาว่าจำเลยจะทำการหักโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่โจทก์เมื่อออกโฉนดแล้วภายใน180วันมิใช่ข้อตกลงอันบังคับไว้ให้นิติกรรมมีผลจึงมิใช่เงื่อนไขบังคับก่อนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา145(เดิม)เป็นแต่เพียงข้อตกลงที่กำหนดหน้าที่ของจำเลยจะต้องดำเนินการขอออกโฉนดที่ดินที่จะขายให้สำเร็จก่อนที่จะจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์แก่โจทก์เท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1064/2537

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาจะซื้อจะขาย: การยกเลิกสัญญาต้องทำกับคู่สัญญาโดยตรง การโต้แย้งสิทธิของโจทก์
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินให้โจทก์ จะจดทะเบียนโอนที่ดินให้แก่โจทก์ในวันที่ 4 กรกฎาคม 2531ต่อมาโจทก์ทราบว่าจำเลยจะขายที่ดินให้ผู้อื่นในราคาสูงกว่าโจทก์จึงแจ้งให้จำเลยไปทำการโอนที่ดินให้โจทก์ภายในวันที่ 10มิถุนายน 2531 แต่จำเลยหลบหน้าไม่ยอมโอนที่ดินให้โจทก์วันที่13 มิถุนายน 2531 โจทก์จึงฟ้องจำเลย ขอให้บังคับจำเลยรับเงินที่เหลือและโอนที่ดินให้โจทก์ จำเลยให้การว่า ได้มีการยกเลิกสัญญาจะซื้อจะขายกันแล้ว จำเลยไม่ได้เป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง แสดงว่าจำเลยไม่ถือเอาประโยชน์แห่งเงื่อนเวลาตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินนั้นแล้ว เงื่อนเวลาจึงไม่เป็นข้อที่จำเลยจะอ้างเป็นประโยชน์ได้อีกต่อไป โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญาจะซื้อจะขายได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1925/2536

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การสละประโยชน์จากเงื่อนเวลาในสัญญาเช่าซื้อและการผิดสัญญาของจำเลย
สัญญาเช่าซื้อระหว่างโจทก์จำเลยกำหนดชำระค่าเช่าซื้อเป็นรายเดือน แต่มิได้หมายความว่าโจทก์จะชำระค่าเช่าซื้อทั้งหมดในงวดต่อไปให้จำเลยไม่ได้ การที่โจทก์ขอชำระค่าเช่าซื้อทั้งหมดเป็นกรณีที่โจทก์ยอมสละประโยชน์จากเงื่อนเวลา ซึ่งไม่กระทบกระทั่งถึงประโยชน์ของจำเลย เพราะจำเลยได้รับค่าเช่าซื้อที่บวกดอกเบี้ยเข้าไปด้วยเต็มจำนวนก่อนกำหนดอันเป็นผลดีแก่จำเลย เมื่อจำเลยได้รับหนังสือขอชำระค่าเช่าซื้อทั้งหมดจากโจทก์แล้วจำเลยมิได้แจ้งสงวนสิทธิแต่กลับมีหนังสือบอกเลิกสัญญาไปยังโจทก์โดยโจทก์มิได้ผิดข้อตกลงในสัญญาถือได้ว่าจำเลยยินยอมให้โจทก์สละประโยชน์แห่งเงื่อนเวลาแล้ว และการที่จำเลยไม่รับค่าเช่าซื้อทั้งหมดจากโจทก์และไม่โอนที่ดินให้โจทก์ทั้งที่สามารถโอนได้จำเลยจะอ้างว่าไม่ครบกำหนดเวลาผ่อนชำระค่าเช่าซื้อไม่ได้ พฤติการณ์จำเลยดังกล่าวเป็นการผิดสัญญา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1765/2536 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ตั๋วสัญญาใช้เงิน-เงื่อนเวลา-การชำระหนี้-การยินยอมชำระหนี้ด้วยตั๋วอื่น-ผลผูกพัน
