พบผลลัพธ์ทั้งหมด 4,077 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 920/2549
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
เจตนาการกระทำผิดฐานปล้นทรัพย์: การกระทำที่ไม่ได้มุ่งแสวงหาประโยชน์จากทรัพย์สิน
ก่อนเกิดเหตุ เวลาประมาณ 22 นาฬิกา จำเลยทั้งสามนั่งดื่มสุราอยู่ในร้านคาราโอเกะห่างจากโต๊ะผู้เสียหายที่นั่งดื่มสุราเช่นกันเพียงประมาณ 1 เมตร ระหว่างที่นั่งอยู่ในร้านคาราโอเกะจำเลยทั้งสามและผู้เสียหายต่างก็ร้องเพลงคาราโอเกะ ต่อมาเวลาประมาณ 1 นาฬิกาของวันรุ่งขึ้น ผู้เสียหายกลับบ้านก่อนจำเลยทั้งสามประมาณ 5 นาที จากนั้นจำเลยทั้งสามได้ไปหาผู้เสียหายที่บ้านและขอร้องให้ผู้เสียหายขับรถจักรยานยนต์ไปส่งอย่างเปิดเผย ไม่ได้ปิดบังหรืออำพรางตัว ผู้เสียหายตกลงโดยให้จำเลยทั้งสามนั่งรถจักรยานยนต์ไปด้วย เมื่อรถวิ่งไปได้ประมาณ 100 เมตร จำเลยทั้งสามจึงทำร้ายผู้เสียหายโดยการเตะและกระทืบ ก่อนที่จะทำร้ายผู้เสียหาย จำเลยทั้งสามไม่ได้เรียกร้องเอารถจักรยานยนต์หรือทรัพย์สินอื่นของผู้เสียหายก่อน หลังจากจำเลยทั้งสามทำร้ายผู้เสียหายแล้ว ได้ขับรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายออกไปจากที่เกิดเหตุเพียง 100 เมตร ก็จอดรถทิ้งไว้โดยจอดไว้ริมถนนข้างบ้าน ว. ผู้ใหญ่บ้านท้องที่ที่เกิดเหตุโดยเปิดเผยและเสียบกุญแจรถคาไว้ทั้งที่จำเลยทั้งสามสามารถนำรถจักรยานยนต์ไปได้โดยสะดวก เพราะไม่มีผู้ใดติดตามและเป็นยามวิกาล จากนั้นจำเลยทั้งสามพากันไปนอนที่บ้านของจำเลยที่ 1 มิได้หลบหนีและเมื่อทราบว่าเจ้าพนักงานตำรวจติดตามหาตัวจำเลยทั้งสาม จำเลยทั้งสามก็ยินยอมให้ ว. พาไปมอบตัวต่อพนักงานสอบสวนโดยดี และให้การต่อพนักงานสอบสวนว่า มีเจตนาเพียงทำร้ายผู้เสียหายเท่านั้น ไม่ประสงค์จะเอาทรัพย์สินของผู้เสียหาย การกระทำของจำเลยทั้งสามมิได้มุ่งประสงค์ต่อผลในการจะแสวงหาประโยชน์จากทรัพย์สินโดยแท้จริง การกระทำของจำเลยทั้งสามจึงขาดเจตนาทุจริตในการลักทรัพย์ ถือไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสามมีความผิดฐานลักทรัพย์ของผู้เสียหาย การที่จำเลยทั้งสามกระทำการดังกล่าวจึงไม่เป็นความผิดฐานปล้นทรัพย์ จำเลยทั้งสามคงมีความผิดฐานร่วมกันทำร้ายผู้เสียหายจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจของผู้เสียหายเท่านั้น
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8254/2549
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การกระทำอนาจารโดยไม่เข้าทางเพศ: ศาลพิจารณาจากพฤติการณ์และผลตรวจร่างกายเพื่อวินิจฉัยเจตนา
