คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
เจ็บป่วยฉุกเฉิน

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 4 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6884/2542 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิประโยชน์ทดแทนประกันสังคมกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน: ข้อจำกัดอัตราค่าบริการทางการแพทย์ตามประกาศ สปส.
ลูกจ้างที่จำต้องได้รับการบริการทางการแพทย์อย่างฉุกเฉินซึ่งเข้ารับการบริการทางการแพทย์ประเภทผู้ป่วยใน ณ สถานพยาบาลอื่น ตามประกาศสำนักงานประกันสังคมเรื่อง กำหนดจำนวนเงินทดแทนค่าบริการทางการแพทย์ ข้อ 4 แม้ลูกจ้างดังกล่าวจะเข้ารับการรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลถึง 21 วัน และจำเป็นต้องอยู่ในห้อง ไอ.ซี.ยู.11 วันก็ตาม ลูกจ้างนั้นก็มีสิทธิได้รับค่าบริการทางการแพทย์ตามข้อ 4.1 คือจ่ายเป็นค่าบริการทางการแพทย์ เฉพาะค่าใช้จ่ายที่ได้จ่ายไปจริงตามความจำเป็นภายในระยะเวลา 72ชั่วโมง นับแต่เวลาที่เข้ารับการรักษาครั้งแรกโดยไม่รวมระยะเวลาในวันหยุดราชการภายใต้เงื่อนไขของข้อ 4.1.2 เท่านั้น และลูกจ้างนั้นไม่มีสิทธิที่จะได้รับค่าบริการทางการแพทย์จากสำนักงานประกันสังคมเกินกว่าอัตราที่กำหนดไว้ในประกาศดังกล่าว
สำนักงานประกันสังคมไม่สั่งจ่ายเงินค่าห้องและค่าอาหารตามข้อ 4.1.2(4)ให้แก่ลูกจ้างเนื่องจากเห็นว่าในช่วงระยะเวลาที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับค่าบริการทางการแพทย์ ลูกจ้างเข้ารับการรักษาอยู่ในห้อง ไอ.ซี.ยู ไม่ต้องเสียค่าห้องหรือค่าอาหาร สำนักงานประกันสังคมสั่งจ่ายเฉพาะค่าบริการทางการแพทย์แก่ลูกจ้างตามข้อ 4.1 จึงเป็นการถูกต้องแล้ว และมิใช่เป็นกรณีที่ขัดต่อพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533มาตรา 63
การที่คณะกรรมการอุทธรณ์พิจารณาสั่งจ่ายค่าบริการทางการแพทย์ให้แก่ลูกจ้างเพิ่มเติมจากคำสั่งของสำนักงานประกันสังคม เป็นการจ่ายเพิ่มให้ตามรายการ 20 รายการจากที่โจทก์ขอมา 21 รายการ โดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 มาตรา 87 และประกาศสำนักงานประกันสังคม เรื่อง กำหนดจำนวนเงินทดแทนค่าบริการทางการแพทย์ อันเป็นคุณแก่โจทก์แล้ว จึงไม่มีเหตุที่ศาลจะเพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4373/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิประโยชน์ทดแทนประกันสังคมกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน การพิจารณาความจำเป็นทางการแพทย์เมื่อโรงพยาบาลตามสิทธิไม่สามารถให้บริการได้
