คำพิพากษาที่อยู่ใน Tags
เบิกเกินบัญชี

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 39 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 708/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ดอกเบี้ยเบิกเกินบัญชีเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด โมฆะ และการผิดนัดชำระหนี้
ประกาศธนาคารโจทก์ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่องการกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยและส่วนลด ฉบับลงวันที่ 20 ตุลาคม 2536 ซึ่งใช้บังคับขณะทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีระหว่างโจทก์กับจำเลย กำหนดให้โจทก์เรียกเก็บดอกเบี้ยและส่วนลดในกรณีลูกค้าเบิกเงินเกินวงเงินหรือปฏิบัติผิดเงื่อนไขในการผ่อนชำระในอัตราไม่เกินร้อยละ 19 ต่อปี และเรียกจากลูกค้าทั่วไปกรณีอยู่ภายในวงเงินและไม่ผิดเงื่อนไขในการผ่อนชำระในอัตราที่เรียกเก็บจากลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MRR) คืออัตราร้อยละ 13.75 ต่อปี บวกร้อยละ 2 ต่อปี รวมเป็นอัตราร้อยละ 15.75 ต่อปี การที่โจทก์กำหนดดอกเบี้ยที่จะเรียกจากจำเลยที่ 1 ในสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีไว้ในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยที่ให้เรียกเก็บกรณีเบิกเงินเกินวงเงินหรือผิดเงื่อนไขในการผ่อนชำระ มิใช่อัตราดอกเบี้ยทั่วไปที่จะเรียกจากลูกค้าได้นับแต่วันทำสัญญาเช่นนี้ จึงเป็นการกำหนดดอกเบี้ยเกินกว่าประกาศของโจทก์ ไม่เป็นไปตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยที่กำหนดไว้ และเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด จึงขัดต่อ พ.ร.บ. การธนาคารพาณิชย์ฯ มาตรา 14 อันเป็นการต้องห้ามตาม พ.ร.บ. ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราฯ มาตรา 3 (ก) การกำหนดดอกเบี้ยดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะ โจทก์คงคิดดอกเบี้ยจากหนี้เงินได้ในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันผิดนัดตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง เท่านั้น และกรณีเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จะฟังว่าจำเลยที่ 1 ได้รับแจ้งรายการบัญชีเดินสะพัดแล้วไม่โต้แย้งความถูกต้องและดอกเบี้ยที่คิดภายหลังทำสัญญาในบางช่วงเวลารวมทั้งอัตราดอกเบี้ยที่ขอมาท้ายฟ้องไม่ถึงอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ก็ไม่อาจบังคับได้ตามขอ
สัญญาเบิกเงินเกินบัญชีเป็นข้อตกลงของคู่สัญญาที่จะให้มีสัญญาบัญชีเดินสะพัดต่อกัน การชำระหนี้ย่อมจะต้องปฏิบัติตามวิธีการของสัญญาบัญชีเดินสะพัด คือให้กระทำเมื่อมีการหักทอนบัญชีและเรียกร้องให้ชำระหนี้คงเหลือ ดังนั้น หากคู่สัญญายังคงให้บัญชีเดินสะพัดอยู่ต่อไป ก็ยังไม่ถือว่ามีการผิดนัดกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 786/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ขอบเขตความรับผิดของผู้ค้ำประกันเงินเบิกเกินบัญชี: ค้ำเฉพาะต้นเงินที่เบิกใช้จริง ไม่จำกัดจำนวน