ขณะเกิดเหตุผู้เสียหายถูกปิดตาไม่สามารถมองเห็นการกระทำของจำเลย จำเลยกระทำต่อผู้เสียหายเหมือนกันทุกครั้ง โดยจับผู้เสียหายนอนหงายแล้วจำเลยนอนทับตัวผู้เสียหาย การที่จำเลยทับตัวผู้เสียหายก็ดี ใช้ขาจำเลยหนีบขาผู้เสียหายก็ดี ผู้เสียหายไม่รู้สึกเจ็บปวดที่อวัยวะเพศก็ดี ความรู้สึกเหล่านี้ผู้เสียหายย่อมรับรู้และเข้าใจได้ ส่วนความรู้สึกว่ามีสิ่งของเข้าไปในอวัยวะเพศและมีน้ำอุ่นๆเข้าไปภายในอวัยวะเพศนั้นผู้เสียหายไม่สามารถรับรู้และเข้าใจในความรู้สึกนั้น การที่ผู้เสียหายไม่รู้สึกเจ็บปวดที่อวัยวะเพศ มีน้ำอุ่นๆเปรอะบริเวณหน้าขา และเจ็บหน้าขาที่ถูกจำเลยหนีบ จำเลยอายุ 45 ปี ผู้เสียหายอายุ 10 ปีเศษ จำเลยรูปร่างสูงใหญ่และแข็งแรงกว่าผู้เสียหายมาก หากจำเลยมีเจตนากระทำชำเราผู้เสียหาย ผู้เสียหายย่อมไม่อาจต้านทานได้ และจำเลยย่อมไม่กระทำต่อผู้เสียหายในลักษณะท่าทีใช้ขาทั้งสองข้างหนีบขาผู้เสียหาย ผลการตรวจร่างกายผู้เสียหายไม่พบร่องรอยบาดแผลส่วนเยื่อพรหมจารีขาดไปนานแล้ว พยานหลักฐานโจทก์และโจทก์ร่วมดังกล่าวเชื่อได้ว่าอวัยวะเพศจำเลยไม่ได้ผ่านเข้าไปในอวัยวะเพศของผู้เสียหาย แสดงว่าจำเลยเจตนากระทำต่อผู้เสียหายแต่ภายนอก จึงมีความผิดฐานกระทำอนาจาร ซึ่งศาลลงโทษได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหก
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7676/2549
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
เจตนาหลบหนีไม่ใช่เจตนาฆ่า: ศาลฎีกายกฟ้องฐานพยายามฆ่าเจ้าพนักงาน แม้มีการเร่งรถเข้าใกล้
แม้โจทก์จะมีผู้เสียหายทั้งสองและจ่าสิบตำรวจ ส. เบิกความยืนยันว่า เมื่อผู้เสียหายที่ 2 เปิดสัญญากระบองไฟส่งสัญญาณให้จำเลยหยุดรถแต่จำเลยซึ่งชะลอความเร็วรถลงกลับเร่งความเร็วพุ่งเข้าชนผู้เสียหายทั้งสองก็ตาม แต่ขณะที่จำเลยเร่งความเร็วรถพุ่งเข้าชนผู้เสียหายทั้งสองนั้น รถจำเลยอยู่ห่างผู้เสียหายทั้งสองประมาณ 5 เมตร ซึ่งในระยะดังกล่าวถือได้ว่าเป็นระยะกระชั้นชิดและการเร่งความเร็วรถเพื่อพุ่งเข้าชนก็เป็นไปโดยกะทันหัน จึงไม่เชื่อว่าผู้เสียหายทั้งสองจะทันระมัดระวังและกระโดดหลบได้ทัน โดยเฉพาะผู้เสียหายที่ 1 ยิ่งไม่น่าจะกระโดดหลบหนีได้เลย เพราะขณะนั้นผู้เสียหายที่ 1 ยืนอยู่ติดกับรถยนต์กระบะที่เจ้าพนักงานตำรวจจอดอยู่ ไม่มีพื้นที่เหลือพอที่จะกระโดดหลบหนีไปได้และรถยนต์ของจำเลยย่อมจะพุ่งเข้าชนหรือเฉี่ยวชนรถยนต์กระบะด้วย ไม่น่าจะหักหลบรถยนต์กระบะไปได้ทั้งขณะเกิดเหตุจำเลยมีสิ่งของผิดกฎหมายซุกซ่อนอยู่ในรถ ตามพฤติการณ์และการกระทำดังกล่าวเชื่อว่าจำเลยเพียงแต่มีเจตนาที่จะหลบหนีให้พ้นการตรวจค้นและจับกุมของผู้เสียหายทั้งสองกับพวกเท่านั้นหาได้มีเจตนาฆ่าไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6703-6752/2549
