พบผลลัพธ์ทั้งหมด 4 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 800/2542
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ความคล้ายคลึงของเครื่องหมายการค้า และความสับสนในความเป็นเจ้าของสินค้า
เครื่องหมายการค้า "S.K.P." ตามคำร้องขอจดทะเบียนของโจทก์และเครื่องหมายการค้า "SKF" ของผู้คัดค้าน แม้จะมีอักษรตัวสุดท้ายคือ อักษร P กับอักษร F ต่างกันและเครื่องหมายการค้าของโจทก์จะมีเครื่องหมายมหัพ ภาพคั่นกลางตัวอักษรแต่ละตัว อีกทั้งลักษณะการเขียนตัวอักษรของ เครื่องหมายการค้าทั้งสองดังกล่าวจะแตกต่างกันไปบ้างแต่เมื่อพิจารณาโดยรวมแล้ว การที่เครื่องหมายการค้าของโจทก์และเครื่องหมายการค้าของผู้คัดค้านต่างใช้ตัวอักษร 2 ตัวแรกจากตัวอักษรทั้งหมด 3 ตัว เป็นอักษรตัวเดียวกันทำให้เครื่องหมายการค้าของโจทก์และเครื่องหมายการค้า ของจำเลยดูคล้ายคลึงกัน นอกจากนี้คำเรียกขานเครื่องหมายการค้าของโจทก์ซึ่งออกเสียงว่า "เอสเคพี" ก็ใกล้เคียงกับคำเรียกขาน เครื่องหมายการค้าของผู้คัดค้านที่ออกเสียงว่า "เอสเคเอฟ" จนอาจทำให้เกิดความสับสนในการเรียกขานสินค้าได้ แม้การออกเสียงเรียกขานตัวอักษรตัวสุดท้ายในเครื่องหมายการค้าแต่ละตัวจะออกเสียงแตกต่างกันไปบ้างก็ไม่ใช่ส่วนสำคัญที่ทำให้คำเรียกขานของเครื่องหมายการค้าทั้งสองแตกต่างกันชัดเจน เมื่อพิจารณาประกอบกับข้อที่ว่าเครื่องหมายการค้าที่โจทก์ขอจดทะเบียนจะใช้สำหรับสินค้าจำพวกเดียวกันกับสินค้าที่ผู้คัดค้านได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้า ไว้แล้วทั้งจำพวก จึงถือได้ว่า เครื่องหมายการค้า ตามคำร้องขอจดทะเบียนของโจทก์มีลักษณะคล้ายกันกับ เครื่องหมายการค้าของผู้คัดค้านที่ได้จดทะเบียนไว้แล้ว ในสินค้าจำพวกเดียวกันจนอาจทำให้สาธารณชนสับสน หรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิด ของสินค้าได้ คำวินิจฉัยของจำเลยทั้งสิบที่ให้ระงับการ จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์จึงชอบแล้ว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1922/2541
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ความรับผิดของผู้รับฝากทรัพย์ต่อความเสียหายจากเพลิงไหม้ และข้อจำกัดความรับผิดที่ไม่ผูกพันเจ้าของสินค้า
จำเลยรับฝากสินค้าที่พิพาทโดยมีบำเหน็จ แม้จำเลยได้ดำเนินการจัดเก็บสินค้าเต็มความสามารถโดยจัดเก็บสินค้าอันตรายตามระบบซึ่งสำนักที่ปรึกษาทางทะเลระหว่างประเทศเป็นผู้กำหนดใช้ในกลุ่มประเทศที่เป็นสมาชิกทั่วโลก นอกจากนี้จำเลยยังได้วางข้อกำหนดในเรื่องความปลอดภัยกวดขันการสูบบุหรี่ จัดให้มียามรักษาความปลอดภัยตลอด24 ชั่วโมง จัดให้มีเครื่องดับเพลิงอัตโนมัติประจำทุกอาคารซึ่งเป็นไปตามหลักสากลก็ตาม