สัญญาค้ำประกันเงินกู้หรือเงินเบิกเกินบัญชี แม้ไม่ระบุวงเงินค้ำประกันโดยตรงแต่ความในสัญญาค้ำประกันที่ระบุว่า เนื่องในการที่โจทก์ได้ยอมให้จำเลยที่ 1 กู้หรือเบิกเงินเกินบัญชีตามสัญญาลงวันที่ 21 มกราคม 2528 เป็นจำนวนเงิน 300,000 บาท ตามสัญญาลงวันที่ 3 มีนาคม 2532 เป็นจำนวนเงิน 300,000 บาท และตามสัญญาลงวันที่ 27 มิถุนายน 2533 เป็นจำนวนเงิน 90,000 บาท นั้น ผู้ค้ำประกันยอมเข้าค้ำประกันการชำระหนี้ตามสัญญาดังกล่าวจนกว่าโจทก์จะได้รับชำระหนี้โดยสิ้นเชิง แสดงให้เห็นว่าผู้ค้ำประกันมีเจตนาเข้าค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 เฉพาะต้นเงินที่เบิกเงินเกินบัญชีไม่เกิน 690,000 บาท เท่านั้น ส่วนที่ผู้ค้ำประกันตกลงยอมรับผิดจนกว่าโจทก์จะได้รับชำระหนี้โดยสิ้นเชิงโดยร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ตามสัญญานั้น หมายถึงผู้ค้ำประกันยอมร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 โดยสละสิทธิให้โจทก์เรียกร้องบังคับชำระหนี้เอาจากจำเลยที่ 1 หรือทรัพย์ของจำเลยที่ 1 ที่โจทก์ยึดถือไว้เป็นประกันก่อนตาม ป.พ.พ. มาตรา 691 เท่านั้น มิใช่เป็นข้อสัญญาให้ผู้ค้ำประกันร่วมรับผิดโดยไม่จำกัดจำนวน ดังนั้น ตามสัญญาค้ำประกันเงินกู้หรือเบิกเงินเกินบัญชีย่อมมีผลให้จำเลยที่ 3 ในฐานะผู้ค้ำประกันต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 ในการชำระหนี้เบิกเงินเกินบัญชีเฉพาะในต้นเงินไม่เกิน 690,000 บาท กับดอกเบี้ยของต้นเงินดังกล่าวเท่านั้น ส่วนสัญญาจำนองและสัญญาต่อท้ายสัญญาจำนองเป็นเพียงการที่จำเลยที่ 3 ให้หลักประกันเพื่อเป็นการปฏิบัติตามสัญญาค้ำประกันที่จำเลยที่ 3 จะต้องรับผิดต่อโจทก์ในต้นเงินไม่เกิน 690,000 บาท เท่านั้น ไม่ใช่เป็นการให้หลักประกันใหม่โดยไม่จำกัดจำนวน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5296/2546

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อตกลงเบิกเกินบัญชีและอัตราดอกเบี้ย: ศาลฎีกาวินิจฉัยโจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยตามข้อตกลงและประกาศ
คำขอเปิดบัญชีกระแสรายวันมีข้อตกลงว่า เป็นการเปิดบัญชีกระแสรายวันเพื่อใช้เป็นบัญชีเดินสะพัด ถ้าเงินในบัญชีของจำเลยมีไม่พอจ่ายตามเช็ค ตามปกติโจทก์จะปฏิเสธการจ่ายเงินโดยสิ้นเชิง แต่ถ้าโจทก์ยอมผ่อนผันจ่ายไป จำเลยยอมรับผูกพันตนที่จ่ายเงินส่วนที่เกินคืนโจทก์เสมือนหนึ่งได้ร้องขอเบิกเงินเกินบัญชีไว้กับโจทก์ การคิดดอกเบี้ยเงินส่วนที่เกินบัญชีดังกล่าวมีข้อตกลงว่า โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นเป็นรายเดือนในอัตราสูงสุดที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดให้เรียกเก็บได้ ซึ่งขณะทำคำขอเปิดบัญชีกระแสรายวันมีประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินอื่นเรียกดอกเบี้ยได้ในอัตราตามประกาศของธนาคาร โจทก์ได้ออกประกาศของโจทก์กำหนดอัตราดอกเบี้ยที่เรียกเก็บจากลูกหนี้ประเภทต่าง ๆ และออกประกาศเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยอีกหลายครั้ง โดยในกรณีของจำเลย เมื่อพิจารณาจากบัญชีกระแสรายวันของจำเลย บันทึกการคิดอัตราดอกเบี้ย และประกาศของโจทก์แล้วเห็นได้ว่า