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การหยุดกิจการชั่วคราวต้องมีเจตนาที่จะประกอบกิจการต่อไป หากมีแต่เจตนาให้เช่าเพื่อรับค่าเช่า ไม่ถือเป็นการหยุดกิจการชั่วคราวตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน
พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 75 วรรคหนึ่ง เป็นบทบัญญัติที่คุ้มครองนายจ้างในกรณีที่นายจ้างประสบปัญหามีความจำเป็นต้องหยุดกิจการทั้งหมดหรือบางส่วนเป็นการชั่วคราว แต่นายจ้างมีความประสงค์จะประกอบกิจการของตนต่อไป เพื่อเป็นการบรรเทาค่าใช้จ่ายของนายจ้าง จึงให้นายจ้างรับภาระจ่ายเงินเท่ากับค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างในระหว่างการหยุดงานเพียงครึ่งเดียว แทนที่จะต้องจ่ายให้แก่ลูกจ้างเต็มจำนวนในระหว่างที่หยุดกิจการนั้น แต่ในขณะเดียวกันก็ถือว่าเป็นบทบัญญัติที่คุ้มครองลูกจ้างด้วยเพราะหากไม่มีบทบัญญัติดังกล่าวนายจ้างอาจไม่สามารถรับภาระค่าใช้จ่ายในด้านแรงงานทั้งหมดได้ จำเป็นต้องเลิกจ้างลูกจ้าง ทำให้ลูกจ้างต้องตกงานขาดรายได้และได้รับความเดือดร้อน ความจำเป็นของนายจ้างที่จะยกขึ้นอ้างเพื่อให้ได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 75 วรรคหนึ่ง จะต้องเป็นความจำเป็นที่สำคัญอันจะมีผลกระทบต่อการประกอบกิจการของนายจ้างอย่างมาก ทำให้นายจ้างไม่สามารถประกอบกิจการตามปกติได้
การที่จำเลยผู้เป็นนายจ้างให้บริษัท ย. เช่าอาคารโรงงาน โรงอาหาร โกดังเก็บสินค้า และที่ดินรอบอาคารที่ตั้งบริษัทจำเลย รวมทั้งเครื่องจักรและอุปกรณ์ต่างๆ ทั้งหมดของจำเลย เพื่อให้บริษัทดังกล่าวใช้ผลิตเครื่องปรับอากาศและอุปกรณ์ทำความเย็นอันเป็นผลิตภัณฑ์ที่จำเลยเคยผลิตอยู่ก่อนแทนจำเลยนั้น จำเลยจึงไม่มีกิจการผลิตเครื่องปรับอากาษอันเป็นกิจการหลักที่จะดำเนินการต่อไป แม้จำเลยจะยังคงดำเนินกิจการต่อไปโดยเปลี่ยนไปเป็นประกอบกิจการโรงงานจำพวกที่ 2 นับตั้งแต่วันที่ 2 สิงหาคม 2543 หลังวันให้เช่าโรงงานไปเพียงวันเดียวก็ตาม แต่ก็เป็นการผลิตชิ้นส่วนเครื่องปรับอากาศส่งจำหน่ายให้บริษัท ย. แห่งเดียวเมื่อพิจารณาประกอบกับข้อเท็จจริงที่ปรากฏว่า หลังให้เช่าโรงงานจำเลยคงมีลูกจ้างเหลืออยู่จำนวน 95 คน ซึ่งเป็นลูกจ้างที่ยื่นข้อเรียกร้องต่อจำเลยไว้และยังตกลงกันไม่ได้ ประกอบกับอาคารโรงงานจำเลยผลิตชิ้นส่วนเครื่องปรับอากาศเป็นอาคารโรงงานก่อด้วยสังกะสีล้อมรอบอันมีลักษณะไม่ถาวร และในระหว่างวันที่ 27 ธันวาคม 2543 ถึงวันที่ 31 มกราคม 2544 จำเลยเคยประกาศให้ลูกจ้างทั้งหมดหยุดงานไปครั้งหนึ่งแล้วด้วยสาเหตุคำสั่งซื้อลดน้อยลง เมื่อลูกจ้างทั้งหมดรวมทั้งโจทก์ทั้งห้าสิบกลับเข้าทำงานในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2544 จำเลยก็ได้ประกาศให้ลูกจ้างทั้งหมดหยุดงานในระหว่างวันที่ 2 ถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2544 อีก อ้างเหตุผลว่าคำสั่งซื้อน้อยมาก จำเลยไม่มีงานให้ทำ ย่อมแสดงให้เห็นว่านับตั้งแต่จำเลยให้บริษัท ย.