จำเลยฎีกาว่า จำเลยเป็นตัวแทนรับเงินจากโจทก์จำนวน5 ล้านบาทเพื่อให้บริษัทกู้ เนื่องจากโจทก์ไม่สามารถให้บริษัทดังกล่าวกู้โดยตรงได้เพราะอยู่ในเครือเดียวกับโจทก์ และกรรมการของโจทก์เป็นบุคคลคนเดียวกับกรรมการของบริษัทดังกล่าว เป็นการฝ่าฝืนต่อ พ.ร.บ.ประกันชีวิต พ.ศ.2510นั้น ในปัญหาข้อนี้จำเลยมิได้ให้การปฏิเสธไว้โดยชัดแจ้งว่าจำเลยเป็นตัวแทนโจทก์ในการให้กู้ยืมเงินดังกล่าว และในชั้นชี้สองสถาน ศาลชั้นต้นก็มิได้กำหนดเป็นประเด็นข้อพิพาทไว้ ดังนั้น ข้ออ้างตามฎีกาของจำเลยจึงมิใช่เป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ตั๋วสัญญาใช้เงินที่จำเลยออกให้โจทก์ถึงกำหนดใช้เงินเมื่อทวงถาม ซึ่งมีความหมายว่าทวงถามเมื่อใดก็ต้องใช้เงินทันที แต่โจทก์จำเลยได้ทำความตกลงกันเกี่ยวกับหนี้ของบริษัท ง.ที่มีต่อจำเลยจำนวน 5 ล้านบาทว่า หากจำเลยยังไม่ได้รับชำระหนี้จากบริษัทดังกล่าวจนครบถ้วน โจทก์ก็จะไม่ถอนเงินฝากตามตั๋วสัญญาใช้เงินที่จำเลยออกให้โจทก์ หรือจะไม่โอนตั๋วสัญญาใช้เงินหรือสิทธิเรียกร้องตามตั๋วสัญญาใช้เงินดังกล่าวให้แก่บุคคลใด อันเป็นเงื่อนเวลาที่กำหนดไว้เป็นประโยชน์แก่จำเลยตาม ป.พ.พ.มาตรา 154 เดิมดังนั้นเมื่อพิจารณาวันถึงกำหนดใช้เงินของตั๋วสัญญาใช้เงินประกอบข้อตกลงดังกล่าวข้างต้นแล้ว จึงพอเข้าใจได้ว่าโจทก์จะทวงถามให้จำเลยชำระเงินหรือถอนเงินฝากตามตั๋วสัญญาใช้เงินต่อเมื่อบริษัท ง.ได้ชำระหนี้ให้จำเลยจำนวน 5 ล้านบาทครบถ้วนแล้ว เมื่อปรากฏว่าต่อมาบริษัท ง.ถูกกระทรวงการคลังเพิกถอนใบอนุญาตและถูกฟ้องล้มละลาย ศาลชั้นต้นสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้ว ดังนั้นในทางแพ่งบริษัทดังกล่าวจึงไม่มีอำนาจจัดการทรัพย์สินของตนอีกต่อไป ซึ่งรวมทั้งไม่มีอำนาจชำระหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินแก่จำเลย และจำเลยได้นำตั๋วสัญญาใช้เงินของบริษัท ง.ไปยื่นขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายแล้ว แต่ไม่ปรากฏว่าจำเลยได้รับชำระหนี้จากบริษัทดังกล่าวครบถ้วนแล้วหรือไม่ แต่อย่างไรก็ดี ก่อนฟ้องคดีนี้โจทก์เคยมีหนังสือทวงถามให้จำเลยชำระหนี้เงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินพร้อมดอกเบี้ย จำเลยมีหนังสือตอบโจทก์ว่า บริษัท ง.ถูกถอนใบอนุญาตไม่สามารถใช้เงินแก่จำเลยได้ เพื่อให้การชำระหนี้เสร็จสิ้นไปด้วยดีจำเลยขอชำระหนี้โจทก์ด้วยตั๋วสัญญาใช้เงินของบริษัท ส. และหากโจทก์ประสงค์จะใช้เงิน จำเลยก็ยินดีรับซื้อตั๋วสัญญาใช้เงินดังกล่าวไว้ แสดงว่าจำเลยยินยอมชำระหนี้ให้โจทก์เป็นตั๋วสัญญาใช้เงินของบริษัท ส. โดยไม่ถือเอาประโยชน์แห่งเงื่อนเวลาตามข้อตกลงดังกล่าวข้างต้นอีกต่อไปแล้ว ดังนั้น จำเลยจึงต้องรับผิดใช้เงินให้โจทก์ตามวันถึงกำหนดใช้เงินในตั๋วสัญญาใช้เงิน คือ เมื่อโจทก์ทวงถาม
of 4