โจทก์เรียกเก็บดอกเบี้ยจากจำเลยในอัตราเดียวกับลูกค้าประเภทเบิกเงินเกินบัญชีเกินวงเงินและลูกค้าประเภทเบิกเงินเกินบัญชีโดยไม่มีวงเงิน ซึ่งโจทก์จัดอยู่ในกลุ่มเดียวกับลูกค้าทั่วไปที่ปฏิบัติผิดเงื่อนไข การที่โจทก์คิดดอกเบี้ยจากจำเลยในอัตราดังกล่าวโดยอาศัยข้อตกลงในการขอเปิดบัญชีกระแสรายวัน ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย และประกาศของโจทก์จึงทำได้โดยชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2397/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาบัญชีเดินสะพัดสิ้นสุดเมื่อหักทอนบัญชี โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยถึงวันหักบัญชี
จำเลยทำคำขอเปิดบัญชีเดินสะพัดกับโจทก์แบบไม่มีกำหนดเวลาสิ้นสุดจึงใช้บังคับได้จนกว่าจะมีการบอกเลิกสัญญาหรือมีการหักทอนบัญชีและเรียกให้ชำระหนี้ส่วนที่เป็นจำนวนคงเหลือ โดยจำเลยยอมเสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี หรืออัตราสูงสุดที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดและให้คิดดอกเบี้ยทบต้นตามวิธีและประเพณีของธนาคาร มี ช. ทำสัญญาจำนำสิทธิการรับฝากเงินที่ฝากไว้แก่โจทก์เป็นประกันหนี้ดังกล่าว ปรากฏว่าหลังวันที่ 30 เมษายน จำเลยขอเพิ่มวงเงินจากโจทก์ แต่โจทก์ไม่ยินยอม วันที่ 2 กันยายน จำเลยจึงแจ้งให้โจทก์นำเงินฝากและดอกเบี้ยของ ช. ที่ประกันหนี้ไว้มาชำระหนี้แก่โจทก์ แสดงว่า หลังวันที่ 30 เมษายน จำเลยยังประสงค์จะกู้เบิกเงินเกินบัญชีและเดินสะพัดทางบัญชีกับโจทก์ต่อไป จึงมิได้แจ้งให้โจทก์นำเงินฝากของ ช. มาหักทอนบัญชี แต่เพิ่งแจ้งเมื่อวันที่ 2 กันยายน ทั้งที่จำเลยเคยเป็นพนักงานสินเชื่อของธนาคารมาก่อนย่อมต้องทราบดีถึงการคิดดอกเบี้ยของธนาคารตามสัญญาดังกล่าว สัญญาบัญชีเดินสะพัดระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงสิ้นสุดในวันที่ 2 กันยายนซึ่งเป็นวันหักทอนบัญชี โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นได้จนถึงวันที่ 2 กันยายน ดังนั้น การที่โจทก์มิได้นำเงินฝากของ ช. มาหักทอนบัญชีเสียก่อนที่สัญญาบัญชีเดินสะพัดสิ้นสุดลงจึงหาเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตไม่
สัญญาบัญชีเดินสะพัดเป็นสัญญาลักษณะพิเศษที่กฎหมายใช้สิทธิแก่เจ้าหนี้ที่จะคำนวณดอกเบี้ยทบต้นเอาแก่ลูกหนี้ได้ แต่หลังจากที่สัญญาเลิกกันแล้วสิทธิในการคำนวณดอกเบี้ยทบต้นย่อมหมดไป คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391วรรคหนึ่ง เมื่อจำเลยไม่ชำระหนี้จึงเป็นการผิดนัดที่เกิดขึ้นหลังจากเลิกสัญญา โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยแบบไม่ทบต้นในอัตราที่ตกลงกันไว้ในสัญญาได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 วรรคหนึ่ง ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าดอกเบี้ยภายหลังสัญญาบัญชีเดินสะพัดสิ้นสุดลงถือเป็นเบี้ยปรับซึ่งศาลมีอำนาจลดลงได้และเมื่อโจทก์มิได้แสดงอัตราดอกเบี้ยที่คิดแก่จำเลยหลังสัญญาสิ้นสุดให้ชัดเจนจึงกำหนดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปีนั้น เป็นข้อวินิจฉัยที่ไม่ต้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 วรรคหนึ่ง เป็นการไม่ชอบ แต่เมื่อโจทก์มิได้ฎีกาในปัญหานี้ ศาลฎีกาจึงไม่อาจกำหนดอัตราดอกเบี้ยตามสัญญาที่สูงกว่าได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4516/2542 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิธนาคารในการปรับอัตราดอกเบี้ยเบิกเกินบัญชีตามสัญญา