เช่าโรงงานทั้งหมดแล้วจำเลยคงประสงค์ที่จะได้รายได้หลักจากค่าเช่าเดือนละ 500,000 บาท เท่านั้น จำเลยหามีเจตนาที่จะประกอบกิจการอย่างแท้จริงอีกต่อไปไม่ การที่จำเลยประกาศให้โจทก์ทั้งห้าสิบหยุดงานระหว่างวันที่ 2 ถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2544 จึงมิใช่เป็นการหยุดกิจการทั้งหมดหรือบางส่วนเป็นการชั่วคราวตามความหมายของมาตรา 75 วรรคหนึ่ง
การที่จำเลยผู้เป็นนายจ้างให้บริษัท ย. เช่าอาคารโรงงาน โรงอาหาร โกดังเก็บสินค้า และที่ดินรอบอาคารที่ตั้งบริษัทจำเลย รวมทั้งเครื่องจักรและอุปกรณ์ต่างๆ ทั้งหมดของจำเลย เพื่อให้บริษัทดังกล่าวใช้ผลิตเครื่องปรับอากาศและอุปกรณ์ทำความเย็นอันเป็นผลิตภัณฑ์ที่จำเลยเคยผลิตอยู่ก่อนแทนจำเลยนั้น จำเลยจึงไม่มีกิจการผลิตเครื่องปรับอากาษอันเป็นกิจการหลักที่จะดำเนินการต่อไป แม้จำเลยจะยังคงดำเนินกิจการต่อไปโดยเปลี่ยนไปเป็นประกอบกิจการโรงงานจำพวกที่ 2 นับตั้งแต่วันที่ 2 สิงหาคม 2543 หลังวันให้เช่าโรงงานไปเพียงวันเดียวก็ตาม แต่ก็เป็นการผลิตชิ้นส่วนเครื่องปรับอากาศส่งจำหน่ายให้บริษัท ย. แห่งเดียวเมื่อพิจารณาประกอบกับข้อเท็จจริงที่ปรากฏว่า หลังให้เช่าโรงงานจำเลยคงมีลูกจ้างเหลืออยู่จำนวน 95 คน ซึ่งเป็นลูกจ้างที่ยื่นข้อเรียกร้องต่อจำเลยไว้และยังตกลงกันไม่ได้ ประกอบกับอาคารโรงงานจำเลยผลิตชิ้นส่วนเครื่องปรับอากาศเป็นอาคารโรงงานก่อด้วยสังกะสีล้อมรอบอันมีลักษณะไม่ถาวร และในระหว่างวันที่ 27 ธันวาคม 2543 ถึงวันที่ 31 มกราคม 2544 จำเลยเคยประกาศให้ลูกจ้างทั้งหมดหยุดงานไปครั้งหนึ่งแล้วด้วยสาเหตุคำสั่งซื้อลดน้อยลง เมื่อลูกจ้างทั้งหมดรวมทั้งโจทก์ทั้งห้าสิบกลับเข้าทำงานในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2544 จำเลยก็ได้ประกาศให้ลูกจ้างทั้งหมดหยุดงานในระหว่างวันที่ 2 ถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2544 อีก อ้างเหตุผลว่าคำสั่งซื้อน้อยมาก จำเลยไม่มีงานให้ทำ ย่อมแสดงให้เห็นว่านับตั้งแต่จำเลยให้บริษัท ย.เช่าโรงงานทั้งหมดแล้วจำเลยคงประสงค์ที่จะได้รายได้หลักจากค่าเช่าเดือนละ 500,000 บาท เท่านั้น จำเลยหามีเจตนาที่จะประกอบกิจการอย่างแท้จริงอีกต่อไปไม่ การที่จำเลยประกาศให้โจทก์ทั้งห้าสิบหยุดงานระหว่างวันที่ 2 ถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2544 จึงมิใช่เป็นการหยุดกิจการทั้งหมดหรือบางส่วนเป็นการชั่วคราวตามความหมายของมาตรา 75 วรรคหนึ่ง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6027/2549