อาการป่วยของโจทก์ไม่ได้เกิดขึ้นโดยปัจจุบันทันด่วน เพราะมีการเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล ว. อันเป็นโรงพยาบาลตามสิทธิมาระยะหนึ่งแล้ว แต่อาการของโจทก์ไม่ดีขึ้นมีแต่จะทรุดลงจนเมื่อแพทย์ตรวจวินิจฉัยได้ข้อสรุปว่าน่าจะเป็นโรคนิ่วในถุงน้ำดี จำเป็นต้องทำการเอ็กซเรย์ด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า เครื่องเอ็กซเรย์ของโรงพยาบาลตามสิทธิก็ชำรุด แพทย์ผู้ทำการรักษาต้องสั่งให้นำตัวโจทก์ไปเอ็กซเรย์ที่ศูนย์ประชาชื่นโดยกำหนดนัดไว้แล้ว ก็ไม่อาจดำเนินการได้เพราะติดขัดที่ขั้นตอนอนุมัติของผู้อำนวยการโรงพยาบาลตามสิทธิ และไม่มีการนัดไปทำการเอ็กซเรย์ที่ศูนย์ประชาชื่นอีก ในขณะที่โจทก์ยังคงมีอาการเจ็บปวดมากขึ้นไม่มีความหวังว่าจะได้รับการรักษาต่อไปอย่างไร เสี่ยงต่อความตายหรือไม่ จนไม่อาจรอรับการรักษาจากโรงพยาบาลตามสิทธิอีกต่อไป โดยแพทย์ผู้ทำการรักษาโจทก์ที่โรงพยาบาล ธ. ก็ให้ความเห็นว่า อาการป่วยของโจทก์มีความจำเป็นต้องรักษารีบด่วน หากมิได้รับการรักษาพยาบาลทันทีทันใดอาจเป็นอันตรายต่อชีวิตได้ ดังนี้ ถือได้แล้วว่าเป็นกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน จำเป็นต้องได้รับการรักษาพยาบาลเป็นการด่วน และมีความจำเป็นเกี่ยวกับเครื่องมือที่ใช้ในการรักษาของโรงพยาบาลตามสิทธิชำรุด โจทก์มีเหตุผลสมควรที่ไม่สามารถรับบริการทางการแพทย์จากโรงพยาบาลตามสิทธิได้ โจทก์มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีเจ็บป่วย ตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 59

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13922/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ประกันสังคม: กรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน โรงพยาบาลเอกชน สิทธิประโยชน์ทดแทนดอกเบี้ย
โจทก์เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลตามสิทธิด้วยอาการเหนื่อยหายใจติดขัด ลิ้นหัวใจไมตรัลรั่วขั้นปานกลางถึงขั้นรุนแรง โรงพยาบาลตามสิทธิจึงส่งตัวโจทก์มารักษาที่สถาบันโรคทรวงอกซึ่งเป็นโรงพยาบาลตามสิทธิระดับบน แพทย์ของสถาบันโรคทรวงอกตรวจอาการโจทก์ครั้งแรกพบว่าโจทก์มีอาการโรคหัวใจ ลิ้นหัวใจไมตรัลรั่ว ลิ้นหัวใจขาด แนะนำให้ทำการผ่าตัด หากมิได้รับการผ่าตัดภายใน 1 ปี นับแต่วันที่เข้ารักษาครั้งแรกที่สถาบันโรคทรวงอก โจทก์จะมีโอกาสเสียชีวิตได้ ระหว่างรอคิวนัดหมายผ่าตัด แพทย์รักษาโดยให้รับประทานยา โจทก์เข้ามาพบแพทย์เพื่อตรวจรักษาตามนัดอีก 2 ครั้ง แต่ละครั้งทิ้งช่วงห่างกันระหว่าง 2 ถึง 3 เดือนเศษ โจทก์ก็ยังคงมีอาการลิ้นหัวใจไมตรัลรั่วขั้นรุนแรง ก่อนถึงกำหนดนัดหมายครั้งที่สี่ซึ่งห่างออกไปประมาณ 4 เดือน ปรากฏว่าโจทก์มาพบแพทย์ก่อนกำหนดเนื่องจากมีอาการเหนื่อยมากขึ้น ซึ่งแพทย์ตรวจพบว่าโจทก์มีอาการแย่ลงโดยมีอาการเส้นยึดลิ้นหัวใจขาดร่วมกับอาการลิ้นหัวใจไมตรัลรั่วค่อนข้างรุนแรง แต่การตรวจรักษาเป็นการตรวจภายนอกโดยฟังปอดและหัวใจแล้วเพิ่มยาขับปัสสาวะให้โจทก์ไปรับประทาน ดังนี้ตลอดเวลาประมาณ 7 เดือน ที่โจทก์เข้ารักษาที่สถาบันโรคทรวงอกอาการและภาวะโรคของโจทก์มีแนวโน้มที่จะมีความรุนแรงเพิ่มขึ้นตามลำดับ แต่โจทก์ยังคงได้รับการรักษาด้วยการให้รับประทานยาระหว่างที่รอนัดหมายผ่าตัด ซึ่งสถาบันโรคทรวงอกยังคงไม่อาจจัดคิวนัดหมายผ่าตัดให้แก่โจทก์ได้ เนื่องจากมีคนไข้รอคิวผ่าตัดจำนวนมาก ต่อมาโจทก์มีอาการเหนื่อยมากและหายใจไม่ออก ญาติของโจทก์ได้นำโจทก์ส่งโรงพยาบาลกรุงเทพด้วยเกรงว่า หากโจทก์ต้องเข้ารับการรักษาที่สถาบันโรคทรวงอกต่อก็คงได้รับการรักษาโดยการให้รับประทานยาเพิ่มเท่านั้น เมื่อปรากฏว่าภายในกำหนด 1 ปี นับแต่วันที่โจทก์เข้ารับการรักษาที่สถาบันโรคทรวงอก โจทก์ก็ยังไม่ได้คิวนัดหมายผ่าตัดที่สถาบันโรคทรวงอก การที่แพทย์โรงพยาบาลกรุงเทพตรวจอัลตราซาวด์และวินิจฉัยแจ้งให้โจทก์ทราบว่า โจทก์มีอาการลิ้นหัวใจรั่วอย่างรุนแรงและเริ่มมีภาวะหัวใจล้มเหลว จึงมีความจำเป็นต้องผ่าตัดเป็นกรณีเร่งด่วนมิฉะนั้นอาจมีอันตรายถึงแก่ชีวิต กรณีย่อมเป็นธรรมดาที่โจทก์ซึ่งเป็นผู้ป่วยและญาติของโจทก์ในภาวะเช่นนั้นจะต้องเชื่อว่าอาการของโจทก์มีลักษณะรุนแรงอันอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต และต้องทำตามคำแนะนำของแพทย์เพื่อรักษาชีวิตของโจทก์โดยเร็ว จึงถือว่าเป็นอาการของโรคซึ่งเกิดขึ้นโดยเฉียบพลันที่จำต้องได้รับการผ่าตัดเป็นการด่วน ส่วนกระบวนการที่แพทย์ทำการผ่าตัดให้แก่โจทก์ สืบเนื่องจากขณะนั้นโจทก์ซึ่งมีอายุเกิน 40 ปี มีอาการลิ้นหัวใจรั่ว จึงมีความจำเป็นต้องตรวจดูภาวะเส้นเลือดหัวใจตีบโดยทำอัลตราซาวด์และฉีดสีที่หัวใจ และต้องรักษาฟันให้แก่โจทก์ก่อนก็เพื่อป้องกันมิให้เชื้อโรคในช่องปากแพร่กระจายลงไปที่หัวใจ ซึ่งต้องใช้เวลาดำเนินการก่อนการผ่าตัด 1 วัน อันเป็นการตรวจสอบตามขั้นตอนการเตรียมความพร้อมเพื่อความปลอดภัยในการผ่าตัด ซึ่งย่อมอยู่ในระยะเวลาที่ต่อเนื่องกับความฉุกเฉินที่จะต้องผ่าตัดทันทีและย่อมมีความต่อเนื่องตลอดมา จึงเป็นการยากที่จะให้โจทก์ซึ่งเจ็บป่วยหนักและได้รับคำแนะนำจากแพทย์ให้ต้องผ่าตัดเป็นกรณีเร่งด่วนจะมีความคิดที่จะเปลี่ยนไปเข้ารับบริการทางการแพทย์ที่สถาบันโรคทรวงอกได้ การที่โจทก์เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลกรุงเทพถือว่าเป็นกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินและมีเหตุผลสมควรที่ไม่สามารถไปรับบริการทางการแพทย์จากสถาบันโรคทรวงอกได้ ตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 59 โจทก์มีสิทธิได้รับเงินทดแทนค่าบริการทางการแพทย์จากจำเลยเฉพาะค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงตามความจำเป็นภายในระยะเวลาไม่เกิน 72 ชั่วโมง นับแต่เวลาที่โจทก์เข้ารับบริการทางการแพทย์ครั้งแรกที่โรงพยาบาลกรุงเทพ ตามประกาศสำนักงานประกันสังคม เรื่อง กำหนดจำนวนเงินทดแทนค่าบริการทางการแพทย์ (ฉบับที่ 2) ลงวันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ.2541 ซึ่งเป็นประกาศที่ใช้อยู่ในขณะนั้นข้อ 4.1

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15968/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิการขอรับเงินทดแทนค่ารักษาพยาบาลนอกสถานพยาบาลตามสิทธิ กรณีไม่เข้าข่ายเจ็บป่วยฉุกเฉิน