โจทก์ผู้ให้กู้เป็นธนาคารพาณิชย์จะมีสิทธิเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยได้หรือไม่นั้น ย่อมสุดแท้แต่ข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยผู้กู้ หากในสัญญาระบุไว้โดยแจ้งชัดว่า ผู้ให้กู้จะต้องแจ้งให้ผู้กู้ทราบประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทย ดังนี้หากผู้ให้กู้ไม่แจ้ง ย่อมเป็นการไม่ปฏิบัติตามข้อตกลง โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิที่จะปรับอัตราดอกเบี้ยได้
ตามหนังสือสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีฉบับพิพาทมีข้อความว่า ถ้าปรากฏว่าผู้เบิกเงินเกินบัญชีได้เบิกเงินเกินจากบัญชีกระแสรายวันไปเกินกว่าวงเงินที่ตกลงกัน ผู้เบิกเงินเกินบัญชียินยอมให้ธนาคารคิดดอกเบี้ยในส่วนเบิกเกินไปนั้น ในอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดไว้สำหรับการให้กู้ยืมในขณะนั้นได้ และยินยอมให้ธนาคารนำดอกเบี้ยนี้คำนวณทบต้นตามธรรมเนียมและประเพณีของธนาคารที่กล่าวไว้แล้วได้ด้วย และแม้ก่อนจะถึงกำหนดเวลาชำระหนี้ก็ตาม ก็ไม่ตัดสิทธิของธนาคารที่จะบอกเลิกสัญญาหรือที่จะลดวงเงินหรือที่จะเพิ่มหรือลดอัตราดอกเบี้ยตามที่ธนาคารจะเห็นสมควร โดยธนาคารจะแจ้งให้ผู้เบิกเงินเกินบัญชีทราบหรือไม่ก็ตามผู้เบิกเงินเกินบัญชีตกลงยินยอมและขอปฏิบัติตามทุกประการโดยพลัน ข้อสัญญาดังกล่าวจึงแจ้งชัดแล้วว่า การที่จะเพิ่มหรือลดอัตราดอกเบี้ยตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทย โจทก์ไม่จำต้องแจ้งให้จำเลยทราบ โจทก์ย่อมมีสิทธิปรับอัตราดอกเบี้ยตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทยได้ แม้จะไม่ได้แจ้งให้จำเลยทราบก็ตาม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4284/2542 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การคิดดอกเบี้ยเบิกเกินบัญชีและการปฏิบัติตามข้อตกลงสัญญา แม้มีการคิดดอกเบี้ยไม่ตรงวันสิ้นเดือน
ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีระบุว่า กำหนดชำระดอกเบี้ยเป็นรายเดือนทุกเดือนภายในวันสิ้นเดือน ในเวลาทำงานของผู้ให้กู้ แต่ถ้าวันกำหนดชำระดอกเบี้ยเช่นว่านี้ตรงกับวันหยุดของผู้ให้กู้ ก็ให้เลื่อนไปชำระในวันทำงานที่ถัดไปเป็นข้อตกลงกำหนดเวลาให้จำเลยผู้กู้เบิกเงินเกินบัญชีชำระดอกเบี้ยแต่ละเดือนหากจำเลยไม่ชำระดอกเบี้ยภายในกำหนดเวลาดังกล่าวก็ให้ถือว่าจำเลยผิดนัดชำระดอกเบี้ย โจทก์มีสิทธินำดอกเบี้ยที่ค้างชำระทบเข้าเป็นต้นเงินสำหรับคิดดอกเบี้ยในเดือนถัดไปตามประเพณีของธนาคาร แต่โจทก์และจำเลยมิได้ถือปฏิบัติเคร่งครัดว่าโจทก์จะต้องคิดดอกเบี้ยในวันสิ้นเดือนหาโจทก์คิดดอกเบี้ยไม่ตรงวันสิ้นเดือนโจทก์มิได้คิดดอกเบี้ยทบต้นจากจำเลยในระยะเวลาไม่ถึงรอบบัญชีรายเดือนตามสัญญากู้ดังกล่าว เมื่อจำเลยยอมรับว่าโจทก์ได้คิดดอกเบี้ยจากจำเลยถูกต้องตามสัญญาการที่โจทก์คิดดอกเบี้ยไม่ตรงกับวันสิ้นเดือนจึงไม่ผิดจากข้อตกลงในสัญญา
ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมเพียงว่า ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยมิได้ระบุชั้นศาล ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขเสียให้ชัดแจ้ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1847/2542

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ดอกเบี้ยเงินเบิกเกินบัญชี: สิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นสิ้นสุดเมื่อเลิกสัญญาสัญญาเบิกเงินเกินบัญชี
เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2524 จำเลยได้ทำสัญญาเบิกเงิน เกินบัญชีจากบัญชีกระแสรายวันกับโจทก์ ในวงเงิน 1,500,000 บาทมีกำหนดเวลา 12 เดือน นับแต่วันทำสัญญา ตกลงชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปี จากจำนวนเงินที่เบิกเงินเกินบัญชีแล้วจำเลยได้ออกเช็คสั่งจ่ายเงินออกจากบัญชีและนำเงินเข้าบัญชีหักทอนบัญชีกับโจทก์เป็นการเดินสะพัดในบัญชีเรื่อยมา จนกระทั่งวันที่ 14 ธันวาคม 2526จึงไม่มีการเดินสะพัดทางบัญชีกันต่อไป หลังจากนั้นแม้จำเลยนำเงินเข้าบัญชีหลายครั้ง แต่ก็เป็นการชำระหนี้ที่ค้างชำระแก่โจทก์ จึงถือได้ว่าได้มีการเลิกบัญชีเดินสะพัดระหว่างโจทก์กับจำเลยตั้งแต่วันที่ 14 ธันวาคม 2526อันเป็นวันครบกำหนดการต่อสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีครั้งที่ 2 สัญญาเบิกเงินเกินบัญชีเป็นสัญญาที่มีลักษณะพิเศษคือช่วงระยะเวลาที่คู่สัญญายังเดินสะพัดทางบัญชีกันอยู่โจทก์ซึ่งเป็นธนาคารพาณิชย์ย่อมมีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นจากจำเลยในอัตราที่ตกลงกันไว้ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีแม้จะเป็นอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 654 กำหนดไว้ แต่เมื่อมีการเลิกสัญญากันแล้วโจทก์ก็ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้น และมีสิทธิคิดดอกเบี้ยแบบไม่ทบต้นตามอัตราที่กำหนดไว้ในสัญญาไปจนกว่าจำเลยจะชำระหนี้เสร็จสิ้นได้เท่านั้น เพราะถือเป็นกรณีที่ถือว่าจำเลยตกลงให้โจทก์คิดดอกเบี้ยในอัตราดังกล่าวมาแต่ต้นโจทก์จะคิดดอกเบี้ยอัตราสูงสุดที่พึงเรียกเก็บตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยอีกไม่ได้ เว้นโจทก์จะขอให้จำเลย ชำระดอกเบี้ยในอัตราที่ต่ำกว่า

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8479/2540

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ภาษีอากร: การจำหน่ายหนี้สูญ, ดอกเบี้ยเบิกเกินบัญชี, และการหักภาษี ณ ที่จ่าย
การจำหน่ายหนี้สูญตาม ป.รัษฎากร มาตรา 65 ทวิ (9) มิได้กำหนดกฎเกณฑ์ไว้ว่าเจ้าหนี้ต้องทำอย่างไรบ้างเกี่ยวกับหนี้ที่จะถือว่าได้ปฏิบัติการโดยสมควรเพื่อให้ได้รับชำระหนี้แล้ว จึงต้องพิจารณาจากข้อเท็จจริงเป็นเรื่อง ๆ ไป