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การชำระหนี้ค้ำประกัน: โจทก์ไม่รับชำระหนี้ต้องมีเจตนาและจำเลยต้องแสดงความพร้อมชำระหนี้
ก่อนจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันถูกฟ้องจำเลยเคยพา ว. พี่เขยสามีจำเลยที่ 2 ไปพบ ค. พนักงานสาขาพุนพินของธนาคารโจทก์เพื่อนำเงิน 5,000,000 บาท ไปชำระหนี้ไถ่ถอนจำนองส่วนของจำเลยที่ 2 แต่ ค. ไม่รับชำระหนี้ เพียงแต่ไปพูดคุยกับทางธนาคารเท่านั้น พฤติการณ์ของจำเลยที่ 2 แสดงให้เห็นว่าตนมิได้อยู่ในฐานะที่จะสามารถชำระหนี้นั้นได้ และยังมิได้ขอปฎิบัติการชำระหนี้ต่อโจทก์ จึงไม่อาจอ้างได้ว่าโจทก์ไม่รับชำระหนี้นั้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 207
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 586/2549 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ความผิดพยายามครอบครองยาเสพติด จำเลยต้องมีเจตนาและโอกาสที่จะครอบครองยาเสพติดได้จริง
แม้จำเลยมีพฤติการณ์ลักลอบจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนตลอดมาและจำเลยเป็นผู้สั่งซื้อเมทแอมเฟตามีนจาก ย. แต่การที่จำเลยกำหนดให้ ย. นำเมทแอมเฟตามีนไปส่งมอบวันใดก็ได้ภายในหนึ่งสัปดาห์โดยให้นำไปซุกซ่อนไว้ที่ริมถนนและทำเครื่องหมายเป็นที่สังเกตไว้ จากนั้นให้ไปรับเงินที่จำเลย จึงมีหลายขั้นตอนกว่า ย. จะส่งมอบเมทแอมเฟตามีให้ไปอยู่ในเงื้อมมือของจำเลย
การที่ ย. ถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมก่อนถึงสถานที่ที่กำหนดให้ซุกซ่อนและยังไม่มีการแจ้งให้จำเลยทราบเพื่อให้จำเลยสามารถเข้าครอบครองเมทแอมเฟตามีนตามขั้นตอนที่ตกลงกันแต่อย่างใด จึงไกลเกินเหตุที่จำเลยจะสามารถครอบครองเมทแอมเฟตามีนของกลางได้บรรลุผลสำเร็จ จำเลยไม่มีความผิดฐานพยายามมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย
การที่ ย. ถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมก่อนถึงสถานที่ที่กำหนดให้ซุกซ่อนและยังไม่มีการแจ้งให้จำเลยทราบเพื่อให้จำเลยสามารถเข้าครอบครองเมทแอมเฟตามีนตามขั้นตอนที่ตกลงกันแต่อย่างใด จึงไกลเกินเหตุที่จำเลยจะสามารถครอบครองเมทแอมเฟตามีนของกลางได้บรรลุผลสำเร็จ จำเลยไม่มีความผิดฐานพยายามมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 579/2549 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การฉ้อโกงประชาชนหลายราย: การพิจารณาความผิดกรรมเดียวหรือหลายกรรม ขึ้นอยู่กับเจตนาและลักษณะการกระทำ
