คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
เงื่อนไขพิเศษ

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 2 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1284/2539 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟ้องขับไล่และการห้ามฎีกาในข้อเท็จจริงเมื่อเกี่ยวข้องกับสิทธิครอบครัวและเงื่อนไขพิเศษในการอยู่อาศัย
คดีของผู้ร้องเป็นคดีเกี่ยวกับการบังคับวงศ์ญาติทั้งหลายและบริวารของจำเลยผู้ถูกฟ้องขับไล่ซึ่งอยู่บนอสังหาริมทรัพย์และคดีระหว่างโจทก์จำเลยเป็นคดีที่ฟ้องขับไล่บุคคลใด ๆ ออกจากอสังหาริมทรัพย์อันอาจให้เช่าได้ในขณะยื่นคำฟ้องไม่เกินเดือนละหนึ่งหมื่นบาท ซึ่งคู่ความในคดีฟ้องขับไล่นั้นต้องห้ามฎีกาข้อเท็จจริง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 248 วรรคสอง เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นไม่ว่าศาลจะฟังว่าบุคคลดังกล่าวสามารถแสดงอำนาจพิเศษให้ศาลเห็นได้หรือไม่ คดีเกี่ยวกับการบังคับวงศ์ญาติทั้งหลายและบริวารของจำเลยจึงห้ามมิให้ฎีกาในข้อเท็จจริง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 248 วรรคสาม
ฎีกาผู้ร้องที่ว่า แม้ผู้ร้องจะเข้ามาอยู่ในบ้านพิพาทในฐานะบุตรสะใภ้จำเลย แต่จากการนำสืบผู้ร้องได้หย่าขาดกับบุตรจำเลยและอาศัยในบ้านพิพาทในลักษณะแยกครอบครัวจากครอบครัวจำเลยไม่เกี่ยวข้องกันมาเป็นเวลา20 ปีแล้ว โดยผู้ร้องไม่ได้แยกทะเบียนบ้านใหม่ สำเนาทะเบียนบ้านไม่อาจนำมาวินิจฉัยว่าผู้ร้องเป็นบริวารจำเลยได้ เมื่อผู้ร้องได้รับสิทธิให้เข้าอยู่ในแฟลตก็เป็นการยืนยันว่าผู้ร้องมีครอบครัวแยกต่างหากมิได้อยู่โดยอาศัยสิทธิของจำเลย และฎีกาผู้ร้องต่อมาที่ว่าเมื่อโจทก์หรือทางราชการยังมิได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขของข้อตกลงโดยหาที่อยู่ชั่วคราวให้แก่ผู้ร้องก่อน ซึ่งเป็นการต่างตอบแทนตามข้อตกลงและผู้ร้องยังไม่ถูกตัดสิทธิและมีสิทธิได้รับการพิจารณาถึงสิทธิตามบัตรสิทธิ ผู้ร้องจึงมีอำนาจพิเศษที่จะอยู่อาศัยในบ้านพิพาทต่อไปได้ ล้วนเป็นฎีกาโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ เพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยปัญหาที่ว่าผู้ร้องสามารถแสดงอำนาจพิเศษให้ศาลเห็นได้นั่นเอง จึงเป็นฎีกาในข้อเท็จจริงซึ่งต้องห้ามฎีกาตามป.วิ.พ. มาตรา 248 วรรคสาม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1162/2533 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การโอนเช็คที่ระบุเงื่อนไขพิเศษ และผลของการไม่แจ้งการโอนต่อผู้สั่งจ่าย
เช็ค พิพาทจำเลยที่ 1 ที่ 2 ร่วมกันลงชื่อเป็นผู้สั่งจ่ายระบุชื่อ จำเลยที่ 3 เป็นผู้รับเงินโดย ขีดฆ่าคำว่า "หรือผู้ถือ"ออก และด้านหน้าบนซ้าย ของเช็ค มีตราประทับเป็นภาษาอังกฤษว่า"เอ/ซีเพอี้โอนลี่" แสดงว่าเปลี่ยนมือไม่ได้ จำเลยที่ 3 จะต้องนำเข้าบัญชีของตน จำเลยที่ 3 จะโอนเช็ค พิพาทให้โจทก์ได้ แต่ โดยรูปการและด้วย ผลอย่างการโอนหนี้สามัญ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 917วรรคสอง ประกอบด้วย มาตรา 989 และการโอนสิทธิเรียกร้องตามมาตรา 306 วรรคหนึ่ง การที่จำเลยที่ 3 ชำระหนี้ให้โจทก์ด้วยเช็ค พิพาทตาม สัญญาประนีประนอมยอมความในศาลโดย มิให้โอนกันอย่างการโอนสามัญ ดังนี้โจทก์จึงไม่ใช่ผู้ทรงเช็คพิพาทที่จะใช้สิทธิไล่เบี้ย จำเลยที่ 1 ที่ 2 ได้.