ป.รัษฎากร มาตรา 65 ตรี (9) หมายความว่า รายจ่ายที่จะนำมาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิจะต้องเป็นรายจ่ายที่เกิดขึ้นจริง และรายจ่ายของรอบระยะเวลาบัญชีใดต้องนำมาคำนวณกำไรสุทธิในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น เว้นแต่ในกรณีที่ไม่สามารถจะลงจ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น ก็ให้นำไปถือเป็นรายจ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีถัดไปได้ โจทก์ใช้เกณฑ์สิทธิในการลงบัญชีและคำนวณกำไรสุทธิโดยถือรอบระยะเวลาบัญชีตามปีปฏิทิน ในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2520 โจทก์ทำประมาณการรายจ่ายต่าง ๆ 2 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อปลายเดือนมิถุนายน 2520 เพื่อจ่ายในเดือนกรกฎาคมถึงเดือนธันวาคม 2520 และครั้งที่ 2 เมื่อปลายเดือนธันวาคม 2520 เพื่อจ่ายในระหว่างเดือนมกราคมถึงเดือนมิถุนายน 2521 จะเห็นได้ว่าประมาณการรายจ่ายครั้งที่ 2 มิใช่ประมาณการรายจ่ายที่จะต้องจ่ายในรอบระยะเวลาบัญชี 2520 แต่เป็นรายจ่ายของรอบระยะเวลาบัญชีปี 2521 รายจ่ายตามประมาณการครั้งที่ 2 จึงมิใช่รายจ่ายจริงของรอบระยะเวลาบัญชีปี 2520 โจทก์จึงไม่มีสิทธินำรายจ่ายตามประมาณการครั้งที่ 2 มาหักออกจากรายได้เพื่อคำนวณหากำไรสุทธิของรอบระยะเวลาบัญชีปี 2520 เพราะเท่ากับเป็นรายจ่ายที่กำหนดขึ้นเองโดยไม่มีการจ่ายจริง ตามมาตรา 65 ตรี (9) แห่ง ป.รัษฎากร ส่วนการที่โจทก์นำรายจ่ายค้างจ่ายที่ยกมาจากรอบระยะเวลาบัญชีปี 2520 มาลงเป็นรายจ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2521 กรณีดังกล่าวเป็นเรื่องที่โจทก์เองไม่นำรายจ่ายมาหักออกจากรายได้เพื่อคำนวณกำไรสุทธิให้ตรงตามรอบระยะเวลาบัญชีที่เกิดรายจ่ายขึ้นจริง ทั้ง ๆ ที่โจทก์สามารถนำมาหักเป็นรายจ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีนั้นได้ มิใช่กรณีที่ไม่สามารถจะลงจ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2520 ได้ จึงนำมาลงจ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2521 อันเป็นรอบระยะเวลาบัญชีถัดไป กรณีจึงไม่เข้าข้อยกเว้นตามมาตรา 65 ตรี (9) แห่ง ป.รัษฎากร
โจทก์นำเงินเข้าบัญชีเงินฝากในธนาคารต่างประเทศและธนาคารต่างประเทศผู้เป็นเจ้าหนี้ได้นำยอดดอกเบี้ยมาหักทอนบัญชีเป็นการที่โจทก์ได้จ่ายดอกเบี้ยให้แก่ธนาคารต่างประเทศผู้เป็นเจ้าหนี้แล้ว ประกอบกับโจทก์ได้นำดอกเบี้ยดังกล่าวมาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลของโจทก์ ย่อมแสดงให้เห็นชัดว่าโจทก์ได้จ่ายดอกเบี้ยนั้นให้ธนาคารต่างประเทศผู้เป็นเจ้าหนี้ดังนี้ เมื่อธนาคารต่างประเทศเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศซึ่งมิได้ประกอบกิจการในประเทศไทย แต่ได้รับดอกเบี้ยอันเป็นเงินได้พึงประเมินตาม ป.รัษฎากร มาตรา 40 (4) ที่จ่ายจากโจทก์ซึ่งอยู่ในประเทศไทย ธนาคารต่างประเทศจึงมีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้ดังกล่าว โดยโจทก์ผู้จ่ายมีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายและนำส่งตามมาตรา 70 แห่ง ป.รัษฎากร ซึ่งใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น เมื่อโจทก์มิได้หักภาษี ณ ที่จ่ายและนำส่ง โจทก์จึงต้องรับผิดร่วมกับธนาคารต่างประเทศผู้มีเงินได้ในภาษีที่ต้องชำระตามมาตรา 54 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วยมาตรา 70 วรรคหนึ่ง แห่ง ป.รัษฎากร