การกระทำความผิดฐานหลอกลวงหรือฉ้อโกงผู้เสียหายทั้งสิบและประชาชน โดยสภาพเป็นการกระทำต่อบุคคลหลายคนซึ่งอาจกระทำต่อบุคคลเหล่านั้นต่างวาระกันได้ การกระทำที่จะเป็นความผิดกรรมเดียวหรือหลายกรรมสำหรับความผิดฐานนี้ ย่อมขึ้นอยู่กับลักษณะของการกระทำที่มีเจตนามุ่งกระทำเพื่อให้เกิดผลต่อผู้เสียหายหรือประชาชนเพียงครั้งเดียวหรือหลายครั้งมิได้พิจารณาจากจำนวนของผู้เสียหายหรือประชาชนที่ถูกหลอกลวงแต่ละคนเพียงอย่างเดียวเป็นเครื่องชี้เจตนาของผู้กระทำ เมื่อไม่ได้ความชัดเจนว่าจำเลยทั้งสองหลอกลวงผู้เสียหายคนละวัน เวลา และในสถานที่แตกต่างกันเพียงพอที่แสดงให้เห็นเจตนาที่ประสงค์จะให้เกิดผลแยกออกจากกัน การที่จำเลยทั้งสองหลอกลวงผู้เสียหายทั้งสิบคนและประชาชน จึงไม่อาจชี้ได้ว่าเป็นการกระทำความผิด 10 กระทง แต่การที่จำเลยทั้งสองได้หลอกลวงกู้ยืมเงินผู้เสียหายที่ 1 ที่ 4 ที่ 6 และที่ 7 กลุ่มหนึ่ง จากนั้นได้แบ่งแยกหน้าที่กันทำในลักษณะเดียวกัน โดยจำเลยที่ 1 หลอกลวงกู้ยืมเงินผู้เสียหายที่ 2 ที่ 5 และ ม. กลุ่มหนึ่งและจำเลยที่ 2 หลอกลวงกู้ยืมเงินผู้เสียหายที่ 3 ที่ 8 ที่ 9 ที่ 10 ห. ช. และ ฟ. อีกกลุ่มหนึ่ง เห็นได้ว่าจำเลยทั้งสองได้กระทำการหลอกลวงผู้เสียหายและประชาชนต่างกลุ่ม ต่างเวลา และสถานที่กันโดยเจตนาให้เกิดผลต่อผู้เสียหายและประชาชนแต่ละกลุ่มแยกต่างหากจากกัน อันนับว่าเป็นการกระทำต่างกรรมต่างวาระกันการกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นความผิดรวม 3 กระทง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 579/2549
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การแบ่งกระทงความผิดฐานฉ้อโกง: พิจารณาเจตนาและลักษณะการกระทำเป็นสำคัญ
การกระทำความผิดฐานหลอกลวงหรือฉ้อโกงผู้เสียหายทั้งสิบและประชาชน โดยสภาพแห่งการกระทำเป็นการกระทำต่อบุคคลหลายคนซึ่งอาจกระทำต่อบุคคลเหล่านั้นต่างวาระกันได้ แต่ที่จะเป็นความผิดกรรมเดียวหรือหลายกรรมสำหรับความผิดฐานนี้ย่อมขึ้นอยู่กับลักษณะของการกระทำที่มีเจตนามุ่งกระทำเพื่อให้เกิดผลต่อผู้เสียหายหรือประชาชนเพียงครั้งเดียวหรือหลายครั้ง มิได้พิจารณาจากจำนวนของผู้เสียหายหรือประชาชนที่ถูกหลอกลวงแต่ละคนเพียงอย่างเดียว เมื่อข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองหลอกลวงกู้ยืมเงินผู้เสียหายทั้งสิบเป็นคนละวันเวลาและในสถานที่ต่างกัน จะถือว่าจำเลยทั้งสองกระทำความผิด 10 กระทง หาได้ไม่ แต่การที่จำเลยทั้งสองหลอกลวงกู้ยืมเงินผู้เสียหายที่ 1 ที่ 4 ที่ 6 และที่ 7 กลุ่มหนึ่ง จากนั้นได้แบ่งแยกหน้าที่กันทำในลักษณะเดียวกันโดยจำเลยที่ 1 หลอกลวงกู้ยืมเงินผู้เสียหายที่ 2 ที่ 5 และนาง ม. กลุ่มหนึ่ง และจำเลยที่ 2 หลอกลวงกู้ยืมเงินผู้เสียหายที่ 