คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
เจตนายินยอม

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 2 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2204/2522

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเพิกถอนการโอนทรัพย์สินในคดีล้มละลาย: การโอนโดยไม่มีค่าตอบแทนและเจตนายินยอม
ผู้คัดค้านที่ 1 เป็นภริยาของลูกหนี้ (จำเลยในคดีล้มละลาย) มีบุตรด้วยกัน 3 คนคือ ผู้คัดค้านที่ 2,3,4 ซึ่งเป็นผู้เยาว์ ผู้คัดค้านที่ 1 นำที่ดินที่ตนซื้อมาระหว่างสมรสไปจำนองเอาเงินมาสร้างตึกแถวบนที่ดินต่อมานำเงินอันเป็นสินส่วนตัวไปไถ่จำนอง แล้วจดทะเบียนยกที่ดินและสิ่งปลูกสร้างนั้นให้ผู้คัดค้านที่ 2,3,4 โดยลูกหนี้รู้เห็นยินยอม และเป็นการโอนในระหว่าง 3 ปี ก่อนมีการขอให้ลูกหนี้ล้มละลายดังนี้หนี้จำนองนั้นเป็นหนี้ที่เกี่ยวข้องกับสินบริคณห์ถือได้ว่าเป็นหนี้ร่วมของผู้คัดค้านที่ 1 กับลูกหนี้การที่ผู้คัดค้านที่ 1 ใช้เงินสินส่วนตัวชำระหนี้นั้น เป็นคนละส่วนกับการโอนที่ดินให้แก่ผู้คัดค้านที่ 2,3,4 เงินไถ่จำนองไม่ใช่ค่าตอบแทนในการโอนที่ดิน การโอนที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้แก่ผู้คัดค้านที่ 2,3,4 เป็นการโอนโดยไม่มีค่าตอบแทนและเป็นกรณีที่ลูกหนี้ยอมให้ผู้คัดค้านที่ 1 กระทำการโอนที่ดินในส่วนของตนอันจำต้องเพิกถอนศาลย่อมสั่งให้เพิกถอนสัญญาให้ที่ดินเฉพาะส่วนของลูกหนี้มิฉะนั้นก็ให้ผู้คัดค้านที่ 1 ใช้ราคา
ปัญหาว่านิติกรรมยกให้เป็นนิติกรรมอำพราง มิใช่เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน เมื่อมิได้ยกขึ้นว่ากันมาในศาลชั้นต้นศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7068/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การสละมรดกโดยการแสดงเจตนายินยอมให้ผู้รับมรดกโอนทรัพย์ การแสดงเจตนาถือเป็นการประนีประนอมยอมความ
ป.พ.พ. มาตรา 1613 บัญญัติว่า การสละมรดกนั้นจะทำแต่เพียงบางส่วนหรือทำโดยมีเงื่อนไขหรือเงื่อนเวลาไม่ได้ สัญญาประนีประนอมแบ่งมรดกระหว่างโจทก์กับจำเลยระบุว่า จำเลยตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกบ้าน 4 หลังซึ่งปลูกอยู่บนที่ดินที่เช่าจากวัดกับเงินอีก 10,000 บาท ให้โจทก์ โจทก์ยอมรับส่วนแบ่งดังกล่าว ไม่ติดใจเรียกร้องทรัพย์สินอย่างหนึ่งอย่างใดจากจำเลยอีก เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า นอกจากบ้าน 4 หลังดังกล่าวแล้ว ยังมีบ้านอีก 7 หลังซึ่งปลูกอยู่บนที่ดินที่เช่าจากวัดกับที่ดินพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์มรดกอีกส่วนหนึ่ง แต่สัญญาดังกล่าวไม่ได้กล่าวถึง หากเป็นการสละมรดกก็เป็นการสละเพียงบางส่วน จึงถือไม่ได้ว่าสัญญาประนีประนอมแบ่งมรดกดังกล่าวเป็นการสละมรดก และโจทก์มิได้สละสิทธิในที่ดินพิพาท อย่างไรก็ดีข้อเท็จจริงได้ความว่า หลังจากจำเลยไปยื่นคำขอรับโอนทรัพย์มรดกบ้าน 7 หลังแล้วได้ยื่นคำขอจดทะเบียนรับโอนทรัพย์มรดกที่ดินพิพาท โดยโจทก์แสดงเจตนาให้ความยินยอมแก่จำเลยในการรับโอนทรัพย์มรดกที่ดินพิพาทดังกล่าวต่อเจ้าพนักงานที่ดิน พฤติการณ์ดังกล่าวเท่ากับเป็นการตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความในการสละมรดกถูกต้องตาม ป.พ.พ. มาตรา 1612 ตอนท้าย และมาตรา 850 โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องขอแบ่งที่ดินพิพาท