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3476/2540

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิการหักกลบลบหนี้จากเงินฝากประจำหลังสัญญาสิ้นสุด ต้องกระทำภายในสัญญากำลังมีผลบังคับใช้
แม้ตามข้อตกลงจะแสดงว่าธนาคารโจทก์มีสิทธิและอำนาจหักทอนบัญชีนำเงินฝากประจำตามสมุดคู่ฝากเงินที่จำเลยจำนำไว้แก่โจทก์มาหักกลบลบหนี้กับยอดเงินเบิกเกินบัญชีได้เมื่อใดก็ตามแต่สิทธิและอำนาจนี้โจทก์ต้องดำเนินการในระหว่างสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีมีผลใช้บังคับเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏตามการ์ดบัญชีกระแสรายวันว่าไม่มีรายการเดินสะพัดทางบัญชีอันจะเป็นหลักฐานว่าโจทก์ยอมให้จำเลยเบิกเงินเกินบัญชีต่อปีอีกนับแต่วันสิ้นสุดของสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีในวันที่5พฤศจิกายน2534ทั้งสมุดเงินฝากประจำก็ปิดบัญชีแล้วในวันที่11กันยายน2534คงมีแต่จำเลยได้นำเงินบัญชีเพื่อหักทอนหนี้ตามยอดเงินที่ค้างชำระในวันที่8พฤษภาคม2535จำนวน353,997.70บาทเท่านั้นหาเป็นการเดินสะพัดทางบัญชีแต่อย่างใดไม่แสดงว่าโจทก์ไม่ประสงค์จะเดินสะพัดทางบัญชีกับจำเลยอีกสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีจึงสิ้นสุดลงนับแต่วันที่5พฤศจิกายน2534เมื่อจำเลยไม่ชำระหนี้โจทก์ชอบที่จะใช้สิทธินำเงินฝากประจำตามสมุดคู่ฝากเงินที่จำเลยจำนำไว้แก่โจทก์มาหักโอนชำระหนี้แก่โจทก์ทันทีหลังจากนั้นหากจำเลยยังค้างชำระหนี้อยู่จำนวนเท่าใดโจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำนวนเงินดังกล่าวแบบไม่ทบต้นในอัตราร้อยละ19ต่อปีจนกว่าจะชำระเสร็จเท่านั้นหาใช่โจทก์จะใช้สิทธิและอำนาจคิดดอกเบี้ยแบบไม่ทบต้นตามอำเภอใจเมื่อใดก็ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2074/2540

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาเบิกเกินบัญชี: สิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นจนกว่าจะบอกเลิกสัญญา & การฟ้องร้องต้องระบุรายละเอียดหนี้ชัดเจน
คำฟ้องของโจทก์เกี่ยวกับบัญชีเดินสะพัดซึ่งมีข้อตกลงให้คิดดอกเบี้ยทบต้นตามประเพณีการค้าของธนาคารโจทก์ได้บรรยายที่มาแห่งหนี้ระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสามความรับผิดของจำเลยทั้งสามที่มีต่อโจทก์และการคิดดอกเบี้ยตลอดจนจำนวนหนี้ที่คำนวณถึงวันฟ้องโดยละเอียดและชัดแจ้งเป็นที่เข้าใจได้อย่างดีว่าจำเลยทั้งสามเป็นหนี้โจทก์เพราะเหตุใดจำเลยทั้งสามได้ชำระหนี้ให้โจทก์ไปแล้วเป็นจำนวนเงินเท่าใดและจำเลยทั้งสามยังคงต้องรับผิดต่อโจทก์เป็นจำนวนเงินเท่าใดจึงเป็นคำฟ้องที่แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับรวมทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาครบถ้วนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา172วรรคสองแล้วโจทก์หาต้องแบบหลักฐานหรือเอกสารแสดงรายละเอียดการเบิกเงินการชำระเงินการหักทอนบัญชีและการคิดดอกเบี้ยในแต่ละเดือนมาพร้อมกับคำฟ้องไม่เพราะเป็นรายละเอียดที่จะต้องนำสืบกันต่อไปในชั้นพิจารณาคำฟ้องของโจทก์จึงสมบูรณ์ไม่เคลือบคลุม