3 ที่ 8 ที่ 9 ที่ 10 นาย ล. นางสาว ช. และนาย ช. อีกกลุ่มหนึ่ง เห็นได้ชัดว่าจำเลยทั้งสองได้กระทำการหลอกลวงผู้เสียหายและประชาชนต่างกลุ่มต่างเวลาและสถานที่กันโดยเจตนาให้เกิดผลต่อผู้เสียหายและประชาชนแต่ละกลุ่มแยกต่างหากจากกัน การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นความผิดหลายกรรม รวม 3 กระทง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5776/2549
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
กรรมเดียวหรือหลายกรรม: การทำร้ายร่างกายและฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาเดียวกัน
จำเลยทั้งสองได้ชกต่อยผู้เสียหายและผู้ตาย และจำเลยที่ 2 ได้ใช้ไม้ตีผู้เสียหายและผู้ตาย จนผู้เสียหายได้รับบาดเจ็บเป็นอันตรายแก่กายและผู้ตายถึงแก่ความตาย การกระทำของจำเลยทั้งสองต่างเป็นการกระทำต่อผู้เสียหายและผู้ตาย โดยจำเลยทั้งสองต่างมีเจตนาชกต่อยและจำเลยที่ 2 ใช้ไม้ตีผู้เสียหายและผู้ตายในเวลาเดียวกันโดยมิได้แบ่งแยกว่าใครเป็นใคร ลักษณะของการกระทำมีเจตนาในการกระทำความผิดเป็นเจตนาเดียว การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงต่างเป็นการกระทำกรรมเดียว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5288/2549
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การส่งมอบยาเสพติดระหว่างผู้กระทำผิดร่วมกันไม่ถือเป็นการจำหน่าย แต่มีเจตนาครอบครองเพื่อจำหน่ายเป็นความผิด
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ตามฟ้องจึงเป็นเรื่องที่จำเลยทั้งสองเป็นตัวการร่วมกระทำความผิด แต่เมื่อปรากฏว่าจำเลยที่ 2 นำเมทแอมเฟตามีนไปส่งมอบให้จำเลยที่ 1 จึงเป็นการส่งมอบเมทแอมเฟตามีนระหว่างผู้กระทำความผิดด้วยกันเองซึ่งไม่ถือว่าเป็นการจำหน่าย ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ ฯ มาตรา 4 เพราะการจำหน่ายหมายถึงการจำหน่ายให้แก่บุคคลภายนอกที่มิใช่ผู้กระทำความผิดด้วยกัน แต่พฤติการณ์แห่งการกระทำของจำเลยที่ 2 ประกอบกับจำนวนเมทแอมเฟตามีนถึง 1,818 เม็ด เป็นข้อบ่งชี้ว่าจำเลยที่ 2 มีเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ดังนั้น จำเลยที่ 2 จึงมีความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าจำเลยที่ 2 มีความผิดฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน แต่ให้ยกฟ้องในความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายจึงเป็นการไม่ชอบ แม้คดีในส่วนของจำเลยที่ 2 จะไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา แต่ศาลฎีกาเห็นว่าเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยเพื่อแก้ไขให้ถูกต้องได้