แต่จำเลยมิได้นำสืบว่าในการจัดเก็บสินค้ารายพิพาทนี้ได้จัดเก็บตามระบบอย่างไรได้แยกสินค้าให้ถูกต้องตรงตามระบบการจัดเก็บหรือไม่และได้ตรวจสอบสิ่งที่จะก่อให้เกิดปฏิกิริยาของสารเคมีโดยปลอดภัยแล้วหรือไม่ กลับปรากฏว่าในวันเกิดเหตุ ได้มีการเปิดคลังสินค้าอันตรายเพื่อทำงาน แม้ขณะเกิดเพลิงไหม้จะมีแต่เฉพาะพนักงานของจำเลยอยู่ปฏิบัติหน้าที่เมื่อจำเลยมิได้นำสืบเลยว่า จำเลยได้ป้องกันมิให้เกิดอันตรายแก่สินค้า อันตรายด้วยการควบคุมดูแลคลังสินค้าอันตรายในขณะที่มีพนักงานปฏิบัติหน้าที่อยู่นั้นดีแล้วหรือการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานนั้นไม่อาจก่อให้เกิดเพลิงไหม้ได้ไม่ว่าในกรณีใด กรณีจึงไม่อาจรับฟังได้ว่า เหตุเพลิงไหม้นั้นเกิดจากเหตุสุดวิสัย มิใช่ความประมาทของจำเลยเมื่อจำเลยรับฝากสินค้าอันตรายไว้ในทางธุรกิจของจำเลยจำเลยย่อมมีหน้าที่ต้องใช้ความระมัดระวังในทางธุรกิจของตนที่จะป้องกันมิให้เกิดอันตรายหรือเพลิงไหม้ขึ้นได้ จำเลยจึงต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้น ข้อจำกัดความรับผิดของจำเลยว่าด้วยระเบียบความปลอดภัยการใช้ท่าเรือ บริการและความสะดวกต่าง ๆ ของกิจการท่าเรือที่จำกัดความรับผิดไม่เกิน 5,000 บาท ได้ออกโดย อาศัยอำนาจตามความในพระราชบัญญัติการท่าเรือแห่งประเทศไทยพ.ศ. 2494 มาตรา 29(1) และมาตรา 9(4) ที่ให้คณะกรรมการวางข้อบังคับระเบียบความปลอดภัยการใช้ท่าเรือและความสะดวกต่าง ๆ ของกิจการท่าเรือเท่านั้น กฎหมายหาได้ให้อำนาจออกข้อบังคับจำกัดความรับผิดค่าเสียหายที่จำเลยต้องรับผิดทั้งข้อจำกัดความรับผิดดังกล่าว จำเลยเป็นผู้กำหนดขึ้น ฝ่ายเดียวโดยไม่ปรากฏว่าเจ้าของสินค้าได้แสดงความตกลงด้วยชัดแจ้งในข้อจำกัดความรับผิดนั้น จำเลยจึงไม่อาจยกข้อจำกัดความรับผิดในข้อบังคับดังกล่าวนั้นขึ้นปฏิเสธความรับผิดได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3714/2534
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ความรับผิดของตัวแทนทางศุลกากร: ตัวแทนมีสถานะเป็นเจ้าของสินค้าและต้องรับผิดชอบค่าภาษีอากร
จำเลยมิได้อุทธรณ์การประเมินสำหรับภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ภายในกำหนดระยะเวลาตามกฎหมาย ถือว่าการประเมินสำหรับภาษีดังกล่าวยุติแล้ว จำเลยจึงหมดสิทธิที่จะรื้อฟื้นการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินขึ้นโต้แย้งในศาลอีกต่อไป และประเด็นข้อนี้เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลหยิบยกขึ้นวินิจฉัยเองได้แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นอ้าง จำเลยที่ 3 เป็นผู้ลงชื่อในช่องผู้นำของเข้าในใบขนสินค้าขาเข้าในฐานะผู้รับมอบอำนาจจากจำเลยที่ 1 และเป็นผู้ลงชื่อในบันทึกการตรวจยึดสินค้า อีกทั้งยังเป็นผู้รับสินค้าไปจากการตรวจปล่อยของโจทก์ที่ 1 ด้วย แสดงว่าจำเลยที่ 