คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
เจ้าหนี้เสียหาย

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 4 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 721/2536 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเพิกถอนการขายทอดตลาดหุ้นเนื่องจากราคาขายต่ำกว่าราคาตลาดอย่างมาก ทำให้เจ้าหนี้เสียหาย
แม้ว่าการขายทอดตลาดหุ้นของบริษัท อ. มีผู้เข้าประมูลสู้ราคากันหลายรายรวมทั้งตัวแทนโจทก์ก็เข้าประมูล สู้ราคาด้วย ซึ่งแสดงว่าการดำเนินการขายทอดตลาดของ เจ้าพนักงานบังคับคดีเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย ไม่ส่อพฤติการณ์ ทุจริตก็ตาม แต่เมื่อปรากฏว่าบริษัท อ. จดทะเบียนเปลี่ยนแปลงมูลค่าหุ้นจากหุ้นละ 100 บาท เป็นหุ้นละ 10 บาท หุ้นของจำเลย 1,000 หุ้น จึงแตกออกเป็น 10,000 หุ้น และมี ราคาที่ซื้อขายกันในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในวันที่ ขายทอดตลาดเป็นจำนวนทั้งสิ้น 985,000 บาท ซึ่งสูงกว่าราคา ที่เจ้าพนักงานบังคับคดีขายให้แก่ผู้คัดค้านในราคา 152,000 บาทอย่างมาก เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดียอมรับว่าหากในขณะที่ประมูลซื้อขายกันตนทราบว่าหุ้นทั้งหมดมีราคาประมาณ 900,000 บาท ก็จะไม่อนุมัติให้ขาย กรณีจึงถือได้ว่าเจ้าพนักงานบังคับคดี ขายหุ้นพิพาทไปโดยหลงผิด ทำให้จำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ตาม คำพิพากษาเสียหาย ต้องด้วยหลักเกณฑ์ตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 วรรคสอง ที่โจทก์จะร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2275/2529 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ กรรมการผู้จัดการโอนทรัพย์สินบริษัทที่เป็นหนี้เจ้าหนี้ ทำให้เจ้าหนี้เสียหาย ถือเป็นความผิดฐานโกงเจ้าหนี้
จำเลยเป็นกรรมการผู้จัดการบริษัท ส. จำเลยรู้อยู่แล้วว่าบริษัท ส.เป็นลูกหนี้โจทก์และยังไม่ได้รับชำระหนี้ จำเลยได้โอนทรัพย์สินของบริษัท ส. ให้บริษัท อ. ซึ่งเป็นการทำให้โจทก์เสียหายไม่ได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือบางส่วน แม้การโอนทรัพย์สินรายนี้จำเลยกระทำไปตามมติของที่ประชุมผู้ถือหุ้นในฐานะที่จำเลยเป็นกรรมการผู้จัดการ ก็ถือได้ว่าจำเลยร่วมรู้เห็นเป็นใจในการกระทำผิด จำเลยจึงต้องร่วมรับผิดฐานเป็นตัวการในความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2221/2515

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีอาญาจากการแจ้งข้อมูลเท็จต่อศาลเพื่อทุเลาการบังคับคดี ทำให้เจ้าหนี้เสียหาย
จำเลยแพ้คดีแพ่งในชั้นอุทธรณ์ จึงฎีกาและร้องขอทุเลาการบังคับในระหว่างฎีกา ศาลมีคำสั่งให้หาหลักประกันในราคา 8 ล้านบาท ถ้าศาลพอใจหลักทรัพย์ก็ให้ทุเลาการบังคับ จำเลยเสนอหลักทรัพย์โดยตีราคามาให้พอแก่ราคาหลักประกันที่ศาลต้องการ แต่หลักทรัพย์นั้นมีใบหุ้นของบริษัทร้างซึ่งจำเลยรู้ดีว่าไม่มีมูลค่าแล้ว และมีโฉนดที่ดินซึ่งจำเลยตีราคามาสูงเกินความจริงไปมากทำให้ศาลหลงเชื่อรับไว้เป็นหลักประกัน และอนุญาตให้ทุเลาการบังคับ ดังนี้ ถือได้ว่าโจทก์ในคดีแพ่งนั้นได้รับความเสียหายจากการกระทำผิดของจำเลยฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137จึงเป็นผู้เสียหาย มีอำนาจฟ้องคดีอาญาในความผิดดังกล่าวนั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10570/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ แจ้งข้อมูลเท็จทางการเงิน – ซ่อนเร้นหนี้สิน – เจ้าหนี้เสียหาย – ความผิดอาญา
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันแจ้งให้นายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทจดข้อความอันเป็นเท็จโดยยื่นแบบนำส่งงบการเงินรอบปีบัญชีสิ้นสุดจำนวน 1 ฉบับ และสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นฉบับใหม่จำนวน 1 ฉบับ โดยมีข้อความระบุไว้ว่าหุ้นที่ได้จดทะเบียนไว้ของจำเลยที่ 1 จำนวน 100,000,000 บาท จำเลยทั้งสองได้เรียกชำระเงินไปจากผู้ถือหุ้นทั้งเจ็ดคนครบถ้วนเต็มจำนวน ซึ่งเป็นความเท็จ ความจริงแล้วจำเลยทั้งสองยังมิได้เรียกชำระเงินค่าหุ้นที่ผู้ถือหุ้นทั้งเจ็ดคนค้างชำระอยู่อีก 49,500,000 บาท อาจทำให้โจทก์หรือประชาชนได้รับความเสียหาย โดยเฉพาะโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ต้องพบอุปสรรคในการที่จะใช้สิทธิบังคับชำระหนี้หรือบังคับคดีเอาแก่สิทธิเรียกร้องในเงินค่าหุ้นค้างชำระของจำเลยที่ 1 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1096 โจทก์จึงเป็นผู้ได้รับความเสียหายโดยตรง ย่อมเป็นผู้เสียหายในความผิดตาม ป.อ. มาตรา 137 และมาตรา 267
การที่จำเลยทั้งสองยื่นแบบนำส่งงบการเงินและบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นอันแสดงให้ปรากฏว่าผู้ถือหุ้นในบริษัทจำเลยที่ 1 ได้ชำระค่าหุ้นครบถ้วนแล้ว อันเป็นความเท็จ ส่งผลให้เห็นในทำนองว่าจำเลยที่ 1 ได้รับชำระค่าหุ้นจากผู้ถือหุ้นนั้นครบถ้วนแล้วและสิ้นสิทธิในการเรียกให้ผู้ถือหุ้นส่งใช้ค่าหุ้นซึ่งยังจะต้องส่งอีก ทั้งๆ ที่จำเลยที่ 1 จะต้องได้รับเงินค่าหุ้นจากผู้ถือหุ้นทั้งเจ็ดคนในส่วนที่ยังมิได้ชำระค่าหุ้นครบถ้วน จึงเป็นการซ่อนเร้นสิทธิเรียกร้องในเงินค่าหุ้นที่ยังมิได้ชำระ เพื่อมิให้โจทก์เจ้าหนี้ของตนซึ่งได้ใช้หรือจะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ชำระหนี้ได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วน การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 350 และจำเลยที่ 2 มีความผิดตาม พ.ร.บ.กำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคมและมูลนิธิ พ.ศ.2499 มาตรา 40 (1) ด้วย