จำเลยที่1ได้เปิดบัญชีเดินสะพัดประเภทเงินฝากกระแสรายวันไว้กับธนาคารโจทก์ต่อมาจำเลยที่1ได้ทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีในบัญชีเดินสะพัดดังกล่าวในวงเงิน16,500,000บาทโดยไม่มีกำหนดระยะเวลาให้ชำระหนี้กรณีเช่นนี้สัญญาบัญชีเดินสะพัดระหว่างโจทก์กับจำเลยที่1ซึ่งมิได้กำหนดเวลาชำระหนี้คืนจะสิ้นสุดลงต่อเมื่อคู่สัญญาตกลงเลิกสัญญาต่อกันหรือเมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเรียกร้องให้หักทอนบัญชีและให้ชำระหนี้ที่มีต่อกันแล้วสิทธิเรียกร้องให้ชำระหนี้ของโจทก์ย่อมเกิดขึ้นเมื่อมีการหักทอนบัญชีและเรียกร้องจำเลยที่1ให้ชำระหนี้คงเหลืออันเป็นการเลิกสัญญาบัญชีเดินสะพัดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา856และ859ตราบใดที่สัญญาบัญชีเดินสะพัดยังมิได้เลิกกันโจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะคิดดอกเบี้ยทบต้นได้จนกว่าสัญญาบัญชีเดินสะพัดจะเลิกกัน ตามรายการในบัญชีของโจทก์ระบุข้อความไว้ถึงจำนวนวงเงินเบิกเกินบัญชีอัตราดอกเบี้ยและวันครบกำหนดไว้ว่าเป็นวันที่30ธันวาคม2528ซึ่งเป็นเพียงวิธีปฏิบัติทางบัญชีภายในของโจทก์มิได้ผูกพันถึงจำเลยที่1ด้วยและจำเลยที่1และที่2ก็มิได้ตกลงกันให้การเบิกเงินเกินบัญชีระหว่างโจทก์และจำเลยที่1ครบกำหนดตามวันที่ระบุไว้ตามรายการในบัญชีดังกล่าวทั้งตามรายการในบัญชีที่โจทก์ยกยอดมาตั้งเป็นบัญชีใหม่เมื่อวันที่30สิงหาคม2528ในช่องวันครบกำหนดก็มิได้ระบุวันครบกำหนดไว้และโจทก์ยังคงคิดดอกเบี้ยทบต้นจากจำเลยที่1ต่อไปดังนั้นจึงไม่อาจถือว่าโจทก์และจำเลยที่1ตกลงถือเอาวันที่ระบุไว้ในบัญชีเป็นวันครบกำหนดสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีและมีการต่อสัญญากันจนถึงวันที่30ธันวาคม2528อันเป็นวันสิ้นสุดของสัญญาไม่แม้หลังจากวันที่30ธันวาคม2528จะปรากฏว่าจำเลยที่1ไม่เคยเบิกเงินจากบัญชีกระแสรายวันดังกล่าวอีกและมียอดเงินในบัญชียังไม่เกินวงเงินตามข้อตกลงในสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีคงปรากฏแต่รายการที่จำเลยที่1นำเงินชำระต้นเงินและดอกเบี้ยเท่านั้นก็ตาแต่เมื่อไม่มีฝ่ายใดบอกเลิกสัญญาบัญชีเดินสะพัดสัญญาบัญชีเดินสะพัดจึงยังไม่สิ้นสุดลงโจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นตามสัญญาได้จนถึงวันที่โจทก์บอกเลิกสัญญาบัญชีเดินสะพัด โจทก์บอกเลิกสัญญาบัญชีเดินสะพัดที่มิได้กำหนดระยะเวลาชำระหนี้คืนไว้ส่งไปถึงจำเลยวันที่1มีนาคม2534และเรียกให้ชำระหนี้ค้างชำระแก่โจทก์ทั้งหมดภายใน30วันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือทวงถามหากไม่ชำระให้ถือว่าสัญญาบัญชีเดินสะพัดระหว่างโจทก์กับจำเลยที่1ได้สิ้นสุดลงณวันครบกำหนดเวลาดังกล่าวจึงถือว่าสัญญาบัญชีเดินสะพัดเลิกและหักทอนบัญชีในวันที่ครบกำหนดระยะเวลาดังกล่าวโจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นได้จนถึงวันที่31มีนาคม2534ซึ่งเป็นวันที่สัญญาบัญชีเดินสะพัดระหว่างโจทก์กับจำเลยที่1เป็นอันสิ้นสุดลง
of 4