3 ได้รับมอบอำนาจจากจำเลยที่ 1เจ้าของสินค้าให้เป็นตัวแทนเพื่อปฏิบัติพิธีการทางศุลกากรในการนำสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักร และจำเลยที่ 3 ก็ได้รับอนุมัติจากพนักงานเจ้าหน้าที่ของกรมศุลกากรให้เป็นผู้รับมอบอำนาจจากจำเลยที่ 1เพื่อดำเนินการนำเข้าเกี่ยวกับสินค้ารายนี้แล้ว กรณีจึงต้องด้วยบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 106 ซึ่งให้ถือว่าจำเลยที่ 3 เป็นเจ้าของสินค้าที่นำเข้าในครั้งนี้ด้วยจำเลยที่ 3 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในหนี้ค่าภาษีอากรสำหรับสินค้าที่นำเข้า เมื่อพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 106 บัญญัติให้ตัวแทนเป็นเจ้าของสินค้าด้วย ก็ต้องถือว่ามีความประสงค์ให้ตัวแทนมีความรับผิดเช่นเดียวกับเจ้าของสินค้าอันแท้จริงและตามมาตรา 10 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวบัญญัติว่า ถ้าค่าภาษีที่ได้เสียไว้ไม่ครบถ้วนตามจำนวนที่ต้องเสียจริง กรมศุลกากรมีสิทธิเรียกเก็บส่วนที่ขาดจนครบ ดังนั้น แม้เจ้าพนักงานของกรมศุลกากรโจทก์ที่ 1 จะได้ตรวจปล่อยสินค้าไปแล้ว หากปรากฏว่าค่าภาษีอากรที่เสียไว้ไม่ครบถ้วน โจทก์ที่ 1 ย่อมมีสิทธิเรียกร้องให้เจ้าของสินค้าหรือตัวแทนร่วมกันรับผิดชำระส่วนที่ขาดจนครบถ้วนได้ความรับผิดของตัวแทนที่ถือว่าเป็นเจ้าของสินค้าหาได้สิ้นสุดลงเมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจปล่อยสินค้าไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8575/2551
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
กรรมสิทธิ์สินค้ายังไม่โอน การหลอกลวงเอาสินค้าไปเป็นความเสียหายต่อเจ้าของสินค้าเดิม
ห้างหุ้นส่วนจำกัด ป. ประกอบอาชีพรับจ้างขนส่งสินค้า ได้รับมอบสินค้าจากห้างหุ้นส่วนจำกัด ฮ. เพื่อนำไปส่งให้แก่ร้าน ห. ลูกค้า ห้างหุ้นส่วนจำกัด ป. จึงเป็นตัวแทนของห้างหุ้นส่วนจำกัด ฮ. และได้ความจาก ม. พนักงานของห้างหุ้นส่วน ฮ. พยานโจทก์ว่า ร้าน ห. ได้สั่งซื้อสินค้าทางโทรศัพท์ และเมื่อลูกค้าได้รับสินค้าแล้วจึงจะชำระเงิน แสดงว่าการส่งมอบสินค้าดังกล่าวจะเป็นไปตามที่ลูกค้าต้องการหรือไม่ยังไม่แน่นอน เพราะต้องให้ลูกค้าตรวจสอบก่อน หากใช่ตามที่ต้องการตกลงซื้อขายกันแล้วจึงจะชำระเงิน เมื่อสินค้าดังกล่าวยังไม่มีการชำระราคา และยังไม่ได้ส่งมอบให้แก่ร้าน ห. กรรมสิทธิ์ในสินค้าดังกล่าวจึงยังเป็นของห้างหุ้นส่วนจำกัด ฮ. การที่มีผู้โทรศัพท์มาหลอกลวง ส. ซึ่งเป็นพนักงานของห้างหุ้นส่วนจำกัด ป. และมารับสินค้าไป ห้างหุ้นส่วนจำกัด ฮ. ซึ่งเป็นตัวการและเป็นเจ้าของสินค้าย่อมได้รับความเสียหาย ห้างหุ้นส่วนจำกัด ฮ. จึงเป็นผู้เสียหายตามกฎหมาย มีสิทธิร้องทุกข์ขอให้ดำเนินคดีแก่ผู้หลอกลวงในความผิดฐานฉ้อโกงได้