สำนักงานประกันสังคม (จำเลย) ยึดถือปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 ด้วยการประกาศท้องที่และรายชื่อสถานพยาบาลประจำปีในราชกิจจานุเบกษาและดำเนินการให้ผู้ประกันตนใช้สิทธิพิจารณาเลือกสถานพยาบาลที่มีมาตรฐานทางการแพทย์เพื่อเข้ารับบริการทางการแพทย์ไว้ได้หนึ่งแห่งจากรายชื่อนั้น หากผู้ประกันตนต้องการเปลี่ยนสถานพยาบาลในภายหลังก็ทำได้ กำหนดอัตราขั้นสูงของค่าบริการทางการแพทย์ ประเภทยาและเวชภัณฑ์ที่ใช้รักษาโรค โดยระบบจัดเก็บเงินอยู่ในรูปไตรภาคีที่ผู้ประกันตน นายจ้าง รัฐบาลร่วมกันจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม อันเป็นการมุ่งประสงค์เพื่อประโยชน์ของผู้ประกันตนควบคู่ไปกับประสิทธิผลของการบริหารจัดการกองทุนประกันสังคม ในกรณีที่ผู้ประกันตนประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยฉุกเฉินและมีความจำเป็นทำให้ไม่สามารถไปรับบริการทางการแพทย์จากสถานพยาบาลที่สำนักงานประกันสังคมกำหนดให้ (ตามที่ผู้ประกันตนเลือก) สำนักงานประกันสังคมต้องจ่ายเงินเป็นค่าบริการทางการแพทย์ให้แก่ผู้ประกันตนหรือสถานพยาบาลที่ให้บริการทางการแพทย์ตามประกาศคณะกรรมการการแพทย์ ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม เรื่อง หลักเกณฑ์และจำนวนเงินทดแทนค่าบริการทางการแพทย์กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยฉุกเฉิน ลงวันที่ 11 เมษายน 2548 ข้อ 3 ประกาศคณะกรรมการการแพทย์ไม่ถึงขนาดเป็นการจำกัดเสรีภาพของผู้ประกันตนในการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ที่ได้มาตรฐาน คณะกรรมการการแพทย์ออกประกาศโดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 15 (2), 59, 63 ประกาศคณะกรรมการการแพทย์ฉบับนี้จึงไม่ขัดต่อ พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 และไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน มีผลใช้บังคับได้
การที่โจทก์เข้ารับการตรวจรักษาจากสถานพยาบาลตามสิทธิในวันที่ 2 มกราคม 2551 แต่ยังคงมีอาการเจ็บปวด ต่อมาในวันที่ 3 มกราคม 2551 โจทก์ได้โทรศัพท์ขอนัดทำการผ่าตัดที่โรงพยาบาล อ. ซึ่งไม่ใช่โรงพยาบาลตามสิทธิและไปถึงโรงพยาบาลเวลา 7.31 นาฬิกา ได้รับการผ่าตัดเวลา 19.15 นาฬิกา แพทย์ที่ทำการผ่าตัดให้ยอมรับว่าแม้โจทก์ไม่ได้รับการผ่าตัดริดสีดวงทวารในวันและเวลาดังกล่าวก็ไม่มีผลอันอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตและการที่โจทก์ไปให้แพทย์โรงพยาบาล อ. ผ่าตัดเย็บแผลผ่าตัดริดสีดวงทวารเดิมที่ปริออกทำให้เลือดซึมออกมาเพราะแผลไม่แห้งสนิทอันเป็นผลจากการเข้ารับการผ่าตัดครั้งแรก แพทย์ไม่ได้ผ่าตัดเย็บแผลเดิมใหม่ให้ทันที แต่กลับรอดูอาการถึงกว่า 1 วัน ก่อนแล้วจึงผ่าตัดเย็บแผลให้ใหม่อีกครั้ง แสดงว่าไม่ใช่กรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน และโจทก์ไม่ได้แจ้งให้สถานพยาบาลตามสิทธิทราบหรือเดินทางไปเข้ารับการรักษาที่สถานพยาบาลตามสิทธิเพราะมีความต้องการให้โรงพยาบาล อ. ทำการรักษาให้ต่อไป โจทก์จึงไม่มีสิทธิขอรับเงินทดแทนค่าบริการทางการแพทย์จากจำเลย